งานกู้ชาติในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


พม่าตีเมืองสวรรคโลก

 

ในเวลานั้นพม่ายังปกครองเมืองเชียงใหม่อยู่ พระเจ้าอังวะตั้งอภัยคามณี ซึ่งได้เลื่อนยศเป็นโปมะยุง่วน มาเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายังไม่เสียแก่พม่า เมื่อกองทัพกรุงธนบุรียกขึ้นไปตีเมืองสวางคบุรี พวกเจ้าพระฝางหนีไปพึ่งพม่าทางเชียงใหม่ โปมะยุง่วน เห็นเป็นโอกาสที่จะแผ่อาณาเขตต่อลงมาทางใต้ จึงยกกองทัพลงมาตีเมืองสวรรคโลก เมื่อเดือน 3 ปีขาล พ.ศ. 2313 ขณะนั้น เจ้าพระยาพิชัยราชาเพิ่งไปอยู่เมืองสวรรคโลกยังไม่ถึง 3 เดือน กำลังรี้พลยังน้อยอยู่ แต่เมืองสวรรคโลกมีป้อมปราการสร้างไว้แต่โบราณ ยังมั่นคงแข็งแรงดีอยู่ เจ้าพระยาพิชัยราชาจึงรักษาเมืองมั่นไว้ แล้วบอกหัวเมืองใกล้เคียง ขอกำลังมาช่วยรบพม่า กองทัพเชียงใหม่ก็ตั้งล้อมเมืองไว้ ครั้นเจ้าพระยาสุรสีห์ พระยาพิชัย พระยาสุโขทัย ยกกองทัพไปถึง จึงเข้าตีกระหนาบ กองทัพพม่าก็แตกพ่ายกลับไปโดยง่าย

 

ไทยตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก

 

ครั้งพม่ายกมาตีเมืองสวรรคโลกนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีเพิ่งเสด็จยกทัพกลับจากเมืองเหนือไม่นาน ครั้นได้ทราบความตามใบบอกว่า โปมะยุง่วน เจ้าเมืองเชียงใหม่ยกทัพลงมาทางใต้ ก็ทรงกังวลด้วยเมืองเหนือยังไม่เป็นปึกแผ่น พระองค์จึงรวบรวมผู้คนเข้าเป็นกองทัพหลวง เสด็จยกกองทัพกลับขึ้นไปเมืองเหนืออีก ในเดือน 4 ปีขาล เมื่อเสด็จไปถึงเมืองนครสวรรค์ จึงทราบว่าพวกเจ้าเมืองทางเหนือ ได้ยกกำลังมาช่วยเมืองสวรรคโลก ตีกองทัพข้าศึกแตกกลับไปแล้ว

พระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นเป็นโอกาสอันควร ที่จะยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ พระองค์จึงยกกองทัพหลวงไปตั้งที่เมืองพิชัย แล้วเรียกกองทัพหัวเมืองเข้ามาสมทบ จากนั้นจึงยกกำลังขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อต้นปี เถาะ พ.ศ. 2314 ด้วยกำลังพล 15,000 คน ให้เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นนายทัพหน้า คุมพลพวกหัวเมืองยกขึ้นไปก่อน พระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นจอมทัพยกทัพหลวงตามไป เดินทัพไปทางเมืองสวรรคโลก เมืองเถิน เมืองลี้

ครั้งนั้น เจ้าเมืองรายทาง มีพระยาแพร่มังชัยเป็นต้น เข้ามาสวามิภักดิ์ ส่วนที่ไม่ได้เข้ามาสวามิภักดิ์ก็ไม่ได้ต่อสู้ กองทัพกรุงธนบุรียกขึ้นไปถึงเมืองลำพูนโดยสดวก โปมะยุง่วนไม่ได้จัดกำลังมาต่อสู้ระหว่างทาง เป็นแต่แต่งกองทัพ ออกมาตั้งค่ายอยู่นอกเมือง พอกองทัพหน้าของเจ้าพระยาสุรสีห์ไปถึง ก็เข้าโจมตีค่ายข้าศึก แตกหนีกลับเข้าไปในเมือง โปมะยุง่วนก็ให้กองทัพตั้งรักษาเมืองไว้อย่างมั่นคง

