ประชุมพงศาวดาร
ประชุมพงศาวดาร
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงพระนิพนธ์อธิบายเกี่ยวกับหนังสือประชุมพงศาวดารไว้ มีความว่า
ที่จริง การศึกษาหาความรู้พงศาวดาร และตำนานเก่าย่อมถือว่าเป็นส่วนสำคัญอย่าง ๑ ใน การศึกษาทั่วทุกประเทศ ในสยามประเทศแต่โบราณมา ท่านผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินตั้งต้นแต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลก่อน ๆ มา ก็ย่อมเป็นพระราชธุระทำนุบำรุงความรู้พงศาวดารตลอดมาแทบทุกรัชกาล ยกตัวอย่างเพียงชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ได้เป็นพระราชธุระชำระ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า และโปรดให้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่เมื่อครั้งดำรงพระเกียรติยศ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงรับหน้าที่ชำระ หนังสือพงศาวดารเหนือ อันเป็นเรื่องพงศาวดารก่อน สร้างกรุงศรีอยุธยา อีกเรื่อง ๑
มาในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดูเหมือนจะได้โปรดให้ผู้ใดรวบรวมเรื่องราวเมืองสุโขทัย ครั้งเป็นราชธานี ที่ว่าเป็นหนังสือนางนพมาศ แต่งเรื่อง ๑ และได้ทรงอาราธนากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสทรงเรียบเรียงพระราชพงศาวดาร ต่อที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงไว้ คือ ตั้งแต่ตอนตั้งกรุงธนบุรี มาจนถึงปี ชวด จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๕๔ พ.ศ.๒๓๓๕ ในรัชกาลที่ ๑ หนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับนี้มาถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทชำระ แลทรงตรวจแก้ไขเองอีกครั้ง ๑ คือ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดช ได้ทรงพิมพ์เป็นครั้งแรกนั้น ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เอาพระทัยใส่เสาะแสวงหาหนังสือพงศาวดารรวบรวมไว้ ในหอหลวงหลายเรื่อง ที่ได้พบฉบับแล้วคือ เรื่องราวครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ที่อ่านและแปลจากศิลาจารึก ซึ่งเสด็จไปพบแต่ครั้งยังทรงผนวช แลโปรดให้เอามาไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น ก็ควรนับเป็นเรื่อง ๑ หนังสือพงศาวดารกรุงเก่า แปลจากภาษารามัญที่เรียกกันว่า คำให้การขุนหลวงหาวัด เรื่อง ๑ หนังสือพงศาวดารเขมร มีรับสั่งให้แปลออกเป็นภาษาไทย เมื่อปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช ๑๒๑๗ พ.ศ.๒๓๙๘ เรื่อง ๑ พงศาวดารพม่ารามัญโปรดให้แปลออกเป็นภาษาไทย เมื่อปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช ๑๒๑๙ พ.ศ.๒๔๐๐ ยัง ตำนานต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ก็หลายเรื่อง
มาถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) แต่งหนังสือ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อเรื่องที่กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสได้ทรงไว้ใน รัชกาลที่ ๑ ลงมาจนสิ้นรัชกาลที่ ๔ เรื่อง ๑ ในส่วนพระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์เองก็มีหลายเรื่องคือ หนังสือพระราชวิจารณ์ เป็นต้น นอกจากที่ทรงพระราชนิพนธ์ ยังโปรดให้พิมพ์หนังสือพงศาวดารต่าง ๆ ซึ่งยังมิได้เคยพิมพ์มาแต่ก่อนให้ปรากฏแพร่หลายขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เป็นอันมาก แลที่สุดเมื่อปีมะแม นพศก จุลศักราช ๑๒๑๙ พ.ศ.๒๔๕๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้ง โบราณคดีสโมสร แลเมื่อปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช ๑๒๖๗ พ.ศ.๒๔๔๘ ทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้ง หอสมุดสำหรับพระนครขึ้น การศึกษาโบราณคดีจึงเป็นหลักฐานยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน
พระราชพงศาวดารเหนือ
หนังสือพงศาวดารเหนือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแต่ง แต่ยังดำรงพระเกียรติยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีรับสั่งให้พระวิเชียรปรีชา (น้อย) เป็นผู้รวบรวมเรื่อง มาเรียบเรียง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๐ โดยได้เรียบเรียงตั้งแต่ บาธรรมราชสร้าง เมืองสัชชนาไลย เมืองสวรรคโลก ได้เสวยราชสมบัติทรงพระนามพระเจ้าธรรมราชาธิราช เป็นลำดับมาจนถึง พระเจ้าอู่ทองสร้าง กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
หนังสือที่รวมเรียกว่าพงศาวดารเหนือนี้ เป็นหนังสือหลายเรื่องที่มาแต่ครั้งกรุงเก่า เอามารวบรวมแต่งหัวต่อเชื่อมให้เป็นเรื่องเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ มีรับสั่งให้พิมพ์เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๒ มีเรื่องตำนานพระแก้วมรกตอยู่ด้วย
พระราชพงศาวดารเหนือมีสาระโดยการเก็บความได้ดังนี้
เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ วันอังคาร เดือนหก ขึ้นสิบห้าค่ำ ปีมะเส็ง สัมฤทธิศก พระอาจารย์เจ้าได้ตั้งปีมะเมีย เป็นเอกศก เมื่อล่วงแล้วสี่เดือน พระเจ้าอชาตศัตรู ได้ชุมนุมพระอรหันต์ทำปฐมสังคายนา เมื่อล่วงไปได้ ๑๐๐ ปี จุลศักราช ๑๑ ปี พระเจ้ากาลาโสกราช ทำทุติยสังคายนา เมื่อล่วงไปแล้วได้ ๒๑๘ ปี จุลศักราช ๓๙ ปี พระเจ้าศรีธรรมาโสกราช ทำตติยสังคายนา เมื่อล่วงไปได้ ๒๓๘ ปี จุลศักราช ๑๑๓ ปี พระมหินทรเถรเจ้า ทำจตุตถสังคายนา เมื่อล่วงไปได้ ๔๓๓ ปี พระเจ้าวัฏฏคามินีอภัย ในลังกาทวีปชุมนุมพระอรหันต์มากกว่า ๑,๐๐๐ ทำปัญจมสังคายนา แล้วจารลงใบลานเป็นอักษรลังกา เมื่อล่วงไปได้ ๙๕๖ ปี พระพุทธโฆษาจารย์ไปแปลธรรมในลังกาแล้วได้อาราธนาพระแก้วมรกต ซึ่งสถิตย์อยู่เมืองลังกา เข้ามาเรือซัดไปเข้าปากน้ำบันทายมาศ
เรื่องพระยาสักรตั้งจุลศักราช
พ.ศ.๓๐๖ กษัตริย์เมืองตักสิลา พระนามพระยาสักรดำมหาราชาธิราช มีพระราชดำริว่า พระพุทธศาสนาเป็นฝ่ายพระพุทธจักร จึงมีพระราชโองการแก่อดีตพราหมณ์ปุโรหิตว่า ตั้งแต่วันนี้ไปจนสิ้นพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าอนุญาตไว้ ๕,๐๐๐ พรรษา ให้ตั้งจุลศักราชไว้สำหรับกรุงกษัตริย์สืบไปภายหน้า จึงให้ตั้ง ณ วันพฤหัสบดี เดือนห้า แรมค่ำหนึ่ง จุลศักราช ปีชวด เอกศก เป็นมหาสงกรานต์ไปแล้ว จึงให้ยกเป็นจุลศักราชวันเดือนปีใหม่ ถ้ามหาสงกรานต์ยังมิไป ยังเอาเป็นปีใหม่ไม่ได้ด้วยเดือนนั้นยังไม่ครบ ๓๖๐ วัน พระองค์ให้ตั้งพระราชกำหนดจุลศักราชแล้ว สวรรคตในปีนั้น เสวยราชสมบัติ ๗๒ ปี จุลศักราชได้ ศก ๑
สร้างเมืองสวรรคโลก ยกบาธรรมราชขึ้นเป็นพระยาธรรมราชาครองเมืองสวรรคโลก
ฤาษีสัชนาไลย และฤาษีสิทธิมงคล สองพี่น้องมีอายุได้ ๑๐๐ ปี ตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังดำรงราชสมบัติจนตรัสรู้ ณ บ้านนางสารีมารดาพระสารีบุตร มีพราหมณ์ทั้งสิบบ้านเป็นลูกหลานของฤาษีทั้งสองรูปดังกล่าว มีอายุยืน ๓๐๐ ปี สูงสามวา อายุ ๒๐๐ ปี สูงเก้าศอก เหตุเพราะกินบวช และทรงพรต ไม่ฆ่าสัตว์ จึงมีอายุยืน ฤาษีสัชนาไลยได้กล่าวกับฤาษีสิทธิมงคลว่า ตนจะเข้านิพพานแล้ว จึงได้ให้โอวาทไว้ในพระพุทธศาสนากำกับไสยศาสตร์ให้ไว้ด้วยกัน
บาธรรมราชจึงให้หาชีพราหมณ์และนายบ้านมาพร้อมกัน แบ่งปันหน้าที่ให้ชีพราหมณ์กำหนดกฎหมาย เกณฑ์หน้าที่ให้ทำกำแพงหนา ๘ ศอก สูง ๔ วา กว้าง ๕๐ เส้น ยาว ๑๐๐ เส้น ตัดเอาแลงมาทำเป็นกำแพง โดยทำเป็นแผ่นก่อเป็นกำแพงใช้เวลาเจ็ดปีจึงเสร็จ สร้างวัดวาอาราม กุฎีสถานให้เป็นทานแก่สงฆ์ทั้งหลายอันได้บรรลุโลกุตรธรรม แต่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ตั้งวิหารพระอิศวร และพระนารายณ์ เป็นที่ตั้งพิธี ชวนกันอดอาหารเจ็ดวัน กินบวชเจ็ดวันจึงสระเกล้า แล้วขึ้นโล้อัมพวายแก่พระอิศวร คอยท่าพระดาบสทั้งสองอยู่
เมื่อพระฤาษีมาถึงบาธรรมราชจึงขอให้ตั้งชื่อเมือง ฤาษีสัชนาไลยจึงให้ชื่อเมืองว่า เมืองสวรรคโลก แล้วให้ประชุมชีพ่อพราหมณ์ทั้งหลาย เพื่อหาว่าผู้ใดสมควรเป็นเจ้าเมืองแห่งนี้ พราหมณ์ก็ว่ามีแต่มาธรรมราช ซึ่งเป็นผู้มีอายุกว่าคนทั้งหลาย ฤาษีจึงกล่าวว่าในแผ่นดินนี้ผู้ที่จะเป็นพระยาได้มีอยู่สามตระกูลคือ กษัตริย์ เศรษฐี และพราหมณ์ แล้วจึงตั้งบาธรรมราชให้เป็นพระยา ชื่อ พระยาธรรมราชา แล้วตั้งนางท้าวเทวี ผู้เป็นหลานสาวนางโมคคัลลี บุตรนายบ้านหริภุญไชยมาเป็นอัครมเหสี แล้วแจ้งว่าให้ไปเอาพระธาตุพระพุทธเจ้าที่พระเจ้าศรีธรรมาโสกราชแจกไว้มาประดิษฐานไว้ในเมือง
