พระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชดำรัสตอบ
ในการเริ่มทำทางรถไฟสายนครราชสีมา พ.ศ. 2434
เรามีความยินดีไม่น้อยเลย ที่ได้มาอยู่ ณ ที่นี้ อันเป็นที่จะได้เริ่มลงมือ ทำการก่อสร้างทางรถไฟ ซึ่งเราได้คิดอ่าน จะทำให้สำเร็จมาช้านานแล้ว
เราได้รู้สำนึกแน่อยู่ว่า ธรรมดาความเจริญรุ่งเรืองของประชาชน ย่อมอาศัยถนนหนทาง ไปมาหากันเป็นใหญ่เป็นสำคัญ เมื่อมีหนทางคนจะได้ไปมาได้ง่ายได้ไกลได้เร็วขึ้นเพียงใด ก็เป็นการขยายประชุมชน ให้ไพศาลยิ่งขึ้นเพียงนั้น บรรดาการค้าขายอันเป็นสมบัติของบ้านเมือง ก็จะรุ่งเรืองวัฒนาขึ้นโดยส่วนหนทางนั้น เราจึงได้อุตสาหะ คิดจะทำทางรถไฟให้สมกับกำลังบ้านเมือง ก็ได้คิดทำทางรถไฟ ไปเมืองนครราชสีมานี้ก่อน
........
พระราชดำรัส
แก่ทหารในการเสด็จพระราชดำเนินศาลายุทธนาธิการ
แลโรงเรียนนายร้อย นายสิบ พ.ศ. 2435
ในการที่เราจะมอบธงให้แก่ทหารต่าง ๆ เวลานี้ เราขอกล่าวว่า ธงย่อมถือว่าเป็นยอดสำคัญ สำหรับกองทหารทั้งปวง ในเวลาทำการสงคราม เป็นประเพณีที่มีสืบมาแต่โบราณ ทั้งในเมืองเราแลประเทศอื่นดังนี้ ......
เรามีความยินดีที่จะได้กล่าวอีกครั้งหนึ่งว่า ในเวลานี้ เราได้เห็นหมวดแห่งกองทหารบกต่าง ๆ ของเรา ได้มาประชุมพร้อมกัน แลได้รับธงชัยเฉลิมพลประจำทุกกองแล้ว ธงชัยเฉลิมพลย่อมนับว่าเป็นยอด เป็นจอมแห่งกองทหารทั้งหลายสืบมาแต่โบราณ เป็นหน้าที่เป็นพนักงานของทหารกองนั้น ๆ ที่จะต้องระวังรักษาธงนั้นไว้ โดยความเคารพแลความรักเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่า ธงนั้นย่อมเป็นเครื่องหมายแสดงเกียรติยศของกองทหารนั้น เมื่อเวลาเข้าสู่สงคราม ทหารทั้งปวงจำเป็นต้องพิทักษ์รักษาธงชัยเฉลิมพลสำหรับกองตัว ยิ่งกว่าชีวิต เมื่อเป็นดังนั้น ธงชัยเฉลิมพลจึงเป็นเครื่องนำความองอาจแห่งหมู่ทหารทั้งปวง ให้ต่อสู้ข้าศึกมิได้ย่อหย่อน เมื่อมีความองอาจเช่นนั้น ก็ย่อมเป็นเครื่องชักนำให้ถึงที่มีชัยชนะโดยความกล้าหาญ .....
