พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับการป้องกันประเทศ

นับแต่ประเทศไทยเริ่มเปิดความสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจตะวันตกในตอนปลายรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อเนื่องมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ประเทศไทยก็เริ่มประสบภัยคุกคาม จากนานาประเทศตะวันตก ทั้งในด้านการทหารและเศรษฐกิจ ทำให้ต้องเสียสิทธิในการเรียกเก็บภาษีอากร และจำต้องเสียดินแดนบางส่วน เพื่อรักษาเอกราชของชาติไว้

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักดีถึงภัยคุกคาม จากลัทธิล่าอาณานิคมดังกล่าว มาแต่ทรงพระเยาว์ เหตุการณ์สำคัญที่น่าจะทรงรำลึกอยู่มิรู้ลืมคือ กรณี ร.ศ. ๑๑๒ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะได้เสด็จออกไปทรงศึกษาวิทยาการ ณ ประเทศอังกฤษเพียงเดือนเศษ ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับความโทมนัสอย่างแสนสาหัส

จากเหตุการณ์ดังกล่าวรวมทั้งการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำต้องทรงสละดินแดนบางส่วนของประเทศ เพื่อรักษาเอกราชของชาติไว้นั้น ก็เพราะการขาดความพร้อมด้านกำลังทหาร

สมดังพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า

"ผู้ใดมีอำนาจวาศนา ธรรมดาหาอะไรก็หาได้
กำหมัดคือยุติธรรมจงจำไว้ ใครหมัดใหญ่ได้เปรียบเรียบเทียบเกลอ
ใครหมัดย่อมต้องถ่อมกายายอบ ต้องคอยหมอบคอยกราบราบเทียวหนอ
คอยระแวงแขยงอยู่ละเออ มิได้กล้าเผยอขึ้นตึงตัง
มีอำนาจวาศนาวาจาสิทธิ์ พูดสิ่งใดไม่ผิดเพราะฤทธิ์ขลัง
ถึงพูดผิดกำหมัดซัดลงปัง กลายเป็นพูดถูกจังไปทั้งเพ
กำหมัดเล็กลูกเด็กก็เถียงได้ จะส่งเสียงเถียงไปไม่ไหวเหว
ต้องขอยืมหมัดโตไว้โบ๊เบ๊ เดินโอ้เอ้วางปึ่งให้ถึงดี" (๑)

ภายหลังจากเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระราชดำริที่จะเร่งรัดปฏิรูปกองทัพสยาม ให้ทันสมัยทัดเทียมชาติมหาอำนาจ เริ่มจากทรงส่งพระราชโอรสและนักเรียนไทยไปศึกษาวิชาการทหารในประเทศยุโรป พร้อมกับได้ทรงดำเนินพระบรมราชวิเทโศบายทางการเมืองระหว่างประเทศด้วย การผูกมิตรกับประเทศรัสเซีย เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งกำลังแผ่อิทธิพลเข้ามาทั้งทางด้านตะวันตกและตะวันออกของประเทศไทย

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี ทรงเป็นพระราชโอรส พระองค์หนึ่งที่โปรดให้เสด็จออกไปศึกษาวิชาการ ณ ประเทศอังกฤษ โดยได้เสด็จออกจากประเทศไทยไปหลังจากเกิดเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ได้เพียงเดือนเศษ ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง ๑๓ พรรษา

ในระหว่างประทับทรงศึกษาวิชาการชั้นต้น ณ ประเทศอังกฤษนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จทิวงคตลงอย่างกระทันหัน เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

