เหตุการณ์ในอดีต

 

มกราคม | กุมภาพันธ์ | มีนาคม | เมษายน | พฤษภาคม | มิถุนายน
| กรกฎาคม | สิงหาคม | กันยายน | ตุลาคม | พฤศจิกายน | ธันวาคม |


กรกฎาคม

๑ กรกฎาคม ๒๓๘๘
หมอคาสเวล มิชชั่นนารีอเมริกัน เริ่มถวายการสอนภาษาอังกฤษให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ทรงเป็นพระภิกษุ

๑ กรกฎาคม ๒๔๔๐
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จถึงกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ตามระยะทางเสด็จทรีปยุโรป ออกจากกรุงวอร์ซอ เมื่อ ๒ กรกฎาคม และเสด็จต่อไปยังประเทศรัสเซีย

๑ กรกฎาคม ๒๔๕๑
ย้ายกองสรรพวุธทหารเรือ ไปตั้งที่บางนา

๑ กรกฎาคม ๒๔๕๔
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งกองลูกเสือขึ้น หลังจากตั้งกองเสือป่าเพียง ๒ เดือน และเป็นประเทศที่ ๓ ที่ตั้งกองลูกเสือขึ้นในโลก มีความมุ่งหมายโดยสรุป ๓ ประการ คือ ความภักดีต่อพระมหากษัตริย์ การนับถือพระศาสนา และความสามัคคีไม่ทำลายกันและกัน

๒ กรกฎาคม ๒๔๒๖
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งกรม์โทรเลขขึ้น โดยรับช่วงการโทรเลขจากกรมกลาโหม

๒ กรกฎาคม ๒๔๕๕
พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ เริ่มการฝึกบินเป็นครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศส สมัยเมื่อเป็น พันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุณี สุวรรณประทีป) กระทรวงกลาโหม ได้ส่งไปฝึกการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ พร้อมกับทหารบกอีก ๒ นาย

๒ กรกฎาคม ๒๔๗๖
เปิดโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง โรงภาพยนตร์ปรับอากาศแห่งแรกของเมืองไทย และเป็นแห่งที่ ๒ ในภาคตะวันออก

๒ กรกฎาคม ๒๕๓๑
ประเทศไทยได้จัดงานพระราชพิธี รัชมังคลาภิเศกขึ้น ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชสมบัติได้ ๔๒ ปี ๒๓ วัน นับว่ายาวนานกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

๓ กรกฎาคม ๒๔๔๐

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จถึงประเทศรัสเซีย ประทับที่พระราชวังปิเตอร์ฮอพ

๔ กรกฎาคม ๒๓๘๗
วันแรกจำหน่าย นสพ. ฉบับแรกของไทย ชื่อบางกอกรีคอร์ดอร์ ของหมอบรัดเลย ์ออกเป็นรายปักษ์ ออกจำหน่ายได้ ๑ ปี ก็เลิกกิจการ

๔ กรกฎาคม ๒๔๓๙
นาย จี.เอช. แวนสัชเตเลน แต่งทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมี และบรรเลงถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เมืองจอร์กจากาต้า ประเทศอินโดนีเซีย

๔ กรกฎาคม ๒๔๘๖
พลเอก โตโจ (ญี่ปุ่น) ได้มาพบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่กรุงเทพ ฯ มอบดินแดนเดิมของไทยที่กองทหารญี่ปุ่นตีได้ ลงนามในสัญญา เมื่อ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๘๖ คือ รัฐเชียงตุง รัฐเมืองพาน และรัฐมาลัย (กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปลิส) ดินแดนเหล่านี้ต้องคืนไปเมื่อสงครามสงบ เพราะไทยแพ้สงครามญี่ปุ่นไปด้วย

๕ กรกฎาคม ๒๕๐๕
กองทัพเรือได้รับอนุมัติให้จัดตั้งหน่วยบิน กองทัพเรืออีกครั้ง หลังจากที่ยุบไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ เรีบกว่า ฝูงบินกองทัพเรือ

๖ กรกฎาคม ๒๓๙๐
เรือรบฝรั่งเศส ๓ ลำ เดินทางจากสมุทรปราการมาถึงสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา นำราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาขอเจรจาทำสัญญาทางพระราชไมตรี และการค้าในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

๖ กรกฎาคม ๒๔๑๘
ประกาศให้เปิดโรงเรียนทั่วราชอาณาจักร ตามวัดทั่วประเทศ มีพระและคฤหัสถ์เป็นครูอย่างน้อย ๕ คน เงินเดือน ๆ ละ ๖ บาท สมัยนั้นไม่ทราบจำนวนวัด เมื่อ
พ.ศ. ๒๔๕๓ มี ๑๓,๐๖๕ วัด
พ.ศ. ๒๔๘๐ มี ๑๗,๖๕๐ วัด
พ.ศ. ๒๕๒๔ มี ๓๑,๑๘๗ วัด
พ.ศ. ๒๕๒๗ มีโรงเรียนประถม ๓๐,๗๒๔ โรงเรียน
เมืองไทยเริ่มการศึกษาทั่วประเทศหลังญี่ปุ่น ๓ ปีเท่านั้น ญี่ปุ่นจัดการศึกษาทั่วประเทศ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕

๖ กรกฎาคม ๒๔๕๐
ฝรั่งเศสยอมคืนจังหวัดตราด ซึ่งยึดไป เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ ให้ไทย อันเป็นผลจากสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ฉบับ พ.ศ. ๒๔๔๙ (ร.ศ.๑๒๕) โดยฝรั่งเศสยอมคืนจังหวัดตราดและเกาะต่าง ๆ ใต้แหลมสิงห์ลงไปถึงเกาะกูด

๖ กรกฎาคม ๒๔๖๓
กำหนดให้ วันที่ ๖ เมษายน เป็นวันชาติไทย เข้าใจว่าจะใช้สำหรับชาวต่างประเทศ คือ ถือเอาวันจักรีเป็นวันชาติไทย

๖ กรกฎาคม ๒๔๗๕
พระเจนดุริยางค์ ได้ประพันธ์ทำนองเพลงชาติขึ้นใหม่ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะราษฎร ทำนองเพลงชาตินี้ยังคงใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

๗ กรกฎาคม ๒๓๖๗
เจ้าฟ้ามงกุฎ ฯ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ที่วัดมหาธาตุ ก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สวรรคต ๗ วัน แล้วไปประทับอยู่ที่วัดสมอราย (ราชาธิวาส)

๗ กรกฎาคม ๒๔๐๒
สร้างพระนครคีรีบนเขาวัง ที่เมืองเพชรบุรี ปัจจุบันเป็นอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี

๗ กรกฎาคม ๒๔๗๕
ทำนองเพลงชาติ ได้บรรเลงครั้งแรก ณ บริเวณสวนดุสิต โดยพระเจนดุริยางค์

๘ กรกฎาคม ๒๔๒๒
สมโภชพระที่นั่งวโรภาสพิมาน ที่บางปะอิน พระราชวังบางปะอิน เริ่มสร้าง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ เสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ เคยเป็นที่รับรองแกรนด์ดุ๊ก ซาร์วิตส์ แห่งรัสเซีย เมื่อ ๒๒ มีนาคม ๒๔๓๓ เป็นเวลา ๔ วัน

๙ กรกฎาคม ๒๔๗๖
เริ่มมีพระธรรมเทศนาทางวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งแรก คืนละหนึ่งกัณฑ์ ตลอดพรรษา

๘ กรกฎาคม ๒๕๓๔
มูลนิธืแมกไซไซ แห่งฟิลิปปินส์ ทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๔ แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมาร

๙ กรกฎาคม ๒๔๔๐
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเมืองมอสโคว์ ประเทศรัสเซีย

๙ กรกฎาคม ๒๔๘๖
กระทรวงมหาดไทยออกคำสั่งแบ่งเขตอำเภอในรัฐไทยใหญ่ (เชียงตุง) เป็น ๑๒ อำเภอ คือ อำเภอเชียงตุง เมืองเลน เมืองโก เมืองสาด เมืองพยาค เมืองยอง เมืองปิง เมืองมะ เมืองยาง เมืองหาง เมืองขาก เมืองยู้ เป็นดินแดนที่ได้จากการเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น แต่แล้วก็ต้องคืนให้อังกฤษไป

๑๐ กรกฎาคม ๒๔๒๖
อนุญาตให้ห้าง บี กริม แอนด์โก ปักเสาโทรศัพท์ในถนนเจริญกรุง เครื่องโทรศัพท์ได้นำเข้ามาในเมืองไทย ได้ถวายพระพุทธเจ้าหลวง เมื่อ ๓ มีนาคม ๒๔๒๐ ปรากฎว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ มีสายโทรศัพท์ระหว่างกรุงเทพ ฯ กับบางปะอิน ส่วนกรุงโตเกียว เริ่มมีโทรศัพท์ใช้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ กรุงปักกิ่งมีโทรศัพท์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓

๑๐ กรกฎาคม ๒๔๗๘
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับเฉลิมพระเกียรติเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช

๑๑ กรกฎาคม ๒๐๐๘
พระบรมไตรโลกนาถ ออกบรรพชาที่เมืองพิษณุโลก มีผู้บวชตาม ๒๓๔๘ คน พระองค์เป็นโอรสพระเจ้าสามพระยา ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพ่อขุนผาเมือง พ่อขุนผาเมืองนั้นเป็นน้องของนางเสือง ชายาพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระบรมไตรโลกนาถสมภพ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๗๔

๑๑ กรกฎาคม ๒๒๓๑
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จสวรรคตที่ลพบุรี พระราชสมภพ พ.ศ. ๒๑๗๕ เปิดอนุสาวรีย์ที่ลพบุรี ๒๕๐๙ พระองค์เป็นโอรสพระเจ้าปราสาททอง ครองราชย์อยู่ ๓๑ ปี ๙ เดือน ๒ วัน

๑๒ กรกฎาคม ๒๔๕๐
พระพุทธเจ้าหลวง เสด็จที่แหลมเหนือของประเทศนอรเวย์ ทรงจารึกพระปรมาภิไธย ย่อ จปร.

๑๒ กรกฎาคม ๒๕๑๒
เริ่มการทำฝนเทียมครั้งแรก ที่อำเภอปากช่อง

๑๒ กรกฎาคม ๒๕๑๗
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารถในสถาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เรื่องการเลิกทาส ซึ่งเป็นต้นกำเนิดในการตรากฎหมาย และการดำเนินการต่าง ๆ ในการเลิกทาส การเลิกทาสนี้ใช้เวลานานถึง ๓๐ ปี

๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖
เกิดกรณีพิพาทระหว่าง ไทย - ฝรั่งเศส ร.ศ.๑๑๒ ฝรั่งเศสได้ส่งเรือรบ ๒ ลำ ตีฝ่าป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งเป็นแนวป้องกันของไทย ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เข้ามาได้ ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อรักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของไทย

๑๓ กรกฎาคม ๒๔๔๙
บริษัทสยามกัมมาจลทุนจำกัด ได้รับพระบรมราชานุญาติให้จดทะเบียนอ และ ตั้งเป็นบริษัทได้ นับเป็นธนาคารแห่งแรกที่คนไทยได้จัดตั้งขึ้น ต่อมาเมื่อ ๒๗ มกราคม ๒๔๘๒ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด

๑๓ กรกฎาคม ๒๔๕๒
ประกาศตั้งการประปา

๑๓ กรกฎาคม ๒๔๗๑
จดทะเบียนบริษัทเดินอากาศจำกัด ทุนจดทะเบียน ๖๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อดำเนินการขนส่งทางอากาศในประเทศ

๑๓ กรกฎาคม ๒๔๗๔
รัฐบาลไทยได้จัดตั้งบริษัทเดินอากาศจำกัด (บ.ด.อ.) ขึ้นเพื่อบริการขนส่งทางอากาศด้านสินค้า และผู้โดยสารทั้งภายในและต่างประเทศ ต่อมาได้วิวัฒนาการเป็นบริษัทเดินอากาศไทยจำกัด (บ.ด.ท.)

๑๔ กรกฎาคม ๒๔๑๓
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ เจ้าอินทรวิชยานนท์ เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สืบต่อมา

๑๔ กรกฎาคม ๒๔๓๔
เรือปืนรัสเซีย เดินทางมาถึงกรุงเทพ ฯ กัปตันเรืออัญเชิญเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของรัสเซียชื่อ เซนต์ แอนดรูว์ จากพระเจ้านิโคลัสที่ ๑ แห่งรัสเซีย เข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๑๔ กรกฎาคม ๒๔๖๘
อังกฤษกับไทยทำสัญญาค้าขาย ๕ ข้อ ทำให้ไทยเก็บภาษีสูงกว่าเดิม การได้อำนาจศาล แต่ยังยอมให้ฝรั่งเปิดสถานศึกษาและการศาสนาได้อย่างคนพื้นเมือง นอกจากนั้นยังกำหนดเงื่อนไขอื่น ๆ ด้วยการกำหนดข้อปลีกย่อยต่าง ๆ สัญญานี้เป็นการเลิกภาษี ร้อยชักสาม ซึ่งทำมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อ ๑๘ เมษายน ๒๓๙๘ ทั้งนี้เนื่องจากการส่งทหารไทยไปรบ ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งเป็นการตัดสินพระทัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตร

๑๔ กรกฎาคม ๒๔๙๕
มีการทดลองออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่กรมประชาสัมพันธ์

๑๕ กรกฎาคม ๒๔๑๐
ไทยเสียแคว้นเขมรและเกาะใกล้เคียงแก่ฝรั่งเศส ด้วยเห็นว่าการดำเนินนโยบายประนีประนอมกับฝรั่งเศส เป็นหนทางที่จะรักษาเอกราชของชาติไว้ได้

๑๕ กรกฎาคม ๒๔๓๖
นายปาวี เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ ได้แจ้งมายังเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศไทยมีใจความว่า รัฐบาลฝรั่งเศสได้สั่งเรือสงครามคอมเมต และแองคองสตอง เข้ามาถึงสันดอนอ่าวไทย เพื่อป้องกันชนชาวฝรั่งเศสเช่นเดียวกับที่อังกฤษคิดจะทำ

๑๕ กรกฎาคม ๒๔๔๗
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประพาสต้นนครชัยศรี

๑๕ กรกฎาคม ๒๔๗๗
พิธีเปิดอนุสาวรีย์ คุณหญิงโม (ท้าวสุรนารี) ที่นครราชสีมา ท้าวสุรนารี สมภพ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒ ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อ เมษายน ๒๓๙๕
คุณหญิงโม มีวีรกรรมร่วมกับกรมการเมืองโคราช ๒ ครั้ง เมื่อ ๑๗ มีนาคม และ ๒๐ มีนาคม ๒๓๖๙ ครั้งหลังคุณหญิงโมเป็น "แม่กองกองหนุน" ออกรบกลางแปลงกับฝ่ายทหารเวียงจันทน์ ๓,๖๐๐ คน ที่ทุ่งสัมริด

๑๖ กรกฎาคม ๒๔๓๔
พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ ทรงขุดดินวางฤกษ์สร้างทางรถไฟสายปากน้ำ รถไฟสายแรกของเมืองไทย ซึ่งเป็นของเอกชน มีสัญญาสัมปทาน ๕๐ ปี เปิดเดินรถเมื่อ ๑๑ เมษายน ๒๓๔๖ หมดสัญญา เมื่อ ๑๓ กันยายน ๒๔๗๙ เป็นของรัฐบาล และเลิกเดินรถ เมื่อ ๑ มกราคม ๒๕๐๓

๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๔
เกิดยุทธนาวีที่เกาะช้างจังหวัดตราด โดยกำลังทางเรือของกองทัพเรือไทยได้ ปะทะกับกำลังทางเรือของอินโดจีนฝรั่งเศส บริเวณเกาะช้าง ทำให้กองกำลังทางเรือของอินโดจีนฝรั่งเศส ต้องล่าถอยออกไปจาก เขตน่านน้ำไทยในบริเวณดังกล่าว

๑๘ กรกฎาคม ๒๔๒๗
เปิดตึกอาคารกรมทหารหน้า คือที่ตั้งกระทรวงกลาโหมในขณะนี้ สร้างในเนื้อที่ ๑๗ ไร่ สิ้นค่าก่อสร้าง ๕๗๐,๐๐๐ บาท

๑๘ กรกฎาคม ๒๓๗๘
หมอบรัดเลย์ หมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน ได้เดินทางมาถึงกรุงเทพ ฯ เป็นหมอฝรั่งคนแรก ที่นำหลักวิชาแพทย์สมัยใหม่เข้ามาเผยแพร่ในไทย แต่คนไทยรู้จักในฐานะเป็นผู้สร้างงานพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย

๑๙ กรกฎาคม ๒๔๐๔
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบรรพชาเป็นสามเณร

๒๐ กรกฎาคม ๒๔๓๖
นายโอกุส ปาวี เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำไทย ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้ยื่นคำขาดต่อรัฐบบาลไทย รวม ๖ ข้อ ให้ไทยยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและเกาะต่าง ๆ ที่อยู่ใต้แหลมสิงห์ไปถึงเกาะกูดแก่ ฝรั่งเศส ให้ไทยลงโทษเจ้าหน้าที่ไทยผู้มีส่วนรับผิดชอบในการยิงเรือฝรั่งเศส ที่ปากน้ำ

๒๐ กรกฎาคม ๒๔๙๓
คณะรัฐมนตรีได้ลงมติ ตามมติสภาป้องกันราชอาณาจักร ให้ส่งกำลังทหารไทยไปร่วมรบกับกองกำลังสหประชาชาติ เพื่อช่วยเหลือสาธารณรัฐเกาหลี จากการรุกรานของกองทัพเกาหลีเหนือ

๒๑ กรกฎาคม ๒๓๖๗
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคต พระชนมายุ ๕๘ พรรษา

๒๑ กรกฎาคม ๒๕๐๗
รัฐบาลไทยรับหลักการที่จะช่วยเหลือเวียดนามใต้ เมืองญวนหรือเวียดนาม แบ่งเป็น ๒ ประเทศ เมื่อ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๙๗

๒๒ กรกฎาคม ๒๔๖๐
ตราพระราชบัญญัติธง พ.ศ. ๒๔๖๐ ประเทศไทยเปลี่ยนธงชาติจากพื้นแดงมีช้างเผือกอยู่ตรงกลางมาเป็นธงไตรรงค์ที่ใช้มาถึงปัจจุบัน

๒๒ กรกฎาคม ๒๔๖๐
ไทยได้ประกาศสงครามกับเยอรมัน และออสเตรเลีย - ฮังการี ในสงคราโลกครั้งที่ ๑ และประกาศรับทหารอาสาไปช่วยพันธมิตรรบในยุโรป

๒๓ กรกฎาคม ๒๔๐๕
เรือรบสหรัฐ ฯ เดินทางถึงกรุงเทพ ฯ นำสาสน์ของประธานาธิบดี แอนดรูว์ จอห์นสัน ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๒๓ กรกฎาคม ๒๔๔๔
ประกาศใช้ ทุ่ม โมง ยาม

๒๓ กรกฎาคม ๒๔๕๗
ตั้งวรรณคดีสโมสร เพื่อเป็นการอุดหนุนวิชาแต่งหนังสือภาษาไทยให้ดีขึ้น

