พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยได้ประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก และมีผลกระทบถึงประเทศไทยค่อนข้างรุนแรง เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย จนทำให้ต้องมีการลดรายจ่ายของแผ่นดิน เป็นจำนวนมากในหลายมาตรการด้วยกัน หนึ่งในมาตรการดังกล่าวได้แก่ การลดงบประมาณในการในส่วนที่เป็นเงินเดือนของข้าราชการ โดยวิธีลดปริมาณข้าราชการลง ในสมัยนั้นเป็นที่รู้จักกันดีในคำว่าดุลยภาพ มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ถูกพิจารณาให้ออกจากราชการก่อนเกษียณอายุเป็นจำนวนมาก เกิดความไม่พอใจขึ้นทั่วไปในพวกที่ถูกปลดไปแล้ว ส่วนพวกที่ยังไม่ถูกปลดก็เกิดความหวั่นไหวว่า ตนอาจจะต้องถูกดุลยภาพในอนาคต จึงได้ขวนขวายหาทางป้องกันตนและพวกพ้องให้พ้นจากภาวะดังกล่าว

จากปัญหาทางเศรษฐกิจได้นำมาสู่ปัญหาทางสังคม การขวนขวายเพื่อความอยู่รอด จากการถูกดุลยภาพ เพราะจะทำให้ต้องสูญเสียความมั่นคงในชีวิต ที่ฝากไว้กับราชการ การสูญเสียอำนาจหน้าที่ในราชการที่ได้ครองอยู่ และที่จะได้ก้าวหน้าต่อไป ปัญหาดังกล่าวนำไปสู่ปัญหาทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ อย่างเร่งรัด ขาดความพร้อมในหลายๆ ด้านโดย เฉพาะอย่างยิ่งประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักว่าประชาธิปไตยคืออะไร เกิดการก่อความไม่สงบในรูปแบบต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่สามารถจะให้เกิดมีขึ้นได้โดยธรรม เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ด้วยวิธีอื่น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริ ที่จะให้คนไทยทุกหมู่เหล่า มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีแผนงาน และการดำเนินการที่รัดกุมเป็นขั้นตอน เพื่อความเป็นประชาธิปไตย ที่ถูกถ้วนสมบูรณ์แบบอย่างมั่นคง และเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างแท้จริง พระองค์ทรงมีพระราชปณิธานอย่างแน่วแน่ ที่จะพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย ขึ้นในประเทศไทยมาตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาพิจารณาถึง ๒ ฉบับตอนต้นรัชกาลฉบับหนึ่ง และก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ อีกฉบับหนึ่ง พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นอันมาก เพื่อวางพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธปไตย แม้พระองค์เองก็ทรงทำพระองค์เป็นแบบอย่าง เช่น ทรงเสียเงินรัชชูปการ ให้แก่ทางราชการ เช่นเดียวกับชายไทยทั่วไปที่เป็นเลข หรือคนที่จะต้องปฏิบัติราชการ นับว่าเป็นเรื่องที่หาได้ยากในฐานะที่พระองค์ทรงเป็น พระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครอง แบบสมบูรณาญาสิทธิราช

แนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ปรากฎอยู่ในหลักฐานต่าง ๆ ในรัชสมัยของพระองค์ พอประมวลได้ดังนี้

 

การปกครองท้องถิ่น

ร่างพระราชบัญญัติเทศบาล : แนวพระราชดำรที่จะพัฒนาการเมืองในขั้นการวางรากฐาน ให้ราษฏรรู้จักปกครองตนเอง

 

ร่างหนังสือ ถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์
เรื่อง คิดจะจัดการประชาภิบาล (Municipality) เมื่อ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๖๙

ทูลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์

ด้วยเรื่องที่คิดจะจัดการประชาภิบาล(Municpality) ตามที่ได้เคยปรึกษาการแล้ว

.....ดูเหมือนพระองค์ท่านใคร่จะสะสางการงานในกรมนคราทรเสียให้เสร็จเรียบร้อยก่อน จึงจะทรงคิดจัดเรื่องประชาภิบาล (MunicipalitY) ต่อไป ให้นาย อาร์.ดี.เดรก มาช่วยคิดการนั้น หม่อมฉันได้มาตรองดูเห็นว่า ถ้าดังนั้นการจะช้าไป ควรลงมือคิดการเสียแต่ในบัดนี้ เมื่อสะสางกรมนคราทรแล้ว พอดีกันที่ให้กรมนี้จัดการขั้นต้นไปก่อน ที่หม่อมฉันเห็นว่าควรจะคิดเตรียมการไว้เสียแต่บัดนี้ เพราะเหตุว่าเขาจะต้องสอบสวนเปรียบเทียบกับเมืองใกล้เคียง จึงควรจะกะตัวผู้ที่จะเป็นกรรมการวางโครง หม่อมฉันขอให้ทรงพระราชดำริทีเดียวจะได้ทันกัน มิฉะนั้นถึงเวลาจะทำก็จะชักช้า ที่ต้องสอบสวนอยู่อีก เมื่อจะต้องพระประสงค์ผู้ใดเป็นกรรมการบ้าง ขอให้ทรงกะตัวขึ้นมา

(พระบรมนามาภิไธย)

 

 

บันทึกความเห็นของ เซอร์ เอดวาร์ด กุ๊ก (Sir Edward cook) เมื่อ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๗๐
เรื่องการประชาภิบาลในกรุงสยาม (Municipality in Siam)