เนื่องจากทรงได้รับสถาปนาเป็นพระรัชทายาท จึงเป็นเหตุให้ต้องทรงเปลี่ยนแนวการศึกษา ซึ่งแต่เดิมมีพระราชประสงค์ จะให้ทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ต้องทรงเปลี่ยนไปทรงศึกษาวิชาการเพื่อเตรียมพระองค์ที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป ในชั้นต้นได้เสด็จเข้าศึกษาวิชาการทหารบก ณ ROYAL MILITARY ACADEMY, SANDHURST เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ วิชาที่ได้ทรงศึกษามี การปกครองของทหาร กฎหมาย ยุทธวิธี วิชาป้อมค่าย การสำรวจ ภาษาฝรั่งเศส พลศึกษา ห้อยโหน (หรือยิมนาสติค) ขี่ม้า ฯลฯ ทรงเชี่ยวชาญในการขี่ม้าเป็นพิเศษ

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารแล้วได้เสด็จเข้าประจำการในกองทัพบกอังกฤษ ทรงดำรงพระยศเป็นนายร้อยโท สังกัดกรมทหารราบเบาเดอรัม (Durham Light Infantry Regiment) ก่อนที่จะเสด็จไปเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรวิชาเฉพาะต่าง ๆ ของกองทัพอังกฤษอีก ๓ ครั้ง ดังนี้

๑) วิชาปืนเล็ก ที่เมืองไฮท์ ทรงได้รับรางวัลวิชาแม่นปืน ซึ่งแสดงถึงพระปรีชาสามารถมาก รางวัลนี้มีผู้ที่ได้รับน้อยราย
๒) วิชาทหารภูเขา ที่เมืองโอคแฮมตัน จังหวัดเดวอน
๓) วิชาการทหารปืนใหญ่ ที่ออลเดอร์ช็อต ในระหว่างที่เสด็จเข้าทรงศึกษาในมหาวิทยาลัย อ๊อกซฟอร์ดแล้ว

ครั้นถึงเวลาอันสมควรได้เสด็จเข้ารับการศึกษาวิชาการพลเรือน ณ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) ในหลักสูตรพิเศษที่ทางมหาวิทยาลัยจัดถวายพระราชวงศ์อังกฤษ วิชาที่ทรงศึกษามี อาทิ ประวัติศาสตร์ กฎหมาย และการปกครอง ฯลฯ

อนึ่ง ในระหว่างที่ประทับทรงศึกษาสรรพวิทยาการ ณ ประเทศอังกฤษนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้เป็นผู้แทนพระองค์เสด็จไปร่วมในงานบรมราชาภิเษกพระเจ้า อัลฟองโซที่ ๑๓ แห่งประเทศเสปน และพระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ ๗ แห่งสหราชอาณาจักร นอกจากนั้นยังได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป อาทิ รุสเซีย ออสเตรีย - ฮังการี อียิปต์ อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน ปอร์ตุเกส และเยอรมนี เพื่อทอดพระเนตรความเจริญและกระชับสัมพันธไมตรีเป็นการส่วนพระองค์ด้วย

ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเบลเยี่ยม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้ทอดพระเนตรป้อมต่าง ๆ ของประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งในสมัยนั้นถือกันว่าเป็นป้อมที่ทันสมัยที่สุดนั้น ได้ทรงแสดงพระปรีชาญาณทางการทหารให้ประจักษ์ตั้งแต่ยังทรงมีพระชนมายุเพียง ๒๑ พรรษา ดังที่ นายพลเอก พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) อดีตหัวหน้ากองทูตทหารในการพระราชสงครามทวีปยุโรปและอาจารย์วิชายุทธศาสตร์และยุทธวิธี โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้บันทึกไว้ว่า

".....เมื่อทรงกล่าวถึงป้อมที่เมืองลิเอซ ถึงสะพานและช่องทางที่ข้าศึกอาจยกเข้ามา ได้ทรงทำนายไว้ว่าเยอรมันจะต้องยกเข้ามาทางนั้น ได้รับสั่งเรื่องนี้กับข้าพเจ้าใน ค.ศ. ๑๙๐๑ และใน ค.ศ. ๑๙๑๔ คือ ๑๓ ปีภายหลัง กองทัพเยอรมันก็ได้โจมตีลิเอซตามทางที่ได้ทรงทำนายไว้จริง ๆ เป็นพยานว่า…ทรงเห็นการณ์ไกลทางยุทธศาสตร์ ตั้งแต่ยังทรงพระยศทหารเป็นนายร้อยตรีผู้สำเร็จการศึกษามาใหม่ ๆ .....ทรงสามารถเข้าพระทัยหลักสำคัญแห่งตำรับพิชัยสงคราม สมที่จะได้ทรง เป็นมิ่งขวัญและจอมทัพสยามต่อไป....." (๒)

