ศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย

 


ศาสนาอิสลาม

หลักการอิสลาม
หลักการอิสลามแบ่งออกเป็นส่วนใหญ่ ๆ ได้สองส่วนคือ
หลักการอันเป็นข้อบังคับสำหรับบุคคล (ฟัรดูอัยนีย์) มุสลิมทุกคนต้องรู้ และประพฤติปฏิบัติ โดยเริ่มตั้งแต่อายุเจ็ดขวบเป็นต้นไป แบ่งออกเป็นสามส่วนคือ หลักศรัทธา (อีมาน) หลักปฏิบัติ (อิสลาม) และหลักคุณธรรม (อิฮซาน) หลักการทั้งสามส่วนนี้ ผู้นับถืออิสลามทั้งที่สืบทอดจากบิดามารดามาแต่เดิม หรือเพิ่งเข้ารับอิสลามใหม่ก็ตาม จำต้องศึกษาให้เข้าใจโดยถ่องแท้และสามารถประพฤติปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตลอดไป

หลักการอันเป็นข้อบังคับสำหรับสังคม (ฟัรดู กิฟายะฮ์) ได้แก่หน้าที่ต่าง ๆ ทางสังคม นับตั้งแต่หน่วยเล็กที่สุดคือ ครอบครัวจนถึงสังคมที่ใหญ่ที่สุดคือ ประเทศชาติ มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการเก็บภาษี การจัดการกองทัพ การบริหารประเทศ การทูต ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งในคำสอน

หลักศรัทธา (อีมาน) อิสลามได้กำหนดไว้เป็นบทแรกแห่งการนับถือ บุคคลจะต้องเริ่มต้นด้วยการศรัทธาจะเป็นประการสำคัญมีหกหัวข้อคือ
ศรัทธาในพระเจ้า ซึ่งเรียกว่า อัลเลาะฮ์ ซึ่งมีลักษณะความสมบูรณ์เช่น ทรงมีอย่างแน่นอนไม่มีข้อสงสัย ทรงมีมาก่อนสรรพสิ่งทั้งปวง ทรงนิรันดรภาพ ทรงดำรงอยู่เองไม่อาศัยปัจจัยเงื่อนไขและที่พึ่งใด ๆ ทรงเอกานุภาพไม่มีสิ่งใดเป็นภาคี ทรงผิดแปลกกับสรรพสิ่งทั้งปวง ทรงอานุภาพเหนือสรรพสิ้งทั้งปวง ทรงชีวิตอันอมตะ ทรงได้ยิน ทรงมองเห็น ทรงบัญชา ทรงมุ่งหมาย และทรงรอบรู้

ศรัทธาในมลาอีกะฮ์ มลาอิกะฮ์เป็นสรรพสิ่งชนิดหนึ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นในธาตุพิเศษเป็นธาตุฝ่ายวิญญาณ ซึ่งมนุษย์ธรรมดาไม่สามารถสัมผัสได้ ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งพระเจ้าอย่างเคร่งครัด มีจำนวนมากมายมหาศาล เท่าที่มีรายชื่อและหน้าที่เฉพาะมีอยู่สิบมลาอิกะฮ์คือ

๑. ยิบรออีล ทำหน้าที่สื่อบัญญัติของพระเจ้ากับนบี
๒. มีกาอีล ทำหน้าที่นำโชคลาภจากพระเจ้าสู่โลก
๓. อิสรอพิล ทำหน้าที่เป่าสังข์ในวันสิ้นโลก
๔. อิสรออิล ทำหน้าที่ถอดวิญญาณมนุษย์และสัตว์
๕. รอกีบ ทำหน้าที่บันทึกความดีและความชั่วของมนุษย์
๖. อะติด ทำหน้าที่บันทึกความดีและความชั่วของมนุษย์
๗. มุงกัร ทำหน้าที่สอบถามคนตายในกุบูร (หลุมฝังศพ)
๘.นะกีร ทำหน้าที่สอบถามคนตายในกุบูร (หลุมฝังศพ)
๙. ริดวาน ทำหน้าที่กิจการของสวรรค์
๑๐. มาลิก ทำหน้าที่ดูแลกิจการของขุมนรก