กองทัพกรุงธนบุรีไปถึง ก็ให้เข้าล้อมเมืองไว้ แล้วเข้าตีเมืองครั้งหนึ่ง รบกันอยู่เกือบครึ่งคืน ตั้งแต่ เวลา 3 นาฬิกาจนรุ่งสว่าง ไม่สามารถเข้าเมืองได ้ ต้องถอนกำลังกลับออกมา พระเจ้ากรุงธนบุรีมีดำรัสว่า เมืองเชียงใหม่มีป้อมปราการมั่นคงนัก พระมหากษัตริย์ พระองค์ใดเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรกคงตีไม่ได้ ต้องตีครั้งที่ 2 จึงจะได้ ดังนั้น เมื่อพระองค์ประทับล้อมเมืองเชียงใหม่อยู่ 9 วัน จึงดำรัสสั่งให้ถอยทัพกลับลงมา

ฝ่ายโปมะยุง่วน เห็นไทยถอย จึงให้กองทัพออกติดตามตี จนกองหลังของกองทัพกรุงธนบุรีระส่ำระสาย มาจนถึงกองทัพหลวง พระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นดังนั้น จึงเสด็จลงไปคุมกองหลัง ทรงพระแสงดาบนำทหารเข้าต่อสู้ข้าศึกด้วยพระองค์เอง ทำให้ทหารพากันฮึกเหิม กลับเข้าต่อสู้ข้าศึกถึงตะลุมบอน ข้าศึกต้านทานไม่ไหวก็ถอยหนีกลับไป เมื่อกองทัพถอนกลับมาที่เมืองพิชัยแล้วเดินทางกลับกรุงธนบุรี

 

การได้เขมรมาอยู่ในขัณฑสีมา

 

ฝ่ายกรุงกัมพูชา สมเด็จพระนารายณ์ราชา เมื่อได้ข่าวว่าพม่ายกกองทัพลงมาทางเมืองเหนือ เห็นเป็นโอกาสที่จะซ้ำเติมไทย จึงให้นักพระโสทศเจ้าเมืองเปียม ยกกองทัพมาตีเมืองตราด และเมืองจันทบุรี เมื่อปลายปีขาล ซึ่งในห้วงนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ กองทัพเมืองจันทรบุรีตีกองทัพเขมรแตกกลับไป

พอเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จกลับจากการทัพเชียงใหม่ ทรงทราบพฤติกรรมซ้ำเติมไทยของเขมรครั้งนี้ ก็ทรงขัดเคือง ครั้นพักรี้พลพอสมควรแล้ว พอถึงปลายฤดูฝน ก็ทรงให้เตรียมทัพไปตีกรุงกัมพูชา ทรงตั้งพระยายมราชซึ่งรั้งตำแหน่งสมุหนายก เป็นเจ้าพระยาจักรี แทนเจ้าพระยาจักรีแขก ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมครั้งไปสงครามเมืองเหนือ และตั้งพระยาราชวังสัน บุตรเจ้าพระยาจักรีแขก เป็นพระยายมราช แล้วดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ทัพบกคุมกำลัง 10,000 คน ยกไปทางเมืองปราจีนบุรี และได้พาพระรามราชาไปในทางกองทัพด้วย เพื่อจะได้ให้เกลี้ยกล่อมพวกเขมรด้วยกัน ให้กองทัพบกเข้าตีเมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์ เข้าไปจนถึงเมืองบันทายเพชร ซึ่งเป็นราชธานีของกรุงกัมพูชา ส่วนกำลังทางเรือมีจำนวนเรือรบ 100 ลำ เรือทะเล 100 ลำ กำลังพล 15,000 คน ให้พระยาโกษาธิบดีเป็นกองหน้า พระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นจอมพลในกองหลวง ยกออกจากกรุงธนบุรี เมื่อวันแรม เดือน 11 ไปประทับที่ปากน้ำเมืองจันทบุรี แล้วให้พระยาโกษาธิบดีกองหน้ายกกำลังไปตีเมืองกำพงโสมก่อน ต่อมาอีก 6 วัน พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ยกกองทัพหลวงตามลงไป