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินนิวัติพระนคร โดยเสด็จพระราชดำเนินผ่านทางสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ได้แวะทอดพระเนตรความเจริญของบ้านเมือง ตลอดจนการจัดการทหาร และการศึกษาในประเทศทั้งสอง ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินถึงกรุงเทพมหานครในปลายปี พ.ศ. ๒๔๔๕ รวมเวลาที่ประทับทรงศึกษาศิลปวิทยาการต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักรเป็นเวลาถึง ๙ ปี

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงกรุงเทพมหานครแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เสด็จเข้ารับราชการทหารเป็น นายพลเอก และนายพลเรือเอก ตำแหน่งจเรทัพบกและทัพเรือ และทรงเป็นราชองครักษ์พิเศษ กับทรงดำรงพระยศเป็น นายพันโท ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และนายพันเอก ผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์

นอกจากพระราชกิจในหน้าที่นายทหารประจำการดังกล่าวแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ยังได้ทรงช่วยเหลือกิจการของสภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงเป็นที่ปรึกษาสภาร่างกฎหมาย ได้ทรงยกร่างพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร พ.ศ. ๒๔๔๘ ซึ่งเป็นรากฐานในการเกณฑ์บุคคลเข้ารับราชการทหาร สืบมาตราบจนถึงทุกวันนี้ รวมทั้งได้ทรงร่วมกับพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ (๓) จัดวางกำลังกองทัพบกตามรูปแบบการจัดกองกำลังของนานาประเทศ ซึ่งต่อมาเรียกกันว่าโครงสร้างกองทัพบกสยาม พ.ศ. ๒๔๕๑ ซึ่งได้จัดวางกำลังพลเป็น ๑๐ กองพลกระจายอยู่ในมณฑลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ดังนี้

กองพลที่ ๑ มณฑลกรุงเทพ
กองพลที่ ๒ มณฑลนครไชยศรี
กองพลที่ ๓ มณฑลกรุงเก่า (อยุธยา)
กองพลที่ ๔ มณฑลราชบุรี
กองพลที่ ๕ มณฑลนครราชสีมา
กองพลที่ ๖ มณฑลนครสวรรค์
กองพลที่ ๗ มณฑลพิษณุโลก
กองพลที่ ๘ มณฑลพายัพและมณฑลมหาราษฎร์
กองพลที่ ๙ มณฑลปราจิณบุรี และมณฑลจันทบุรี
กองพลที่ ๑๐ มณฑลอุบล มณฑลอุดรและมณฑลร้อยเอ็จ

ในแต่ละกองพลมีการจัดโครงสร้างอัตรากำลังเป็นหน่วยทหารเหล่าต่าง ๆ ดังนี้

กรมทหารราบ ๒ กรม
กรมทหารปืนใหญ่ ๑ กรม
กรมทหารม้า หรือทหารพราน (๔) ๑ กรม
กรมทหารช่าง ๑ กรม
กรมทหารสื่อสาร ๑ กรม

แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้านงบประมาณของแผ่นดินซึ่งถูกจำกัดด้วยสนธิสัญญาว่าด้วยภาษีร้อยชักสาม ทำให้ไม่มีงบประมาณพอที่จะจัดซื้ออาวุธ รวมทั้งบรรจุกำลังพลประจำการลงได้เต็มตามอัตราที่กำหนดไว้ แม้เวลาจะล่วงเลยเข้าสู่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วก็ตาม กองพลทั้งสิบนั้น ก็คงมีแต่โครงที่ไม่สามารถบรรจุกำลังรบลงได้ตามอัตราที่กำหนดไว้ ประกอบกับเงื่อนไขของสนธิสัญญา ที่ชาติมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมได้กำหนดให้กองทหารไทยต้องตั้งอยู่ห่างจากชายแดนไม่น้อยกว่า ๒๕ กิโลเมตร และข้อกำหนดตามสนธิสัญญาลับที่ประเทศไทยทำไว้กับรัฐบาลอังกฤษคราวกู้ยืมเงินจำนวน ๑๕ ล้านปอนด์สเตอริงค์ มาสร้างทางรถไฟสายใต้ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ได้กำหนดให้ดินแดนในคาบสมุทรมลายูของไทย อันประกอบด้วยมณฑลชุมพร มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลภูเก็ตและมณฑลปัตตานี เป็นดินแดนในอารักขาของอังกฤษ เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว ซึ่งผลของสัญญาลับฉบับนี้ ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งกองทหารประจำการ ในดินแดนภาคใต้ของไทย นับแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปจนจรดชายแดนมลายูของอังกฤษ และสนธิสัญญาฉบับนี้ คงมีผลบังคับใช้ต่อเนื่องมาตราบจนถึงสมัยสงครามโลกครั้ง ที่ ๒

แต่ด้วยพระบรมราชปณิธานที่จะทรงนำประเทศไทยสู่การยอมรับจากนานาประเทศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงเตรียมการด้านกำลังสำรองของชาติไว้ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เริ่มด้วยทรงนำหลักวิชาป้อมค่ายประชิด และทหารพราน ซึ่งทรงพระปรีชาสามารถเป็นพิเศษ มาฝึกหัดมหาดเล็กข้าในกรมให้นิยม และมีความรอบรู้ในวิชาการทหาร เพื่อเป็นกำลังสำรองของชาติเตรียมพร้อมไว้ในกรณีจำเป็น ดังพระราชนิพนธ์ที่ว่า.6+



"แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ
สัตรูกล้ามาประจัญ จักอาจสู้ริปูสลาย"

ครั้นเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็เริ่มทรงวางรากฐานการป้องกันประเทศ เริ่มจากโปรดให้ยกกรมวังนอก ซึ่งเป็นส่วนราชการพลเรือนในราชสำนัก ขึ้นเป็นกรมทหารรักษาวัง เมื่อวันอังคารที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔

กรมทหารรักษาวังนี้ มีฐานะเป็นหน่วยทหารประจำการกรมหนึ่ง มีหน้าที่หลัก คือ การรักษาการในเขตพระราชฐานแทนทหารประจำการและปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์อีกหน่วยหนึ่ง แต่อยู่ในบังคับบัญชาของเสนาบดีกระทรวงวัง รวมทั้งการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็โปรดให้ใช้งบประมาณของกระทรวงวังซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทั้งสิ้น

