พระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระราชดำรัส
พระราชทานพระบรมราโชวาท
แก่นายทหารและพลทหารเรือ ที่เรือพระที่นั่งมหาจักรี พ.ศ. 2440

เจ้าทั้งหลายซึ่งมาอยู่ที่นี้ ข้าขอบอกว่าคราวนี้เป็นคราวแรก ที่เจ้าทั้งปวงได้มารับราชการในบ้านเมือง แลในหมู่คนซึ่งเป็นต่างประเทศ ต่างชาติ ต่างภาษา เป็นเมืองต่างประเทศที่เขาถือชาติ รักษาเกียรติยศ ขนบธรรมเนียม แบบแผนของเขาอย่างกวดขัน พวกเราก็เป็นชาติหนึ่งซึ่งได้มาอยู่ และจะไปในท่ามกลางคน ต่างประเทศเหล่านั้น เพราะฉะนั้น ขอให้เจ้าทั้งปวงประพฤติตนจงดี แลรักษาแบบแผนธรรมเนียม โดยกวดขันอย่าให้เขาติเตียนได้ ว่าพวกเราเป็นชาติเลวทราม แลหมั่นสังเกตทำการตามหน้าที่ทั้งปวง ให้เขาเห็นว่าเราเป็นคนในชาติหนึ่งบ้าง ถ้าผู้ใดไม่สบาย ฤามีความเดือดร้อนอย่างไร ให้มาบอกแก่เรา ที่มาด้วยกันในเที่ยวนี้ก็ไม่มาก หมดด้วยกันเพียงสามร้อยคนเท่านั้น ให้ถือเสียว่าเป็นอย่างเช่นพี่น้อง มาด้วยกันในต่างประเทศด้วยกันเถิด

พระราชดำรัส
พระราชทานพระบรมราโชวาท
แก่นายทหารเรือและพลทหารเรือ ที่เรือพระที่นั่งจักรี พ.ศ. 2440

.........
เดี๋ยวนี้เราได้มาจากประเทศของเราไกลตั้ง 6,000 ไมล์ ไม่ต่ำกว่า 288,000 เส้น มาถึงประเทศที่ เขาเจริญแล้วด้วยวิชาการฝ่ายทะเล แลการรุ่งเรืองด้วยการเล่าเรียนแลการปกครอง ..... ความเจริญรุ่งเรื่อง ทั้งหลายนี้ได้เกิดขึ้นเพราะความสังเกต แล้วคิดการประกอบแลเล่าเรียนต่อ ๆ กันมา อาศัยความอุตสาหะ แลความเพียรเป็นที่ตั้งเท่านั้น เขาหาได้เป็นอย่างอื่น นอกจากเป็นมนุษย์เหมือนเราไม่ .....คำพระพุทธเจ้า ของเราทรงติเตียนความประพฤติของมนุษย์ที่กล่าวว่า เวลานี้ร้อนนัก เวลานี้หนาวนัก เวลานี้เช้านัก เวลานี้เย็นนัก เป็นต้น เพื่อจะผัดการงานที่จะทำให้ช้าไป เกิดจากความเกียจคร้าน พระองค์ตรัสว่า คำเช่นนั้นเป็นทางมาของความฉิบหาย ไม่เป็นทางที่จะให้ตนมีความเจริญขึ้นได้ .....
เจ้าจงไว้ตัวเจ้าให้กล้าหาญ เพราะเราเป็นมนุษย์อย่างเดียวกัน ..... ความชั่วทั้งหลายไม่ควรประพฤติ เช่นกับการเล่นเบี้ย เป็นต้น ..... การเล่นเช่นนั้นไม่ใช่ความประพฤติของชาติเรา ..... เป็นความประพฤติ ไปสู่ความฉิบหาย อันเราคิดจะเลิกถอนเสียจากเมืองเรา .....
เจ้าทั้งหลายจงมีใจอุตส่าห์ทำการในหน้าที่ของตน แลอุตส่าห์จำการที่ได้เห็น แลการที่ได้ทำในครั้งนี้ ด้วยความตั้งใจว่า เจ้าทั้งหลายได้จากบ้านมาไกลปานนี้มิได้มาเปล่า แต่จะเป็นผู้นำระเบียบการงานอันนี้ กับทั้งความรู้ไปเป็นครู บอกเล่าพวกเราทั้งหลายให้ความรู้ดียิ่งขึ้น แลช่วยกันยกชาติเราให้เจริญรุ่งเรืองด้วยวิชา .....


