พระธาตุเจดีย์ในประเทศไทย

 

พระธาตุหริกุญชัย

พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน เป็นปูชยสถานที่สำคัญยิ่งอีกแห่งหนึ่งของดินแดนล้านนาไทย มาแต่โบราณกาล ประมาณหนึ่งพันปีมาแล้ว บรรดาเจ้านครต่าง ๆ ในดินแดนส่วนนี้ได้มีความเคารพนับถือและศรัทธา ได้รับภาระในการปฏิสังขรณ์กันต่อมาจนถึงทุกวันนี้ องค์พระธาตุเป็นรูปทรงแบบลังกา ฝีมือประนีต และมีความคงทนถาวรมาก


ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. ๑๔๔๐ พระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์วงค์รามัญผู้ครองนครลำพูน เป็นลำดับที่ ๓๓ มีศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างยิ่ง ได้ทรงรับเอาพระพุทธศาสนาจากเมืองมอญ มาประดิษฐานที่นครลำพูน และได้ทรงสร้างพระมณฑป เพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุ สูงสามวา มีซุ้มทั้งสี่ด้าน ครอบโกศสูงสามศอก แล้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน ดังนั้นจึงเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า บรรดาบ้านเรือนในนครลำพูน จะต้องสร้างไม่ให้สูงเกินสามศอก เพื่อให้สูงกว่าองค์พระบรมธาตุ


ต่อมาพระนางปทุมวดี พระมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราช ได้ทรงสร้างพระเจดีย์เหลี่ยมขึ้นองค์หนึ่ง ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระธาตุ เป็นพระปรางค์รูปสี่เหลี่ยมยอดแหลม มีนามว่าสุพรรณเจดีย์ ใต้ฐานชั้นล่างเป็นกรุบรรจุพระเปิม (พระเครื่องชนิดหนึ่ง) ยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้

เมื่อปี พ.ศ. ๑๗๒๒ พระเจ้าสัพพาสิทธิ์ ผู้ครองนครลำพูน ได้สร้างโกศทองเสริมต่อขึ้นไปอีกหนึ่งศอก รวมเป็นสูงสี่ศอก และสร้างพระมณฑปเสริมต่อขึ้นอีกสองวา รวมเป็นห้าวา
เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๑๙ พระเจ้าเม็งรายมหาราช ผู้ครองนครเชียงราย มีชัยชนะได้ครองนครลำพูน ได้ทรงสร้างพระมณฑป เสริมต่อครอบพระมณฑปเดิมอีกสิบวา รวมเป็นสิบห้าวา พร้อมทั้งสร้างทองจังโกฎก์หุ้มตั้งแต่ฐานถึงยอด
เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๘๖ พระเจ้าอโลกราชกษัตริย์ของล้านนาไทย ผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้อาราธนาพระมหาเมธังกร ให้ควบคุมการก่อสร้างเสริมต่อพระบรมธาตุ ให้สูงขึ้นไปอีกแปดวา รวมเป็นยี่สิบสามวา ฐานกว้างสิบสองวา สองศอก ฉัตรเจ็ดชั้น แก้วบุษหนัก ๒๓๐ เฟื้อง ใส่ไว้ที่ยอด สรุปรายการในการก่อสร้างได้ดังนี้
ศิลาแลง ๖๐,๐๐๐ ก้อน อิฐ ๑๐๐,๐๐๐ ก้อน ปูน ๑,๖๖๐,๐๐๐ ค่าน้ำกล้วยตีบเงิน ๖๐,๐๐๐
สิ้นน้ำหนัก ๔,๐๐๐,๐๐๐ ราคาเงิน ๙,๐๐๐
รวมค่าก่อสร้างทั้งหมด ๔,๐๐๐,๐๐๐
และได้เอาทองจังโกฎก์ (แผ่นทองแดงปนนาค) หุ้มตลอดองค์จำนวน ๑๕,๐๐๐ แผ่น สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๙๐
เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๐๐ พระเมืองแก้วเจ้านครเชียงใหม่ ได้สร้างส่วนนี้เป็นสันติบัญชร (ระเบียงหอก) ล้อมเป็นรั้วไว้ ณ ฐานล่างสองชั้น เป็นจำนวน ๕๐๐ เล่ม และต่อมาในสมัยพระยาอุปโย เป็นเจ้านครเชียงใหม่ พระราชโมลีมหาพรหม และพระสังฆราชา ได้ชักชวนชาวเมือง ทำสันติบัญชรต่ออีก ๗๐๐ เล่ม จนเสร็จบริบูรณ์
ตามตำนาน เช่นพงศาวดารโยนก จามเทวีวงศ์ และมูลศาสนาชินกาลมาลินี กล่าวว่าพระบรมธาตุแห่งนี้ บรรจุพระบรมเกศาธาตุ เดิมบรรจุไว้ในกระบอกไม้ไผ่รวกฝังไว้ใต้พื้นดิน เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ได้เคยเสด็จมา ณ ที่นี้ ได้ประทับบนหินก้อนหนึ่ง กระทำภัตกิจ (ฉันอาหาร) และทรงพยากรณ์ว่าจะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งปาฏิหารย์ผุดขึ้นจากพื้นดิน
ปัจจุบัน วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ตั้งอยู่กลางเมืองลำพูน มีเนื้อที่ ๒๕ ไร่ วัดนี้มีกำแพงสองชั้น เป็นกำแพงรอบบริเวณวัดชั้นนอก และกำแพงทำเป็นศาลาบาตรรอบองค์พระธาตุ เป็นกำแพงชั้นใน