พระยาธรรมราชา จึงให้ช่างก่อที่บรรจุพระธาตุโดยตัดเอาแลงมาทำเป็นแผ่นยาวสามศอก กว้างหนึ่งศอก ยาวห้าศอก กว้างสองศอกทำเป็นบัวหงาย หน้ากระดานและทรงมันทำให้งาม ขุดสระกรุด้วยแลงทำด้วยปูน แล้วตั้งฐานชั้นหนึ่ง จากนั้นได้พากันไปขุดเอาผะอบแก้วใหญ่ห้ากำที่ใส่พระธาตุมาบูชานมัสการด้วยดอกไม้ ธูปเทียน แล้วเชิญพระธาตุมาที่เมือง ป่าวร้องให้แก่คนทั้งหลายผู้ศรัทธาเอาทองมาประมวญกันได้ ๒๕๐๐ ตำลึงทอง ให้ช่างตีเป็นสำเภาเภตรา แล้วใส่พระธาตุพระพุทธเจ้าลอยอยู่ในน้ำบ่อ จากนั้นจึงก่อเป็นพระเจดีย์สรวมไว้ใช้เวลาหนึ่งปีจึงแล้วเสร็จแต่ยังไม่มียอด บรรดาชีพราหมณ์ทั้งหลายที่อยู่ในปัญจมัชฌคามผู้เป็นหลานเหลนนางโมคคัลลี ผู้เป็นมารดาพระโมคคัลลาน์ และนางสารีผู้เป็นมารดาพระสารีบุตร ที่อยู่ในปัญจมคามก็กลายมาเป็นเมืองสวรรคโลก พระธาตุพระสารีบุตรก็บรรจุไว้ในเจดีย์พระธาตุข้างเหนือ พระธาตุโมคคัลลาน์บรรจุไว้ในบ้านนางโมคคัลลี และนางทั้งสองนี้เป็นญาติกัน
เจ้าธรรมกุมารลูกพระธรรมราชา และเจ้าอุโลกกุมารเป็นเจ้าภิกษุทรงไตรปิฎก และออกจากศาสนาพระบิดามารดา และเผ่าพันธุ์ให้เป็นพระยาจะได้ช่วยกันป้องกันอันตรายจากศัตรู จากนั้นได้มีสาส์นไปแจ้งแก่ชาวบ้านปัญจมัชฌคามให้ทำกำแพงล้อมบ้าน แล้วให้ตั้งเรือนหลวง แล้วทำการราชาภิเษกเจ้าอุโลกกุมารให้เป็น พระยาศรีธรรมาโสกราช ใน เมืองหริภุญไชย ด้วยนางพราหมณีให้ชาวบ้านอุตรคามทำกำแพงล้อมบ้าน แล้วรับเอาธรรมกุมารไปราชาภิเษกนางพราหมณี ได้ชื่อว่า กัมโพชนคร คือ เมืองทุ่งยั้ง แล้วมีสาส์นไปถึงบ้านบุรพคาม ตกแต่งกำแพงและคูทำพระราชวังให้บริบูรณ์ แล้วรับเอาเจ้สีหกุมารไปราชาภิเษกด้วยนางพราหมณีให้ชื่อ เมืองบริบูรณ์นคร เมืองทั้งสี่นี้เป็นกษัตริย์ซื่อตรงต่อกัน และได้สืบต่อกันมาสามชั่วตระกูล
เรื่องพระร่วงอรุณกุมารเมืองสวรรคโลก
พ.ศ.๕๐๐ พระยาอภัยคามินีศีลาจารย์บริสุทธิอยู่ในเมืองหริภุญไชยนคร ได้เสพเมถุนกับนางนาค นางได้มาคลอดบุตรไว้ที่ภูเขียวซึ่งพระยาอภัยคามินี ฯ เคยไปจำศีลอยู่แล้วกลับไปเมืองนาค พรานป่าคนหนึ่งมาพบเข้าจึงนำไปให้ภรรยาของตนเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม
เมื่อพระเจ้าอภัยคามินีให้สร้างพระมหาปราสาท ได้เกณฑ์ชาวบ้านมาถากไม้ตั้งเสาพระมหาปราสาท พรานป่าคนดังกล่าวก็ถูกเกณฑ์มาถากไม้ด้วย พรานได้เอากุมารมาไว้ในร่มพระมหาปราสาท ๆ ก็โอนไปเป็นหลายที พระยาอภัยคามินีเห็นเข้าก็หลากพระทัย จึงให้เอาพรานนั้นมาถามดูก็รู้ว่าเป็นบุตรของตน จึงรับเอากุมารมาเลี้ยงไว้ให้ชื่อว่า เจ้าอรุณราชกุมาร