เมื่อแรกตั้งกรมทหารรักษาวังนั้น โปรดให้จัดอัตรากำลังเป็น ๒ กองพันดังเช่นการจัดอัตรากำลังของหน่วยทหารบกในยุคนั้น ครั้นความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า จะมีชาติมหาอำนาจชาติหนึ่ง เตรียมการที่จะเสนอขอขุดคอคอดกระ เพื่อร่นระยะเวลาเดินทางจากคาบสมุทรอินเดียสู่ทะเลจีน รวมทั้งจะมีการขอสัมปทานทำเหมืองแร่ในเขตมณฑลปักษ์ใต้ของไทย แล้วจะอาศัยเหตุนี้ส่งกำลังทหารเข้ามาโดยอ้างว่าเพื่อคุ้มครองคนของตนที่มาทำเหมืองแร่นั้นแล้ว ยิ่งทรงพระปริวิตกและทรงห่วงใยในเรื่องกรรมสิทธิ์ของประเทศสยามในดินแดนแถบนี้มากยิ่งขึ้น ถึงขนาดได้เสด็จ ฯ ประพาสมณฑลปักษ์ใต้ ถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ และได้ทรงมีพระราชปรารภในที่ประชุมสภาการทัพว่า
"...เมื่อทำสัญญากับอังกฤษครั้งหลัง ในเรื่องรถไฟซึ่งกระทำให้หลักอำนาจกรรมสิทธิ์ของประเทศสยามในแหลมมลายูยังคงอ่อนอยู่ ซึ่งจะแก้ได้ก็เพราะการที่มีกองทหารประจำอยู่เท่านั้น ประเพณีของนา ๆ ประเทศถือว่าในดินแดนที่ประเทศมีกองทหารตั้งอยู่แล้วนั้น เปนกรรมสิทธิ์อย่างมั่นคง และทางแหลมมลายูนี้เปนดินแดนที่ล่อแหลม ถึงฝ่ายเราจะไม่วิตกในการที่จะใช้คืนเงิน และดอกเบี้ยแก่เขาไม่ให้ติดค้างได้ ซึ่งเปนเรื่องสำคัญเกี่ยวถึงดินแดนเหล่านี้ก็ดี แต่ถ้าไม่มีกองทหารตั้งประจำแล้ว อาจจะเปนทางที่เขาจะกล่าวในอย่างอื่นด้วย ซึ่งเราก็ยังทรงไม่ได้ว่ามีทางใดอีกสักกี่อย่าง ส่วนที่มีตำรวจภูธรนั้นหาได้คือกันอย่างที่มีกองทหารไม่ กับเมื่อได้ตั้งกองทหารขึ้นแล้ว ทรงพระราชดำริห์ว่า จะได้ผลตลอดถึงเหตุการณ์ที่ภูเก็ตอีกด้วย เพราะที่ภูเก็ตมีพวกต่างประเทศมาอยู่มาก กับมีพวกจีนเปนพื้น ถ้ามีเหตุการณ์ขึ้นซึ่งระงับไม่ทันท่วงที ก็จะเกิดเรื่องพัวพันกับอังกฤษเปนมูลเหตุแลจีนสมัยใหม่นี้ถึงจะอยู่ในใต้กฎหมายไทยอย่างเดิมก็ดี แต่จีนสมัยใหม่มีวิธีแปลกเปลี่ยนกับจีนสมัยเก่าอยู่มาก แม้มีเรือรบตรวจระวังอยู่แล้วก็ดี แต่ถ้าเหตุการณ์นั้นจะต้องส่งทหารเรือขึ้นระงับบนบกก็จะไม่มีกำลังพอ เพราะมีจำนวนคนน้อย แม้มีกองทหารประจำอยู่ในเมืองที่ใกล้แล้ว ก็อาจจะส่งกันได้ทันท่วงที....." (๕)

จากพระราชปรารภดังกล่าวจึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งกองพันที่ ๓ กรมทหารรักษาวังขึ้นอีก ๑ กองพัน มีที่ตั้งกองบังคับการกองพันอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช กับมีส่วนแยกไปตั้งที่จังหวัดระนองและพัทลุง และได้มีพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในลายพระราชหัตถเลขาทรงตอบจดหมายเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ที่ ๓๓/๑๑๐๒๔ "เรื่องตั้งทหารในมณฑลนครศรีธรรมราช" ว่า

".....ขอตอบปัญหาที่ตั้งมานั้น หยิบเอาข้อที่เนื่องด้วยการต่างประเทศก่อน คือ ถ้าประกาศใช้พระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ในมณฑลปักษ์ใต้ จะกระทำให้ฝ่ายอังกฤษรู้สึกหวาดเสียวหรือเห็นผิดไปอย่างไรบ้างหรือไม่ฉนี้ ได้ปฤกษาหาฤากับกรมพระเทววงศ์แล้ว มีความเห็นพร้อมกันว่า เห็นจะพอจัดการป้องกันความเข้าใจผิดได้โดยอุบายดังต่อไปนี้ เราได้ประกาศแล้วว่า จะไปตั้งวังอยู่ในมณฑลปักษ์ใต้แห่ง ๑ และอาไศรยเหตุที่จำเปนต้องมีคนถืออาวุธรักษาพระองค์ในเวลาไปประทับที่นั้น ควรจัดตั้งทหารรักษาวังขึ้นกอง ๑ ดังนี้จะมีใครทักท้วงว่ากระไรก็เห็นว่าจะแก้ได้ถนัด