องค์พระธาตุเจดีย์มีสินติบัญชรสองชั้น สำเภาทองตั้งอยู่ประจำรั้วชั้นนอก ทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ มีซุ้มกุมภัณฑ์ และฉัตรประจำสี่มุม กับหอยอดประจำทุกด้าน รวมสี่หอ มีพระพุทธรูปประจำอยู่ทุกหอ
ประเพณีสรงน้ำพระธาตุมีในวันเพ็ญเดือนหก ใช้น้ำทิพย์โดยนำน้ำมาจากยอดดอยเค้าม้อ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก ประมาณสิบกิโลเมตร และได้รับพระราชทานน้ำสรง กับเครื่องราชสักการะ มีการแห่แหนครัวทาน จุดบอกไฟ (ไฟพะเนียง) เป็นพุทธบูชา และมหรสพอยู่ตลอดคืน

 

พระธาตุพนม

พระธาตุพนม ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุพนมวรวิหาร ริมฝั่งแม่น้ำโขง ตำบล และอำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม สถานที่ประดิษฐานองค์พระธาตุ อยู่บนภูกำพร้า หรือดอยกำพร้า ภาษาบาลีว่า กปณบรรพตหรือ กปณคีรี ริมฝั่งแม่น้ำขลนที อันเป็นเขตแขวงนครศรีโคตบูรโบราณ
ตามตำนานพระธาตุพนม ในอุรังคนิทานกล่าวว่า สมัยหนึ่งในปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระอานนท์ ได้เสด็จมาทางทิศตะวันออก โดยทางอากาศ ได้มาลงที่ดอนกอนเนา แล้วเสด็จไปหนองคันแทเสื้อน้ำ (เวียงจันทน์) ได้พยากรณ์ไว้ว่า ในอนาคตจะเกิดบ้านเมืองใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา จากนั้นได้เสด็จไปตามลำดับ ได้ทรงประทานรอยพระพุทธบาทไว้ที่ โพนฉัน (พระบาทโพนฉัน) อยู่ตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย แล้วเสด็จมาที่ พระบาทเวินปลา ซึ่งอยู่เหนือเมืองนครพนมปัจจุบัน ได้ทรงพยากรณ์ที่ตั้งเมืองมรุกขนคร (นครพนม) และได้ประทับพักแรมที่ภูกำพร้าหนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นเสด็จข้ามแม่น้ำโขง ไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตบูร พักอยู่ที่ร่มต้นรังต้นหนึ่ง (พระธาตุอิงฮังเมืองสุวรรณเขต) แล้วกลับมาทำภัตกิจ (ฉันอาหาร) ที่ภูกำพร้าโดยทางอากาศ


พญาอินทร์ได้เสด็จมาเฝ้าและทูลถามพระพุทธองค์ ถึงเหตุที่มาประทับที่ภูกำพร้า พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ ในภัททกัลป์ที่นิพพานไปแล้ว บรรดาสาวกจะนำพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า พระพุทธองค์เมื่อนิพพานแล้ว พระมหากัสสปะ ผู้เป็นสาวก ก็จะนำเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ ณ ที่นี้เช่นกัน จากนั้นพระพุทธองค์ก็ได้ทรงปรารภถึงเมืองศรีโคตบูร และมรุกขนคร แล้วเสด็จไปหนองหารหลวง ได้ทรงเทศนาโปรดพญาสุวรรณพิงคาระ และพระเทวี ประทานรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ที่นั้น แล้วเสด็จกลับพระเชตวัน หลังจากนั้นก็เสด็จปรินิพพานที่เมืองกุสินารา

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว มัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้ถวายพระเพลิงพระสรีระ แต่ไม่สำเร็จ จนเมื่อพระมหากัสสปะมาถึงได้อธิษฐานว่า พระธาตุองค์ใดที่จะอัญเชิญไปประดิษฐานที่ภูกำพร้า ขอพระธาตุองค์นั้นเสด็จมาอยู่บนฝ่ามือ ดังนี้แล้ว พระอุรังคธาตุ ก็เสด็จมาอยู่บนฝ่ามือขวาของพระมหากัสสปะ ขณะนั้นไฟธาตุก็ลุกขึ้นโชติช่วง เผาพระสรีระได้เองเป็นอัศจรรย์ เมื่อถวายพระเพลิงและแจกพระบรมสารีริกธาตุเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระมหากัสสปะพร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ ก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ มาทางอากาศ แล้วมาลงที่ดอยแท่น (ภูเพ็กในปัจจุบัน) จากนั้นได้ไปบิณฑบาตที่เมืองหนองหารหลวง เพื่อบอกกล่าวแก่พญาสุวรรณพิงคาระ ตำนานตอนนี้ตรงกับตำนานพระธาตุเชิงชุม และพระธาตุนารายณ์เจงเวง ซึ่งมีรายละเอียดอยู่แล้ว
เมื่อพญาทั้ง 5 ซึ่งอยู่ ณ เมืองต่าง ๆ อันได้แก่ พญานันทเสน แห่งเมืองศรีโคตบูร พญาจุลณีพรหมทัต พญาอินทปัตถนคร พญาคำแดง แห่งเมืองหนองหารน้อย และพญาสุวรรณพิงคาระ แห่งเมืองหนองหารหลวง ได้พากันปั้นดินดิบก่อแล้วเผาไฟ ตามคำแนะนำของพระมหากัสสปะ แบบพิมพ์ดินกว้างยาวเท่ากับฝ่ามือพระมหากัสสปะ