ยังมีกุมารผู้หนึ่งเกิดด้วยนางอัครมเหสีชื่อว่า เจ้าฤทธิกุมาร เป็นน้องเจ้าอรุณกุมาร พระยาอภัยคามินี เห็นว่าเมืองสัชนาไลยมีแต่พระราชธิดา จึงเอาเจ้าอรุณกุมารเป็นพระยาเมืองสัชนาไลย ได้นามว่า พระยาร่วง พระองค์จึงให้สร้างพระวิหารทั้งห้าทิศ สร้างพระจำลองไว้แทนพระองค์ติดพระมหาธาตุ และพระระเบียงสองชั้นแล้วเอาแลงทำเป็นค่าย และเสาโคมรอบพระวิหาร ให้เอาทองแดงมาทำเป็นลำพระขรรค์ ยาว ๘๘ ศอกกึ่ง ต้นห้าศอกกึ่ง ปลายสามศอก และแก้วใส่ยอด ๑๕ ใบ บัลลังแท่นรองยอดใหญ่เก้ากำ ตระกูลทองดีสิบชั้น หุ้มทองแดงขลิบขนุนลงมาถึงตีนคูหา สร้างอุโบสถให้เป็นทานแก่พระสงฆ์ และให้สร้างที่ต้นรังพระธาตุเป็นวิหาร และพระเจดีย์จึงได้ชื่อว่า วัดเขารังแร้ง ท้าวพระประเทศเมืองใด ๆ จะทนทานอานุภาพพระองค์มิได้ มาถวายบังคมทั่วสกลชมพูทวีป เพราะพระองค์ต้องพุทธทำนาย อายุพระองค์ได้ ๕๐ ปี พอถึง ปี พ.ศ.๑๐๐๐ คนอันเป็นใหญ่กว่าคนทั้งหลายนำเอาช้างเผือกงาดำกับเขี้ยวงูมาถวาย และเมื่อพระองค์จะลบศักราชพระพุทธเจ้า จึงให้นิมนต์พระอธิตเถระ พระอุปคุตเถระ พระมหาเถรไลยลาย และพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ทั้งพระพุทธโฆษาจารย์วัดรังแร้ง และชุมนุมพระสงฆ์เจ้าทั้งหลาย ณ วัดโคกสิงคาราม กลางเมืองสัชนาไลย บรรดาท้าวพระยาในชมพูทวีปคือ ไทย ลาว มอญ จีน พม่า ลังกา พราหมณ์เทศเพศต่าง พระองค์ให้ทำหนังสือไทยเฉียง มอญ พม่า ไทย และขอมเฉียงขอมมีมาแต่นั้น
พระยาร่วงมีพระราชโองการตรัสแก่เจ้าฤทธิกุมารว่า พระยากรุงจีนเหตุใดจึงมิได้มาช่วยลบศักราช เราพี่น้องจะไปเอาพระยากรุงจีนมาเป็นข้าเราให้ได้ จากนั้นจึงให้แต่งเรือสำเภาลำหนึ่งยาวแปดวา ปากกว้างสี่ศอก ครั้นได้ฤกษ์ก็เสด็จออกไปด้วยกำลังน้ำ พระองค์ทั้งสองมีแต่ธนูศิลป์ ไปได้เดือนหนึ่งจึงถึงกรุงจีน พระเจ้ากรุงจีนรู้แก่ใจด้วยมีพระพุทธทำนายไว้ว่า จะมีไทยสองคนพี่น้องข้ามทะเลมาแสวงหาเมีย และชายผู้หนึ่งจะเป็นจ้าวแก่ชาวชมพูทวีป และจะลบศักราชพระพุทธเจ้า เมื่อรู้ดังนั้นแล้วจึงให้พลจีนออกไปรับพระองค์มาที่เรือนหลวงให้นั่งบนแท่นแก้ว ถวายบังคมแล้วจึงชวนเจรจา พระยาร่วงก็ทรงภาษาได้ทุกประการ พระเจ้ากรุงจีนจึงนำเอาพระธิดามาถวายให้เป็นพระอัครมเหสี พระยากรุงจีนจึงให้แต่งสำเภาเภตราลำหนึ่งกับเครื่องบรรณาการพระยาร่วงด้วย นางพสุจเทวี และเจ้าฤทธิกุมารจึงมาลงเรือสำเภาพร้อมทั้งจีนบริวาร ๕๐๐ คน เดินทางมาหนึ่งเดือนจึงถึงเมืองสัชนาไลย ซึ่งขณะนั้นน้ำทะเลขึ้นมาถึงใช้สำเภาไปมาได้ บรรดาจีนทั้งหลายก็ทำถ้วยชามถวาย จึงเกิดมีถ้วยชามแต่นั้นมา พระองค์ได้พสุจกุมารผู้เป็นน้องตั้งพระราชวังอยู่นอกเมือง