การที่จะไปจัดตั้งทหารขึ้นที่ในมณฑลนครศรีธรรมราช เมื่ออย่างไร ๆ ก็เปนอันจะต้องเพิ่มเงินขึ้นใหม่อีกแล้ว ก็ตั้งทหารรักษาวังขึ้นจะเปนการสดวก เพราะจะได้ไม่เสียราชการของกองทัพบก ณ บัดนี้ และจะกล่าวแก้คำท้วงก็ได้โดยสดวกดังอธิบายมาแล้ว

เห็นควรให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหารทั้ง ๔ มณฑลทีเดียว..... การที่ต้องประกาศใช้ เพราะต้องการเกณฑ์ทหารรักษาวังนั้นเอง ซึ่งถ้าจะใช้วิธีเกณฑ์อย่างอื่นก็จะผิดหลักกฎหมายที่มีอยู่แล้ว อีกทั้งจะได้ใช้เกณฑ์คนเปนตำรวจภูธรด้วยทีเดียว

.....ตำรวจภูธรที่จะเกณฑ์นั้น ก็สำหรับใช้รักษาความสงบภายในและรักษาชายแดนด้วย และทหารรักษาวังนั้น ถึงแม้ว่าน่าที่โดยปรกติจะสำหรับรักษาพระองค์ในเวลาเสด็จลงไปปักษ์ใต้ก็จริงอยู่ แต่ถ้าแม้ว่ามีเหตุการณ์ฉุกละหุก ก็จะพอใช้ป้องกันการจราจลภายในได้เหมือนกัน ถ้าได้ตั้งทหารรักษาวังขึ้นไว้สักกอง ๑ พอให้ชิน ๆ แล้ว แม้ต่อไปกระลาโหมจะเห็นสมควรจัดตั้งกองพลขึ้นก็คงตั้งได้โดยไม่มีเสียงพูดจาทางเข้าใจผิดไปได้เลย ส่วนปัญหาที่มีว่า จะควรตั้งกองทหารหรือไม่นั้น กรมพระเทววงศ์ทรงเห็นด้วยกับเราว่า ควรมี เพราะจะได้เปนพยานให้เห็นชัดว่า ที่ดินแดนในคาบสมุทรมลายูนั้น เรามิได้เพิกเฉยทอดทิ้ง ยังมีความหวงแหนอยู่จึ่งได้พยายามจัดตั้งกำลังไว้รักษาความสงบภายใน....." (๖)
ในขณะเดียวกันก็ได้โปรดให้จัดตั้งกองเสือป่าขึ้นเป็นกองอาสาสมัครสมัครในทำนอง Home Guard ของอังกฤษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้บุคคลพลเรือนไม่ว่าจะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ พ่อค้าคหบดีที่มิได้เป็นทหารสมัครเข้าเป็นสมาชิกเสือป่าได้ตามความสมัครใจ ซึ่งในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกเสือป่านี้ นอกจากผู้สมัครจะต้องชำระเงินค่าสมาชิก ต้องจัดหาเครื่องแต่งกายของตนเองแล้ว ยังต้องมารับการฝึกหัดตามกำหนดเวลา หากเกียจคร้านจะถูกปรับและยังอาจถูกประจานให้ได้รับความอับอายอีกด้วย

ในการถือน้ำพระพิพัฒสัตยาเสือป่า ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อันถือว่าเป็นวันสถาปนากองเสือป่าขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ นั้น มีสมาชิกเข้าร่วมพิธีเพียงร้อยคนเศษ จากนั้นได้โปรดให้ขยายการรับสมาชิกออกไป ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งปรากฏว่าในตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นั้นมีสมาชิกเสือป่าทั่วประเทศ กว่าหมื่นสามพันคน สมาชิกเสือป่าส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั่วทุกจังหวัด รวมทั้งพ่อค้าคหบดี ซึ่งล้วนเป็นผู้มีการศึกษา การฝึกหัดสั่งสอนจึงเป็นไปได้โดยง่าย ต่างจากทหารเกณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียน การฝึกหัดสั่งสอนจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก

สมาชิกเสือป่าที่ได้รับการฝึกอบรมแล้วนอกจาก ".....มีกำลังวังชาขึ้นทันตาเห็น ผู้ที่เคยต้องคอยประคับประคอง ก็มาแขงแรงขึ้น จนเลี้ยงตัวได้มากขึ้นเปนลำดับ ที่เคยอ่อนแอก็กลับแขงแรง ที่เคยตามใจตัวอยู่เปนเนืองนิตย์ก็กลับคิดทรมานจิตรของตน ให้นึกถึงผู้อื่นและนึกถึงคน ที่เคยสำมะเลเทเมาอยู่ก็มาลดหย่อนลง และตั้งใจกลับตัวประพฤติให้เรียบร้อย ข้อนี้เจ้าพระยายมราชอ้างพยานให้เห็นปรากฏ คือ ร้านขายเหล้าพากันร้องว่าขายตกไป ยังมิหนำซ้ำ เสือป่าแข่งกันหาชื่อเสียงในทางช่วยกองตระเวณจับผู้ประพฤติชั่วต่าง ๆ อยู่แทบทุกวัน....."(๗) นอกจากนั้นในด้านความสามัคคีในหมู่ข้าราชการต่างกระทรวงซึ่งแต่เดิม "ความสามัคคีในหมู่ข้าราชการต่างกระทรวงไม่ใคร่จะมีต่อกัน เพราะต่างคนต่างคิดแต่จะหาความชอบความดีในแพนกของตน และต่างคนต่างมุ่งนิยมอยู่แต่เฉภาะในตัวบุคคลผู้เป็นนายเหนือตน"(๘) นั้น ก็ได้รับการเยียวยารักษาจนหายขาดด้วยยาขนานเอกคือ "เสือป่า" นั้นเอง

ในด้านการจัดการปกครองกองเสือป่านั้น ในชั้นต้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระยศเป็นนายกองใหญ่ นายกเสือป่า และผู้บังคับการกรมเสือป่าหลวงรักษาพระองค์ ครั้นเมื่อสมาชิกเสือป่าขยายตัวเพิ่มขึ้นจนมีเสือป่ากระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดแบ่งกองกำลังเสือป่าออกเป็นกรมเสือป่ารักษาดินแดน แล้วขยายขึ้นเป็นกองเสนาในทำนองเดียวกับกองพลทหารบก โดย

กองเสนาหลวง หมายถึง กองเสือป่าซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาด้วยพระองค์เอง สมาชิกส่วนใหญ่ล้วนเป็นข้าราชสำนัก จัดอัตรากำลังเป็น

กองเสนาน้อยราบหนัก เปรียบได้กับกองพลทหารราบ ประกอบด้วย
กรมเสือป่าราบหลวง
กรมเสือป่าปืนใหญ่หลวง
กรมเสือป่าม้าหลวง
กองเสือป่าเดินข่าวหลวง
กองเสือป่าช่างหลวง
กรมนักเรียนแพทย์เสือป่าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์
กองเสนาน้อยราบเบา เปรียบได้กับกองพลน้อยทหารราบเบา ประกอบด้วย

กรมเสือป่าพรานหลวง
กรมนักเรียนเสือป่าหลวง

ในส่วนภูมิภาคก็โปรดให้จัดเป็นกองเสนารักษาดินแดนกระจายกันอยู่ตามมณฑลต่าง ๆ ทั่วประเทศ มีสมุหเทศาภิบาลซึ่งเป็นผู้บริหารราชการสูงสุดในแต่ละมณฑลทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการกองเสนาโดยตำแหน่ง