เหตุการณ์ในอดีต

 

มกราคม | กุมภาพันธ์ | มีนาคม | เมษายน | พฤษภาคม | มิถุนายน
| กรกฎาคม | สิงหาคม | กันยายน | ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม |

ตุลาคม

1 ตุลาคม 2411
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ด้วยพระโรคไข้จับสั่น หลังจากเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ที่ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ พระชนมายุ 64 พรรษา ดำรงอยู่ในราชสมบัติ 18 ปี

1 ตุลาคม 2411
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติ ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมขุนพินิจประชานาถ

1 ตุลาคม 2436
มหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาทางพุทธศาสนา (ฝ่ายธรรมยุติ) นับเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกในประเทศสยาม เริ่มเปิดสอนเป็นครั้งแรกโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า องค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงริเริ่มและรวบรวมทุนสร้างขึ้น ด้วยรำลึกถึงพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระบรมราชชนก มหามกุฎราชวิทยาลัยนี้ตั้งอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำภู โดยมีพระประสงค์เพื่อเป็นแหล่งศึกษา และอบรมสั่งสอนเผยแพร่พระพุทธศาสนา

1 ตุลาคม 2454
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานกำเนิดกองลูกเสือ เพื่อเป็นการเตรียมตัวไว้ เพื่อเป็นสมาชิกกองเสือป่า เมื่อเจริญวัยขึ้น

1 ตุลาคม 2460
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยแทนธงช้าง ร. 6 ได้ทรงพระราชนิพนธ์ แสดงความหมายไว้ว่า
ขอรำรำพรรณบรรยาย ความคิดเครื่องหมาย แห่งสีทั้งสามงามถนัด
ขาวคือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน์ และธรรมะคุ้มจิตไทย
แดงคือโลหิตเราไซร้ ซึ่งย่อมสละได้ เพื่อรักษาชาติศาสนา
น้ำเงินคือสีโสภา อันจอมประชา ธโปรดเป็นของส่วนองค์
จัดริ้วเข้าเป็นไตรรงค์ จึงเป็นสีธง ที่รักแห่งเราชาวไทย
ทหารอวตารนำไป ยงยุทธวิชัย วิชิตก็ชูเกียรติสยาม

3 ตุลาคม 2411
ไทยโดย พระสยาม ฯ ลงนามในสัญญาทางพระราชไมตรี ระหว่างไทย กับ อิตาลี

3 ตุลาคม 2436
ฝรั่งเศสเข้ายึดครองแคว้นลาวอันเป็นดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงของไทย

3 ตุลาคม 2436
ไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นดินแดนประเทศลาวทั้งหมด และดินแดนด้านตะวันออกของแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นดินแดนอาณาจักรล้านช้างเป็นพื้นที่ 143,000 ตร.กม. ให้แก่ฝรั่งเศส

4 ตุลาคม 2313
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี

4 ตุลาคม 2449
แบงค์สยามกัมมาจล เปิดดำเนินงานโดยคนไทยครั้งแรก

5 ตุลาคม 2481
วันขึ้นระวางประจำการ ร.ล.ปัตตานี ร.ล.สุราษฎร์ ร.ล.จันทบุรี ร.ล.ระยอง ร.ล.ชุมพร ร.ล.สงขลา ร.ล.บางระจัน ร.ล.หนองสาหร่าย ซึ่งต่อจากประเทศอิตาลี และ ร.ล.ธนบุรี ซึ่งต่อจากประเทศญี่ปุ่น

6 ตุลาคม 2246
พระเพทราชา เสด็จสวรรคต

6 ตุลาคม 2502
กัมพูชายื่นฟ้องต่อศาลโลก เรียกร้องกรรมสิทธิ์เหนือเขาพระวิหาร ในเขตอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษของไทย

7 ตุลาคม 2463
ร.ล.พระร่วง เรือพิฆาตลำแรกและลำเดียว ที่ประชาชนเรี่ยไรเงินซื้อ เดินทางมาถึงประเทศไทย เรือลำนี้เดิมชื่อ เรเดียนท์ สร้างที่บริษัทธอร์นิครอฟท์ เมืองเซาแธมป์ตัน ประเทศอังกฤษ อังกฤษเคยใช้รบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อมาประเทศไทยได้ซื้อมา เป็นเงินสองแสนปอนด์ โดยพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ฯ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงเป็นผู้บังคับการเรือ นำเรือลำนี้จากประเทศอังกฤษ มายังประเทศไทย

7 ตุลาคม 2503
ตั้งค่ายธนะรัชต์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์การทหารราบ กองพลทหารราบที่ 15 อยู่ที่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

8 ตุลาคม 2388
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยุ่หัว คณะมิชชันนารีอเมริกัน สามารถหล่อตัวพิมพ์อักษรไทยได้เองเป็นครั้งแรก

8 ตลาคม 2483
นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง 3,000 คน เดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส

9 ตุลาคม 2199
สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ปราบดาภิเษก เสวยราชสมบัติ

9 ตุลาคม 2463
ประชาชนชาวไทยน้อมเกล้า ฯ ถวาย ร.ล.พระร่วง แด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งราชกิจวินิตฉัย

9 ตุลาคม 2527
ตั้งค่ายรัตนพล เป็นที่ตั้งของกองพันที่ 5 กรมทหารราบที่ 5 อยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

11 ตุลาคม 2394
ร้อยเอกอิมเปย์ (Impey) นายทหารนอกราชการของกองทัพอังกฤษประจำอินเดีย เดินทางมาจากเมืองเมาะลำเลิง เข้ารับราชการเป็นครูฝึกทหารวังหลวง และฝึกทหารในกรมอาสาลาวและเขมร

11 ตุลาคม 2476
กำลังทหารบกหัวเมือง ภายใต้การนำของนายพลเอก พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ได้ยกกำลังจากจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดอยุธยาเข้ามายึดพระนคร เพื่อทำการปราบปรามพวกรัฐบาลที่มีความคิดในทางคอมมิวนิสต์

11 ตุลาคม 2483
ไทยได้รับคำปฏิเสธเป็นทางการ จากรัฐบาลวีซีของฝรั่งเศส ในการที่ไทยขอดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงคืน โดยให้ถือลำน้ำโขงเป็นพรมแดน

12 ตุลาคม 2435
วันเปิดทำการสอนของโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งในบริเวณโรงเลี้ยงเด็ก ตึกสายสวลีสัณฐาคาร วัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้กุลบุตรกุลธิดา ได้รับความรู้มีการศึกษา โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ได้พัฒนาโดยลำดับ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยครูพระนคร ในวันที่ 6 มีนาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามให้วิทยาลัยครูพระนครใหม่ว่า สถาบันราชภัฏ ในปี 2535 เป็นวาระครบรอบ 100 ปี ของการจัดตั้งสถาบัน

14 ตุลาคม 2462
ตั้งค่ายจักรพงษ์ เป็นที่ตั้งของมณฑลทหารบกที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี

15 ตุลาคม 2475
ตั้งกองพันนาวิกโยธินขึ้นเป็นครั้งแรก โดยขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาของกองชุมพลทหารเรือ

18 ตุลาคม 2228
เชอวาเลีย เดอโชมองต์ ถวายพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลพบุรี

18 ตุลาคม 2347
วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนามเดิมสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฏ ฯ ทรงเป็นพระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อ
วันที่ 2 เมษายน 2394 พระองค์ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงความรอบรู้ ความเป็นไปทางวิชาการ ทั้งทางโลกและทางพุทธศาสตร์ ทรงรอบรู้ทั้งในทางการเมือง ศาสนาวิทยาศาสตร์ โหราศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ทรงเชี่ยวชาญทั้ง ภาษาอังกฤษ ภาษามคธ และบาลี

20 ตุลาคม 2462
วันสวรรคต สมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ พระราชสมภพ 1 ม.ค. 2406

20 ตุลาคม 2483
พลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศมติของชาติไทย ทางวิทยุกระจายเสียง มีใจความว่า ชาติไทยต้องการปรับปรุงเส้นเขตแดน กับอินโดจีนฝรั่งเศสให้เป็นไปด้วยความยุติธรรม ให้เป็นผลสำเร็จโดยไม่ยอมถอยหลัง

21 ตุลาคม 2443
วันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

22 ตุลาคม 2401
โรงสีข้าวแห่งแรกของไทยเปิดทำการ ต่อมาเมื่อ 10 ธันวาคม 2409 เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธารา ได้ซื้อโรงสีจากบริษัทสก๊อตแอนด์กำปะนี นับเป็นคนไทยคนแรกที่ตั้งโรงสีไฟในไทย

22 ตุลาคม 2493
รัฐบาลไทยได้ส่งทหารไทย ไปปฏิบัติการรบร่วมกับสหประชาชาติ ในสมรภูมิเกาหลี กำลังทางบกเดินทางไปกับเรือสินค้าเดนมาร์กชื่อ เฮอร์ตาเมอร์สก์ นายแพทย์และอาสากาชาดเดินทางไปกับเรือหลวงสีชัง เรือหลวงประแส และเรือหลวงบางประกง เรือทั้ง 3 ลำนี้ ทำหน้าที่เป็นเรือคุ้มกัน

22 ตุลาคม 2499
วันทรงผนวช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

23 ตุลาคม 2453
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะ (ไตพิการ) รวมพระชนมายุ 57 พรรษา ทางราชการกำหนดให้วันนี้เป็นวันปิยมหาราช และหยุด 1 วัน ส่วนราชการและประชาชนจะนำพวงมาลา ไปถวายบังคมสักการะที่พระบรมรูปทรงม้า เป็นประจำทุกปี

23 ตุลาคม 2453
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์ เมื่อพระชนมายุได้ 31 พรรษา

25 ตุลาคม 2409
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือจนถึงเมืองพิษณุโลก โดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช เพื่อประกอบพิธีสมโภชพระพุทธชินราช

25 ตุลาคม 2486
ญี่ปุ่นสร้างทางรถไฟสายพม่า (สายมรณะ) เสร็จ มีระยะทางยาว 302 กิโลเมตร มี 37 สถานี ไทยซื้อกลับมาเป็นของไทยจากอังกฤษ เป็นเงิน 50 ล้านบาท เมื่อปี พ.ศ. 2490

25 ตุลาคม 2515
กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้สั่งการให้กองทัพเรือจัดเรือ และเครื่องบินทหารเรือทำการลาดตะเวณบริเวณภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถึง จังหวัดนราธิวาส เพื่อสะกัดกั้นการแทรกซึมทางทะเล กองทัพเรือจึงจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการภาคใต้ (นปต.) ขึ้น

26 ตุลาคม 2428
พ.อ.พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ผู้บังคับการกรม ทหารรักษาพระราชวัง เป็นแม่ทัพ กองทัพฝ่ายใต้ ไปปราบพวกฮ่อที่ทุ่งเชียงคำ โดยตั้งกองบัญชาการที่เมืองหนองคาย

27 ตุลาคม 2524
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้น ทะเบียน พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตั้งอยู่ตำบลห้วยทรายเหนือ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเคยเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นโบราณสถานแห่งชาติ มีพื้นที่เขตโบราณสถาน 31 ไร่ 1 งาน 62.5 ตารางวา

30 ตุลาคม 2369
คุณหญิงโม ภริยาปลัด เมืองนครราชสีมา ใช้อุบายทำร้ายฆ่าฟันทหารของพวก เจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ ล้มตายเป็นจำนวนมาก ที่ทุ่งสัมฤทธิ์ จนเจ้าอนุวงศ์ต้องล่าถอยกลับไป ความดีความชอบในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ คุณหญิงโมเป็นท้าวสุรนารี

30 ตุลาคม 2491
เกิดกบฎแบ่งแยกดินแดน มีผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีผู้หนึ่ง ได้ชักชวนชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่ง ไปรับการศึกษาวิชาทหารที่คุนมิง ประเทศจีน แล้วกลับมาทำการยุยงประชาชนภาคอีสาน ให้แยกดินแดนภาคอีสานให้เป็นรัฐอิสสระจากราชอาณาจักรไทย