พระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระราชดำรัสตอบ
ข้าราชการฝ่ายทหาร ในการรื่นเริง
เนื่องในการเฉลิมพระชนม์พรรษา พ.ศ. 2431

.........
การแตกร้าวในระหว่งหมู่ทหารทั้งปวง ซึ่งเป็นเหตุสำคัญ อันจะให้กำลังแผ่นดินลดถอยไป ซึ่งเป็นมาแต่ก่อนนั้น ก็ได้ปรากฎแล้วว่า เป็นการเสื่อมสิ้นไปโดยมาก ด้วยอาศัยน้ำใจอันเป็นธรรม แลความเห็นอันฉลาด ประกอบด้วยความจงรักภักดีของผู้บัญชาการทั้งปวง ..... การซึ่งจะแก้ไขตัดรอนการวิวาทอันมีมาช้านาน แลจะจัดการซึ่งอากูลวุ่นวาย ไม่เป็นแบบอย่างอันเรียบร้อยของกรมทหารมาแต่เดิมนี้ เป็นการหนัก ยากที่จะทำได้ตลอด แต่บัดนี้ก็เห็นได้แล้วว่า ท่านทั้งปวงสามารถที่จะต่อสู้ความยากลำบากเหล่านั้น ได้ฝ่าฝืนสำเร็จมาได้มากแล้ว .....
.........
พระราชดำรัสแก่พระสงฆ์
ในการที่จะตรวจสอบพระไตรปิฎก ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พ.ศ. 2431

.........
การซึ่งมีความประสงค์จะให้ตรวจสอบพระไตรปิฎก ลงพิมพ์ไว้ในครั้งนี้นั้น ด้วยเห็นว่าแต่ก่อนมา ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ยังมีอำนาจปกครองบ้านเมืองโดยลำพังตัว พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ได้ทำนุบำรุงอุดหนุนการศาสนาอยู่หลายประเทศด้วยกันคือ เมืองลังกา เมืองพม่า เมืองลาว เมืองเขมร แลกรุงสยาม เมื่อเกิดวิบัติอันตราย พระไตรปิฎกขาดสูญบกพร่องไปในเมืองใด ก็อาศัยหยิบยืมกันมาลอกคัดคงฉบับบริบูรณ์ ถ่ายเทกันไปกันมาได้ แต่ในกาลทุกวันนี้ ประเทศลังกาแลพม่าตกอยู่ในอำนาจอังกฤษ ผู้ปกครองรักษาบ้านเมืองไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา ..... หาได้อุดหนุนพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ พระสงฆ์ซึ่งปฏิบัติตามพระพุทธศาสนา ก็ต่างคนต่างประพฤติตามลำพังตน คนที่ชั่วมากกว่าดีอยู่เป็นธรรมดา ก็ชักพาให้ พระปริยัติธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า วิปริตผิดเพี้ยนไปตามอัธยาศัย ส่วนเมืองเขมรนั้นเล่า ก็ตกอยู่ในอำนาจของฝรั่งเศษ ไม่มีกำลังที่จะอุดหนุนพระพุทธศาสนาให้เป็นการมั่นคงถาวรไปได้ ส่วนเมืองลาวอยู่ในพระราชอาณาเขต เจ้านายแลไพร่บ้านพลเมืองก็นับถือพระพุทธศาสนาวิปริตแปรปรวนไป ด้วยเจือผีสางเทวดา จะเอาเป็นหลักฐานมั่นคงไม่ได้ ถ้าพระไตรปิฎกวิปริตคลาดเคลื่อนไปในเวลานี้ จะหาที่สอบสวนคัดลอกเหมือนอย่างแต่ก่อนนั้นไม่มีแล้ว การพระพุทธศาสนายังเจริญมั่นคงถาวรอยู่ แต่ในประเทศสยามนี้แห่งเดียว จึงเป็นการสมควรที่จะสอบสวนพระไตรปิฎกให้ถูกต้องบริบูรณ์ แล้วสร้างขึ้นไว้ให้มากฉบับแพร่หลาย จะได้เป็นหลักฐานเชื้อสายของพระศาสนธรรม คำสั่งสอนแห่งพระพุทธเจ้าสืบไปภายหน้า ก็ธรรมอันใดที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอน ย่อมเป็นธรรมอันวิเศษอุดมยิ่ง ซึ่งจะทำให้สัตว์พ้นจากทุกข์ภัยได้จริง เป็นธรรมวิเศษเที่ยงแท้ ย่อมเป็นที่ปราถนาของผู้ซึ่งมีปัญญา ..... จึงเป็นธรรมที่ควรสงวนไว้ ให้เป็นประโยชน์แก่ชนภายหน้า จึงได้คิดจัดการครั้งนี้ เพื่อรักษาพระไตรปิฎกไว ้มิให้วิปริตผิดผันเป็นการยกย่องพระพุทธศาสนา ให้ตั้งมั่นถาวรสืบไป .....
..... ขอพระเถรานุเถร แลพระสงฆ์ทั้งปวง จงเห็นแก่ตัวหม่อมฉัน ผู้มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอันยิ่งใหญ่ ....
..........
พระราชดำรัสตอบ
ในการพระราชทานรางวัลนักเรียน พ.ศ. 2432