อนึ่ง เรามีความยินดีที่ได้เห็นหมวดแห่งกองทหาร ซึ่งได้จัดการเข้าระเบียบแบบอย่างเป็นอันเรียบร้อย ถึงว่าเป็นกองน้อย ๆ ก็เป็นตัวอย่างแห่งกองใหญ่ ๆ ซึ่งมีอยู่แล้ว แลจะเพิ่มขึ้นอีกสืบไปภายหน้า ทหารย่อมเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับที่จะป้องกันรักษาพระราชอาณาเขต แลเป็นเหตุที่จะให้อำนาจบ้านเมืองกว้างขวางมั่นคงยั่งยืน ทหารไม่เป็นแต่สำหรับที่จะต่อสู้ในเวลาที่เกิดการศึกสงครามอย่างเดียว ย่อมเป็นประกันห้ามการศึกสงครามมิให้เกิดได้ด้วย ..... เหตุฉะนี้ กองทหารทั้งปวง จึงเป็นผู้มีความชอบอยู่เนืองนิตย์ เพราะเป็นผู้ที่ทำให้มีความสงบเรียบร้อยแก่บ้านเมือง เราจึงได้ตั้งใจที่จะคิดอ่าน จัดการอุดหนุนให้กองทหารทั้งปวง มีความเจริญพรักพร้อมมั่นคงยิ่งขึ้นอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น ทหารทั้งปวงจงมีความยินดีเถิดว่า หน้าที่ซึ่งได้รับราชการอยู่บัดนี้ เป็นหน้าที่อันสำคัญยิ่งใหญ่ .....
.........
พระราชดำรัส
ในการเปิดรถไฟสายเมืองสมุทรปราการ พ.ศ. 2436
เรามีความยินดีที่ได้รับหน้าที่อันเป็นที่พึงใจ คือ จะได้เป็นผู้เปิดรถไฟสายนี้ ซึ่งเป็นที่ชอบใจแลปราถนามาช้านานแล้ว ..... เพราะเหตุว่า เป็นรถไฟสายแรก ที่จะได้เปิดในบ้านเมืองของเรา แล้วยังจะมีสายอื่นต่อ ๆ ไปอีกเป็นอันมากในเร็ว ๆ นี้ .....
..... เราได้ยินเข้าหูจากผู้ซึ่งเคยเห็นการมานานว่า บ้านเมืองของเราเดี๋ยวนี้ มีความเจริญเปลี่ยนแปลงไปกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก ..... บ้านเมืองของเราใน 3 ปี ต่อไปข้างหน้า ถ้าไม่มีการที่เป็นข้อขัดขวางรบกวนแล้ว ท่านทั้งหลายทั้งปวง คงจะได้เห็นการเจริญรุ่งเรืองเร็วขึ้นกว่าที่มีมาแล้วเป็นอันมากนั้นเสียอีก
.........
พระราชดำรัสตอบ
พระสงฆ์ในเขตแขวงจังหวัดกรุงทวาราวดี
ในการที่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมาครบ 25 ปี พ.ศ. 2436
เมื่อได้ยินคำพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง กล่าวแสดงความยินดีอำนวยพรแก่ข้าพเจ้า ครั้งนี้ เป็นที่ยินดียิ่งนัก ตัวข้าพเจ้าตั้งแต่เกิดมาจำความได้ ก็ได้รู้สึกว่าเป็นผู้ถือพระพุทธศาสนา แลจิตใจเลื่อมใสในพระรัตนตรัยเป็นที่ยิ่ง ครั้นเมื่อบวชเป็นสามเณร ได้ศึกษาเล่าเรียน ได้ทราบพระปริยัติธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยิ่งมีความเลื่อมใสมากขึ้น เพราะเห็นว่าคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำสอนอันประกอบด้วยประโยชน์ดียิ่งแท้ ไม่เป็นคำสอนที่ล่อลวงด้วยเหตุ 2 ประการ คือ ไม่ล่อลวงด้วยจะขู่ให้สะดุ้งตกใจกลัว แลไม่ล่อลวงด้วยจะให้เกิดความโลภ เมื่อข้าพเจ้าได้ดำรงสิริราชสมบัติแล้ว ก็ตั้งใจทำนุบำรุงพระผู้เป็นเจ้าอยู่เป็นนิจ ..... ข้าพเจ้าอาจปฎิญาณใจได้ว่า ถ้าชีวิตข้าพเจ้ายังอยู่ตราบใด แลข้าพเจ้าคงจะคิดทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอยู่เป็นนิจ โดยความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ไม่มีสิ่งอื่นจะยิ่งไปกว่า .....
พระราชดำรัสตอบ
พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ แลข้าทูลละอองธุลีพระบาท
ในการที่ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พ.ศ. 2437
.........
