งานกู้ชาติในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้ชาติไทยจากพม่า เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ในขณะที่เมืองไทยอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด เพราะพม่าทำสงครามกับไทยครั้งนี้ ไม่ได้คิดจะรักษาเมืองเมืองไทยไว้เป็นเมืองขึ้น หมายแต่จะเอาทรัพย์สมบัติ กับกวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลย เพื่อเอาไว้ใช้สอยในเมืองพม่า เมื่อพม่าตีเมืองไหนได้ จึงเผาเสียทั้งเมืองน้อยเมืองใหญ่ ตลอดจนกรุงศรีอยุธยา แล้วเลิกทัพกลับไป คงทิ้งกำลังไว้ส่วนหนึ่งเพื่อคอย แสวงหาทรัพย์สมบัติและผู้คนที่ตกค้างอยู่ เพื่อรวบรวมส่งไปเมืองพม่าต่อไป ด้วยเหตุนี้พม่าจึงยังมีอำนาจอยู่ในพื้นที่กรุงศรีอยุธยา และหัวเมืองใกล้เคียง ส่วนหัวเมืองที่ไม่ได้เสียแก่พม่า เมื่อไม่มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองก็กลายเป็นเมืองอิสระ ที่เป็นเมืองเล็กก็ยอมอ่อนน้อม ไปขึ้นอยู่กับเมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียง ผู้ที่เป็นเจ้าเมืองใหญ่ก็คิดตั้งตัวเป็นเจ้า ด้วย หวังจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินไทยต่อไป เมืองไทยในครั้งนั้นจึงแตกออกเป็นกลุ่มเป็นพวก สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช นอกจากจะกู้ประเทศไทยกลับคืนจากพม่าอันเป็นภารกิจหลักแล้ว ยังต้องทรงรวบรวมเมืองไทย ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นแต่ก่อน ตลอดรัชสมัยของพระองค์ และทรงทำได้สำเร็จด้วยพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชากล้าหาญของพระองค์ จนประสพผลสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ นำประเทศไทยกลับมามีเอกราชและยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย
การรวมตัวกันเป็นชุมนุมต่าง ๆ
ในเวลานั้นเมืองไทยได้แตกออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ รวมแล้วได้ 5 ชุมนุมด้วยกัน แต่ละชุมนุมมีขนาดและกำลังไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และครอบครองพื้นที่ครอบคลุมเมืองไทยไว้ทั้งหมด ดังนี้
ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก
ตั้งตัวเป็นเจ้าอยู่ที่เมืองพิษณุโลก มีอาณาเขตตั้งแต่เมืองพิชัยลงมาถึงเมืองนครสวรรค์ เจ้าพระยาพิษณุโลกชื่อเรือง เป็นผู้ทีมีความสามารถสูง เมื่อรบกับพม่าครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาก็ปรากฎว่ามีฝีมือเข้มแข็งไม่แพ้พม่า จึงมีผู้นิยมนับถือมาก แม้ข้าราชการในกรุงศรีอยุธยา ก็หนีไปเข้าด้วยกับเจ้าพระยาพิษณุโลกเป็นจำนวนมาก
ชุมนุมเจ้าพระฝาง
ตั้งตัวเป็นเจ้าทั้งที่เป็นพระอยู่ที่เมืองสวางคบุรี ขณะที่เป็นสังฆราชเมืองสวางคบุรี อยู่ที่วัดพระฝาง เจ้าพระฝางชื่อเรือน แรกบวชได้ลงมาเล่าเรียนอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา จนเป็นที่พระพากุลเถร เป็นพระราชาคณะฝ่ายอรัญวาสีอยู่ที่วัดศรีอโยธยา ได้กลับไปอยู่ที่วัดพระฝาง ตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ เมืองสวางคบุรีอยู่เหนือเมืองพิชัย มีอาณาเขตต่อแดนเมืองแพร่ เมืองน่าน และเมืองหลวงพระบาง ผู้คนพลเมืองเป็นลาวโดยมาก เจ้าพระฝางมีชื่อเสียงในทางวิทยาคม ผู้คนนับถือว่าเป็นผู้วิเศษ
ชุมนุมเจ้านคร
ตั้งตัวเป็นเจ้าที่เมืองนครศรีธรรมราช ตัวเจ้านครเป็นพระปลัดผู้รั้งเมืองนครศรีธรรมราช ชื่อหนู ชุมนุมนี้มีอาณาเขตตอนใต้ต่อแดนมลายู ทางเหนือถึงเมืองชุมพร เจ้านครเป็นเชื้อสายเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้เข้ามาถวายตัวทำราชการอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ได้เป็นที่หลวงสิทธิ์นายเวรมหาดเล็ก แล้วจึงได้กลับไปเป็นปลัดเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาพระยาราชสุภาวดี ซึ่งได้เป็นเจ้าพระยานคร ฯ มีความผิดต้องออกจากตำแหน่ง พระปลัดผู้นี้จึงได้รั้งราชการเมืองนคร ฯ จนถึงคราวเสียกรุงศรีอยุธยา
ชุมนุม กรมหมื่นเทพพิพิธ หรือเจ้าพิมาย
ตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองพิมาย มณฑลนครราชสีมา กรมหมื่นเทพพิพิธ เป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระเจ้าบรมโกศ ได้ออกทรงผนวชในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ แล้วคิดร้ายต่อพระเจ้าแผ่นดิน จึงถูกนำตัวไปปล่อยที่เกาะลังกา เมื่อพระเจ้าอลองพญายกทัพมาตีเมืองไทย จึงได้หนีมาอยู่ที่เมืองมะริด และถูกคุมตัวไว้ที่เมืองนั้น เมื่อพม่ามาตีเมืองมะริด จึงได้หนีไปอยู่เมืองเพชรบุรี แล้วถูกคุมตัวไว้ที่เมืองจันทบุรี เมื่อพม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา กรมหมื่นเทพพิพิธได้รวบรวมชาวหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ยกกำลังเข้ามาจะช่วยรบพม่า โดยมาตั้งทัพอยู่ที่เมืองปราจีนบุรี ให้กองทัพหน้ามาตั้งอยู่ที่ปากน้ำโยทะกา พม่ายกกองทัพเข้าตีกองทัพหน้าแตก กรมหมื่นเทพพิพิธจึงหนีไปทางเมืองนครราชสีมาไปตั้งกำลังอยู่ที่ด่านโคกพระยา แล้วไปเกลี้ยกล่อมพระยานครราชสีมาให้เข้าด้วย แต่ไม่สำเร็จ จึงคิดอ่านให้ลอบฆ่าพระยานครราชสีมาเสีย แล้วชิงเมืองนครราชสีมาได้ แต่อยู่ได้ไม่กี่วัน หลวงแพ่งน้องพระยานครราชสีมาไปเกณฑ์กำลังคน จากเมืองพิมายซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครราชสีมา มาตีเมืองนครราชสีมาได้ จับได้กรมหมื่นเทพพิพิธกับพวกข้าในกรมได้ จะให้ประหารชีวิต แต่พระพิมายขอไว้ ให้ไปอยู่ที่เมืองพิมาย เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระพิมายนับถือราชตระกูล จึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นใหญ่ และได้คิดอุบายจับหลวงแพ่งฆ่าเสีย กรมหมื่นเทพพิพิธก็ได้อาณาเขตคลอดมณฑลนครราชสีมา
ชุมนุมพระยาตาก (สิน)
ตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองจันทบุรี มีอาณาเขตตั้งแต่ต่อแดนกัมพูชามาจนถึงเมืองชลบุรี พระยาตากเดิมอยู่กรุงศรีอยุธยา แล้วขึ้นไปรับราชการที่เมืองเหนือ จนได้เป็นเจ้าเมืองตาก ครั้นพม่าเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา พระยาตากถูกเกณฑ์มาช่วยรักษาพระนคร มีฝีมือรบพุ่งเข้มแข็ง ได้รับบำเหน็จความชอบ ให้เลื่อนเป็นพระยากำแพงเพชร แต่ไม่ทันได้มีโอกาสไปครองเมือง เนื่องจากต้องสู้ศึกติดพันอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา การต่อสู้เพื่อรักษาพระนครหลายครั้ง มีเหตุการณ์ที่ทำให้พระยาตากเกิดท้อใจ กล่าวคือ ครั้งหนึ่ง พระยาตากนำกำลังออกไปรบชนะพม่า ตีค่ายพม่าได้ แต่ขาดกำลังหนุนจากพระนคร จำต้องถอยกำลังกลับมา ครั้งที่สอง พระยาตากได้รับมอบให้ไปคอยสกัดกำลังพม่าที่วัดใหญ่ พร้อมกันกับพระยาเพชรบุรี เมื่อเดือน 12 ปีจอ ฝ่ายพม่ายกกำลังทางเรือลัดทุ่งนามา พระยาตากเห็นว่าเหลือกำลังที่จะต่อสู้ได้ แต่พระยาเพชรบุรีขืนยกกำลังออกไปรบ จึงเสียทีแก่พม่า พระยาตากก็ถูกกล่าวหาว่าทิ้งให้พระยาเพชรบุรีเป็นอันตราย และครั้งหลังสุด ก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยาประมาณ 3 เดือน วันหนึ่ง พม่ายกกำลังเข้ามาทางด้านตะวันออกของพระนคร ที่พระยาตากรักษาอยู่ ได้ใช้ปืนใหญ่ยิงโดยไม่ได้ขออนุญาตก่อน จึงต้องถูกภาคทัณฑ์ เนื่องจากมีหมายสั่งว่า ถ้ากองไหนจะยิงปืนใหญ่ ต้องขออนุญาตที่ศาลาลูกขุนก่อน
พระยาตากเห็นว่า ถ้าอยู่ช่วยรักษาพระนครต่อไป ก็จะไม่เกิดประโยชน์อันใด ครั้นถึงวันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ พ.ศ. 2309 พระยาตากเห็นพม่าตั้งล้อมกระชั้นเข้ามาจวนถึงคูพระนคร จึงรวบรวมพรรคพวกได้ประมาณ 500 คน พอตกค่ำก็ยกกำลังออกจากค่ายวัดพิชัย ตีฝ่าวงล้อมของพม่าไปทางทิศตะวันออก ฝ่ายพม่าก็ไล่ติดตามไปทันที่บ้านโพธิสังหาร (โพธิสาวหาญ) ครั้นรุ่งเช้าพระยาตากก็นำกำลังเข้าต่อสู้กับพม่า จนพม่าแตกกลับไป แล้วจึงนำกำลังไปตั้งพักที่บ้านพรานนก ขณะนั้นมีกองกำลังพม่าอีกกองหนึ่ง มีกำลังพลเดินเท้า 200 คน กับพลม้าอีก 30 ม้า ยกมาจากบางคาง แขวงเมืองปราจีนบุรี พระยาตากนำกำลังเข้าตีแตกหนีไป พวกชาวบ้านที่หลบหนีพม่าอยู่ ทราบเรื่องพระยาตากต่อสู้มีชัยชนะพม่าก็ดีใจ พากันมาเข้าด้วยเป็นจำนวนมาก พระยาตากนำกำลังไปทางนาเริง และเมืองนครนายก แล้วไปทางด่านกบแจะข้ามลำน้ำเมืองปราจีนบุรีไปตั้งพักอยู่ทางชายดงศรีมหาโพธิฟากตะวันออก
ฝ่ายพวกพม่าที่แตกหนีไปนั้น ก็ได้แจ้งเรื่องให้นายทัพพม่าซึ่งตั้งอยู่ที่ปากน้ำเจ้าโล้ ทางใต้ของเมืองปราจีนบุรี นายทัพพม่าจึงแบ่งกำลัง ยกติดตามกองกำลังของพระยาตากไป ทั้งทางบก และทางเรือ พระยาตากรู้ว่าพม่าตามมา จึงให้กองครัวและพวกที่หาเสบียงอาหารรับล่วงหน้าไปก่อน แล้วเลือกชัยภูมิใช้พงไม้กำบังแทนแนวค่ายซุ่มกำลังไว้ แล้วใช้กำลังพลประมาณ 100 คน ออกไปรบล่อข้าศึกให้รุกไล่เข้าไปในพื้นที่ที่ซุ่มกำลังไว้ เมื่อได้ทางปืนแล้ว ก็ให้โจมตีพร้อมกัน กองกำลังพม่าก็แตกหนีไป ตั้งแต่นั้นมาพม่าก็มิได้ติดตามต่อไปอีก
พระยาตากยกกำลังผ่านเขตเมืองฉะเชิงเทราเมืองชลบุรีไปจนถึงบ้านนาเกลือ แขวงเมืองบางละมุง กิตติศัพท์ที่พระยาตากต่อสู้เอาชนะพม่าได้หลายครั้งนั้น เป็นที่เลื่องลือ จึงมีผู้คนมาเข้าด้วยเป็นจำนวนมาก จนสามารถจัดกำลังเป็นกองทัพได้ จากนั้นจึงได้ยกกำลังไปถึงเมืองระยอง เมื่อวันข้างแรม เดือนยี่ ปีจอ นั้น เพื่อที่จะใช้เมืองระยองเป็นที่ตั้งมั่นรวบรวมกำลังที่จะทำการต่อไป
ฝ่ายพระระยอง เห็นว่าเหลือกำลังจะสู้ได้จึงพาผู้คนมาอ่อนน้อมถึงกลางทาง พระยาตากจึงยกกำลังไปตั้งค่ายอยู่ที่วัดลุ่ม นอกบริเวณค่ายเก่า พวกกรมการเมืองได้คบคิดกัน เข้าปล้นค่ายพระยาตากเวลากลางคืน แต่พระยาตากรู้ตัวก่อน จึงวางกำลังตั้งรับอยู่ในค่าย เมื่อฝ่ายเมืองระยองยกกำลังเข้าปล้นค่าย จึงเสียทีหนีกลับไป พระยาตากก็ยกกำลังเข้าตามตี จนได้เมืองระยองในคืนวันนั้น เมื่อตั้งมั่นอยู่ที่เมืองระยองได้ คนทั่วไปจึงพากันเรียกพระยาตากว่า เจ้าตาก ตั้งแต่นั้นมา
การสร้างความเป็นปึกแผ่น
จากนั้นเจ้าตากจึงแต่งให้ทูตถือศุภอักษรไปยังพระยาจันทบุรี ขอให้มาช่วยกันปราบปรามพม่า เพื่อกู้กรุงศรีอยุธยา ตอนแรกพระยาจันทบุรีก็สนองด้วยด้วยดี ได้มอบเสบียงอาหารมาช่วยก่อน ต่อมาเกิดไม่ไว้ใจจึงไม่ได้มาพบเจ้าตากตามที่ตกลงกันไว้ ครั้นต่อมา กองทัพเจ้าตากจับหนังสือเนเมียวสีหบดี แม่ทัพพม่าที่ค่ายโพธิสามต้น ที่มีไปถึงพระยาจันทบุรี ให้เข้าไปอ่อนน้อมพม่าแต่โดยดี จึงเห็นว่าเป็นการดี ที่พระยาจันทบุรีจะได้ตัดสินใจว่าจะเข้ากับฝ่ายใด ขั้นต่อมา เจ้าตากได้แต่งทูตให้ถือศุภอักษรไปถึงพระยาราชาเศรษฐี เจ้าเมืองบันทายมาศ ขอให้ยกกองทัพมาช่วยกันกู้กรุงศรีอยุธยา พระยาราชาเศรษฐีก็ตอบรับด้วยดีโดย แต่งทูตให้ถือศุภอักษร มายังเจ้าตาก ขอผลัดว่า พอให้สิ้นฤดูมรสุมแล้วจะยกกองทัพมาช่วย
ครั้นถึงเดือน 5 ปีกุน พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่ข้าศึก ความคิดของผู้ที่มีกำลัง และอำนาจอยู่ตามหัวเมืองก็เปลี่ยนแปลง พระยาจันทบุรีก็นิ่งเฉยอยู่ ฝ่ายขุนรามหมื่นซ่องกรมการเก่าเมืองระยอง ซึ่งเคยปล้นค่ายพระยาตากแล้วหนีไปนั้น ก็ไปตั้งกำลังซ่องสุมอยู่ที่เมืองแกลง อันเป็นเมืองขึ้นของเมืองจันทบุรี ก็ได้คุมสมัครพรรคพวกมาปล้น แย่งชิงช้างม้าพาหนะของเจ้าตากในหมู่นั้นด้วย เจ้าตากจึงยกกำลังไปกำราบ ขุนรามหมื่นซ่องสู้ไม่ได้จึงหนีไปอยู่กับพระยาจันทบุรี
เจ้าตากเห็นว่า การที่จะทำกำลังให้เป็นปึกแผ่นในพื้นที่ภาคตะวันออก จะต้องดำเนินการเป็นขั้นตอน ในขณะนั้น เมืองชลบุรี มีนายทองอยู่นกเล็กตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่ เจ้าตากจึงยกกำลังมายังเมืองชลบุรี ตั้งอยู่ที่หนองมนต่อแดนเมืองบางละมุง แล้วยกกำลังต่อไปยังเมืองชลบุรี ไปตั้งอยู่ที่วัดหลวง จากนั้น ได้ส่งคนไปเกลี้ยกล่อมนายทองอยู่นกเล็กให้อ่อนน้อม เมื่อนายทองอยู่นกเล็กเข้ามาอ่อนน้อมแล้ว เจ้าตากจึงตั้งให้เป็นที่พระยาอนุราชบุรี ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองชลบุรี แล้วเจ้าตากก็ยกกำลังกลับไปเมืองระยอง
ฝ่ายพระยาจันทบุรี เห็นว่าเจ้าตากมีกำลังเข้มแข็งขึ้นตามลำดับ เกรงอันตรายจะมาถึงเมืองจันทบุรี จึงได้นิมนต์พระสงฆ์ 4 รูป ให้เป็นทูตมาเชิญเจ้าตากลงไปที่เมืองจันทบุรี พร้อมกับแจ้งว่า เต็มใจที่จะช่วยเจ้าตากกู้บ้านเมือง แต่เนื่องจากระยองเป็นเมืองเล็ก จึงขอเชิญเจ้าตากไปตั้งที่เมืองจันทบุรี เจ้าตากทราบดังนั้นจึงยกกำลังไปเมืองจันทบุรี เมื่อไปถึงบางกระจะหัวแหวนซึ่งอยู่ห่างจากเมืองจันทบุรี 200 เส้น พระยาจันทบุรีก็ให้หลวงปลัดมารับและแจ้งว่า พระยาจันทบุรีได้จัดที่ไว้ ให้ตั้งทำเนียบที่พักริมน้ำข้างฟากใต้ ตรงเมืองข้าม เจ้าตากไม่ไว้วางใจ จึงให้นำกำลังไปทางเหนือ เข้าไปตั้งอยู่ที่วัดแก้ว ห่างจากประตูท่าช้างเมืองจันทบุรี ประมาณ 5 เส้น พระยาจันทบุรีเห็นดังนั้น จึงให้ไพร่พลเข้ารักษาหน้าที่เชิงเทิน แล้วให้ขุนพรหมธิบาล ซึ่งเป็นพระท้ายน้ำ ออกไปหาเจ้าตากเชิญเจ้าตาก ไปพบพระยาจันทบุรีที่ในเมือง เจ้าตากจึงสั่งขุนพรหมธิบาล ให้กลับไปบอกพระยาจันทบุรี มีความว่า เดิมพระยาจันทบุรีเชิญให้มาปรึกษาหารือ เพื่อจะช่วยกันคิดอ่านกู้กรุงศรีอยุธยาโดยสุจริต ตัวเราเดิมก็เป็นเจ้าเมือง ถือศักดินาหมื่น มียศใหญ่ เป็นผู้ใหญ่กว่าพระยาจันทบุรี (เมืองกำแพงเพชรเป็นหัวเมืองชั้นโท เมืองจันทบุรีเป็นหัวเมืองชั้นตรี) ครั้นมาถึงเมือง พระยาจันทบุรีมิได้ออกมาหาสู่ต้อนรับตามฉันผู้น้อยผู้ใหญ่ กลับเรียกระดมพลเข้าประจำรักษาหน้าที่เชิงเทิน และยังคบหาขุนรามหมื่นซ่องซึ่งได้ทำลายเราถึง 2 คราวเข้าไว้เป็นมิตร ทำตัวเหมือนหนึ่งว่าเป็นข้าศึกกับเราเช่นนี้ จะให้เราเข้าไปหาถึงในเมืองได้อย่างไร ถ้าจะให้เราเข้าไป ก็ให้พระยาจันทบุรีออกมาหาเราก่อน หรือมิฉะนั้น ก็ส่งตัวหมื่นซ่องออกมาทำสัตย์สาบาน ให้เราวางใจได้ก่อน เพื่อให้เห็นความสุจริตของพระยาจันทบุรี แต่พระยาจันทบุรีก็ไม่ยอมปฏิบัติตาม เจ้าตากจึงสั่งไปบอกพระยาจันทบุรีว่า เมื่อไม่เห็นแก่ไมตรี ก็จงรักษาเมืองให้ดีเถิด
เจ้าตากพิจารณาแล้วเห็นว่า การตีเมืองจันทบุรีต้องชิงกระทำให้เสร็จโดยเร็ว เนื่องจากปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนเสบียงอาหาร ดังนั้น เมื่อได้สั่งการตีเมืองจันทบุรีในตอนค่ำ เมื่อทหารกินข้าวเย็นเสร็จแล้ว จึงให้ทิ้งอาหารที่เหลือ และทุบหม้อข้าวทิ้งเสีย หมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันในเมืองวันพรุ่งนี้ ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในคืนวันนี้ ก็ให้ตายด้วยกันทั้งหมด เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว พอได้เวลาดึก 3 นาฬิกา เจ้าตากก็ขึ้นช้างพังคีรีบัญชร ยิงปืนเป็นสัญญาณให้ทหารเข้าตีเมืองพร้อมกันทุกหน้าที่ ส่วนเจ้าตากก็ขับช้างที่นั่งเข้าพังประตูเมือง ทหารที่รักษาหน้าที่ก็ระดมยิงปืนใหญ่น้อยระดมมาเป็นอันมาก นายท้ายช้างที่นั่งเห็นดังนั้น เกรงว่าจะถูกเจ้าตาก จึงบังคับช้างให้ถอยออกมา เจ้าตากขัดพระทัยชัก พระแสงหันมาจะฟันนายช้าง นายช้างตกใจทูลขอชีวิตไว้ แล้วไสช้างกลับเข้ารื้อบานประตูพังลง พวกทหารก็เข้าเมืองได้ พระยาจันทบุรีก็พาครอบครัวลงเรือ หนีไปเมืองบันทายมาศ เจ้าตากตีเมืองจันทบุรีได้เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 7 ปีกุน พ.ศ. 2310 หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา แล้ว 1 เดือน
เมื่อเจ้าตากได้เมืองจันทบุรีแล้ว ก็เกลี้ยกล่อมผู้คนให้กลับคืนภูมิลำเนา แสดงความเมตตาอารีให้ปรากฎ มิได้ถือโทษผู้ที่ได้เป็นคู่ต่อสู้มาก่อน เมื่อจัดการเมืองจันทบุรีเรียบร้อยดีแล้ว จึงยกทัพลงไปเมืองตราด พวกกรมการและราษฎรก็พากันยอมอ่อนน้อม ขณะนั้นมีสำเภาจีนมาจอดทอดสมออยู่ที่ปากน้ำเมืองตราดหลายลำ เจ้าตากให้ไปเรียกนายเรือมาเฝ้า พวกจีนขัดขืนและยังทำการต่อสู้ เจ้าตากจึงคุมเรือรบไปล้อมสำเภาไว้ มีการต่อสู้กันอยู่ครึ่งวันก็ยึดสำเภาไว้ได้ทั้งหมด เมื่อจัดการเมืองตราดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ยกกำลังกลับมาตั้งที่เมืองจันทบุรี ตั้งแต่นั้นมา เจ้าตากก็มีอำนาจสิทธิขาด ตลอดทุกหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออก จึงตั้งต้นเตรียมการกอบกู้กรุงศรีอยุธยาต่อไป ขณะนั้นเจ้าตากอายุ 34 ปี
สงครามกู้ชาติ ตีค่ายพม่าที่โพธิสามต้น
หลังจากได้เมืองตราดแล้วก็ล่วงเข้าฤดูฝน ต้องหยุดยั้งการรบพุ่ง ในระหว่างนั้นก็ให้ลงมือต่อเรือรบ และรวบรวมเครื่องศัตราวุธ และยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ หมายจะยกมาชิงกรุงศรีอยุธยาจากพม่าในฤดูแล้ง ในระหว่างนั้น ข้าราชการเก่าในกรุงศรีอยุธยาที่หลบหนีพม่ามาได้ เมื่อทราบว่า เจ้าตากกำลังรวบรวมผู้คนที่จะกู้กรุงศรีอยุธยา ก็พากันมาเข้าด้วยเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญมีหลวงศักดิ์นายเวรมหาดเล็ก และนายสุดจินดาหุ้มแพร มหาดเล็ก ท่านผู้นี้ต่อมาคือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
ครั้นถึงเดือน 11 ปีกุน พ.ศ. 2310 สิ้นมรสุม เจ้าตากต่อเรือรบได้ 100 ลำ รวบรวมกำลังพลได้ 4,000 คน ก็ยกกำลังจากเมืองจันทบุรี มาถึงเมืองชลบุรี พวกราษฎรพากันกล่าวโทษนายทองอยู่นกเล็ก ซึ่งเจ้าตากตั้งให้เป็นพระยาอนุราฐ อยู่รักษาเมืองชลบุรีว่าประพฤติเป็นโจร เมื่อชำระได้ความเป็นสัตย์ เจ้าตากก็ให้ประหารชีวิตเสีย เมื่อจัดการทางเมืองชลบุรีเสร็จแล้ว เจ้าตากก็ยกกองทัพเรือมาเข้าปากน้ำเจ้าพระยา ในวันข้างขึ้น เดือน 12
ฝ่ายนายทองอิน คนไทยซึ่งพม่าตั้งให้รักษาเมืองธนบุรี รู้ว่าเจ้าตากยกกองทัพเรือเข้ามาทางปากแม่น้ำ ก็รีบแจ้งให้สุกี้แม่ทัพพม่าที่ค่ายโพธิสามต้น แล้วให้จัดกำลังขึ้นรักษาป้อมวิชัยประสิทธิ์ และเข้ารักษาหน้าที่เชิงเทินเมืองธนบุรี เตรียมต่อสู้ เมื่อกองทัพเจ้าตากยกขึ้นมาถึง พวกรี้พลเห็นว่าเป็นคนไทยด้วยกัน ก็ไม่เป็นใจที่จะต่อสู้ เจ้าตากจึงยึดได้เมืองธนบุรี จับตัวนายทองอินได้ให้ประหารชีวิตเสีย แล้วเร่งกองทัพขึ้นไปยังกรุงศรีอยุธยา สุกี้จึงให้มองย่านายทัพรองคุมกำลังพลมอญและไทยที่มาอยู่ด้วย