ศรัทธาในนบี มุสลิมมีศรัทธาว่า โลกมนุษย์ในแต่ละยุคที่ผ่านมานับแต่ยุคแรกคือ อาดัม นั้นจะต้องมี นบี หรือ ศาสนทูต เป็นผู้รับบทบัญญัติของพระเจ้า มาประกาศเพื่อปฏิบัติ จำนวนนบีที่เผยแพร่บทบัญญัติของพระเจ้า มีจำนวนมากมาย ลักษณะคำประกาศของแต่ละนบี ย่อมผิดแปลกไปตามยุคตามสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกนบีประกาศออกมาเหมือนกันคือ ความเชื่อในพระเจ้าเดียว และห้ามกราบไหว้บูชาวัตถุโดยสิ้นเชิง

บรรดานบีที่รับบทบัญญัติจากพระเจ้ามาเผยแพร่ เท่าที่มีปรากฏในอัลกุรอ่าน มีทั้งสิ้น ๒๕ ท่านคือ
๑. อาดัม ๒. อิบรอฮิม ๓. อิสฮากร์ ๔. ยากูฟ ๕. นัวฮ์ ๖.ดาลูด ๗. สุไลมาน ๘.ไอยยูฐ ๙.ยยูซุบ ๑๐. มูซา (โมเสส) ๑๑.ฮารูฯ ๑๒. ซาการียา ๑๓. ยาห์ยา ๑๔. อีซา (เยซู) ๑๕. อินยาส ๑๖. อิสมาอีล ๑๗. อัลย่าซะอ์ ๑๘. ยูนุส ๑๙. ลูด ๒๐. อิดรีส ๒๑. ฮูด ๒๒.ซู่ไอย์ ๒๓. ซอและห์ ๒๔. ซุลกิฟลี่ ๒๕. นบีมูฮำมัด (ซ.ล.)

บรรดานบีทุกท่านเป็นมนุษย์ธรรมดา จึงดำรงชีวิตแบบคนทั่วไป สาเหตุที่พระเจ้าเลือกคนธรรมดาขึ้นมาเป็นนบี เพราะความเป็นนบี หมายถึง การเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตามคำสอนของตนที่ได้รับมาจากพระเจ้า ทุกสิ่งที่นบีสอนผู้อื่นท่าน ก็จะปฏิบัติสิ่งนั้นด้วย คำสอนที่สอนออกไป จึงเป็นกฎหมายที่ท่านต้องปฏิบัติตาม เพราะสิ่งที่ท่านสอนก็คือ บทบัญญัติที่พระเจ้าให้ผ่านมาทางท่านนั่นเอง

ศรัทธาในคัมภีร์ สิ่งที่พระเจ้าบัญญัติมาจะแบ่งได้เป็นสองแบบคือเป็นคัมภีร์ฉบับสมบูรณ์ (กิตาบ ) เป็นคำแถลงการณ์ (ซุฮุบ) คัมภีร์ที่เป็นฉบับสมบูรณ์ มีดังต่อไปนี้

๑. ซะบูร นบีดาวุด เป็นผู้รับบทบัญญัติและเผยแพร่
๒. เตารอด นบีมูซว่า เป็นผู้รับบทบัญญัติและเผยแพร่
๓. อันยีล นบยีวอีซวา เป็นผู้รับบทบัญญัติและเผยแพร่
๔. กุรอาน นบีมูฮำมัด เป็นผู้รับบทบัญญัติและเผยแพร่