ท่านกลาง จาตุรนต์รัศมีน้องที่รักอันดี เป็นผู้ได้แสดงคำอำนวยพรของบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวงนั้น ฉันมีความขอบใจ ..... ฉันมีความเชื่อแน่ว่า ท่านทั้งหลายคงจะเป็นกัลยาณมิตร แลเป็นผู้จงรักภักดี โดยซื่อตรงต่อพระบรมราชโอรสของฉัน เสมอเหมือนอย่างที่ได้เป็นต่อฉันผู้เป็นบิดา อนึ่ง เมื่อถึงกาลสมัยในภายหน้านั้น ท่านทั้งหลายคงจะช่วยกันเกื้อกูลแลตักเตือน เหมือนอย่างที่ได้ประพฤติมาต่อตัวฉันในเวลาขณะใดขณะหนึ่ง ซึ่งจะได้เรียกร้องให้ช่วยกันทำการเพื่อที่จะให้ประชาชนชาวสยาม ได้มีความสวัสดิภาพแลผาสุกยิ่งขึ้น
.........
บรรดาข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนทั้งหลาย ซึ่งเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ผู้เป็นที่ปรึกษาราชการอันมีศักดิ์ ได้รับฉันทานุมัติมาแสดงคำอำนวยพรนั้น เรามีความชอบใจด้วย ..... เราต้องรำพึงถึงกิจการบ้านเมืองก่อนสิ่งอื่น ในการที่จะกระทำให้สิริรัตนราไชศวรรย์ เป็นที่มั่นคงแน่นอน ด้วยเป็นข้อสำคัญอันประเทศนี้จะมีสวัสดิภาพเรียบร้อยดี ก็เพราะเหตุนั้น
.........
พระราชดำรัส
ในการเปิดรัฐมนตรีสภา พ.ศ. 2437
ท่านทั้งหลายได้ฟังพระราชบัญญัติตั้งรัฐมนตรีสภา ที่อ่านขึ้นแลกับทั้งได้ทราบคำสั่ง ซึ่งได้ตั้งให้เป็นสภานายก อุปนายก รัฐมนตรี และสภาเลขาธิการ แห่งที่ประชุมอันนี้แล้ว ..... เราอยากจะชี้แจงโดยสังเขปว่าความคิดของเรา ที่ตั้งพระราชบัญญัตินี้เป็นอย่างไร .....
ตั้งแต่ปีแรก ๆ ในราชสมบัติของเรานั้น เราได้มีความคิดเห็นว่า ถ้าจะได้มีผู้ประกอบด้วยสติแลปัญญา ประชุมกันอยู่เป็นอัตราบ้าง สำหรับจะได้ช่วยกันแก้ไขกฎหมายเก่าที่ใช้ไม่ได้แล้ว แลสำหรับที่จะได้คิดทำกฎหมายใหม่ดังนี้ ก็จะเป็นการดีอยู่ .....
..... แลเราเห็นว่าพระบรมชนกาธิราชของเรา แลพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลายแต่ก่อนๆ มา ได้ตั้งพระราชกำหนดกฎหมายไว้ เป็นสิ่งที่ได้มีคุณในสมัยเมื่อทำขึ้นนั้นก็มี แลใช้ได้ต่อมาภาพหลังอีกช้านานก็มี เพราะฉะนี้เราจึงต้องคิดจะให้มีกฎหมายใหม่ขึ้นบ้าง สำหรับให้สมกับความต้องการของอาณาประชาชนที่เป็นอยู่ในปํจจุบันนี้ .....