 

พระองค์เสด็จถึงปากน้ำเมืองบันทายมาศ เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 ให้เกลี้ยกล่อม พระยาราชาเศรษฐี เจ้าเมืองบันทายมาศ ให้มาอ่อนน้อม แต่พระยาราชาเศรษฐีไม่ยอมมาอ่อนน้อม จึงมีรับสั่งให้เข้าตีเมืองบันทายมาศ และตีได้เมื่อวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 11 พระยาราชาเศรษฐีลงเรือ หนีออกทะเลไปได้ เมื่อได้เมืองบันทายมาศแล้ว ก็ให้กระบวนทัพเรือ เข้าคลองขุดไปยังเมืองพนมเปญ

ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี ยกกำลังทางบกตีได้เมืองพระตะบอง เมืองโพธิสัตว์ และเมืองบริบูรณ์ได้โดยลำดับ ยังแต่จะถึงเมืองบันทายเพชร สมเด็จพระนารายณ์ราชาเห็นว่าจะสู้ไม่ได้ จึงทิ้งเมืองบันทายเพชร อพยพครอบครัว หนีไปเมืองบาพนม เมื่อเจ้าพระยาจักรีได้เมืองบันทายเพชรแล้ว ก็ลงไปเฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่เมืองพนมเปญ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่ง ให้เจ้าพระยาจักรียกกำลังตามไปยังเมืองบาพนม แล้วพระองค์จึงเสด็จยกทัพหลวงตามไป เมื่อได้ความว่า สมเด็จพระนารายณ์ราชา หนีต่อไปยังเมืองญวนแล้ว จึงเสด็จกลับมาที่เมืองพนมเปญ เจ้าพระยาจักรีเมื่อยกกำลังไปถึงเมืองบาพนมแล้วไม่มีการต่อสู้ เมื่อจัดการบ้านเมืองเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็กลับมาเฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรีที่เมืองพนมเปญ

ฝ่ายพระยาโกษาธิบดีตีได้เมืองกำพงโสมแล้ว เตรียมการจะเข้าตีเมืองกำปอดต่อไป แต่พระยาปังกลิมา เจ้าเมืองกำปอดมายอมอ่อนน้อมก่อน จึงได้พามาเฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่เมืองพนมเปญ พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมอบกรุงกัมพูชา ให้พระรามราชาปกครอง แล้วเลิกทัพกลับในเดือนอ้าย ปีเถาะ พ.ศ. 2314
เมื่อกองทัพกรุงธนบุรีถอนกำลังกลับแล้ว สมเด็จพระนารายณ์ราชา ก็ขอกำลังญวน มาป้องกันตัว แล้วกลับมาอยู่ที่แพรกปรักปรัด ไม่กล้าเข้าไปอยู่ที่เมืองบันทายเพชรอย่างเดิม ฝ่ายพระรามราชาก็ตั้งอยู่ที่เมืองกำปอด เมืองกัมพูชาจึงแยกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายใต้ขึ้นอยู่กับสมเด็จพระนารายณ์ราชา ฝ่ายเหนือขึ้นกับพระรามราชา ต่อมาเมื่อญวนเกิดกบฏไกเซิน ราชวงศ์ญวนพ่ายแพ้พวกกบฏ สมเด็จพระนารายณ์ราชาขาดญวนมาสนับสนุน จึงได้ขอปรองดองกับพระรามราชา โดยให้พระรามราชาครองกรุงกัมพูชา ส่วนพระนารายณ์ราชาขออยู่ในฐานะรองลงมา พระรามราชาจึงบอกเข้ามายังกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้อภิเษกนักองนนท์ เป็นสมเด็จพระรามราชา เจ้ากรุงกัมพูชา ทรงตั้งนักองตนซึ่งเป็นสมเด็จพระนารายณ์ ให้เป็นที่มหาอุปโยราช และให้นักองธรรมเป็นที่มหาอุปราช ตั้งแต่นั้นมา กรุงกัมพูชาก็เป็นประเทศราช ขึ้นต่อกรุงธนบุรี เช่นเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา

 

พม่าตีเมืองพิชัย ครั้งที่ 1

เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2314 ในแว่นแคว้นกรุงศรีสัตนาคนหุต เจ้าสุริยวงศ์ เจ้าเมืองหลวงพระบางเกิดวิวาทกับ เจ้าบุญสาร เจ้าเมืองเวียงจันทน์ เจ้าสุริยวงศ์ยกกำลังไปตีเมืองเวียงจันทน์ เจ้าบุญสารเกรงว่าจะสู้ไม่ได้ จึงขอให้ พระเจ้าอังวะส่งกำลังมาช่วย ขณะนั้นทางอังวะเสร็จศึกจีนแล้ว พระเจ้ามังระเจ้ากรุงอังวะจึงส่งกำลัง 5,000 คน มีโปสุพลาเป็นแม่ทัพ ยกมาช่วยเมืองเวียงจันทน์ เจ้าสุริยวงศ์ทราบเรื่อง จึงต้องถอยกำลังมารักษาเมืองหลวงพระบาง เพราะอยู่บนเส้นทางที่กองทัพพม่าจะยกไปเวียงจันทน์ โปสุพลาเข้าตีเมืองหลวงพระบางได้แล้ว ก็ไปตั้งอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ เพื่อคอยป้องกันไทยยกกำลังขึ้นไป เมื่อกองทัพยกผ่านเมืองน่าน จึงแบ่งกำลังให้ชิกชิงโบ นายทัพหน้ายกเข้ามายึดได้เมืองลับแล แล้วเลยไปตีเมืองพิชัยเมื่อฤดูแล้ง ปลายปีมะโรง พ.ศ. 2315 พระยาพิชัยรักษาเมืองไว้มั่น และขอกำลังจากเมืองพิษณุโลกไปช่วย กองทัพเมืองพิษณุโลกไปถึงก็เข้าตีค่ายพม่า พระยาพิชัยก็ยกกำลังออกตีกระหนาบ ได้รบพุ่งกันถึงขั้นตะลุมบอน ฝ่ายพม่าสู้ไม่ได้ก็แตกหนีไป

 

 

พม่าตีเมืองพิชัย ครั้งที่ 2

 

 

เมื่อต้นปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 พวกเมืองเวียงจันทน์เกิดวิวาทกันเอง พวกหนึ่งจึงไปขอกำลังจากโปสุพลาที่เชียงใหม่ไปช่วย โปสุพลายกกำลังไประงับเหตุเสร็จสิ้นแล้ว ได้ค้างฤดูฝนอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ แล้วบังคับให้เจ้าบุญสารส่งบุตรธิดา กับเสนาบดีผู้ใหญ่ไปเป็นตัวจำนำอยู่ที่เมืองอังวะ เมื่อสิ้นฤดูฝนโปสุพลาก็ยกกองทัพกลับจากเมืองเวียงจันทน์ เลยถือโอกาสมาตีเมืองพิชัย เพื่อทดสอบกำลังของฝ่ายไทย หรือมิฉะนั้นก็เป็นการแก้มือที่แพ้ไทยไปครั้งก่อน

