พระธาตุเจดีย์ในประเทศไทย

 

พระธาตุนารายณ์เจงเวง

พระธาตุนารายณ์เจงเวง ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร อยู่ห่างจากตัวเมือง ประมาณ ๖ กิโลเมตร
พระธาตุองค์นี้เป็นพระธาตุเก่าแก่ สมัยเดียวกันกับพระธาตุเชิงชุม แต่ศิลปการก่อสร้างผิดไปคนละแบบ พระธาตุองค์นี้สร้างด้วยศิลาแลง แบบเดียวกับปราสาทหินพิมาย แต่มีขนาดเล็กกว่า เป็นปรางค์แบบขอม องค์พระธาตุแบ่งเป็นหลายส่วน คือ ส่วนที่เป็นฐาน ส่วนที่เป็นองค์หลังคาและส่วนยอด ส่วนที่เป็นฐานก่อด้วยศิลาแลงก้อนขนาดใหญ่ มีเอวคอดกิ่วเหมือนพานดอกไม้ สูง ๑๘ เมตร กว้างด้านละ ๑๕ เมตร
องค์เจดีย์เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม ส่วนที่เป็นหลังคาและยอด ปัจจุบันหักพังหมดแล้ว ยังคงเหลือแต่องค์พระธาตุ ซึ่งมีประตูและซุ้มประตูด้านละประตู ด้านทิศเหนือและด้านทิศตะวันออก ยังพอเห็นความวิจิตรงดงามอยู่พอสมควร ด้านทิศตะวันออกต่อจากประตูออกมาก่อเป็นคูหา ยื่นมาข้างนอก ๓ เมตร มีบันได ๗ ขั้น ก่อนถึงองค์พระธาตุ วงกบประตูสลักอย่างดี มีร่องรอยบัวแบบประตูโบราณ ทำด้วยศิลาแท่งใหญ่ บนซุ้มประตูสลักลวดลายงดงาม ด้านทิศเหนือเป็นประตูเช่นเดียวกับด้านอื่น ๆ แต่ซากที่เหลืออยู่เด่นกว่า ประตูด้านอื่น ภายใต้ซุ้มข้างบน สลักรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ประดับด้วยกนกก้านขดอ่อนช้อยงดงาม ส่วนตรงมุมทั้งสี่ด้านขององค์พระธาตุ เป็นรูปนาคห้าเศียร ทำได้ดีราวกับมีชีวิตจริง


ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระเจ้าสุวรรณภิงคาระได้ทราบข่าวว่า พระมหากัสสปะเถระ พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ จะนำพระอุรังคธาตุไปบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า ที่ประดิษฐานพระธาตุพนม และจะต้องเสด็จย่านสกลนคร ก็มีความศรัทธา ได้ประชุมอำมาตย์ผู้ใหญ่ สร้างพระเจดีย์ไว้สององค์ ไว้คอยรับเสด็จ เพื่อขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้ เจดีย์องค์หนึ่งสร้างไว้ที่พระราชอุทยานหลวง อยู่บนเนินสูงด้านทิศตะวันตก ห่างจากพระราชวังสามพันวา โดยให้พระนางเจงเวงเป็นเจ้าศรัทธาสร้าง อีกองค์หนึ่งให้อำมาตย์ผู้ใหญ่ฝ่ายชายเป็นผู้สร้าง
ทำนองสร้างแข่งขันกันให้สร้างเสร็จในคืนเดียว โดยถือเกณฑ์เมื่อดาวประกายพรึกโผล่พ้นขอบฟ้าเป็นเวลาสิ้นสุดการก่อสร้าง เมื่อตกกลางคืนฝ่ายหญิงก็เอาโคมไปแขวนไว้บนไม้สูง ให้ฝ่ายชายเข้าใจว่าดาวประกายพรึกขึ้นแล้ว ก็เสียกำลังใจยังสร้างไม่เสร็จ ต้องยอมแพ้ไป ส่วนฝ่ายหญิงทำเสร็จเพราะทำได้เต็มเวลาและยังมีฝ่ายชายซี่งระส่ำระสายมาช่วยสร้างด้วยเป็นจำนวนมาก เมื่อพระมหากัสสปะ พร้อมทั้งพระอรหันต์ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุผ่านมาถึงสกลนคร พระเจ้าสุวรรณภิงคาระได้ขอ แบ่งส่วนพระบรมสารีริกธาตุ แต่พระมหากัสสปะได้ชี้แจงว่า พระพุทธเจ้ามีพระพุทธประสงค์ให้นำไปประดิษฐานที่ภูกำพร้า แต่เพื่อมิให้เสียศรัทธา พระมหากัสสปะจึงให้พระอรหันต์องค์หนึ่งกลับไปนำ พระอังคารที่เหลือจากการถวายพระเพลิงที่เมืองกุสินารายณ์ มาประดิษฐานที่พระธาตุเจดีย์นารายณ์เจงเวงแทน ส่วนพระเจดีย์ที่สร้างไม่เสร็จ ก็ให้ชื่อว่า พระธาตุภูเพ็ก

