การทหารสมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. 2310-2325)
เป็นระยะเวลาที่ต้องกอบกู้บ้านเมืองจากข้าศึก และปราบปรามบรรดาผู้ที่ตั้งตนเป็นใหญ่ให้ราบคาบ เพื่อคงความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกันของราชอาณาจักรไทย
ในการนี้กิจการทหารนับว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด เป็นเครื่องมือประการเดียวที่จะให้บรรลุผลที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงได้ทรงปรับปรุงกิจการทหารให้เข้มแข็ง ด้วยการวางมาตรการต่าง ๆ คือ
ทรงรวบรวมผู้ที่มีความสามารถในการรบ มาร่วมกันกอบกู้สถานการณ์ โดยทรงแต่งตั้งเจ้าพระยาจักรี เป็นอัครมหาเสนาบดีที่สมุหนายก และเจ้าพระยาสุรสีห์ สองทหารเอก ผู้มีความสามารถสูงส่ง เป็นแม่ทัพไปปราบปรามอริราชศัตรู ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร
การจัดการกำลังพล คงยึดถือแบบแผนเดิม คือ ชายฉกรรจ์ไทยทุกคนต้องเป็นทหาร และเข้ารับราชการทหารตามระยะเวลาที่กำหนด เนื่องจากระยะนั้น กรุงศรีอยุธยาเพิ่งเสียแก่พม่าในสภาพที่ยับเยิน บ้านแตกสาแหรกขาด ผู้คนหนีพลัดกระจัดกระจายกันไป การสำรวจกำลังพล จึงต้องใช้มาตรการที่ได้ผล และสะดวกแก่การตรวจสอบ โดยการสักพวกไพร่และทาสทุกคนที่ข้อมือ เพื่อให้ทราบเมืองที่สังกัด และชื่อผู้ที่เป็นนาย ทำให้ทราบจำนวนไพร่พลที่แน่นอน และง่ายต่อการควบคุมบังคับบัญชา
ด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ ได้มีการแสวงหาอาวุธที่มีอานุภาพสูงมาใช้ในกองทัพเป็นจำนวนมาก ได้รับอาวุธปืนชนิดต่าง ๆ จากต่างประเทศ ได้แก่ ปืนคาบศิลา ปืนนกสับ และปืนใหญ่ สำหรับปืนใหญ่นอกจากที่ได้รับจากต่างประเทศแล้ว ยังได้หล่อขึ้นใช้เอง สำหรับป้องกันพระนครอีกด้วย
ด้านยุทธศาสตร์ทหาร มีการกำหนดเขตสงคราม ออกเป็นเขตหน้าและเขตหลัง เพื่อประโยชน์ในการส่งกำลังบำรุง และใช้วิธียกกำลังไปสกัดยับยั้งข้าศึกที่มารุกราน ที่บริเวณชายแดน เพื่อป้องกันดินแดนในราชอาณาจักรไม่ให้เสียหายจากภัยสงคราม และไม่เป็นอันตรายต่อราชธานี อันเป็นหัวใจของราชอาณาจักร มีการใช้ปืนใหญ่เพื่อเพิ่มอำนาจกำลังรบอย่างได้ผล โดยการใช้ปืนใหญ่ช่วยส่วนรวม นอกจากนั้นยังใช้กำลังทางเรือ ในการยกกองทัพไปตีดินแดนที่อยู่ห่างไกลออกไปมาก เช่น การยกกองทัพทางเรือไปตีเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. 2312 และไปตีเขมรเมื่อปี พ.ศ. 2314 เป็นต้น
|