ถวายเสนาบดี
มีรับสั่งให้ เกล้า ฯ ถวายความเห็นในหนังสือจากกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเรื่องอันเกี่ยวกับเงินรายได้ ซึ่งได้โอนให้แก่การประชาภิบาล ซึ่งได้ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการสุขาภิบาล ตามหัวเมือง ร.ศ.๑๒๗
หนังสือเหล่านี้มีความเช่นเดียวกับฉบับก่อน.....
๒. ฐานะแห่งสุขาภิบาลท้องที่เหล่านี้..... เห็นได้ชัดว่าไม่เป็นที่พึงพอใจดังเหตุผลอันจะปรากฎต่อไป..... สุขาภิบาลเหล่านี้ยังคงมีฐานะอันไม่แน่นอนอยู่ตราบใด และรัฐบาลยังไม่ได้วางทางการอันชัดเจนในเรื่องสุขาภิบาล ในเรื่องสุขาภิบาลหัวเมืองตราบใด..... ก็จะไม่เป็นประโยชน์ตราบนั้น.....
๓. เกล้า ฯ ไม่ทราบการณ์แน่แท้แห่งการมีพระราชบัญญัติ ร.ศ.๑๒๗ ขึ้น และไม่ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราโชบาย และที่ปรึกษาของพระองค์ได้มีความดำริห์ประการใด จึงได้ทรงเริ่มตั้งการปกครองแผนกนี้ขึ้น แต่เกล้า ฯ ถือว่าความมุ่งหมายที่ได้มีอยู่นั้น กว้างขวางกว่าที่จะตั้งบุคคลขึ้นคณะหนึ่ง ให้มีหน้าที่เพียงแต่จะรักษาความสอาด ในเขตเมืองทั้งหลาย..... เกล้า ฯ คาดว่าในเวลานั้น รัฐบาลคงมีความคิดที่จะวางรากฐาน แห่งการอันหนึ่งซึ่งมีลักษณะ แห่งการให้ราษฎปกครองท้องที่โดยพละตน อันจะเป็นทางฝึกฝนให้ประชาชนรู้สึกความรับผิดชอบแห่งการ เป็นพลเมือง แลเห็นแก่การของบ้านเมืองได้ในวันข้างหน้า คุณสมบัติทั้งสองประการนี้แล จะนำให้ก้าวหน้าไปในทางโพลิติก และวิธีการปกครอง ซึ่งรวบรัดกิจการทั้งสิ้นมาอยู่ในศูนย์กลางแห่งทุกวันนี้.....
๔. รัฐบาลจะได้มีความประสงค์อย่างไรก็ตาม..... เห็นชัดว่าท้องที่ซึ่งได้จัดสุขาภิบาลนั้น ได้ก้าวหน้าในข้อแรกเพียงเล็กน้อย ส่วนในข้อสองนั้นนับว่าไม่มีผลเสียเลย.....
๕. ข้างฝ่ายกรมสาธารณสุข..... ก็ได้ร้องทุกข์..... ว่ารายได้ของแผ่นดินซึ่งมอบให้แก่สุขาภิบาลนั้น ขาดแคลนไม่พอจริง ๆ..... แต่อีกฝ่ายหนึ่งกระทรวงพระคลัง ก็ไม่มีความกระตือรือล้นเสียเลย ในเรื่องที่จะโอนรายได้ให้สุขาภิบาลอีก
๖. ในประเทศอื่น เกล้า ฯ เคยพบเห็นความยากลำบาก....ในการพยายามเพราะพืชพันธุ์แห่งการปกครองท้องที่โดยลำพังราษฎร ในเขตเมืองเล็ก ๆ เพราะในเมืองเหล่านั้น ความคิดว่าจะการงานเพื่อประโยชน์แก่คนทั่วไป โดยมิได้ค่าป่วยการตอบแทนสำหรับตนนั้น เป็นความคิดใหม่เหลือที่จะเข้าใจได้ เกล้า ฯ ได้ความรู้มาว่า จะต้องใช้ความพากเพียรมากมาย.....
๗. .....สุขาภิบาลท้องที่ ๒๕ รายนั้น แท้จริงไม่ต่างไปจากคณะข้าราชการประจำท้องที่นั้นๆ มีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอเป็นประธาน ช่วงที่พระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ.๑๒๗ เปิดไว้อย่างแคบ ๆ ว่า ให้มีราษฎรในคณะกรรมการด้วยนั้น แม้ในบางท้องที่จะได้ปฏิบัติตาม..... ก็นับว่าไม่มีผล..... กระทรวงพระคลัง ฯ ควรจะช่วยเหลือการสุขาภิบาลด้วยวิธีแบ่งเงินรายได้ของรัฐบาลกลาง เป็นจำนวนมากพอ.....
๘. การที่พระทรวงพระคลัง ฯ มีทั้งความระวังและความระแวงนั้น..... กระทรวงพระคลัง ฯ ไม่ได้ทราบข้อความที่แน่นอนว่าได้จ่ายเงินกันไปอย่างไร.....
๙. เกล้า ฯ มีความเห็นว่า ข้อบกพร่องข้อใหญ่ที่สุด เท่าที่กระทรวงพระคลัง ฯ ทราบก็คือไม่มีการตรวจบัญชีรายได้ หรือรายจ่ายของสุขาภิบาลตามสมควร..... ในประเทศต่างๆทุกประเทศ การปกครองอย่างประชาภิบาล ได้งอกงามขึ้นได้ก็ด้วยอาศัยการกำกับตรวจตราการเงินอย่างแข็งแรงเป็นชีวิต เรื่องการเงินนั้นแลเป็นข้อสำคัญ ซึ่งเจ้าพนักงานท้องที่มักปฏิบัติไม่ได้.....