ครั้งนี้ เจ้าพระยาสุรสีห์ และพระยาพิชัย คอยระมัดระวังติดตามการเคลื่อนไหวของข้าศึกอยู่ก่อนแล้ว จึงได้วางแผนการรบ โดยยกกำลังไปตั้งซุ่มสกัดข้าศึก ณ ชัยภูมิบนเส้นทางเดินทัพของข้าศึก ฝ่ายไทยก็ตีทัพโปสุพลาแตกกลับไป เมื่อวันแรม 7 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 การรบครั้งนี้ เมื่อเข้ารบประชิดพระยาพิชัยถือดาบสองมือ นำกำลังเข้าประจัญบาญกับข้าศึกอย่างองอาจกล้าหาญ จนดาบหัก กิตติศัพท์ครั้งนี้เป็นที่เลื่องลือ จึงได้ชื่อว่า พระยาพิชัยดาบหัก ตั้งแต่นั้นมา

 

ไทยตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 2

พระเจ้ามังระเสร็จศึกกับจีนเมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2314 และทราบว่าพระเจ้ากรุงธนบุรี ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ เกรงว่าไทยจะแข็งแกร่งขึ้น จึงคิดมาตีเมืองไทยให้ราบคาบอีกครั้งหนึ่ง การดำเนินสงครามก็ใช้วิธีที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วคือ ยกกำลังลงมาจากเชียงใหม่ทางหนึ่ง อีกทางหนึ่งยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ กำลังทั้งสองส่วนนี้จะยกมาบรรจบกันที่กรุงธนบุรี ดังนั้นจึงส่งกำลังเพิ่มเติมเข้ามาให้โปสุพลา แล้วให้โปสุพลาเป็นแม่ทัพ ยกลงมาจากเชียงใหม่ ส่วนกำลังที่จะยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์นั้น พระเจ้าอังวะให้ปะกันหวุ่น ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะ ตำแหน่งเทศาภิบาลมณฑลหัวเมืองมอญฝ่ายได้เป็นแม่ทัพ

 

ปะกันหวุ่นได้เตรียมการตั้งแต่ปีมะเส็ง พ.ศ. 2316 โดยให้เกณฑ์มอญตามหัวเมืองที่ต่อแดนไทย 3,000 คน มอบภารกิจให้แพกิจาคุมกำลัง 500 คน มาทำทางที่จะยกกองทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ วางแผนตั้งยุ้งฉางไว้ตามเส้นทาง ตั้งแต่เชิงเขาบันทัดด้านแดนพม่า มาจนถึงตำบลสามสบ ท่าดินแดงในแดนไทย

ครั้งนั้นมีพระยามอญเป็นหัวหน้า 4 คน คือพระยาเจ่ง เจ้าเมืองเตริน เป็นหัวหน้ามาทำทางอยู่ในป่าเมืองเมาะตะมะ พม่าได้ทำทารุณกรรมพวกมอญด้วยประการต่าง ๆ พวกมอญโกรธแค้นจึงคบคิดกัน จับแพกิจากับทหารพม่าฆ่าเสีย แล้วรวมกำลังกันยกกลับไป มีพวกมอญมาเข้าด้วยเป็นอันมาก เมื่อเห็นเป็นโอกาส จึงยกไปตีเมืองเมาะตะมะได้ แล้วขยายผลยกขึ้นไปตีเมืองสะโตง และเมืองหงสาวดี ได้ทั้งสองเมือง แล้วขยายผลต่อไปโดยเข้าตีเมืองย่างกุ้ง รบพุ่งติดพันกับพม่าอยู่

 

พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ทรงเห็นว่าพม่าจะต้องปราบปรามมอญอยู่นาน เป็นโอกาสที่ไทยจะชิงตีเมืองเชียงใหม่ ตัดกำลังพม่าเสียทางหนึ่งก่อน จึงมีรับสั่งให้เกณฑ์กำลังหัวเมืองฝ่ายเหนือมีจำนวน 20,000 คน ไปรวมพลรออยู่ที่บ้านระแหงแขวงเมืองตาก แล้วให้เกณฑ์คนในกรุงธนบุรี และหัวเมืองชั้นในเป็นกองทัพหลวงมีจำนวน 15,000 คน พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จโดยกระบวนเรือ ออกจากพระนคร เมื่อวันอังคาร แรม 11 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเมีย พ.ศ. 2317 ขึ้นไปทางเมืองกำแพงเพชร แล้วให้ประชุมทัพที่บ้านระแหง ตรงที่ตั้งเมืองตากปัจจุบันนี้

ในขณะที่ฝ่ายไทยประชุมทัพอยู่ที่เมืองตากนั้น ก็ได้ข่าวมาว่า พระเจ้าอังวะให้อะแซหวุ่นกี้ ยกกำลังไปปราบพวกมอญ ที่ขึ้นไปตีเมืองย่างกุ้งเป็นผลสำเร็จ พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระราชดำริว่า โอกาสที่จะตีเมืองเชียงใหม่เหลือน้อยแล้ว พม่าคงติดตามมอญมาเมืองเมาะตะมะ และเมื่อพวกมอญหนีเข้ามาอาศัยเมืองไทย เช่นเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา พม่าก็จะยกกำลังติดตามมา ถ้าตีเชียงใหม่ได้ช้าหรือไม่สำเร็จ ก็อาจถูกพม่ายกเข้ามาตีตัดด้านหลัง ทั้งทางด้านเมืองกาญจนบุรี และด้านเมืองตาก เมื่อพระองค์ได้ทรงปรึกษากับแม่ทัพนายกองแล้วเห็นว่า มีเวลาพอจะตีเมืองเชียงใหม่ได้ นับว่าเป็นการเสี่ยงที่ใคร่ครวญแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีดำรัสให้เจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ทัพใหญ่ คุมกองทัพหัวเมืองเหนือ ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่กับเจ้าพระยาสุรสีห์ ส่วนกองทัพหลวงตั้งรอฟังข่าวทางเมืองเมาะตะมะอยู่ที่เมืองตาก เพื่อคอยแก้สถานการณ์ กองทัพเจ้าพระจักรีกับเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกกำลังขึ้นไปทางเมืองนครลำปาง

 

ฝ่ายโปสุพลาจึงให้โปมะยุง่วนอยู่รักษาเมืองเชียงใหม่ แล้วจัดกองทัพให้พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละคุมกำลังชาวเมือง 1,000 คน เป็นกองหน้า โปสุพลายกกำลัง 9,000 คน ยกตามมาหมายจะไปตั้งต่อสู้ที่เมืองนครลำปาง พระยาจ่าบ้านกับพระยากาวิละเป็นไทยชาวลานนา รู้ว่าไทยข้างเมืองใต้พอเป็นที่พึ่งได้ ก็พาพวกกองหน้ามาสามิภักดิ์ต่อเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาจักรีจึงให้ทั้งสองพระยาถือน้ำกระทำสัตย์ แล้วจึงให้นำทัพไทยยกขึ้นไปเชียงใหม่ เมื่อโปสุพลาทราบเรื่อง จึงรีบถอยกำลังกลับไปรักษาเมืองเชียงใหม่ ให้วางกำลังตั้งค่ายสกัดทาง อยู่ริมฝั่งแม่น้ำพิงเก่าข้างเหนือเมืองลำพูนกองหนึ่ง ส่วนโปสุพลากับโปมะยุง่วนไปเตรียมต่อสู้ที่เมืองเชียงใหม่

 

