กรุงสุโขทัย

 

อวสานกรุงสุโขทัย

ในรัชกาลพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และพ่อขุนบานเมือง เป็นเวลาที่ไทยตั้งตัวใหม่ ๆ ต้องทำสงครามกับเมืองต่าง ๆ ที่ไม่ยอม สามิภักดิ์ โดยพ่อขุนรามคำแหง นำทัพออกปราบปรามเมืองน้อยใหญ่ต่าง ๆ ที่อยู่ชายพระราชอาณาเขต อาณาจักรของกรุงสุโขทัย จึงตกอยู่ในความสงบสุขตลอดมา
จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพ่อขุมรามคำแหง ขึ้นครองราชย์ ได้ขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวาง เจริญรุ่งเรืองกว่ารัชกาล อื่น ๆ ภายหลังเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต พระเจ้าเลอไท พระราชโอรสได้ครองราชสมบัติ ปรากฏตามพงศาวดารพม่าได้กล่าวไว้ว่า "เมื่อ พ.ศ. 1873 หัวเมืองมอญซึ่งเป็นเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัยในสมัยพ่อขุนราม กลับเป็นขบถตั้งแข็งเมือง พระเจ้าเลอไท ส่งกองทัพออกไปปราบปราม แต่ไม่สามารถเอาชนะได้"

ต่อมา พระยาลือไท ราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าเลอไท พระราชบิดา ทรงพระนามว่า "พระมหาธรรมราชาลิไทย" เป็นกษัตริย์ที่ทรงมุ่งทำนุบำรุงอาณาจักรสุโขทัย แต่ในทางธรรมอย่างเดียว ทำให้สุโขทัยขาดความเข้มแข็ง จนไม่สามารถควบคุมประเทศราชไว้ได้ ดังนั้น พระเจ้าอู่ทอง จึงตั้งแข็งเมืองและประกาศอิสรภาพ ไม่ยอมขึ้นกับกรุงสุโขทัย ตั้งแต่ พ.ศ. 1893 เป็นต้นมา ขุนหลวงพะงั่ว เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติต่อมา และได้ส่งกองทัพมาทำสงครามตีเมืองต่าง ๆ 7 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 1914-1921 แต่ไม่สามารถตีหักเข้าเมืองได้
จนกระทั่ง "พระเจ้าไสยลือไท" (พระมหาธรรมราชาที่ 2) ขึ้นครองราชย์ กรุงศรีอยุธยาจึงยกกองทัพไปตีเมืองชากังราว (กำแพงเพชร) ซึ่งพระเจ้าไสยลือไทย เสด็จมาบัญชาการรบเอง จนขุนหลวงพะงั่วไม่สามารถตีหักเอาเมืองได้ แต่ต่อมาทรงพระราชดำริว่า "ถ้าหากขืนรบต่อไปก็คงเอาชนะกองทัพของขุนหลวงพะงั่วไม่ได้" จึงทรงยอมอ่อนน้อมต่อขุนหลวงพะงั่วโดยดี และนับแต่นั้นมา กรุงสุโขทัยก็สูญเสียเอกราช กลายเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาตลอดไป

ประเพณีที่สำคัญในกรุงสุโขทัย

ประเพณีลอยกระทง

วันลอยกระทง ณ กรุงสุโขทัยโบราณนั้น เป็นพิธีใหญ่ และครึกครื้นมาก จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เรียกว่า พระราชพิธีจองเปรียง โดยบรรดาประชาชนชายหญิงต่างตกแต่งโคมชักแขวน และลอยกันทั่วนคร ข้าราชการและนางสนมกำนัลต่างทำโคม ร้อยด้วยบุปผาชาติเป็นรูปลวดลายวิจิตรพิสดาร เข้าประกวดกัน
นางนพมาศ ซึ่งเป็นข้าพระบาทสมเด็จพระร่วง จึงได้ทำโคมเข้าประกวด โดยแต่งโคมให้งามประหลาดกว่าโคมพระสนมทั้งปวง โดยประดับเป็นรูปดอกกระมุท สมเด็จพระร่วงเจ้า พอพระทัยมาก จึงประกาศว่า "แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า กษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงการกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 พระราชพิธีจองเปรียง แล้ว ก็ให้กระทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท อุทิศสักการะบูชา พระพุทธมหานัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน"
พระราชพิธีจองเปรียงนี้ต่อมาภายหลังจึงเรียกว่าลอยกระทงทรงประทีป และถ้าเป็นพิธีของชาวบ้านราษฎรทั่วไปเรียกว่า ลอยกระทง

ประเพณีกรานกฐินเดือนสิบสอง

งานประเพณีเมืองสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เป็นงานที่เกี่ยวเนื่องในวันทางศาสนาพุทธ คือวันออกพรรษาซึ่งถือเป็นงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ในระหว่างวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามที่ได้กล่าวไว้ในศิลาจารึก หลักที่ 1

กรานกฐินของสุโขทัยจะมีเป็นเวลา 1 เดือน นับจากวันออกพรรษา และจะถือว่าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เป็นวันแม่งานและเป็น วันสุดท้ายของฤดูกาลกรานกฐิน ในวันนี้ชาวสุโขทัยจะพากันมาร่วมขบวนแห่ เพื่อนำองค์กฐินไปยังวัดอรัญญิก เพื่อร่วมถวายผ้ากฐิน และร่วมฟังสวดญัตติกฐิน เมื่อเสร็จพิธีก็จะแห่กลับเข้าเมือง พร้อมกับประโคมดนตรี และร้องรำทำเพลง เป็นที่สนุกสนาน
ตอนกลางคืน ในตัวเมืองจะจัดให้มีมหรสพ การเล่นต่าง ๆ ผู้คนต่างเบียดเสียดกันเข้ามาดูงานจนแน่นขนัดทั้ง 4 ปากประตู หลวง ทั้งยังมีการเล่นไฟจุดประทัดเสียงดังกึกก้องประหนึ่งว่าเมืองจะแตก

