พระธาตุเจดีย์ในประเทศไทย

 

พระบรมธาตุดอยสุเทพ

พระบรมธาตุดอยสุเทพเป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งของเมืองเชียงใหม่ ประดิษฐานอยู่บนดอยสุเทพ สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐๐ เมตร ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของตัวเมือง ห่างจากตัวเมืองเก่าประมาณ ๑๐ กิโลเมตร สามารถมองเห็นจากตัวเมืองได้ชัดเจน และเมื่อขึ้นไปอยู่ที่พระบรมธาตุ ก็จะเห็นตัวเมืองเชียงใหม่ได้ทั้งหมด มีบันไดนาคเจ็ดเศียรทอดจากทางขึ้นไปถึงซุ้มประตูวัด จำนวน ๓๐๐ ขั้น ครูบาศรีวิชัยได้บอกบุญชักชวนชาวเหนือ ให้ช่วยกันสร้างถนนจากเชิงดอยไปจนถึงยอดดอย ณ ที่ตั้งพระบรมธาตุ


ตามตำนานกล่าวว่า เป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้เสด็จมายังดอยอุจฉุปัพพต เพื่อฉันภัตตาหาร พร้อมด้วยพระสาวก ณ ที่นี้มีย่าแสะแม่ลูกได้ตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้า พระองค์จึงมอบพระเกศาธาตุให้ประดิษฐานไว้ที่ดอยแห่งนี้
ตามประวัติพระเจ้ากือนา กษัตริย์พระองค์ที่ ๘ ของ ราชวงศ์เชียงราย ได้พระบรมสารีริกธาตุส่วนพระเศียร จากพระมหาเถรองค์หนึ่งที่ได้นำมาจากเมืองสุโขทัย ในชั้นต้น พระองค์ได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุนี้ไว้ที่วัดสวนดอก


ต่อมาปรากฎว่า พระบรมสารีริกธาตุได้แสดงปาฏิหารย์ แยกออกเป็น ๒ องค์ ขนาดเท่าเดิม พระเจ้ากือนา จึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวขึ้นบนหลังช้างทรง และตั้งบารมีเสี่ยงช้าง ช้างทรงได้เดินขึ้นไปบนดอยสุเทพ ครั้นถึงบริเวณที่ตั้งวัดพระบรมธาตุ ฯ ปัจจุบัน ช้างทรงนั้นก็กระทืบเท้าส่งเสียงร้องไปทั่วบริเวณ แล้วล้มลง ณ ที่นั้น พระเจ้ากือนา จึงให้สร้างพระบรมสารีริกธาตุขึ้น ณ ที่นั้น เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๒๗ เป็นเจดีย์แบบเชียงแสนผสมลังกา


องค์พระบรมธาตุประดิษฐานอยู่ใต้ดินลึกลงไป ๘ ศอก ดังนั้นจึงห้ามมิให้สตรีเข้าไปภายในฐานเจดีย์ และก่อนที่จะเข้าสู่ภายในบริเวณองค์พระบรมธาตุ ต้องถอดรองเท้าไว้ที่เชิงบันไดเสียก่อน
มีงานนมัสการในวันเพ็ญวิสาขฤกษ์ ในวันวิสาขบูชาของทุกปี โดยชาวเชียงใหม่จะถือคบไฟเดินขึ้นดอย และเวียนเทียนรอบองค์พระบรมธาตุ ฯ

 