ขณะเมื่อเจ้าพระยาจักรีได้เมืองลำปางนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบว่ามอญเสียที แตกหนีพม่าลงมาเมืองร่างกุ้ง อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพติดตามลงมา พวกมอญกำลังอพยพครอบครัวหนีเข้ามาอยู่เมืองไทยเป็นอันมาก พระองค์จึงดำรัสสั่งลงมาทางกรุงธนบุรี ให้พระยายมราชแขก คุมกองทัพออกไปตั้งกักด่านที่ตำบลท่าดินแดง แขวงเมืองท่าขนุน ในลำน้ำไทรโยค คอยรับครัวมอญ ที่จะเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ให้พระยากำแหงวิชิต คุมกำลัง 2,000 คน ตั้งอยู่ที่บ้านระแหง คอยรับครัวมอญที่จะเข้ามาทางด่านเมืองตาก แล้วพระองค์เสด็จยกทัพหลวง ออกจากบ้านระแหง เมื่อวันศุกร์ แรม 5 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเมีย พ.ศ. 2317 ตามกองทัพเจ้าพระยาจักรีขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่

 

กองทัพเจ้าพระยาจักรี ยกขึ้นไปจากเมืองนครลำปางถึงเมืองลำพูน พบกองทัพพม่าตั้งค่ายสกัดอยู่ที่ริมน้ำพิงเก่า ก็ให้เข้าโจมตีค่ายพม่า ได้รบพุ่งติดพันกันอยู่หลายวัน กองทัพหลวงพระเจ้ากรุงธนบุรียกไปถึงเมืองลำพูน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 2 ค่ำ เดือนยี่ แล้วตั้งทัพอยู่ที่เมืองลำพูน เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ และเจ้าพระยาสวรรค์โลก ระดมตีค่ายพม่าแตกกลับไปเมืองเชียงใหม่ แล้วก็ไล่ติดตามไปล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ โดยให้ตั้งค่ายล้อมเมืองเชียงใหม่จำนวน 34 ค่าย ชักปีกกาตลอดถึงกัน 3 ด้าน คือด้านตะวันออก ด้านใต้ และด้านตะวันตก คงเหลือแต่ด้านเหนือ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของเจ้าพระยาสวรรค์โลก ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีรับสั่งให้ขุดคู วางขวากและวางปืนจุกช่องเตรียมไว้ทุกค่าย แล้วให้ขุดคูทางเดินเข้าไปประชิดตัวเมือง สำหรับให้คนเดินบังทางปืนเข้าไป ถ้าหากว่าข้าศึกยกออกมาตี ก็ให้ไล่คลุกคลีติดพันตามเข้าเมืองไป

โปสุพลา โปมะยุง่วน เห็นฝ่ายไทยตั้งค่ายล้อมเมืองดังกล่าว จึงคุมกำลังออกมาตั้งค่ายประชิด แล้วยกกำลังเข้าปล้นค่ายไทยหลายครั้ง แต่ถูกฝ่ายไทยตีโต้ถอยกลับเข้าเมืองไปทุกครั้ง สุดท้ายจึงได้แต่รักษาเมืองมั่นไว้ ขณะนั้นพวกชาวเมืองเชียงใหม่ ที่หลบหนีพม่าไปซุ่มอยู่ในป่าเขา เห็นฝ่ายไทยไปตั้งค่ายล้อมพม่าอยู่ ก็พากันออกมาเข้ากับกองทัพไทยเป็นอันมาก พวกที่อยู่ในเมือง ก็พากันหลบหนีเล็ดลอดออกมาเข้ากับฝ่ายไทยอยู่ไม่ขาดสาย จนได้ครอบครัวชาวเชียงใหม่ ที่มาเข้ากับกองทัพไทยมีจำนวนกว่า 5,000 คน