 

พระบรมธาตุขามแก่น

พระบรมธาตุขามแก่น ประดิษฐาน ณ วัดเจติยภูมิ อยู่ที่ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น อยู่ห่างจากตัวจังหวัดออกไปประมาณ ๓๐ กิโลเมตร
ตามตำนานกล่าวว่า ภายใต้เจดีย์บรรจุพระอังคารของพระพุทธเจัา มีเรื่องเล่าว่า หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ร่วมกับประชาชนชาวเมือง ได้สร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นที่จังหวัดนครพนม คือพระธาตุพนม ในครั้งนั้นกษัตริย์แห่งโมริยวงศ์ ได้ทรงทราบเรื่องมีศรัทธา ที่จะนำพระอังคารของพระพุทธเจ้า ไปบรรจุร่วมกับพระบรมสารีริกธาตุในพระธาตุพนม จึงได้เดินทางไปนครพนม พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๙ องค์
ระหว่างทาง เมื่อมาถึงสถานที่แห่งหนึ่ง มีตอมะขามขนาดใหญ่ตอหนึ่ง ผุเหลือแต่แก่น จึงได้อัญเชิญภาชนะที่ บรรจุพระอังคารวางไว้บนตอไม้มะขามดังกล่าว แล้วพักแรมอยู่ ณ ที่นั้นหนึ่งคืน รุ่งขึ้นก็ออกเดินทางต่อไป เมื่อไปถึงสถานที่ก่อสร้างพระธาตุพนมจึงทราบว่า ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่สามารถบรรจุพระอังคารที่นำมาได้ จึงพากันเดินทางกลับ เมื่อมาถึงตอมะขามดังกล่าวปรากฎว่า ตอที่เหลือแต่แก่นนั้นกลับงอกขึ้นมาใหม่ มีกิ่งก้านสาขาและใบเขียวชอุ่ม เป็นที่น่าอัศจรรย์ กษัตริย์โมริยวงศ์พระองค์นั้น จึงโปรดให้สร้างพระปรางค์ครอบ ตอมะขามดังกล่าว แล้วบรรจุพระอังคารธาตุเอาไว้ภายในพระปรางค์ และให้ชื่อว่า พระธาตุขามแก่น

พร้อมทั้งสร้างวัดขึ้นคู่เคียงกับพระธาตุ ต่อมาเมื่อพระอรหันต์ทั้ง ๙ องค์ ที่ร่วมเดินทางมาด้วย ดับขันธปรินิพพาน ก็ได้นำพระธาตุของท่าน มาบรรจุไว้ในพระธาตุเจดีย์องค์เล็ก ที่สร้างขึ้นไว้อีกองค์หนึ่ง ใกล้กับพระธาตุเจดีย์องค์เดิม และเรียกกันว่า พระธาตุน้อย
พระธาตุขามแก่นได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ต่อมาภายหลัง และได้เปลี่ยนรูปร่างเป็นเจดีย์ดังที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ต่อมาได้มีชาวบ้านมาตั้งหลักแหล่งบริเวณใกล้พระธาตุเกิดเป็นหมู่บ้านใหญ่ขึ้นตามลำดับ มีชื่อว่าบ้านขาม ตามชื่อของตอมะขามดังกล่าว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๒ จึงได้ไปตั้งเมืองใหม่ที่บ้านบึงบอน ให้ชื่อว่า เมืองขามแก่น ตามชื่อพระธาตุขามแก่น ต่อมาชื่อนี้ได้แปรเปลี่ยนไปเป็นขอนแก่น ดังที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