๒๔ กรกฏาคม ๒๔๘๗
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากพระราชกำหนดจัดระเบียบราชการบริหาร นครบาลเพชรบูรณ์ และพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑลที่จังหวัดสระบุรี ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ต่อมารัฐบาลชุดใหม่โดยมี พันตรี ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ยกเลิกตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และแปรสภาพกองบัญชาการทหารสูงสุดเป็นกองทัพใหญ่

๒๕ กรกฎาคม ๒๔๔๕
โจรเงี้ยว มีผกาหม่องเป็นหัวหน้า เข้าปล้นศาลากลางจังหวัด สถานีตำรวจภูธร และบ้านพักข้าราชการ จังหวัดแพร่ ตัดศีรษะข้าหลวงคนแรกของจังหวัดแพร่คือ พระยาไชยบูรณ์ (ทองอยู่) ต่อมาได้ถูกทางราชการปราบจนราบคาบ

๒๖ กรกฎาคม ๒๓๘๑
ตั้งกรมเสนาธิการทหาร เป็นหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม

๒๖ กรกฎาคม ๒๔๒๖
ไทยได้เปิดสายโทรเลขสายแรกที่ติดต่อกับต่างประเทศ เริ่มจากกรุงเทพ ฯ ผ่านปราจีนบุรี กบินทร์บุรี อรัญประเทศ จนถึงคลองกำปงปลัก ในพระตะบอง และติดต่อกับสายโทรเลขอินโดจีน เชื่อมโยงกับไซ่ง่อน

๒๖ กรกฎาคม ๒๔๓๖
หลังจากฝรั่งเศสได้ยื่นคำขาดต่อรัฐบาลไทย เมื่อ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ และได้รับคำตอบไม่เป็นที่พอใจ จึงได้ส่งกองเรือขนาดใหญ่ ประกอบด้วยเรือลาดตะเวน ๒ ลำ เรือสลุป ๒ ลำ เรือปืน ๕ ลำ และเรือตอร์ปิโด ๑ ลำ เข้ายึดเกาะสีชัง ประกาศปิดอ่าวไทย ให้ไทยทำสัญญาสงบศึก และให้รับข้อประกันในการยึดปากน้ำจันทบุรี และเมืองจันทบุรี จนกว่าไทยจะถอนทหารออกจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงหมด ฝรั่งเศสยกเลิกการปิดล้อมอ่าวไทย เมื่อ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๖

๒๗ กรกฎาคม ๒๔๗๐
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรับปรุงสภาป้องกันพระราชอาณาจักร สภาดังกล่าวประกอบด้วยฝ่ายทหารและกระทรวงทบวงการเมืองฝ่ายพลเรือน มีหน้าที่ร่วมกันพิจารณา และวางนโยบายในการป้องกันพระราชอาณาจักร กับพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่จะต้องขอให้ทรงพระราชทานคำปรึกษา

๒๘ กรกฎาคม ๒๓๖๗
วันบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

๒๘ กรกฎาคม ๒๔๘๔
ตราพระราชบัญญัติโรคไข้จับสั่น

๒๙ กรกฎาคม ๒๑๓๓
วันขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

๓๑ กรกฎาคม ๒๔๑๐
วันถึงแก่กรรม หม่องราโชทัย (กระต่าย อิศรางกูล ณ อยุธยา) กวีผู้แต่งนิราศลอนดอน

๓๑ กรกฎาคม ๒๔๗๐
ภาพยนต์ที่คนไทยสร้างขึ้นเรื่องแรก เรื่อง "โชคสองชั้น" เริ่มฉายวันนี้

๓๑ กรกฎาคม ๒๕๐๙
วันก่อตั้งสมาคมเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ASSOCIATION OF SOUTHEAST ASIA - ASA) มีสมาชิก ๓ ประเทศคือ ไทย สหพันธรัฐมาลายา และสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพ ฯ วัตถุประสงค์เพื่อเน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ต่อมาได้ยุบรวมเข้ากับสมาคมอาเซี่ยน เมื่อ เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๐