ยกลงมาทางเรือมาตั้งสกัดอยู่ที่เพนียด พวกคนไทยที่มาในกองทัพมองย่า รู้ว่าเป็นกองทัพไทย ก็รวนเรหนีไปบ้าง มาเข้ากับเจ้าตากบ้าง มองย่าเห็นดังนั้น ก็รีบหนีเอาตัวรอดกลับไปค่ายโพธิสามต้น เจ้าตากก็ยกกำลังตามขึ้นไปถึงค่ายโพธิสามต้น ก็สั่งให้เข้าตีค่ายพม่าข้างฟากตะวันออกในตอนเช้า พอเวลา 9 นาฬิกาก็ตีได้ แล้วให้ทำบันได สำหรับปีนค่ายพม่าข้างฟากตะวันตก พอตกค่ำก็ให้พระยาพิพิธ พระยาพิชัย คุมกองทหารจีน ไปตั้งประชิดค่ายสุกี้ทางด้านวัดกลาง พอรุ่งเช้าก็ให้กองทหารไทย จีน เข้าระดมตีค่ายสุกี้พร้อมกัน ตั้งแต่เช้าจนเที่ยง ก็เข้าค่ายพม่าได้ สุกี้แม่ทัพพม่าตายในที่รบ ไพร่พลก็แตกหนีไปได้บ้าง ที่ยอมอ่อนน้อมก็มีเป็นอันมาก กรุงศรีอยุธยาก็กลับคืนมาเป็นของไทย
เจ้าตากตั้งทัพอยู่ที่ค่ายโพธิสามต้น พวกข้าราชการไทยที่พม่าจับเอาไว้หลายคน คือ พระยาธิเบศรบดี จางวางมหาดเล็กเป็นต้น พากันมาเฝ้าเจ้าตาก ทูลให้ทราบถึงเรื่องที่พระเจ้าเอกทัศสวรรคต สุกี้ให้ฝังพระบรมศพไว้ในพระนคร และทูลว่า ยังมีเจ้านายที่พม่าจับได้ ยังกักขังอยู่หลายพระองค์ พม่ายังไม่ได้ส่งไปเมืองอังวะ เจ้าตากทราบก็มีความสงสารจึงได้อุปการะไว้ สั่งให้จัดที่ให้เจ้านายประทับตามสมควร และปล่อยคนทั้งปวงที่พม่ากังขังไว้ ให้ปลูกเมรุที่ท้องสนามหลวง ให้สร้างพระโกศกับเครื่องประดับ สำหรับงานพระบรมศพ แล้วให้ขุดพระบรมศพพระเจ้าเอกทัศ เชิญลงพระโกศ เที่ยวหาพระสงฆ์ซึ่งยังมีเหลืออยู่ มารับทักษิณานุปทาน และสดับปกรณ์ตามประเพณี แล้วจึงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพ
เจ้าตากคิดจะปฏิสังขรณ์พระนครเพื่อตั้งเป็นราชธานีดังเดิม จึงขึ้นช้างเที่ยวสำรวจตรวจดูสภาพของกรุงศรีอยุธยา เห็นว่าถูกข้าศึกเผาทำลายเสียเป็นอันมาก ที่ยังดีอยู่นั้นน้อยก็สังเวชสลดพระทัย เห็นว่าเกินที่จะปฏิสังขรณ์ได้ จึงให้อพยพผู้คนลงมาตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองธนบุรี การที่เจ้าตากไม่ใช้กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีต่อไป นั้นมีเหตุผลทางด้านยุทธวิธีอยู่มาก เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองใหญ่ กำลังพลของเจ้าตากที่มีอยู่ในขณะนั้นไม่เพียงพอที่จะรักษาอยู่ได้ เมืองธนบุรีตั้งอยู่ริมลำน้ำลึก ใกล้ทะเล ง่ายต่อการป้องกันตนตามกำลังที่มีอยู่ และเป็นทำเลทางหนีทีไล่ที่ดีกว่าเมืองอื่น นอกจากนั้น ยังมีเหตุผลทางด้านยุทธศาสตร์กล่าวคือ เมืองธนบุรีตั้งปิดปากน้ำ ที่บรรดาหัวเมืองเหนือทั้งปวง จะติดต่อไปมากับต่างประเทศเช่นเดียวกับกรุงศรีอยุธยา
|