พระธาตุบังพวน

พระธาตุบังพวน เป็นพระธาตุเจดีย์ที่เก่าแก่และสำคัญยิ่งของจังหวัดหนองคาย และเป็นพระธาตุที่สำคัญองค์หนึ่งของภาคอีสาน ประดิษฐานอยู่ ณ บ้านพระธาตุบังพวน ตำบลพระธาตุบังพวน อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย
ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวว่า พระยาสุวรรณภิงคาร เจ้าเมืองหนองหาน สกลนคร พระยาคำแดง เจ้าเมืองหนองหารน้อย อุดรธานี พระยาจุลณี พรหมทัต เจ้าเมืองจุลณี (ลาวเหนือ) พระยาอินทปัตนคร เจ้าเมืองอินทปัตนนนคร (เขมร) และพระยานันทเสน เจ้าเมืองศรีโคตรบูรณ์หลวง (ตรงข้ามนครพนม) ได้ร่วมกันอุปถัมภ์ พระมหากัสสเถระ พร้อมด้วยพระอรหันต์ อีก 500 องค์ ทำการก่อสร้างพระธาตุพนม แล้วเสร็จ และได้บรรลุพระอรหันต์ด้วยกันทั้งหมด ต่อมาได้เดินทางไปสู่แดนพุทธภูมิ เพื่อไปอัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า 45 พระองค์ นำมาประดิษฐานไว้ ณ สถานที่ 4 แห่งคือ บริเวณเมืองหนองคาย และเมืองเวียงจันทน์ หนึ่งในสี่แห่งนั้น คือพระธาตุบังพวน ซึ่งได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาพักที่ร่มไม้ปาแป้ง (ไม้โพธิ) ณ ภูเขาหลวง อันเป็นที่ตั้งพระเจดีย์ พระธาตุบังพวนปัจจุบัน
จากการสำรวจทางโบราณคดีพบว่า พระธาตุบังพวนได้มีการก่อสร้างสืบเนื่องกันมาสามสมัย คือ ฐานเดิมสร้างด้วยศิลาแลง ชั้นที่สองสร้างด้วยอิฐครอบชั้นแรก และต่อมาได้มีการก่อสร้างให้มีขนาดสูงใหญ่ขึ้น จากจารึกที่ฐานพระพุทธรูปที่ขุดได้ 4 องค์ ในจำนวนทั้งหมด 6 องค์ ระบุศักราชที่สร้างไว้ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2118 พ.ศ. 2150 พ.ศ. 2158 และ พ.ศ. 2167 และข้อความในจารึกเมื่อ พ.ศ. 2167 มีประวัติในการสร้าง โดยได้กล่าวถึงพระเจ้าโพธิสาลราช ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง มีราชธานีอยู่ที่นครเชียงทอง ซึ่งก็ตรงกับรูปแบบการก่อสร้างโบราณสถานในบริเวณวัดพระธาตุบังพวน ที่แสดงถึงอิทธิพลของอาณาจักรล้านช้าง
พระธาตุบังพวนเป็นพระสถูปเจดีย์ ทรงเรือนปราสาทสี่เหลี่ยม เป็นองค์ประธานซึ่งมีชื่ออยู่ในศิลาจารึกว่า พระธาตุบังพวนพระเจดีย์ศรีสัตตมหาทาน ภายในวัดมีกลุ่มพระธาตุขนาดต่าง ๆ อีก 15 องค์ สันนิษฐานว่า คงจะสร้างในสมัยใกล้เคียงกันกับพระธาตุบังพวน มีวิหาร 3 หลัง อุโบสถ 1 หลัง สระน้ำ และบ่อน้ำโบราณ นอกจากนั้นยังมีโบราณสถานอีกกลุ่มหนึ่ง ภายในบริเวณเดียวกัน เรียกว่า สัตตมหาสถาน อันเป็นสถานที่ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธประวัติ เมื่อครั้งแรกตรัสรู้ พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย สัตตมหาสถานที่สร้างขึ้นมาภายหลัง มีอยู่ 3 แห่งอยู่ ที่ประเทศพม่าหนึ่งแห่ง และที่ประเทศไทยสองแห่ง คือที่วัดเจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่ และที่วัดพระธาตุบังพวน จังหวัดหนองคายแห่งนี้
สัตตสถานที่วัดพระธาตุบังพวนยังมีครบถ้วนทั้งเจ็ดองค์ และมีแผนที่ตั้งเหมือนกันกับที่พุทธคยา ประมวลได้ดังนี้

