พระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


ประเทศไทย ในรัสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลง พระองค์ได้ทรงนำประเทศไทย ให้ผ่านพ้นวิกฤตกาล จากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ด้วยพระปรีชาสามารถอันสูงยิ่ง หาผู้เสมอเหมือนมิได้ และยังทรงนำประเทศไทยไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทันสมัย ทัดเทียมนานาอารยประเทศนานัปการ เป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศในทุกด้านตราบถึงปัจจุบัน
พระราชดำรัสของพระองค์ในโอกาสต่างๆ ไม่ว่าเรื่องใด ๆ ย่อมมีสุภาษิตอันเป็นแก่นสาร มีเรื่องราวที่น่ารู้อยู่เป็นอันมาก นอกจากนี้ยังเป็นหนังสืออันสมควรแก่ผู้ศึกษาการแต่งหนังสือไทย เมื่อทรงบรรยายเรื่องราวใดๆ ว่าด้วยกระบวนปฎิภาณโวหาร จะหาผู้เสมอเหมือนได้โดยยาก พระราชนิพนธ์ของพระองค์ย่อมจูงใจผู้อ่าน อ่านไม่รู้จักเบื่อ เป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วกัน
ในที่นี้จะนำเสนอพระราชดำรัสของพระองค์ โดยการตัดตอนมาในแต่ละเรื่อง เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความทันสมัย ตามแบบอย่างนานาอารยประเทศมากยิ่งกว่าสมัยใด ในประวัติศาสตร์ชาติไทย

พระราชดำรัสพระราชทานพระบรมราโชวาท
ในการที่องคมนตรีรับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาพ.ศ. 2417

เพื่อจะให้เข้าใจชัดทั่วกันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ในการสุจริตอย่างเดียว จะให้การทั้งปวงซึ่งเป็นการเจริญแก่บ้านเมืองสำเร็จไป เพราะฉะนั้น จึงได้ลดหย่อนพระอิศริยยศลง มิได้ถือพระองค์ ยอมให้ท่านทั้งหลายทูลทัดทานขัดขวางในการซึ่งทรงพระราชดำริซึ่งยังไม่ต้องด้วยยุติธรรม แลให้กราบทูลการที่ตัวได้คิดเห็นว่าเป็นคุณตามความคิดเห็นของตน เพื่อจะให้เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ราษฎรไปภายหน้า
.....เพราะฉะนั้น ควรที่ปรีวีเคาน์ซิลเลอร์ จะต้องถวายสัตยานุสัตย์ด้วยอาศัยเหตุ 3 ประการ
ประการหนึ่ง ตัวผู้ซึ่งได้รับเป็นปรีวีเคาน์ซิลเลอร์ ต้องถือกฎหมายสำหรับเคาน์ซิล ถ้าจะคิดจะพูดการฤาจะกราบทูลพระกรุณา ด้วยได้ทราบการสิ่งใดมาโดยสุจริต ข้าราชการแลราษฎร ก็จะมีความหวาดหวั่นว่า ผู้นั้นจะกราบทูลพระเจ้าแผ่นดิน หาถ้อยความใส่ผู้อื่น .....
อีกประการหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเคาน์ซิลเลอร์จะพูดการคิดการสิ่งไรมา ก็จะต้องทรงพระราชดำริเทียบเคียงข้างหน้าข้างหลังมากว่า การที่พูดมานั้นเป็นการจริง ......
อีกประการหนึ่ง ตัวเคาน์ซิลเลอร์จะประพฤติตัวดี ให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติ เมื่อคิดเห็นการอย่างไร ฤาได้ทราบการอย่างไรก็จะพูดจะคิดไปตามไปตามที่เห็นว่าดีมีคุณ ..... เพราะเหตุฉะนี้ถ้าเคาน์ซิลเลอร์ได้สาบานมีคุณสามประการคือ ข้าราชการราษฎรเป็นที่วางใจประการหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินเป็นที่วางพระราชหฤทัยประการหนึ่ง ตัวเองเป็นที่ไว้ใจแก่ตัวเองประการหนึ่ง ถ้าไม่สาบานมีโทษสามประการ ดังเช่นที่ว่ามาแล้วนั้น
.....เพราะเหตุซึ่งปรีวีเคาน์ซิลนี้เป็นสำคัญ ถ้ารับแล้วต้องเป็นตลอดไปจนสิ้นแผ่นดินไม่มีเวลาออกเหมือนเคาน์ซิลออฟสเตด ถ้าจะต้องมีเหตุเป็นโทษเพราะผิดข้อคำสาบาน ก็จะต้องถือว่าผู้นั้นไม่เป็นมนุษย์เลยทีเดียว.....