แท้จริงคิดการงานอันเป็นหน้าที่ของเราที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้น ก็มีเป็นอันมาก เราต้องระวังรักษาการทั้งปวง ที่จะให้ได้กระทำสำเร็จไปตามกฎหมายที่มีอยู่ทั้งสิ้น .... ในส่วนราชกิจที่จะกระทำให้สำเร็จตามกฎหมายก็ดี ฤาในส่วนราชกิจที่จะพิจารณาคดีความนี้ก็ดี เราก็มีเสนาบดีข้าหลวง ผู้ว่าราชการเมืองและข้าราชการทั้งหลาย ..... เป็นผู้ซึ่งทั้งหมดด้วยกัน อันจำเป็นต้องกระทำการแทนตัวเรา แลเป็นผู้รับผิดชอบต่อเราด้วย
แต่ส่วนราชกิจที่จะคิดทำกฎหมายนั้น ตั้งแต่เวลาซึ่งที่ปรึกษาราชการแผ่นดินหยุด ไม่ได้กระทำการมาแล้ว ก็ไม่มีพนักงานจัดไว้เป็นแบบสำหรับช่วยกันทำการส่วนนี้ ..... แลที่เรามุ่งหมายท่านทั้งหลายอยู่ ..... ข้อต้นแลข้อสำคัญอันเป็นที่จำนงหมายของผู้ทำกฎหมายทั้งปวงนั้น ต้องให้มีการที่จะคุ้มครองป้องกันอันตรายแก่ตัวคน แลแก่ทรัพย์สมบัติ ..... แลต้องให้มีการทำนุบำรุงอุดหนุนความเจริญรุ่งเรือง แลความสุขของคนพลเมืองให้มากที่สุดที่จะให้มีได้ ..... ก็จำเป็นที่ว่ากฎหมายนั้นได้ให้กระทำขึ้น โดยน้ำใจไม่มีความลำเอียงให้ได้ถูกต้อง สมกับจารีตที่เป็นการยุติธรรม แลการเมตตากรุณาอยู่เป็นนิรันดร เป็นการที่คนดีทั้งปวงในสากลโลก ย่อมเคารพนับถือและทำตาม แลเป็นการซึ่งมีในพระพุทธศาสโนวาท เป็นต้น
อนึ่ง เป็นการจำเป็นที่จะต้องแต่งกฎหมายไว้ โดยถ้อยคำที่ชัดเจนแลแน่นอนว่า สิ่งใดชอบด้วยกฎหมาย สิ่งใดผิด ..... จะเป็นคนมีฤาคนจนฉันใด ..... เมื่อถูกข่มเหงแล้ว ก็ควรจะได้รับสินใหมในศาลแพ่ง โดยพิจารณากันให้แล้วเร็ว แลอย่างให้เสียค่าธรรมเนียมมาก อีกประการหนึ่งถ้าผู้ใดกระทำผิดต่ออาญากฎหมาย ก็ควรให้มีการชำระสะสางให้ได้ตัวผู้ผิดนั้นมา ฤาว่าได้ตัวผู้ต้องหาว่ากระทำผิดนั้นแล้ว ก็ให้ชำระกันโดยยุติธรรม อย่าให้ต้องกักขังคุมตัวไว้นานกว่าที่จำเป็น .....
ข้อความเช่นนี้แล เป็นหัวใจความที่เรามุ่งหมายว่า ท่านทั้งหลายจะได้ช่วยกันคิดแก้ไขกฎหมาย .....
.........
บางทีก็จะมีอยู่เนือง ๆ ที่ท่านทั้งหลายจะต้องค้นหา เทียบเคียงกฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในเมืองต่างประเทศ แลหัวเมืองของต่างประเทศ ..... เราไม่ควรจะเปลี่ยยแปลง ฤาจัดการแก้ไขธรรมเนียมที่มีอยู่ทุกวันนี้ให้ใหม่ไปหมดสิ้นทีเดียว แลไม่ควรที่จะหลับตา เอาอย่างทำตามธรรมเนียมที่มีในที่อื่น ..... ทุกเมืองอื่น ๆ แลในเมืองนี้เป็นสำคัญทั้งสิ้น ย่อมมีธรรมเนียมหลายอย่าง ซึ่งเป็นที่จะต้องนับถือกัน ไม่ใช่เพราะว่าเป็นธรรมเนียมเก่าแก่มาแต่โบราณ เสมอเหมือนกับอายุกับของประเทศนี้อย่างเดียว หากเพราะว่าเป็นธรรมเนียมที่สนิทแน่นแฟ้นแก่น้ำใจ แลความเชื่อมั่นของอาณาประชาชน แลเพราะว่าถ้าจะเลิกถอนธรรมเนียมเช่นนั้นเสีย ก็จะไม่เป็นแต่เพียงที่จะเป็นภัยแก่เมือง ที่ตั้งอยู่ได้อย่างเดียว หากจะทำให้อาณาประชาราษฎรไม่เป็นผาสุกด้วย
ขอให้ท่านทั้งหลายจงช่วยกัน ..... ต้องให้พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ แลอย่าให้รีบร้อน โดยเหตุไม่สมควร ฤาปราศจากวิจารณปัญญาได้ .....
พระราชดำรัส
ในการตั้งสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ คราวเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2439
..... เราได้มีความมุ่งหมายมาแล้วช้านาน เพื่อจะแสวงหาโอกาส ที่จะได้ไปในประเทศยุโรปด้วยหวังใจว่า จะเป็นคุณประโยชน์แก่พระราชอาณาจักรของเรา แลตัวเราด้วย
บัดนี้เราเห็นว่าเป็นเวลาอันควร แลพร้อมด้วยความเห็นชอบแห่งผู้ซึ่ง เป็นปรึกษาราชการทั้งหลายของเรา .....
ก็การซึ่งเราจะไปครั้งนี้ เป็นระยะทางไกลแลนานเวลา จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องคิดจัดการป้องกันรักษาพระราชอาณาจักรนี้ ไม่แต่มิให้มีเหตุอันตรายเสื่อมทรามเท่านั้น จะต้องจัดการให้ราชการทั้งปวง ดำเนินไปสม่ำเสมอ ..... เพื่อจะให้เป็นที่มั่นคงในการปกครองรักษา แลระวังกิจสุขทุกข์ของราษฎรทั้งปวง ให้เป็นปกติเช่นเวลาเราอยู่
เราจึงได้พร้อมด้วยที่ปรึกษาทั้งหลายของเรา ได้ตั้งขึ้นเพื่อพระราชกำหนดให้มีผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์ ..... เราจึงได้ตั้งพระอรรคราชเทวี ซึ่งเป็นพระราชมารดาของมกุฎราชกุมาร ผู้ซึ่งจะได้สืบราชสันตติวงศ์ต่อตัวเราไป ให้ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญยิ่งอันนี้ .....
.........
เราได้สั่งให้พระอรรคราชเทวี รักษาการในหน้าที่อันสำคัญยิ่งนี้ ด้วยการปฏิบัติอธิษฐานน้ำใจ ให้ตั้งอยู่ในความสัตย์ธรรมอันประเสริฐ ซึ่งเป็นธรรมอันพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ทรงปฏิบัติ อธิษฐานในพระราชหฤทัย มิให้อคติทั้งหลาย 4 ประการ มาครอบงำในสันดานได้ ให้มีความกรุณาปราณีแลตั้งใจทำนุบำรุงทั่วไป..... แลอารี ตั้งใจเป็นธรรมต่อชนทั้งหลายอันจะมายังพระนครนี้ แลรักษาสัญญาทั้งปวง อันได้ทำไว้แล้ว ดุจเราได้ประพฤติปฏิบัติต่อท่านทั้งหลาย 29 ปีมาแล้วนั้น .....
.........
พระราชดำรัสตอบ
ในการเปิดรถไฟในระหว่างกรุงเทพฯ กับ กรุงเก่า พ.ศ. 2439
.........
เรารู้สึกว่าการที่ได้ทำวันนี้เป็นเกียรติแก่ตัวเรา แลเป็นที่ยินดีด้วยที่จะได้ทำการให้รถไฟสายนี้สำเร็จได้ ถึงแม้แต่เป็นส่วนหนึ่งตอนหนึ่ง เพราะเหตุว่าได้ทำการเพื่อเป็นประโยชน์แก่พระราชอาณาจักร ไม่เฉพาะแต่คนในประเทศเรา แต่ได้เป็นประโยชน์ทั่วไปแก่ มนุษย์ทั้งปวงด้วย
..... คิดแต่ถึงการที่จะได้ทำบัดนี้ ก็เป็นเหตุให้เกิดความชื่นชมยินดีว่า ถึงแม้ว่าการที่จะได้ทำในวันนี้ ไม่ได้เต็มที่ดังความมุ่งหมายแต่เดิม ก็ยังเป็นที่พึงพอใจแลเห็นได้ว่า เป็นพยานแห่งความอุตสาหะของกรมรถไฟและเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการด้วย.....
.........