 

พระโพธิบัลลังก์

 

ตั้งอยู่ตรงจุดศูนย์กลาง สร้างด้วยศิลาแลงและอิฐ เป็นพระสถูปทรงกลมสูงประมาณ สองเมตรครึ่ง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ เจ็ดเมตรครึ่ง โพธิบัลลังก์หรือวัชรอาสน์นี้ เป็นอาสน์ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่ง เพื่อบำเพ็ญเพียรทางจิต จนบรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อวันเพ็ญเดือนหก ก่อนพระพุทธศักราช 45 ปี ตามพุทธประวัติจากพระไตรปิฎก กล่าวว่า พระพุทธองค์ได้ทรงประทับนั่งอยู่บนโพธิบัลลังก์นี้เป็นเวลา 7 วัน ทรงพิจารณาธรรมที่ตรัสรู้แล้ว คือ ปฏิจจสมุปบาท ทั้งสายเกิด และสายดับ กลับไปกลับมา ขณะพิจรณาธรรมทั้งสามในราตรีนั้น แล้วเปล่งพุทธอุทานในแต่ละยามดังนี้

อุทานในยามต้นว่า

เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฎแก่พราหมณ์ผู้มีพียรเพ่งอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะมารู้แจ้งธรรมว่าเกิดแต่เหตุ
อุทานในยามเป็นท่ามกลางว่า

เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฎแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้ความสิ้นแห่งปัจจัยทั้งหลาย
อุทานในยามที่สุดว่า

เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฎแก่พราหมณ์ผู้มีเพียรเพ่งอยู่
เมื่อนั้น พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนาเสียได้ ดุจพระอาทิตย์อุทัยกำจัดมืด ทำอากาศให้สว่างฉะนั้น

พระอนิมมิสเจดีย์

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของโพธิบัลลังก์ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐสอปูน ตามพุทธประวัติจากอรรถกถา กล่าวว่า เมื่อพระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จมาประทับยืนอยู่ ณ ที่นี้ แล้วทรงทอดพระเนตรดูต้นพระศรีมหาโพธิ ที่ให้ร่มเงาปกคลุมโพธิบัลลังก์ อยู่ 7 วัน

พระรัตนจงกรมเจดีย์

ที่พุทธคยาจะตั้งอยู่ระหว่างพระโพธิบัลลังก์กับพระอนิมมิสเจดีย์ แต่ที่วัดพระธาตุบังพวนนั้น พระรัตนจงกรมเจดีย์ตั้งอยู่ค่อนไปทางเหนือ เป็นพระเจดีย์ก่อด้วยอิฐสอปูน มีลาดพระบาทก่อด้วยอิฐกว้างประมาณสองเมตรครึ่ง จรดพระอนิมมิสเจดีย์ ตอนกลางมีรอยพระพุทธบาทใหญ่ ตามพุทธประวัติจากอรรถกถา กล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่อนิมมิสเจดีย์ ครบ 7 วัน แล้ว ได้ทรงเดินจงกรม เพื่อพิจารณาบรรดาสัตว์โลกที่จะเสด็จไปโปรด อยู่ 7 วัน

พระรัตนฆรเจดีย์

ที่พุทธคยา จะตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระโพธิบัลลังก์ แต่ที่วัดพระธาตุบังพวน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เป็นพระเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุม ก่อด้วยอิฐสอปูนขนาดใหญ่ ทรงปราสาทเรือนธาตุ มีซุ้มและพระพุทธรูปปางสมาธิ ตามพุทธประวัติจากอรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาพระอภิธรรมตลอด 7 วัน ทรงประทับอยู่ที่เรือนแก้วที่เทวดานิรมิตถวาย บังเกิดฉัพพรรณรังษีรอบพระวรกาย