พระราชดำรัส
พระราชทานพระบรมราโชวาท
แก่นักเรียนที่ศึกษาวิชาอยู่ในประเทศอังกฤษ พ.ศ. 2440

 

การที่คอเวอนแมนต์ไทย ให้เจ้าทั้งหลายมาเล่าเรียนวิชาในกรุงอังกฤษนี้ ให้มาเป็นตัวอย่างของ นักเรียนไทย แลให้ได้รับความอุดหนุนทุกอย่าง ถ้าเจ้าทั้งหลายมาเรียนวิชาได้ไม่ตลอด เป็นแต่เรียนวิชาผิว ๆ ไปเป็นฝรั่งเช่นนั้น นับว่าเป็นอันเสียเงิน แลเสียราชการด้วย ..... ตั้งใจจะให้เล่าเรียน รอบรู้ กลับไปทำการในบ้านเมืองของเราให้เจริญดียิ่งขึ้น ..... ให้เจ้าจำไว้ในใจว่า ถ้าเจ้าจะเป็นไทยไปเร่อ ๆ ร่า ๆ เจ้าก็คงจะได้ดี ไม่จำต้องทำท่าเป็นอย่างฝรั่ง ให้เจ้าหมั่นอุตส่าห์รีบเล่าเรียนให้แล้วเสร็จ เจ้าจะได้กลับไปบ้านเมือง ถ้าเจ้าจะนึกว่าอยู่ที่นี่สบาย นึกเสียว่าจะเล่าเรียนเมื่อใดก็ได้เช่นนี้ เป็นอันว่าเนรคุณต่อคอเวอนแมนต์ไทย เจ้าต้องขวนขวายให้ได้วิชาเป็นอย่างดี แลอย่านึกว่าตัวเจ้าจะแปลกกับคนในกรุงเทพ ฯ อย่างใด เพราะเขาก็มีความรู้เหมือนกัน


พระราชดำรัสตอบ
พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ แลข้าทูลละอองธุลีพระบาท
คราวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสยุโรป พ.ศ. 2440

 

.........
ท่านผู้เป็นทูตานุทูตแลหมู่แห่งกงสุลซึ่งมีเกียรติ ..... ซึ่งจะได้ถือเอาโอกาสอันนี้กล่าวให้ปรากฏว่า เราได้รู้สึกคุณของประเทศซึ่งเราได้ไปเยี่ยม แล้วได้ต้อนรับเราด้วยความครึกครื้น แลความรักใคร่เป็นอันดีทั่วทุกแห่ง ไม่มีที่ยกเว้นเลย ..... ไม่มีสิ่งใดซึ่งจะทำให้ชาติหนึ่งต่อชาติหนึ่ง เกิดความไมตรีต่อกันแลกัน ยิ่งกว่าซึ่งได้ต่างรู้จักกันแลกันเป็นอันดี ประเทศหนึ่ง ๆ ย่อมถือชาติของตน ย่อมมีพงศาวดารของตน มีผู้เป็นเจ้าหรือเป็นประชาชนของชาติหนึ่ง ๆ ย่อมมีเหตุจะต้องรักบ้านเมืองของบรรพบุรุษแห่งตนแลตน แลป้องกันอิสรภาพแห่งประเทศนั้น ๆ ทั่วไป เพราะเหตุฉะนั้น เราทั้งหลายต้องมีความนับถือกันแลกัน ..... ความคิดเห็นอันนี้ เป็นที่ตั้งแห่งความชอบธรรม แลหน้าที่อันมีอยู่ในอำนาจแห่งความปกครองของประเทศทั้งหลาย ท่านผู้เป็นข้าราชการอันดีทั้งหลายของเรา ความมุ่งหมายซึ่งเรามีอย่างเดียวกัน จะต้องเป็นไปเพื่อความเจริญรุ่งเรืองแก่กรุงสยาม ..... เราจะต้องไม่เป็นผู้ที่หลับตา ถือเอาอาการซึ่งจะเป็นการดีต่อชาติอื่น แต่จะไม่เป็นการดีหรือเป็นการด่วนเกินต้องการของประเทศสยามไป อีกฝ่ายหนึ่งเราจะต้องไม่เป็นหลงใหลหลับตา ถือมั่นตามแบบอย่างหรือกฎหมายโบราณ ซึ่งอาจดีได้ในกาลครั้งหนึ่ง แต่เป็นการล่วงพ้นจากความพอดี ซึ่งเรามีความต้องการแลมีความเห็นอยู่บัดนี้
..... แลเราทั้งหลาย จะเดินต่อไปด้วยกันในทางซึ่งสมควร แลเป็นทางที่เจริญขึ้นเป็นเนืองนิตย์ จะละหลีกทางที่แรงเกินไปทั้งสองฝ่าย คือจะไม่หยุดนิ่งเกินไป หรือไม่เดินเร็วเกินไปกว่าที่สมควรจะเดิน .....