เรามีความเสียใจอยู่หน่อยหนึ่ง ที่ได้เห็นรายงานกรมศึกษาธิการ ทราบว่าโรงเรียนที่จัดตามพระอารามต่าง ๆ นักเรียนลดน้อยถอยลงไป ด้วยความตื่นตกใจว่าจะมาเก็บเป็นทหารเป็นต้นเหตุ ความเข้าใจผิดอันนี้ไปไม่มีที่สิ้นสุดลงได้ เป็นที่ให้เกิความรำคาญ แลเสียดายเวลา ที่คนต้องมาตื่นตกใจเสียมิได้ร่ำเรียน แต่ที่จริงนั้น การเล่าเรียนศึกษากับการทหาร มิได้เกี่ยวข้องกันอย่างหนึ่งอย่างใดเลย .....
อนึ่ง ทุกวันนี้ตำแหน่งราชการการทั้งปวง ที่ต้องมีเสมียนรับเงินเดือน เกิดขึ้นหลายหมู่หลายกรม ก็พากันร้องหาแต่นักเรียน ซึ่งได้สอบไล่วิชาความรู้ จะให้ไปรับราชการทุกหมู่ทุกกรม ตัวผู้ทำการยังไม่พอกับการที่มี จนต้องแย่งชิงประมูลเงินเดือนกัน เสมียนเวลานี้เป็นสิ่งที่หายากเป็นสิ่งที่มีราคามาก มีผู้ต้องการโดยมาก สมควรแล้วที่นักเรียนทั้งปวงจะรีบเร่งร่ำเรียนให้รู้ จะได้รับราชการในตำแหน่งทันเวลาที่ต้องการนี้ ให้เป็นประโยชน์ในราชการ แลเป็นประโยชน์ส่วนตัวด้วย
อนึ่ง ถึงว่าการที่เรียนรู้วิชาหนังสือมาก ไม่เป็นการเที่ยงแท้ว่าจะทำให้ผู้ที่รู้นั้น เป็นคนดีอย่างเดียว ..... ก็แต่เกิดมาเป็นมนุษย์ เมื่อเรียนรู้แล้ว ย่อมจะอยากประพฤติการซึ่งตัวเห็นว่าเป็นความดีอยู่ด้วยกันทั่วหน้า ..... เพราะฉะนั้น การเรียนรู้ของคนทั้งปวง คงจะเป็นเหตุให้ตัวผู้เรียน รู้ดีขึ้นได้อย่างใดอย่างหนึ่ง มากกว่าที่จะทำให้ชั่วเสียไปเพราะการเรียนรู้หลายสิบเท่า แลคงมีส่วนที่ได้มาข้างดีมากว่าผู้ไม่ได้เรียนรู้เป็นแน่แท้ .....
.........
พระราชดำรัสตอบ
ในการพระราชทานรางวัลนักเรียน พ.ศ. 2433