พระอชปาลนิโครธเจดีย์

ที่พุทธคยาจะตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ที่วัดพระธาตุบังพวน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก เป็นพระสถูปเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม มีซุ้มพระพุทธรูปปางสมาธิ ตามพุทธประวัติจากพระไตรปิฎก กล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงโต้ตอบกับพราหมณ์ผู้มีทิฐิมานะคนหนึ่ง ที่ชอบว่าคนอื่น ตามอรรถกถากล่าวว่า ทรงมีพุทธฎีกาต่อธิดาพญามาร 3 ตน มีนามว่า ตัณหา ราคา และอรดี ที่รับอาสาพญามารนามว่า วสวัตตี ผู้เป็นพ่อ มายั่วยวนพระพุทธเจ้า แต่ก็พ่ายแพ้อันตรธานไปในที่สุด พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ ณ ที่นี่เป็นเวลา 7 วัน

พระมุจลินทเจดีย์

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ อยู่คู่กับสระน้ำ ที่พระธาตุบังพวน ได้สร้างวิหารแบบโปร่งไม่มีผนัง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก ที่สระน้ำมีรูปปั้นพระยานาค 7 เศียร อยู่กลางสระ ตามพุทธประวัติจากพระไตรปิฎกกล่าวว่า ช่วงนี้อยู่ในสัปดาห์ที่สามหลังจากตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับอยู่ใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก) ในช่วงเวลาที่ฝนตกพรำตลอด 7 วัน พญามุจลินทนาคราชได้ขึ้นมาขนดและแผ่พังพาน เพื่อบังลมและฝนให้ เมื่อพายุหายแล้ว ก็คลายขนด จำแลงกายเป็นมาณพน้อย ยืนประคองอัญชลีนมัสการพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงเปล่งพุทธอุทานว่า

 

ความสงัดของผู้ที่ยินดีในธรรมเป็นสุข การระมัดระวังไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย
การละกามคุณได้เป็นสุข การละอัสมิมานะ (ความถือตัว) เสียได้เป็นสุขอย่างยิ่ง

พระราชายตนะเจดีย์

ตั้งอยู่ทางทิศใต้ เป็นพระเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม และมีซุ้มพระพุทธรูปปางสมาธิ เช่นเดียวกับ อชปาลนิโครธเจดีย์ ตามพุทธประวัติจากพระไตรปิฎกกล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ 4 หลังการตรัสรู้ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับที่ใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกตุ) ณ ที่นี้ได้มีพ่อค้าสองคน มีนามว่า ตปุสสะ กับ ภัลลิกะมาพบ ได้ถวายข้าวสัตตุก้อน และสัตตุผง และได้เปล่งวาจาถึงพระพุทธและพระธรรม เป็นสรณะ เนื่องจากตอนนั้นยังไม่มีพระสงฆ์

 

พระธาตุบังพวน ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านช้าง และได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยต่อมา แต่ไม่ต่อเนื่องนัก ในระยะหลังจึงทรุดโทรมมาก และได้พังทะลายลงมา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2513 กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการบูรณขึ้นใหม่ โดยก่อคอนกรีตเสริมฐานเดิม ซึ่งที่ฐานล่างเป็นศิลาแลง ต่อมาเป็นฐานทักษิณ 3 ชั้น บัวคว่ำ 2 ชั้น ต่อด้วยปรางค์สี่เหลี่ยมบัวปากระฆัง บัวสายรัด 3 ชั้น รับดวงปลีบัวตูม แล้วตั้งฉัตร 5 ชั้น ฐานล่างรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละประมาณสิบเจ็ดเมตร สูงถึงยอดฉัตรประมาณสามสิบสี่เมตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้ง สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน และร่วมยกฉัตรสู่ยอดพระธาตุบังพวน เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521

ในวันเพ็ญเดือนสาม ของทุกปี จะมีงานเทศกาลนมัสการ พระธาตุบังพวน เป็นเวลา 5 วัน 5 คืน