ของดีกรุงสุโขทัย

ศาลพระแม่ย่า
พระแม่ย่า นั้น สันนิษฐานว่าคือ พระขพุงผี ดังที่กล่าวไว้ในศิลาจารึก หลักที่ 1
พระแม่ย่าเป็นเทวรูปหิน สลักจากหินชนวน สูงประมาณเมตรเศษ ประทับยืนทรงพระภูษา แต่ไม่ทรงฉลองพระองค์ เดิมประดิษฐาน อยู่ ณ เขาแม่ย่า อยู่ห่างจากเมืองเก่าสุโขทัยประมาณ 7 กม.เศษ รูปลักษณะของเทวรูปพระแม่ย่านั้นเป็นสตรี มีนามว่า "พระขพุงผี" แปลว่าผีอันประเสริฐ หรือ เทพยดาอันประเสริฐ
ในปี พ.ศ. 2458 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับสั่งให้อัญเชิญพระแม่ย่า มาไว้บนศาลากลาง (ปัจจุบันถูกรื้อไปแล้ว) และต่อมาในปี พ.ศ. 2496 จังหวัดสุโขทัย จึงได้สร้างศาลพระแม่ย่าขึ้นที่หน้าศาลากลางจังหวัด และอัญเชิญพระแม่ย่ามาประดิษฐานไว้

เตาทุเรียงสุโขทัย

เป็นเตาก่อด้วยอิฐ กว้าง 4-6 ศอก ยาว 10-12 ศอก บางเตามีขนาดเล็ก ขุดเป็นหลุมลึกลงไปในดินครึ่งหนึ่ง และก่อสูงพ้นดิน ครึ่งหนึ่ง ข้างเตาด้านในเรียงด้วยอิฐเป็นวงโค้ง ลักษณะของเตาแบ่งออกได้เป็น 3 ตอน
ตอนที่ 1 เป็นที่สำหรับปล่องไฟ
ตอนที่ 2 เป็นที่สำหรับเรียงเครื่องปั้นดินเผาในเตา
ตอนที่ 3 เป็นที่สำหรับใส่ฟืนสุมไฟข้างหน้า
เตาทุเรียงสุโขทัย ตั้งเรียงรายอยู่รอบคูเมือง ซึ่งเป็นฐานกำแพงเมืองสุโขทัย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม มีทั้งหมด 49 เตา

สรีดภงส์

ได้มีการสร้างสรีดภงส์ (ทำนบกั้นน้ำ หรือทำนบพระร่วง) เพื่อเก็บกักน้ำ ซึ่งมีการสำรวจพบว่า มีการทำทำนบเชื่อมระหว่างเขา เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดมหึมาถึง 7 แห่ง โดยตั้งอยู่ในทิศทางต่าง ๆ รอบเมืองสุโขทัย ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งก่อสร้างและโบราณวัตถุ ที่เป็นระบบชลประทานอันยอดเยี่ยมในสมัยสุโขทัย
ดังปรากฏในศิลาจารึก หลักที่ 1 การสร้างทำนบกั้นน้ำนี้ ได้ทำเป็นแนวคันดินเชื่อมระหว่าง เขากิ่วอ้ายมา และเขาพระบาทใหญ่ กั้นน้ำไว้ หน้าทำนบปูด้วยหินใหญ่โดยตลอด มีฝายน้ำล้น และท่อระบายน้ำอยู่ทางใต้ทำนบ มีลำรางระบายน้ำส่งเข้าตัวเมือง โดยมีคลองทั้งที่ขุดขึ้นและเป็นธรรมชาติ ต่อเข้ากับลำรางนี้ นำน้ำไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกนอกเมือง ส่วนในเมืองมี คลองเสาหอ แยกน้ำจากลำรางไปเก็บไว้ในสระน้ำขนาดใหญ่ตามวัดวาอาราม เช่น วัดตระพังทอง วัดตระพังเงิน วัดสระศรี และ วัดตระพังสอ เป็นต้น

ขดารหินมนังษีลาบาตร (พระแท่นมนังคศิลา)

ตามหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้กล่าวถึงการสร้าง ขดารหินมนังษีลาบาตรไว้
ลักษณะของขดารนี้ เป็นขดารหินขนาดใหญ่ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นหินอ่อนสีเขียวอมเทา ชนิดเดียวกับหินที่ทำหลักศิลาจารึก หลักที่ 1 กว้างสำหรับขนาดพระสงฆ์ขึ้นนั่งขัดสมาธิเรียงสองได้สี่รูป หนา 5.5 นิ้ว ส่วนความกว้างและยาว ทั้ง 4 ด้าน ไม่เท่ากัน และที่ส่วนหนา โดยตลอดทั้งสี่ด้านแกะสลักเป็นลวดลายงดงาม
ขดารหินมนังษีลาบาตร หรือ พระแท่นมนังคศิลา นี้ ยังใช้เป็น " อาสน์สงฆ์ " สำหรับพระภิกษุที่มีภูมิธรรม และมีพรรษา ระดับ ปู่ครู เถร มหาเถร นั่งสวดธรรมแก่อุบาสก ในวันพระของทุกเดือน