๑๐. .....บัญชีรายงานฉบับสุดท้ายของกรมสาธารณสุข ก็ให้ความรู้ในเรื่องรายได้รายจ่ายในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ นั้นบ้าง เมื่อดูในทีแรกก็บอกชัดว่าสมแก่สิ่งที่เกล้า ฯ ได้ยินได้ฟังมา.....
๑๑. .....สุขาภิบาล ๒๕ รายนั้น บางรายมิได้ทำอะไรเลย.....
๑๒. ตรงกันข้ามสุขาภิบาลบางแห่ง เช่นเชียงใหม่ แลภูเก็ต มีรายได้แห่งละกว่า ๘๐,๐๐๐ บาท สำหรับเมืองสองเมืองนี้..... ยังพอมีแนวแห่งลักษณะพลเมืองปกครองท้องที่
๑๓. ส่วนทางที่ได้จ่ายรายได้ไปนั้น เห็นชัดว่าเป็นส่วนจ่ายสำหรับเงินเดือนมากเกินไป.....
๑๔. .....ต้องถือว่าสุขาภิบาลที่ตัวจังหวัด ประกอบด้วยกรรมการ ๙ คน คือผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด นายแพทย์ นายช่างสุขาภิบาล นายอำเภอเมือง และกำนัน ๔ คน ซึ่งสมุหเทศาภิบาลเป็นผู้เลือกขึ้นมาเป็นกรรมการ ถ้าเขตสุขาภิบาลมิได้เป็นจังหวัด คณะกรรมการจะมีนายอำเภอ นายแพทย์ ปลัดอำเภอ และอีก ๖ คน เป็นกำนัน.....
๑๕. .....เรื่องนี้เป็นปัญหาเรื่องการปกครอง แลการเงิน ผูกพันกันโดย จะแยกออกมิได้.....
๑๖. .....รัฐบาลจำเป็น จะต้องวินิจฉัยให้เด็ดขาดว่ามีความประสงค์ หรือไม่ที่จะใช้สุขาภิบาล เป็นเครื่องมืออบรมพลเมือง ให้มีความคิดความเห็นและนิสัย..... การปกครองท้องที่โดยลำพังราษฎร
๑๗. .....
๑๘. .....ในระหว่างเวลา ๑๙ ปี ที่ได้ใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้มานั้น กิจการแทบไม่ได้ก้าวหน้าเลย..... การที่จะพยายามดำเนินการโดยด่วนนั้น ประกอบด้วยอันตราย.....
๑๙ การปฏิบัติการนั้นเห็นได้ว่ามีความยากลำบากตั้งแต่ต้น ที่จะต้องหาราษฎรที่มีวุฒิเหมาะแก่งาน.....
๒๐. .....เกล้า ฯ เข้าใจได้ว่าการที่จะจัดตั้งราษฎร ซึ่งไม่มีสัญชาติไทยจริงนั้น อาจมีความยากลำบาก.....
๒๑. .....รัฐบาลคงเห็นสมควรที่จะพากเพียรแสวงหาเจ้าพนักงานที่มีคุณวุฒิอันเหมาะให้มาควบคุม ประชาภิบาลเหล่านี้ มิฉะนั้นก็จะมีอันตรายว่า การทดลองนี้จะไร้ผลเสียแต่ในชั้นต้น.....
๒๒. .....การผ่อนให้มีความรับผิดชอบในการเงินเพิ่มขึ้นทีละน้อยนั้น คงจะเป็นทางให้ได้ผลดีที่สุด.....
๒๓. ในขั้นต้น เป็นการสำคัญมากที่จะต้องจัดการตรงควบคุมการประชาภิบาล เหล่านี้โดยระมัดระวัง แลค่อยคลายการควบคุมนั้นทีละน้อยในเวลาข้างหน้า.....
๒๔. ส่วนการตรวจควบคุมเรื่องเงิน..... ผู้ตรวจบัญชีต้องเป็นผู้รับผิดชอบตรงต่อกระทรวงพระคลัง.....
๒๕. ในชั้นต้นรัฐบาลอาจตกลงใจว่า จะเริ่มทำการเป็นการทดลองแต่น้อยตำบลก่อน.....
๒๖. ข้อความที่ได้กล่าวมานี้ ไม่มีข้อใดเลยที่จะอ้างได้ว่าเป็นความคิดเห็นใหม่ โดยมากเป็นข้อความซึ่งผู้ที่สนใจในเรื่องนี้ได้คิดเห็นแล้ว ที่เกล้า ฯ ได้รวบรวมไว้ในบันทึกฉบับนี้ ก็โดยหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์..... กิจการเรื่องนี้ไม่สู้มีควรก้าวหน้านั้น จะโทษว่าเป็นเพราะสิ่งที่ไม่ได้กล่าวไว้ หรือข้อบกพร่องในพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้ แต่ออกจะเป็นเพราะไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติต่างหาก.....
๒๗. .....สิ่งที่อาจเป็นข้อยากที่สุดก็คือการเลือกคนที่เหมาะแก่การนี้..... แต่อย่างไรก็ดี เวลานี้ยังมีคนอีกรุ่นหนึ่งซึ่งกำลังเติบโตขึ้น แลควรมีความสามารถช่วยในการทำความก้าวหน้า ให้แก่ประเทศดีกว่าคนรุ่นเก่า ความแพร่หลายของการประถมศึกษาในระหว่าง ๑๐ ปีที่ล่วงไป .....ความสำเร็จแน่ชัดแห่งการลูกเสือ..... แสดงว่าในไม่ช้า..... คนไทยชั้นหนุ่มเมื่อมีผู้ชักจุงไปในทางที่ดีแล้ว จะอาจสามารถทำการได้ถึงเพียงใด