พระราชดำรัสตอบ
พระบรมวงศานุวงศ์ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ
แลข้าทูลละอองธุลีพระบาทในการเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ. 2417

.....ข้าพเจ้าได้เห็นท่านทั้งหลายในเวลานี้ ก็เป็นที่ชื่นชมมาก เพราะไว้ใจว่า ท่านทั้งหลายจะช่วยคิดราชการ ทำนุบำรุงในตัวข้าพเจ้า แลทำนุบำรุงแผ่นดิน ให้มีความเจริญด้วยเต็มสติปัญญาความคิดเต็มอำนาจ ให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขได้ แลจะได้รักษาการซึ่งได้เปลี่ยนแปลงแลได้ตั้งขึ้นไว้ คือการที่เลิกธรรมเนียมการหมอบคลาน เปลี่ยนเป็นธรรมเนียมยืนเดิน แลตั้งเคาน์ซิลออฟสเตด แลปรีวีเคาน์ซิลสำหรับช่วยคิดราชการทำนุบำรุงแผ่นดินนี้ คงจะไม่เลิกถอนเสื่อมทรามไป
.....การที่จะจัดศาลชำระความให้แล้วได้โดยเร็ว และให้ถูกต้องตามยุติธรรม และจะแก้กฎหมายเก่าบ้างเพิ่มเติมใหม่บ้าง ทีละเรื่องๆ ไปกว่าจะแล้วสิ้น การนี้ก็เป็นการใหญ่
อนึ่ง การซึ่งจะลดเกษียณอายุลูกทาษ แลการซึ่งจะห้ามไม่ให้ขายตัวคนต่อไปข้างหน้า ซึ่งได้ปรึกษากันอยู่นั้น ก็จวนจะสำเร็จไปได้ แลการอื่นอีกคือ การซึ่งจะเลิกบ่อนเบี้ย แลการตัวเลกซึ่งจะผ่อนผันให้เสมอกันนั้น การเหล่านี้ก็เป็นการสำคัญ ซึ่งจะจัดให้สำเร็จโดยเร็วนั้นไม่ได้ แต่ข้าพเจ้าก็ยังไว้ใจอยู่ว่า การที่ได้ปรึกษากันเหล่านี้ คงจะไม่สูญเสียเปล่า จะได้สำเร็จตามเวลาซึ่งควรจะสำเร็จไปได้เป็นลำดับไป .....
.....แลไว้ใจว่าคอเวอนแมนต์ต่างประเทศ คงจะมีความยินดีด้วยเมืองสยามนี้ ซึ่งเป็นเมืองจะตั้งตัวใหม่ ให้ได้จัดการทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เต็มตามกำลังแลอำนาจ .....

พระราชดำรัสตอบ
พระบรมวงศานุวงศ์ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ
แลข้าทูลละอองธุลีพระบาทในการเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ. 2419

..........
แลยังจะต้องขอบใจท่านทั้งหลายซึ่งได้ช่วยเป็นผู้จัดแลเป็นผู้ทำในราชการแผ่นดิน ซึ่งมีมาแล้วแต่ก่อนหน้า คือ เมื่อปีกลายนี้ มีฮ่อข้าศึกยกมากระทำย่ำยีราชอาณาเขต ตั้งอยู่ในแดน เมืองหนองคาย และ เมืองพวน ซึ่งใกล้เคียงกับเมืองหลวงพระบาง..... จึงปรึกษาพร้อมด้วยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แลพระบรมวงศ์กับท่านเสนาบดี จัดกองทัพยกขึ้นไปสองทาง ..... ก็แลกองทัพฮ่อซึ่งเล่าลือว่าเป้นการใหญ่โตนั้น ก็ได้ความว่าคนพวกนี้เป็นขบถในเมืองจีน ..... การทัพศึกในเมืองเราก็ว่างเว้นมานาน มามีเหตุเกิดขึ้นก็เป็นที่ลำบากอยู่ ..... แต่การครั้งนี้แม่ทัพนายกองฝ่ายเหนือ ปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า คนในเมืองพวนซึ่งเข้าเป็นกำลังของพวกฮ่อทำย่ำยีบ้านเมืองนั้น ถ้าจะทิ้งไว้ ฮ่อพวกนี้ก็เป็นคนดุร้าย กองทัพฝ่ายเราตีแตกไปก็ยังไม่ยับเยิน..... จึงได้กวาดต้อนลงมาเฉพาะคนที่เป็นพวกอุดหนุนเป็นกำลังฮ่อข้าศึก เพราะเพื่อจะมิให้เป็นกำลังแก่พวกฮ่อต่อไป..... การเมืองพวนนั้น ก็ได้มีตราบังคับขึ้นไปถึงพระยามหาอำมาตย์ แลพระสุริยภักดี ให้จัดการพาท้าวขันตีผู้บุตรใหญ่ของท้าวอึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเชียงขวางคนเก่า ขึ้นไปรวบรวมไพร่พลตั้งเป็นบ้านเมืองต่อไป .....
อนึ่ง การในเมืองเชียงใหม่นั้น กรุงสยามได้ทำหนังสือสัญญากับประเทศอินเดีย อังกฤษ ในจุลศักราช 1235 ปีระกา เบญจศก เพื่อจะจัดการในเมืองเชียงใหม่ แลการค้าขายของคนต่างประเทศ ให้เป็นปกติเรียบร้อย..... เจ้านายแสนท้าวพระยาลาวในเมืองเชียงใหม่ ก็มีความยินดีรักใคร่ต่อกรุงสยาม แลตัวพระยาเทพประชุนยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ควรจะเป็นแบบอย่างแก่ข้าราชการ ซึ่งทำการอาสาแผ่นดินสืบไป .....
.........

พระราชดำรัสตอบ
พระบรมวงศานุวงศ์ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ
แลข้าทูลละอองธุลีพระบาทในการเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ. 2420

.........
ในเมื่อก่อนหน้าเฉลิมพระชนม์พรรษาครั้งก่อน กรุงสยามได้มีความร้อนใจที่จะสำแดงทางพระราชไมตรี แก่คอเวอนแมนต์ผรั่งเศส เพราะกลัวจะเป็นเหตุให้มัวหมองขึ้น ด้วยเจ้าเขมรซึ่งมาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ นี้ช้านานมาแล้วหลบหนีไป ก็คิดกลัวจะออกไปทำจลาจลในแผ่นดินกัมพูชา ..... จัดให้พระยาเจริญราชไมตรี ซึ่งเป็นเคาน์ซิลเลอร์ออฟสเตด แลปรีวีเคาน์ซิล ออกไปตั้งอยู่เมืองนครเสียมราฐ ได้บังคับบัญชาป้องกันมิให้หัวเมืองเหล่านั้นเข้าด้วยเจ้าเขมรในการจลาจล.....
อนึ่ง เมื่อปลายปีชวด อัฐศก นั้น คอเวอนแมนต์ อินเดีย ได้ส่งข่าวมาเชิญข้าพเจ้าให้ไปประชุมในงานมงคล ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้ากวินวิคตอเรีย จะรับพระปรมาภิไธย เป็นเอมเปรสออฟอินเดีย ข้าพเจ้ามีราชการมากไม่สามารถจะไปได้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ท่านก็ได้รับเป็นอัครราชทูตพิเศษ ไปเจริญทางพระราชไมตรี ณ ประเทศอินเดีย.....
อนึ่ง เหตุการณ์ซึ่งมีขึ้นเร็ว ๆ นี้ ที่เมืองภูเก็ต และเมืองระนอง เจ้าหมื่นเสมอใจราชข้าหลวง ซึ่งออกไปตั้งอยู่ ณ เมืองภูเก็ต ได้รักษาการโดยแข็งแรง ไม่เสื่อมเสียเกียรติยศ แล้วได้ส่งข่าวไปถึงเจ้าพระยาไทรบุรี แล หัวเมืองตะวันตกทั้งปวง เจ้าพระยาไทรบุรีทราบ ก็รีบร้อนเป็นใจด้วยราชการ จัดพวกไพร่พลพร้อมเครื่องศัตราวุธ ไปช่วยรักษาเมืองภูเก็ต พร้อมด้วยหัวเมืองต่าง ๆ การที่เมืองระนองนั้น พระยาระนองก็ได้คิดจัดการระงับ แลมีหัวเมืองที่ใกล้เคียงไปช่วย การจึงสงบลงไม่วิวาทลุกลามต่อไป .....
อนึ่ง การเรื่องเมืองพวนนั้น ท่านเสนาบดีได้ปรึกษาพร้อมกันส่งท้าวขันที ซึ่งเป็นบุตรท้าวอึ่ง เจ้าเมือนพวนคนเก่า ขึ้นไปครอบครองบ้านเมืองตามวงศ์ตระกูล .....
อนึ่ง ข้าพเจ้ามีความเสียใจด้วยในปีนี้ฝนน้อย ข้าวขึ้นราคาสูง กลัวราษฎรทั้งปวงซึ่งเป็นคนจนจะต้องซื้อข้าวแพง จะเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมขึ้นท่านเสนาบดีจึงได้ปรึกษาขอให้ปิดข้าว อย่าเพิ่งให้ลูกค้าบรรทุกไปจำหน่ายต่างประเทศก่อน..... แลเมื่อปีกลายนี้ ได้ให้ขุดคลองตั้งแต่ศาลากลางคลองแสนแสบ ถึงปลายคลองท่าไข่ แขวงเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นทุ่งว่างไม่มีไร่นา..... ได้ยอมให้ราษฎรจับจองที่นาในที่ใหม่ซึ่งคลองขุดเข้าไปแล้วนั้น .....เป็นมาจองแล้ว 18,800 ไร่เศษ ..... กำลังแจกใบจองอยู่เป็นเนื้อนาได้ถึง 30,000 ไร่ .....
.........

พระราชดำรัสตอบ
พระบรมวงศานุวงศ์ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ
แลข้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานเฉลิมพระชนมพรรษา พ.ศ. 2421

.........
ก็ในราชการทั้งปวง ตั้งแต่เฉลิมพระชนม์พรรษาครั้งก่อน ซึ่งข้าพเจ้าได้กล่าวขึ้นในที่ประชุมมาจนถึงบัดนี้ การทั้งปวงก็ยังเป็นไปโดยเรียบร้อย .....
คือการในเมืองภูเก็ต ซึ่งเกิดขึ้นคราวก่อน เรียบร้อยเป็นปกติดีแล้ว ภายหลังก็มีเหตุบ้างเล็กน้อย เพราะข้าวขึ้นราคาดีบุกลงราคา เราก็ได้ยอมลดหย่อนพิกัดดีบุกให้พอสมควร แต่เห็นว่าในเมืองตะวันตก พวกจีนเข้าไปตั้งทำเหมืองแร่ดีบุก เป็นพวกเป็นเหล่ากัน มักจะมีเหตุอันตรายเกิดขึ้น ด้วยวิวาทกันแลกันบ่อย ๆ .....เห็นว่าจะต้องมีข้าหลวงใหญ่สำหรับบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายตะวันตกทั้งมวล เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นจะได้ระงับได้ทันท่วงที จึงเห็นว่ามีเมืองตรัง ..... ควรจะตั้งเป็นเมืองสำหรับข้าหลวงอยู่รักษา .....
อนึ่ง การจลาจลในเมืองเขมร ซึ่งคอเวอนแมนต์ของเราได้มีความร้อนใจ เพื่อจะรักษาทางพระราชไมตรีกรุงฝรั่งเศษนั้น เป็นการสำคัญ แต่บัดนี้ก็เห็นว่า นักองค์วัดถา อ่อนกำลังลงแล้ว ท่านแอดมิราล เมืองไซ่ง่อน แลผู้ครองเมืองเขมรคงจะจัดการปราบปรามให้เรียบร้อยไปได้..... แต่การในเมืองพระตะบอง เมืองนครเสียมราฐนั้น เห็นว่าพระยาคทาธรธรนินทร์ และพระยานุภาพไตรภพ ผู้ว่าราชการเมือง ก็เข้าใจราชการพอรักษาเมืองไม่ให้มีเหตุ เป็นที่วางใจได้
อนึ่ง เมื่อปีกลายนี้ ในพระราชอาณาเขตของเราต้องปิดข้าว เพราะฝนไม่บริบูรณ์ตามฤดู ราคาข้าวขึ้นไปกว่าปกติ แต่ในปีนี้ฝนที่กรุงเทพฯ แลต่อกรุงเก่า ก็ดูบริบูรณ์ดี.....
อนึ่ง เรื่องชำระความศาลต่าง ๆ ซึ่งได้จัดชำระเพื่อจะให้ความเบาบาง ตามซึ่งได้คิดจัดไว้แต่ปีกลายนี้นั้น ได้รับรายงานเสมอทุกเดือน.....
อนึ่ง ตำแหน่งที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี ซึ่งเป็นตำแหน่งใหญ่สำคัญว่างลงในปีนี้ เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ สมควรจะทรงรับตำแหน่งนี้ได้ จึงได้มอบราชการในกรมมหาดไทย แลหัวเมืองขึ้นทั้งปวงถวายท่านทรงบังคับ.....
อนึ่ง เห็นว่าเมืองฉะเชิงเทรา เป็นเมืองตั้งอยู่ใกล้ปากน้ำบางประกง ต่อขึ้นไปตามลำน้ำนั้นเป็นเมืองปราจีนบุรี เมืองนครนายก ในพื้นที่เมืองเหล่านั้นเป็นท้องทุ่งที่ทำไร่นาได้มาก .....จึงได้ขุดคลอง ตั้งแต่คลองแสนแสบไปถึงคลองท่าไข่..... บัดนี้คลองนั้นก็ขุดเสร็จแล้วให้ชื่อว่า คลองนครเนื่องเขต ได้เปิดให้ราษฎรเดินไปมาแลจับจองที่นา..... ระยะทางตั้งแต่ลำธารวังน้ำเย็นมาตกถึงคลองบางไผ่ แขวงเมืองฉะเชิงเทราเป็นทาง400 เส้น เป็นที่ราษฎรประสงค์อยากจะให้ขุดคลองในที่นั้น ..... อนึ่งตั้งแต่ปลายคลองพระโขนง แขวงนครเขื่อนขัณฑ์ไปตกแม่น้ำบางปะกง แขวงเมืองฉะเชิงเทรา ทาง 1150 เส้น ที่แผ่นดินเป็นที่อุดมดี ท้องทุ่งก็ว่างไม่มีลำคลอง ราษฎรไม่ได้ทำนา ..... จัดให้พระยาดำรงราชพลขันธ์เป็นผู้ขุด
อนึ่ง คลองมหาสวัสดิ์ แลคลองภาษีเจริญ แขวงเมืองนครชัยศรี ซึ่งเป็นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ขุดขึ้นไว้นั้น ดูตื้นเสียไปทั้งสองคลอง ..... ถ้าขุดคลองในระหว่าง ให้ตลอดถึงกัน คงจะชักกับแก้ให้หายตื้นไปได้..... บัดนี้คลองนั้นก็สำเร็จแล้ว เป็นระยะคลองยาว 340 เส้น ให้ชื่อว่า "คลองทวีวัฒนา"..... แลบัดนี้ก็ยังได้ขุดต่อไป ..... ไปออกบ้านสี่พระยา แม่น้ำเมืองนครชัยศรี ระยะทาง 540 เส้น ด้วยเห็นว่าเป็นทุ่งว่างไม่มีไร่นา แลเป็นทางตรง สายน้ำจะเป่าลงมาในคลองทวีวัฒนาแรง ได้ลงมือขุดในเดือน 8 นี้แล้ว แลแขวงเมืองสุพรรณกับกรุงเก่าต่อกัน ที่นั้นทำนาเกือบจะต่อถึงกันแล้ว..... ถ้าการนี้สำเร็จทุ่งนาเมืองสุพรรณ กับแขวงกรุงเก่าก็เป็นอันติดต่อกัน......
.........