ขณะนั้น เหตุการณ์ข้างเหนือกับข้างใต้ ได้เกิดกระชั้นกันเข้าทุกขณะ กล่าวคือมีข่าวว่า พม่ายกกำลังตามครัวมอญ เข้ามาทางด่านบ้านนาเกาะดอนเหล็ก แขวงเมืองตากมีกำลังประมาณ 2,000 คน พระเจ้ากรุงธนบุรี จึงดำรัสสั่งให้เจ้ารามลักษณ์ หลานเธอแบ่งพลจากกองทัพหลวง 1,800 คน ยกลงมาทางบ้านจอมทองเพื่อรับมือกับข้าศึกที่ยกเข้ามาทางด้านนี้ แต่ต่อมาเมื่อทรงทราบว่ากำลังพม่ามีปฏิบัติการไม่เข้มแข็ง จึงทรงให้ยกเลิกภารกิจนี้ แล้วดำรัสให้มีตราถึงพระยากำแหงวิชิต ให้แบ่งกำลังที่เมืองตากออกไปตั้งรักษาด่านบ้านนาเกาะเหล็ก คอยรับครัวมอญที่จะตามเข้ามาทีหลังต่อไป

พระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จยกกองทัพหลวง จากเมืองลำพูนขึ้นไปเชียงใหม่ เมื่อวันเสาร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือนยี่ ตั้งค่ายหลวงประทับที่ริมน้ำใกล้เมืองเชียงใหม่ ในวันนั้น เจ้าพระยาจักรียกกำลังเข้าตีข้าค่ายพม่า ซึ่งออกมาตั้งรับอยู่นอกเมือง ข้างด้านใต้กับด้านตะวันตก ได้หมดทุกค่าย เจ้าพระยาสุรสีห์ก็ยกกำลังเข้าตีค่ายพม่า ที่ออกมาตั้งรับตรงปากประตูท่าแพด้านตะวันออก ได้ทั้ง 3 ค่าย และในค่ำวันนั้นเอง โปสุพลากับโปมะยุง่วนก็ทิ้งเมืองเชียงใหม่ อพยพผู้คนหนีออกไปทางประตูช้างเผือกข้างด้านเหนือ ฝ่ายไทยยกกำลังออกไล่ติดตาม และชิงครอบครัวพลเมืองกลับคืนมาได้เป็นจำนวนมาก พระเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จโดยขบวนพยุหยาตรา เข้าเหยียบเมืองเชียงใหม่ในวันรุ่งขึ้น ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือนยี่ ทรงตั้งพระยาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้พระยากาวิละเป็นพระยานครลำปางให้พระยาลำพูนเป็นพระยาวัยวงศา ครองเมืองลำพูนตามเดิม

การตีได้เมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ ฝ่ายไทยยึดได้พาหนะและเครื่องศัตราวุธของข้าศึกเป็นอันมาก มีปืนใหญ่น้อยรวม 2,110 กระบอก กับม้า 200 ตัว เป็นต้น ต่อมาอีกสองวันได้มีใบบอกเมืองตากว่า มีกองทัพพม่ายกตามครัวมอญล่วงแดนเข้ามา พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรี คุมกองทัพอยู่จัดการเมืองเชียงใหม่ให้เรียบร้อย ส่วนพระองค์ก็เสด็จยกกองทัพหลวงลงมายังเมืองตาก เมื่อวันศุกร์ แรม 4 ค่ำ เดือนยี่ ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีก็ให้พวกท้าวพระยา ออกไปเที่ยวเกลี้ยกล่อมผู้คนพลเมืองที่หนีภัย ไปหลบซ่อนอยู่ตามป่าเขา ให้กลับคืนถิ่นที่อยู่ตามเดิม ครั้งนั้น เจ้าฟ้าเมืองน่านได้เข้ามาสามิภักดิ์ เป็นข้าขอบขัณฑสีมาอีกเมืองหนึ่ง จึงได้เมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองนครลำปาง เมืองน่าน และเมืองแพร่ กลับมาอยู่ในพระราชอาณาเขตไทย นับตั้งแต่ ปีมะเมีย พ.ศ. 2317 เป็นต้นมาตราบจนทุกวันนี้