พระราชดำรัสตอบ
พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย พ.ศ. 2440

 


.........
..... ข้าพเจ้าได้แสดงตนแล้วในที่ทั้งปวง ให้เห็นปรากฏได้ว่า ผู้ซึ่งถือพระพุทธศาสนาย่อมเป็นผู้มีธรรมที่ประพฤติอยู่ ถ้าหากว่าชนภายนอกพระพุทธศาสนา จะไม่เห็นว่าดีกว่า ก็คงจะเสมอด้วยผู้ซึ่งประพฤติดีแล้วในศาสนาของเขาทั้งหลายนั้น ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้รับความต้อนรับ แลความเชื่อถือว่า เป็นผู้ประพฤติดีในหมู่ผู้ถือศาสนาอื่นๆ ทั่วทุกแห่ง และเป็นผู้กลับมาด้วยความยินดี พอใจในศาสนาที่ตนถือว่า เป็นศาสนาอันบริสุทธิ์บริบูรณ์ดีทุกประการ......
.........

พระราชดำรัสตอบ
พวกพม่า พ.ศ. 2440

..... เมื่อคิดถึง แลเมื่อได้ฟังถ้อยคำอันกล่าวยกย่องว่า เราเป็นเจ้าแผ่นดินผู้หนึ่งซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา คงอยู่ในโลกนี้ แท้จริงความรู้สึกเช่นนี้ ย่อมเกิดในใจเรา เมื่อได้พบเห็นขณะเมื่อเราเดินทางไปในประเทศยุโรป เมื่อพบประผู้ซึ่งถือศาสนาเดียวกัน ย่อมเกิดเมตตาจิตต่อกันแลกัน อีกส่วนหนึ่งต่างหาก จากความซึ่งเรามีความปราถนาที่จะเป็นมิตรไมตรี ต่อผู้ที่เราได้พบเห็นตลอดทางที่เราได้ไปนั้น .....

พระราชดำรัสตอบ
บรรพชิตญวนแลพวกญวน พ.ศ. 2440

..... เราย่อมถือมั่นอยู่เสมอว่า ท่านทั้งหลายเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อตัวเรามากทุกเมื่อ ท่านทั้งหลาย ย่อมมีส่วนด้วยในความยินดีแลความเศร้าโศกของเรา อันได้ปรากฎมาแล้วแต่ปางก่อน ตลอดจนถึงในครั้งนี้ ..... เรามีน้ำใจที่จะเป็นผู้ปกครองแลทำนุบำรุงท่านทั้งหลาย ให้ตั้งอยู่ในความสุข แลความสะดวกมั่นคงสืบไปภายหน้า .....