พระบรมธาตุดอยตุง

พระบรมธาตุดอยตุง เป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดของเชียงราย ประดิษฐานอยู่บนยอดดอยตุง ในเขตกิ่งอำเภอแม่ฟ้าหลวง มีถนนแยกจากบ้านห้วยไคร้ขึ้นไปจนถึงองค์พระบรมธาตุ องค์พระธาตุบรมธาตุเจดีย์ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ ๒๐๐๐ เมตร
ตามตำนานมีว่า เดิมสถานที่ตั้งพระบรมธาตุดอยตุง มีชื่อว่า ดอยดินแดง อยู่บน เขาสามเส้น ของพวกลาวจก ต่อมาสมัยพระเจ้าอุชุตะราช รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์สิงหนวัต ผู้ครองนครโยนกนาคนคร เมื่อปี พ.ศ. ๑๔๕๒ พระมหากัสสป ได้นำพระบรมสารีริกธาตุในส่วนของพระรากขวัญเบื้องซ้าย (ไหปลาร้า) ของพระพุทธเจ้ามาถวาย ซึ่งตรงตามคำทำนายของพระพุทธองค์ว่า


"ที่ดอยดินแดงแห่งนี้ ต่อไปจะเป็นที่ประดิษฐานพระมหาสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในภายภาคหน้า" พระเจ้าอุชุตะราช มีพระราชศรัทธา ได้เรียกหัวหน้าลาวจกมาเฝ้า พระราชทานทองคำจำนวนแสนกษาปณ์ ให้เป็นค่าที่ดินบริเวณดอยดินแดงแก่พวกลาวจก แล้วทรงสร้างพระสถูปขึ้น โดยนำธงตะขาบยาว ๓,๐๐๐ วา ไปปักไว้บนดอย เมื่อหางธงปลิวไปไกลเพียงใด้ ให้กำหนดเป็นฐานพระสถูปเพียงนั้น ดอยดินแดงจึงได้ชื่อใหม่ว่า ดอยตุง (คำว่า ตุง แปลว่า ธง) เมื่อสร้างพระสถูปเสร็จ ก็ได้นำพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวบรรจุไว้ให้คนสักการะบูชา


ต่อมาสมัยพระเจ้าเม็งรายมหาราช แห่งราชวงศ์ลาวจก พระมหาวชิระโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย จำนวน ๕๐ องค์ พระเจ้าเม็งรายจึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขึ้นอีกองค์หนึ่ง เหมือนกับพระสถูปองค์เดิมทุกประการ ตั้งคู่กัน ดังปรากฎอยู่จนถึงทุกวันนี้
ชาวเชียงราย มีประเพณีการเดินขึ้นดอยบูชาพระธาตุ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี

พระธาตุลำปางหลวง

พระธาตุลำปางหลวง ประดิษฐานอยู่ที่วัดลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากตัวจังหวัด ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๑๘ กิโลเมตร องค์พระธาตุเจดีย์สูง ๒๒ วา ๒ ศอก ฐานกว้างด้านละ ๑๒ วา ก่อด้วยอิฐถือปูน ฉาบด้วยแผ่นทองเหลือง ทองแดง ตลอดทั้งองค์
ตามประวัติกล่าวว่า พระมหากัสสปเถระ และพระเมติยะเถระ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ มาจากประเทศอินเดีย เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช โปรดให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ นำไปประดิษฐานในอาณาจักรต่าง ๆ


ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงมอบพระเกศาธาตุให้ชาวลัวะผู้หนึ่งชื่อกอน ลั๊วะกอนได้สร้างพระสถูปเจดีย์สูงเจ็ดศอก เพื่อบรรจุพระเกศาธาตุไว้ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๘ ได้มีพระอรหันต์สององค์คือ พระกุมารกัสสปะ ได้นำเอาพระอัฐิธาตุพระนลาตข้างขวา และพระเมฆิยะ ได้นำเอาอัฐิธาตุลำคอ มาบรรจุไว้ในพระสถูปเจดีย์ไว้อีก พระสถูปเจดีย์องค์นี้ได้มีการสร้างเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง สำหรับองค์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ได้สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๓๐๙ โดยเจ้าเมืองหาญศรีธัตถะมหาสุรมนตรี ซึ่งพระเจ้าดิลกปนัดดาเจ้านครเชียงใหม่ ได้ส่งมากินเมืองลำปางในครั้งนั้น
เรื่องราวจากศิลาจารึก พอประมวลเหตุการณ์ตามลำดับได้ดังนี้ เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๙๒ เจ้าเมืองหาญแต่ท้อง (ราชบุตรหมื่นด้งนคร) มากินเมืองนครลำปาง ได้ขอพระราชานุญาติ จากพระยาติโลกรัตนะ เจ้านครเชียงใหม่ เพื่อทำการประดิษฐานพระเจดีย์ ไว้เหนือพระบรมสารีริกธาตุ ที่ลัมภะกัปปะนคร กว้าง ๙ วา สูง ๑๕ วา ก่อด้วยอิฐถือปูน
ปี พ.ศ. ๒๐๑๙ เจ้าหมื่นคำเป๊ก เจ้านครลำปาง ได้ให้สร้างกำแพง สร้างวิหาร และให้หล่อพระพุทธรูปองค์หนึ่ง อัญเชิญไว้ในพระวิหาร สร้างศาลา ขุดบ่อน้ำและตัดถนนในบริเวณพระมหาธาตุเจดีย์
ปี พ.ศ. ๒๐๓๙ เจ้าเมืองหาญศรีธัตถมหาสุรมนตรี มากินเมืองลำปาง ได้ชักชวนผู้คน ทั้งพระสงฆ์และฆราวาส ทำการก่อฐานพระมหาธาตุกว้าง ๑๒ วา เป็นจำนวนดินและอิฐหนึ่งล้านก้อนเศษ มีรายละเอียดประมาณปูนที่ใช้มูลค่า การก่อสร้าง และมีการนำเอาทองคำมาใส่พระมหาธาตุหลายครั้ง รวมแล้วได้ หมื่นสามพันสองร้อยหกบาท

ปี พ.ศ. ๒๐๔๐ ได้มีการหล่อพระล้านทอง ต่อมาเจ้าเมืองหาญศรีทัต ก็ให้หล่อพระทองขึ้นอีกองค์หนึ่ง ใช้ทองหนักสามหมื่นทอง แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานในวิหารด้านเหนือ วิหารด้านตะวันตกไว้พระสีลา พระพุทธเจ้าองค์หลวง อยู่ในบริเวณด้านใต้ และได้ก่อพระมหาธาตุกว้าง ๑๒ วา สูง ๒๕ วา พระราชครูเจ้า นำฉัตรทองคำมาใส่ยอดพระมหาธาตุ
ปี พ.ศ. ๒๑๔๕ มหาอุปราชพระยาหลวงนครชัยบุรี ได้ชักชวนผู้มีจิตศรัทธา นำทองคำแสนก่ำมาบูชาพระมหาธาตุ และได้สร้างฉัตรใส่ยอดพระมหาธาตุ มหาพละปัญโญ และพระเจ้าหลวงป่าต้นกับบรรดาพระสงฆ์ รวมทั้งฝ่ายฆราวาสได้หล่อจำลอง ใส่ยอดพระมหาธาตุ
ปี พ.ศ. ๒๓๗๕ บรรดาพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า เห็นว่าฉัตร และยอดของพระมหาธาตุถูกมหาวาตภัยหักลงมา จึงได้แต่งทูตไปกราบถวายบังคมทูตกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาทราวดีฝ่ายใต้ จึงได้พระราชทานแก้วและทองดี จากนั้นได้สร้างฉัตรในปะฐะมะ ในชั้นถ้วยทุติยะขึ้นใหม่ใหญ่กว่าเดิม เพิ่มเติมฉัตรอีกสองชั้น จากของเดิมที่มีอยู่ห้าชั้น
มีงานประเพณีประจำปี ปีละสามครั้ง มีมาแต่ครั้งโบราณกาลคือ
เดือนยี่เป็ง (เดือนสิบสอง) เป็นประเพณีนมัสการพระบรมธาตุ
วันปากปี วันที่ ๑๖ เมษายน เป็นประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุและพระแก้วมรกต
เดือนหกเหนือเป็ง เป็นประเพณีนมัสการพระพุทธบาท