ประวัติมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
ศูนย์ให้การศึกษา วัดธรรมมงคล
เนื่องด้วยพระราชธรรมเจติยาจารย์ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร) เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล มีความประสงค์จะพัฒนาความรู้ด้านวิชาการต่าง ๆ ตามโลกาภิวัฒน์ให้แก่พระภิกษุสามเณร เพื่อให้มีความรู้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันการพัฒนาในด้านการศึกษานั้นได้ก้าวหน้าแบบไม่หยุดยั้ง ซึ่งได้ทำให้เกิดวิชาการใหม่ ๆ มากมาย ถ้าหากกลุ่มใดคณะใดไม่พัฒนาการด้านการศึกษาวิชาการต่าง ๆ แล้วจะเกิดความล้าหลังจนไม่สามารถพัฒนาในด้านต่าง ๆ ได้ เป็นเหตุให้ไม่เกิดความเจริญในสังคมนั้น ๆ พระภิกษุสามเณรเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญในพระพุทธศาสนา เป็นผู้ประสานงานในการพัฒนาและรักษาพระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้า หากมีความคิดด้อยกว่าโลกาภิวัฒน์ตามหลักสากลก็จะทำให้การประสานงานล้าหลังหรือตกอยู่ในการด้อยพัฒนา ซึ่งไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น ถ้าหากพระภิกษุสามเณรได้มีการยกระดับการศึกษาพัฒนาตามโลกาภิวัฒน์ในหลักสากล ก็สามารถนำมาประยุกต์เข้ากับคำสอนในพระพุทธศาสนาจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูง ซึ่งสามารถนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนชาวโลกให้พบเห็นความเด่นของพระพุทธศาสนาได้ เพราะว่าคำสอนของพระพุทธศาสนาทันสมัยเป็นสัจจธรรมเข้าได้กับโลกทุกยุคทุกสมัย เมื่อเป็นเช่นนี้การพัฒนาคุณภาพด้วยหลักวิชาการต่าง ๆ ของโลกาภิวัฒน์ในหลักสากลจึงควรจะมีแก่พระภิกษุสามเณรให้มากที่สุดหากสามารถที่จะพัฒนาวิชาความรู้เข้าสู่มาตรฐานสากลได้อย่างกว้างขวางแล้ว พระภิกษุสามเณรจะเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพแข็งแกร่งในการประสานงานเพื่อส่วนรวมเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและพระพุทธศาสนาอย่างสูงในอนาคต
ความดำริเช่นนี้เกิดขึ้นแก่พระราชธรรมเจติยาจารย์ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร) เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล จึงเป็นแรงบันดาลใจแก่ท่านสนับสนุนให้เกิดความตั้งใจที่จะแสวงหาแหล่งที่จะประสิทธิประสาทความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเหมาะแก่พระภิกษุสามเณรที่จะทำการศึกษา ในที่สุดท่านก็ได้พบกับเจ้าหน้าที่กรมการศาสนาผู้ที่สันทัดในเชิงวิชาการศึกษาแนะนำให้พบกับผู้ทรงคุณวุฒิแห่งสถาบันราชภัฏ เมื่อท่านได้ศึกษาหลักวิชาการ และการดำเนินการเรียนการสอนของสถาบันแห่งนี้มีความพอใจเป็นอย่างยิ่ง ท่านจึงได้ติดต่อโดยเจ้าหน้าที่กรมการศาสนา ดร.อำนาจ บัวศิริ และ ดร.กมล รอดคล้าย เป็นผู้ประสานงานไปยังสถาบันราชภัฏสวนสุนันทา ซึ่งขณะนั้น ผศ.ดร.ปรางศรี พณิชกุล เป็นอธิการบดี ซึ่งได้ให้การสนับสนุนด้วยดี และดำเนินงานตามขั้นตอน โดยมี อธิการบดี ผศ.ดร.ปรางศรี พณิชกุล, ผศ.ประไพ เอกอุ่นคณบดีคณะครุศาสตร์และเลขานุการสำนักงานคณะครุศาสตร์ ,ผศ.อัจฉรา โพธิยานนท์ ได้เข้าร่วมวางแผนการเปิดสอนกับพระราชธรรมเจติยาจารย์ ที่วัดธรรมมงคล โดยมีวัตถุประสงค์ของหลวงพ่อคือ ต้องการให้พระสงฆ์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และสามารถนำความรู้ไปบริหารจัดการวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามหลักการบริหาร ดังนั้น พระสงฆ์ที่ได้วุฒิ ม.6 จึงต้องเรียนโปรแกรมวิชาพัฒนาชุมชนก่อน เพื่อให้ได้วุฒิอนุปริญญา แล้วจึงเรียนต่อโปรแกรมวิชาการบริหารการศึกษา ระดับปริญญาตรี (หลังอนุปริญญา) โดยพระราชธรรมเจติยาจารย์ได้ติดต่อประสานงานกับมหาเถระสมาคม เพื่อขออนุญาติเปิดสอน ซึ่งสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดราชประดิษฐ์ กรุงเทพมหานคร ลงนามอนุมัติให้ดำเนินการได้เมื่อ พ.ศ.2538 และสถาบันราชภัฏสวนสุนันทา ได้มอบหมายให้ ผศ.สุมาลี วาณิชวโรตม์ เป็นหัวหน้าศูนย์
เมื่อการประสานงานในทุก ๆ หน่วยงานเกี่ยวกับการตั้งสถาบันราชภัฏหน่วยวัดธรรมมงคลสำเร็จเป็นรูปธรรมทุกประการแล้ว จึงใช้สถานที่บริเวณพระวิริยะมงคลมหาเจดีย์ศรีรัตนโกสินทร์ที่วัดธรรมมงคล ชั้นที่ 7 และชั้นที่ 8 เป็นสถานที่การศึกษา เพราะสถานที่แห่งนี้เหมาะแก่การศึกษาของพระภิกษุสามเณรมีห้องเรียนพร้อมอุปกรณ์ ห้องพักครูบาอาจารย์ ห้องธุระการ ดังนั้นจึงได้ทำพิธีการเปิดเรียนเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2538 โดยมีพระนักศึกษาจำนวน 45 รูป
การดำเนินงานของสถาบันราชภัฏสวนสุนันทา (ศูนย์ให้การศึกษาวัดธรรมมงคล) ดำเนินตามหลักเกณฑ์ของสถาบันทุกประการ ได้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยความเรียบร้อยแก่นักศึกษาคือพระภิกษุสามเณรสมเจตนาของพระราชธรรมเจติยาจารย์ที่ตั้งใจไว้ เป็นที่แน่ชัดว่าการศึกษาระดับปริญญาตรี ณ สถาบันฯ แห่งนี้มีประสิทธิภาพสูงแห่งหนึ่งในประเทศไทย จะเห็นได้จากนักศึกษาที่กำลังจะจบชั้นอุดมศึกษา ได้พัฒนายกระดับความรู้ความเข้าใจอย่างมีสมรรถนะที่สูงขึ้น สามารถประยุกต์ธรรมะจากคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้ากันได้กับสังคมต่าง ๆ เป็นอย่างดี และเป็นประโยชน์แก่สังคมนั้นอย่างมาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะผลมาจากการศึกษา เนื่องจากปัจจุบันสังคมยังต้องการบุคคลเช่นนี้อีกมากเพื่อจะได้บังเกิดขึ้น ซึ่งเหตุผลและการรับผิดชอบต่อสังคมด้วยปัญญา อันจะพบกับความเจริญรุ่งเรืองในทางที่ถูกต้องในที่สุด.
|