ครั้นปั้นดินเสร็จแล้วก็พากันขุดหลุมกว้าง 2 วา ลึก 2 ศอก เท่ากันทั้ง 4 ด้าน เมื่อก่อดินขึ้นเป็นรูปเตา 4 เหลี่ยม สูง 1 วา โดยพญาทั้ง 4 แล้ว พญาสุวรรณภิงคาระก็ได้ก่อส่วนบน โดยรวมยอดเข้าเป็นรูปฝาปารมีสูง 1 วา รวมความสูงทั้งสิ้น 2 วา แล้วทำประตูเตาไฟทั้ง 4 ด้าน เอาไม้จวง จันทน์ กฤษณา กระลำพัก คันธรส ชมพู นิโครธ และไม้รัง มาเป็นพื้น ทำการเผาอยู่ 3 วัน 3 คืน เมื่อสุกแล้วจึงเอาหินหมากคอยกลางโคก มาถมหลุม เมื่อสร้างอุโมงค์ดังกล่าวเสร็จแล้ว พญาทั้ง 5 ก็ได้บริจาคของมีค่าบรรจุไว้ในอุโมงค์เป็นพุทธบูชา
จากนั้น พระมหากัสสปะ ก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ เข้าบรรจุภายในที่อันสมควร แล้วให้ปิดประตูอุโมงค์ไว้ทั้ง 4 ด้าน โดยสร้างประตูด้วยไม้ประดู่ ใส่ดาลปิดไว้ทั้ง 4 ด้าน แล้วให้คนไปนำเอาเสาศิลาจากเมืองกุสินารา 1 ต้น มาฝังไว้ที่มุมเหนือตะวันออก แปลงรูปอัศมุขี (ยักษิณีหน้าเป็นม้า) ไว้โคนต้นเพื่อเป็นหลักชัยมงคลแก่บ้านเมืองในชมพูทวีป นำเอาเสาศิลาจากเมืองพาราณสี 1 ต้น ฝังไว้มุมใต้ตะวันออก แปลงรูปอัศมุขีไว้โคนต้น เพื่อหมายมงคลแก่โลก นำเอาเสาศิลาจากเมืองตักศิลา 1 ต้น ฝังไว้มุมเหนือตะวันตก พญาสุวรรณพิงคาระให้สร้างรูปม้าอาชาไนยไว้ตัวหนึ่ง หันหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อแสดงว่าพระบรมธาตุเสด็จออกมาทางทิศทางนั้น และพระพุทธศาสนาจักเจริญรุ่งเรืองจากเหนือเจือมาใต้ พระมหากัสสปะให้สร้างม้าพลาหกไว้ตัวหนึ่ง คู่กัน หันหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อเป็นปริศนาว่า พญาศรีโคตบูรจักได้สถาปนาพระอุรังคธาตุไว้ตราบเท่า 5,000 พระวัสสา เกิดทางใต้และขึ้นไปทางเหนือ เสาอินทขีล ศิลาทั้ง 4 ต้น ยังปรากฏอยู่ 2 ต้น ทางทิศตะวันออก ส่วนอีก 2 ต้น ได้ก่อหอระฆังหุ้มไว้ ส่วนม้าศิลาทั้ง 2 ตัว ก็ยังปรากฏอยู่ถึงปัจจุบัน
พระธาตุพนม ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์มาตามลำดับ การบูรณะครั้งแรกและครั้งที่สอง ไม่ได้บันทึกปีที่บูรณะไว้ การบูรณะครั้งที่สามเมื่อปี พ.ศ. 2157 ครั้งที่สี่เมื่อปี พ.ศ. 2233 ครั้งที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2349 ครั้งที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2444 เป็นการบูรณะครั้งใหญ่ และต่อจากนั้นมาก็มีการบูรณะทั่วไป เช่น บริเวณโดยรอบพระธาตุ
ได้มีพิธียกฉัตรทองคำขึ้นประดิษฐานไว้ที่ยอดองค์พระธาตุ และนำฉัตรเก่ามาเก็บไว้ เมื่อปี พ.ศ. 2497 มีพุทธศาสนิกชนจากดินแดนสองริมฝั่งโขงทั้ง ไทยและลาว หลั่งไหลมาร่วมมงคลสันนิบาต และนมัสการองค์พระธาตุเป็นเวลาถึงหนึ่งเดือน