.........
เมื่อว่าด้วยวิชาหนังสือไทย ในนักเรียนของเราชั้นนี้ ก็ได้เห็นพยานเป็นอัศจรรย์ว่า เด็กซึ่งมีอายุน้อย เช่น หม่อมราชวงศ์จิตร เป็นต้น มีความรู้พอที่จะตกแต่งหนังสือได้ดี เกินกว่าเด็กชั้นอายุเท่านี้ที่ได้เคยเห็นมาแต่ก่อน .....
แต่ส่วนวิชาหนังสืออังกฤษนั้น ได้ทราบจากครูมอรันด์ ซึ่งมาเป็นผู้ตรวจสอบว่า ความรู้ของนักเรียนซึ่งได้รับรางวัล ยังเลวทรามนัก จะหาเพียงให้เสมอเช่นลูกชายคนโต ซึ่งเพิ่งได้เรียนเล็กน้อยก็ยังไม่ได้ เพราะเวลาที่เรียนนั้นไม่เสมอ แลเป็นการตามใจผู้ซึ่งจะเรียน เมื่อนักเรียนรู้หนังสือไทยแล้ว ก็มักจะออกไปจากโรงเรียนเสียเลย ..... ราชการทุกวันนี้ใช้หนังสือมาก เสมียนในออฟฟิศต่าง ๆ ไม่พอใช้ ..... เมื่อนักเรียนรู้หนังสือไทยแล้ว ก็มีที่จะหากินพอความปราถนาเสียแล้ว จึงไม่รักเล่าเรียนต่อไป .....
เราขอเตือนนักเรียนทั้งปวง ให้ตริตรองในการที่จะร่ำเรียนให้รอบคอบ วิชาหนังสือไทยนั้นเมื่อรู้ดีแล้วพอทำการได้จริงอยู่ แต่เมื่อไม่รู้หนังสืออังกฤษด้วยแล้ว จะรู้สึกคับแคบใจเมื่อภายหลังเพราะเหตุว่า ตำรับตำราวิชาการต่าง ๆ ซึ่งเขาพิมพ์ลงไว้เป็นภาษาต่างประเทศ มีภาษาอังกฤษเป็นต้น มากมายหลายหมื่นหลายแสนฉบับ การที่จะร่ำเรียนให้รู้วิชาต่าง ๆ ในเวลานี้ต้องอาศัยภาษาอังกฤษ .....
..... บัดนี้ขอเตือนเจ้าพนักงานกรมศึกษาธิการ ให้คิดจัดการที่จะทำให้เด็กเล่าเรียนภาษาอังกฤษให้มากขึ้น คงจะเป็นประโยชน์ตัว แลประโยชน์ราชการต่อไปภายหน้ามากเป็นแท้
.........
พระราชดำรัสตอบ
ในการแสดงพิพิธภัณฑ์ที่เกาะสีชัง พ.ศ. 2434

.........
ในประการหนึ่ง พวกเราบรรดามาแต่ที่อื่น ได้ตรวจตราค้นหา แลให้ทำการครั้งนี้ ทำให้คิดเห็นเป็นตัวอย่างได้ว่า แต่เกาะสีชังนิดหนึ่งเท่านี้ เมื่อเสาะแสวงหาสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์โดยความเอื้อเฟื้อ ก็ยังได้เห็นสิ่งทั้งปวง มาประกอบให้เป็นประโยชน์ได้ถึงเพียงนี้ จะต้องสงสัยไปไยเล่าถึงแผ่นดินซึ่งกว้างใหญ่กว่านี้ อันมีเหลือว่างอยู่มาก เพื่อได้ประกอบการให้เกิดประโยชน์ คงจะเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่กว่านี้มาก แลเป็นการได้ฝึกหัดความคิด ที่จะประกอบสิ่งซึ่งควรเป็นประโยชน์ให้เป็นประโยชน์ .....
อีกประการหนึ่งนั้น ส่วนราษฎรที่อยู่ในเกาะนี้ เมื่อได้มาเห็นสิ่งของซึ่งคงอยู่ ก็จะคิดเห็นได้ว่า บรรดาสิ่งทั้งปวงซึ่งอยู่ใกล้ ๆ นัยน์ตาเราที่ไม่คิดเห็นแต่ก่อนเลยว่า จะเป็นประโยชน์อันใด กลับเป็นประโยชน์ที่ควรจะประกอบการ .....
อีกประการหนึ่งนั้น ..... เพื่อจะให้เป็นเกียรติแก่ลูกชายใหญ่ ...... เป็นกำหนดอันสมควรจะต้องศึกษาประโยชน์ อันจะทำตามหน้าที่ของตัวสืบไปภายหน้า ...... สามารถจะนำประโยชน์ซึ่งไม่แลเห็นว่า จะเป็นจะมีให้มีให้เป็นขึ้นได้ ปรากฎเป็นทางสั่งสอนตัวอย่างอันดี ที่จะได้ประพฤติตัวสืบไปข้างหน้า ......
.........
พระราชดำรัสตอบ
ในการเปิดประภาคาร เสาธงแลสะพาน ที่เกาะสีชัง เมื่อ พ.ศ. 2434

.........
..... ถึงว่าเราได้มาอยู่เสียห่างไกลจากกรุงเทพ ฯ ช้านาน แต่ราชการอันใดมิได้หยุดค้าง ..... แลถึงว่าเราอยู่ที่นี่ ก็ได้คิดตั้งใจจะจัดการให้เป็นประโยชน์แก่ชนทั้งปวงเป็นอันมาก แลเป็นคุณแก่ราชการในบางอย่าง ตามสมควรที่จะทำได้ .....
..... คิดตั้งหน้าทำการตามที่มุ่งใจไว้ว่าจะทำ ด้วยอาศัยความเอื้อเฟื้อต่อราชการของกรมทหารเรือ เป็นที่ตั้ง จึงให้การทั้งปวงนั้นสำเร็จได้สมดังปราถนา จนเป็นที่น่าจะพิศวง เรามีความเชื่อใจว่า ประภาคารแลเสาธง จะให้ประโยชน์เกิดขึ้นทั้งในราชการแลการค้าขาย ส่วนสะพานคงจะเป็นประโยชน์แก่ชนทั้งปวง .....
การที่ท่านทั้งปวงได้ช่วยให้ความประสงค์อันนี้ สำเร็จไปได้ด้วยน้ำใจจงรักภักดี แลมีความเพียรอุตสาหอันแรงกล้าดังนี้ เป็นที่หมายน้ำใจความประสงค์ที่จะให้บ้านเมือง เดินไปในทางที่มีความสุขเจริญด้วยเรา เมื่อการทั้งปวงเหล่านี้ ปรารถสร้างขึ้นด้วยเงินพระคลังข้างที่ คือประภาคารแลสะพาน เพื่อจะได้เป็นกุศล .....

พระราชดำรัสตอบ
ในการเปิดถนนอัษฎางค์ ที่เกาะสีชัง พ.ศ. 2434

.........
..... ครั้งเมื่อเวลาที่คิดสร้างสะพานอัษฎางค์ขึ้น ..... เราสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจ ที่จะให้แก่ชนทั้งหลายไปมามิได้เลือกหน้า ...... ส่วนผู้ที่เป็นนายด้านทำการทั้งปวงเล่า ก็มิใช่เสียไม่ได้ โดยสักว่าถูกเกณฑ์เลย ได้ทำการโดยความเต็มใจ ใช้กำลังกายแลกำลังความคิด ตรำฝน ทนแดด เพื่อจะให้การสำเร็จได้ดีที่สุด ตามซึ่งพอจะทำได้ทั่วทุกด้าน ..... การที่ได้ทำคราวนี้ นับว่าเป็นโครงเป็นร่างอันดีที่ผู้ที่จะตกแต่งเพิ่มเติมต่อไปภายหน้า ..... เรามิได้พาท่านทั้งปวงมาอยู่ในที่เงียบสงัดโดยความเกียจคร้าน ได้ทำการอันเป็นประโยชน์ไว้ เพื่อจะให้ความสุขแก่ผู้อยู่ แลผู้ซึ่งจะไปในที่นี้ภายหลังเรา .....
.........