มีบทบัญญัติที่ไม่เป็นคัมภีร์ฉบับสมบูรณ์ แต่เป็นเพียงคำแถลงการณ์ ซึ่งเผยแพร่ออกมาตามวาระต่าง ๆ คือ โดยนบีซีซ มี ๖๐ ฉบับ โดยนบีอิบรอฮิม มี ๓๐ ฉบับ และโดยนบีอีซา จำนวน ๑๐ ฉบับ

คัมภีร์ฉบับสุดท้าย อันประมวลความสมบูรณ์และใช้อยู่จนถึงวันสิ้นโลกคือ คัมภีร์กุรอาน ประกาศโดยท่านนบีมมูฮัมมัด
คัมภีร์กุรอาน มิใช่เป็นเพียงคัมภีร์ทางศาสนาที่มีบทสวดมนต์หรือคำสอนทางความเชื่อ หรือทางศีลธรรมโดยเฉพาะ แต่เป็นคัมภีร์ที่ประมวลเรื่องราวต่าง ๆ ไว้มีบทบัญญัติต่าง ๆ ประมาณ ๖,๖๐๐ บทบัญญัติ แบ่งออกเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักความเชื่อ พิธีการทางศาสนา ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การปกครอง การแพทย์ การคำนวณ วิทยาศาสตร์ กฎหมาย การทูต สังคม วัฒนธรรม บทขอพร และหลักศีลธรรม เป็นต้น

มุสลิมถือว่า กุรอานเป็นธรรมนูญชีวิตของทุกคน การกระทำทั้งหลายจะต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติของกุรอาน มุสลิมจะอ่านกุรอานเป็นประจำ แม้ไม่ได้เข้าใจความหมายแต่ทุกคน ถือเป็นหน้าที่ต้องอ่าน เพื่อเตือนตัวเองให้สำนึกถึงความสำคัญของกุรอาน ที่มีต่อการดำเนินชีวิต โดยจะอ่านให้จบทั้ง ๖,๖๐๐ กว่าบทบัญญัติ อย่างน้อยปีละครั้ง

เนื้อความของกุรอาน เป็นธรรมนูญสูงสุดของมุสลิม กฎหมายหรือ บทบัญญัติอื่นใดไม่สามารถหักล้างได้ มุสลิมเชื่อว่านบีมูฮำมัดไม่ได้เขียนกุรอ่านขึ้นเอง เพราะท่านอ่านหนังสือไม่ออก และคนอาหรับในสมัยนั้น ไม่มีผู้ใดมีความรู้ในสาขาต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ในกุรอาน จึงต้องมาจากการไขความ (วิวรณ์) ของพระเจ้า และจากยุคของท่านนบีจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ใดสามารถแต่งประโยคที่มีสัมผัสภาษา และให้ความหมายที่ใกล้เคียงกับกุรอาน

ศรัทธาในโลกหน้า อิสลามสอนเรื่องของโลกหน้าว่ามีจริง มุสลิมทุกคนต้องเชื่อมั่นการมีโลกหน้าจะเกิดหลังการแตกดับของโลกปัจจุบันนี้เสียก่อน การที่โลกนี้จะแตกดับ ท่านนบีได้พยากรณ์ไว้หลายอย่าง เช่น จะเกิดปัญหาหมอกควัน จะเกิดสงครามมากมาย จะเกิดการอ้างตัวเป็นนบีปลอม จะแข่งขันในการสร้างอาคารสูง ๆ จะแข่งขันในการสร้างมัสยิด จะมีการผิดประเวณีกันแพร่หลาย จะมีการดื่มสุราอย่างแพร่หลาย และผู้นำจะขาดคุณธรรม

ศรัทธาในลิขิตของพระเจ้า มุสลิมต้องศรัทธากำหนดการต่าง ๆ ในโลก และชีวิตแต่ละคนนั้น เป็นไปโดยอำนาจของพระเจ้า มนุษย์จะต้องปฏิบัติตามครรลองที่ถูกกำหนดไว้แล้ว การดิ้นรนขวนขวายอุตสาหวิริยะของมนุษย์ ดำเนินอยู่ภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าว