เมื่อปี พ.ศ. 2518 องค์พระธาตุพนมชำรุดล้มลง ทางราชการได้ดำเนินการก่อสร้างขึ้นใหม่ ให้คงสภาพเดิม ภายในปีเดียวกัน และได้ยืนยงคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
งานนมัสการพระธาตุพนมประจำปี เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 12 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3
คำนมัสการพระธาตุพนมมีดังนี้
"กปณคิริสฺมิ ปพฺพเต มหากสฺสเปน ฐาปิตํ พุทฺธอุรงฺคธาตุ สิรสา นมามิ"
แปลว่า "ข้าพเจ้าขอนมัสการ พระบรมอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระมหากัสสปเถระเจ้า นำมาฐาปนาไว้ ณ ภูกำพร้า ด้วยเศียรเกล้า"

 

พระธาตุเชิงชุม

พระธาตุเชิงชุม ประดิษฐานอยู่บนเนินสูง ในวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ริมหนองหาร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอานนท์ ได้เสด็จจากพระวิหารเชตวัน มาทางดินแดนทางทิศตะวันออก เพื่อโปรดสัตว์ เมื่อเสด็จตามลำแม่น้ำโขง ก็ได้ประทับรอยพระพุทธบาทมาตามลำดับ มีพระพุทธบาทบัวบก พระพุทธบาทโพนเพล พระพุทธบาทเวินปลา แล้วมาพักฉันภัตตาหารที่ภูกำพร้า อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุพนม จากนั้นได้เสด็จไปโปรดพระเจ้าสุวรรณภิงคาระ และได้ประทับพระพุทธบาทที่ภูเขาน้ำลอดเชิงชุม รวมกับพระพุทธบาทของ อดีตพระพุทธเจ้าองค์ก่อนอีก 3 พระองค์ คือ พระพุทธเจ้าพระนามกกุสันธะ พระพุทธเจ้าพระนามโกนาคมะ และพระพุทธเจ้าพระนามกัสสปะ เมื่อพระเจ้าสุวรรณภิงคาระทรงทราบข่าว จึงได้เสด็จออกต้อนรับ พร้อมทั้งพระนางนารายณ์เจงเวงราชเทวี พระพุทธเจ้ามีพุทธประสงค์ให้พระเจ้าสุวรรณภิงคาระ ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น จึงทรงแสดงปาฏิหารย์บันดาลให้มีดวงมณีรัตน์มีรัศมี พวยพุ่งออกจากพระโอษฐ์พร้อมกันสามดวง พระเจ้าสุวรรณภิงคาระทรงเห็นเป็นอัศจรรย์ก็บังเกิดศรัทธา เปล่งวาจาสาธุการด้วยความปิติ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ณ ที่นี้เป็นสถานที่อันอุดมประเสริฐ ที่พระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ จะได้มาประชุมรอยพระพุทธบาทไว้ เพื่อเป็นที่สักการะแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระเจ้าสุวรรณภิงคาระ บังเกิดความปิติโสมนัส จึงได้ถอดมงกุฎทองคำของพระองค์ สวมลงบูชารอยพระพุทธบาท แล้วทรงสร้างเจดีย์ครอบไว้ จึงได้ชื่อว่าพระธาตุเชิงชุมแต่นั้นมา เนื่องจากเป็นที่ชุมนุมของพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าสี่พระองค์


พระธาตุเชิงชุม เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน รูปทรงสี่เหลี่ยม สูง 24 เมตรเศษ ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนบนเป็นทรงบัวเหลี่ยม ไม่มีลวดลายประดับ ที่ฐานเจดีย์ มีซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ซุ้มยอดประตูมีลักษณะเป็นยอดปราสาท ข้างในทึบสร้างด้วยศิลาแลง และหินทรายแดง ส่วนที่เห็นอยู่ปัจจุบันเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่ ครอบองค์เดิมไว้ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างสมัยใด ประตูด้านทิศตะวันออกที่เชื่อมต่อกับพระวิหาร จะมีซุ้มเป็นคูหาลึกเข้าไป ด้านขวามือมีศิลาแลง จารึกอักษรขอมติดอยู่ ตัวอักษรลบเลือนมาก อ่านไม่ออก

 

พระอุโบสถหลังเดิมหรือสิมเก่า มีลักษณะเป็นสิมแบบโถง โครงสร้างเป็นไม้ก่ออิฐถือปูน หลังคาเป็นกระเบื้องไม้แบบเดิม หันหน้าไปทางทิศใต้ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2370 ครั้งพระธานีเป็นเจ้าเมือง ภายในมีจิตรกรรมเป็นภาพเถาไม้เลื้อยเป็นแนวรอบอาคาร หน้าบันมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปเทพบุตรและเทพธิดา ดาวประจำยาม มังกรและเถาไม้เลื้อย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ ทั้งที่สร้างด้วยไม้และเป็นปูนปั้น
ภายในพระวิหารประดิษยฐาน หลวงพ่อพระองค์แสน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวสกลนคร
งานมนัสการพระธาตุประจำปี เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือนยี่ ในวันเริ่มงานจะมีการจุดพลุ ย่ำฆ้องกลองเป็นที่เอิกเริก วันสุดท้ายของงานตอนเช้า จะมีการตักบาตรพระสงฆ์รอบองค์พระธาตุ ตอนบ่ายจะมีการสรงน้ำองค์พระธาตุ กลางคืนมีการประกวดขบวนแห่โคมไฟ จากนั้นก็มีการจุดบั้งไฟและไฟพะเนียง