กล่าวถึง เมืองพิไชยเชียงใหม่มีแต่พระราชธิดา จึงได้กราบทูลขอเจ้าฤทธิกุมารให้ไปเสวยราชสมบัติสืบตระกูลต่อไป พระเจ้าอรุณราชกับเจ้าฤทธิกุมารจึงเสด็จขึ้นไปด้วยกัน แล้วให้เจ้าพสุจกุมารอยู่รักษาเมืองกับนางพสุจเทวี เมื่อทั้งสองพระองค์พร้อมด้วยอำมาตย์เสนาเสด็จถึงต้นพนมใหญ่กึ่งกลางทาง พระองค์ได้เอาคนทีทองเต็มไปด้วยน้ำทรงอธิษฐาน ให้เป็นแดนแว่นแคว้นแห่งเจ้าฤทธิกุมารแต่วันนี้ไปแล้วเทน้ำในคนทีทองลงไปเป็นสำคัญ
แล้วจึงเอาตะปูทองแดงใหญ่สามกำสามวา สามตัวปักไว้เป็นประธาน จากนั้นจึงเสด็จไปถึงเมือง นางมัลลิกาลูกเจ้าเมืองเชียงใหม่ มาต้อนรับเสด็จเข้าไปในเรือนหลวงแล้ว บรรดาท้าวพระยา อำมาตย์เสนาทั้งหลายก็กราบถวายบังคมแก่พระองค์ จากนั้นจึงได้มีการราชาภิเษกเจ้าฤทธิกุมารให้เป็น พระยาลือ กับด้วยนางมัลลิกาเทวี เมืองพิไชยเชียงใหม่จึงคิดกตัญญูแต่นั้นมา และผู้หญิงลาวจึงสู่ขอเอาผัวเป็นจารีตสืบมา พระยาร่วงก็กลับคืนเมืองของพระองค์
พระยาร่วงเป็นคนคะนอง มักเล่นเบี้ย และเล่นว่าว ไม่ถือตัวว่าเป็นท้าวพระยา เสด็จไปไหนคนเดียวเป็นผู้รู้บังเหลื่อม รู้จักไตรเพททุกประการว่าให้ตายก็ตายเอง ดังเรื่องขอมผุดขึ้นมาแล้วก็กลายเป็นหินแลง และขอมก็ขึ้นไม่ได้ด้วย วาจาสัจของพระองค์ วันหนึ่งพระองค์ทรงว่าวขาดลอยไปถึงเมืองตองอู และพระยาตองอูนั้นเป็นข้าพระยาร่วง พระยาร่วงตามไปถึงเมืองตองอู และได้เสียกับธิดาพระยาตองอู เมื่อได้ว่าวแล้วก็เสด็จกลับ ลูกสาวจึงบอกแก่พระยาตองอู ๆ จึงให้ไปตามพระยาร่วงคืนมา ครั้นพระยาร่วงมาถึงเมืองสัชนาไลยแล้วตรัสสั่งเจ้าพสุจิกุมารว่าจะไปอาบน้ำ ถ้าไม่เห็นกลับมาก็ขอให้เป็นพระยาแทนพระองค์ จากนั้นพระองค์ก็ไปอาบน้ำที่กลาง แก่งเมือง แล้วอันตรธานหายไป ในปี พ.ศ.๑๒๐๐ พระยาร่วงทิวงคต จ.ศ.๑๕๘ เจ้าพสุจกุมารจึงให้ราชทูตถือข่าวสาส์น ขึ้นไปทูลพระยาลือกุมารยังนครเมืองพิไชยเชียงใหม่ผู้เป็นน้อง พระยาลือจึงได้ลงมาราชาภิเษกเจ้าพสุจกุมารให้เป็นพระยาสัชนาไลย
มีเสนาคนหนึ่งชื่อ ไตรภพนารถ เป็นผู้คิดอ่านราชการรณรงค์สงครามได้รอบคอบ ได้ทูลพระยาพสุจกุมารว่า เมืองสัชนาไลยจะมีอันตรายในภายหน้า จึงขอให้แต่ง กำแพง และหอรบให้มั่นคง พระองค์จึงให้เสนาอำมาตย์ซ้ายขวา และตำรวจนอกในไพร่พลทั้งหลาย ให้ย่อกำแพงเข้าไปเป็นป้อมให้รอบเมือง และให้ย่อชาลาถมไว้ และถมที่นั้นให้ไว้ปืนใหญ่ทุกแห่งทุกตำบล ทั้งค่ายชั้นในและค่ายชั้นนอก และตั้งค่ายเชิงเรียงพนมแห่งหนึ่ง พนมหัวช้างแห่งหนึ่ง พนมบ่อนเบี้ยแห่งหนึ่ง ให้ตั้ง พระนครราชธานี แล้วตั้งป้อม และช่องปืนใหญ่ แล้วให้ตกแต่งหัวเมืองเอก ห้าหัวเมือง เมืองโท แปดหัวเมือง แต่งสรรพยุทธทั้งปวงไว้สำหรับต่อสู้ข้าศึก แล้วแต่ง คนเร็วม้าใช้แล่นหากันจงฉับพลันทุกด้านหน้า แล้วให้กำหนดกฎหมายไว้ทุกด้าน ให้กำหนดกฎหมายไปถึงเมือง กัมโพชนคร เมืองคีรี เมืองสวางคบุรี เมืองยางคีรี นครคีรี เมืองขอนคีรี และเมืองเหล็ก เมืองลิงเทา เมืองทั้งนี้ขึ้นแก่เมืองกัมโพชนคร และเมืองพิบูลย์นครอันขึ้นแก่เมืองหริภุญไชย และเมืองทั้งแปดหัวเมืองนั้น ให้แต่งเครื่องตรวจสาตราวุธ และตรวจด่านทาง ให้แต่งคนเร็วม้าใช้ไปฟังข่าวแก่กันให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวทุกเมือง และให้พานิชพ่อค้าสำเภาลำหนึ่งถือราชสาส์นไปถึงเมืองกรุงจีน ถึงพระเจ้ากรุงจีนผู้เป็นตา ขอช่างหล่อปืนสิบคน ใช้เวลาเจ็ดเดือนมาถึงเมืองสัชนาไลย เจ้าพสุจกุมารจึงให้ช่างหล่อปืนใหญ่ ๑๒๐ กระบอก ปืนนกสับ ๕๐๐ กระบอก จึงเกิดมีช่างหล่อสัมฤทธิ์ถมปัดแต่นั้นมา พระองค์จึงให้คนทั้งหลายรักษาทั้งดิน และลูกเป็นอันมาก ลูกนั้นให้เอาดินปั้นเผาเป็นเฉลียงให้เป็นลูกปืน
เรื่องพระศรีธรรมไตรปิฎก
ในเดือนอ้ายขึ้นค่ำหนึ่ง พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก พระเจ้าเชียงแสน ให้เสนาอำมาตย์และมหาอุปราช ตรวจจัดลี้พลโยธาช้างม้าเครื่องสาสตราวุธทุกท้าวพระยา ปืน หอก ดาบ โล่ธนู หน้าไม้ เกาะเหล็ก เกราะเขา แล้วจึงตั้ง พระยาเชียงราย พระยาเชียงลือ เป็นแม่ทัพน่า ตั้ง พระยาเชียงเงิน พระยาเชียงตุง เป็นปีกขวา ตั้งพระยาเชียงน่าน พระยาเชียงฝาง เป็นปีกซ้าย
เจ้าพสุจกุมารให้อุปทูตขึ้นไปฟังข่าวได้รู้อาการทั้งปวงแล้ว พระยาพสุจราชจึงให้กฎหมายไปแก่ พระยาพิไชยเชียงใหม่ ผู้เป็นญาติ พระยาลือธิราชถึงทิวงคต ยังแต่บุตรชายผู้เป็นหลานชื่อ พระพรหมวิธีจึงให้ขับพล เมืองนคร เมืองแพร่ เมืองน่าน เข้าเมืองเชียงใหม่ทั้งหมด แล้วให้ทหารอาสานั่งด่านทาง พระยาพสุจราช ให้รับครัวเข้า เมืองสัชนาลัยทั้งหมด แต่ครัวชายฉกรรจ์ให้อยู่ตั้งรบถอยหลังเข้ามาหาค่าย พระศรีธรรมปิฎกจึงให้ขับพลเข้าเมืองสัชนาไลย ให้ตั้งค่ายหลวงใกล้เมืองสัชนาลัยเป็นระยะทาง ๕๐ เส้น แล้วให้พลทหารโยธาล้อมเมืองสัชนาไลยไว้ จะเข้าเมืองไม่ได้ด้วยข้างในเมืองมีปืนใหญ่ปืนน้อยมาก
พระพุทธโฆษาจารย์เจ้าวัดเขารังแร้งรู้เรื่องแล้ว จึงชุมนุมสงฆ์ทั้งหลายว่า อย่าให้เรารบกัน แล้วไปถวายพระพรแก่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก แล้วเข้าไปห้ามพระยาพสุจกุมาร ทั้งสองพระยาก็ฟังคำพระอรหันต์เจ้า พระยาพสุจกุมารจึงเวนนางประทุมเทวีราชธิดาให้แก่พระยาศรีธรรมไตรปิฎก ๆ ยินดีนัก ยกทัพกลับไป เมืองเชียงแสน ท้าวพระยาอื่น ๆ ต่างก็ยกกำลังกลับไปบ้านเมืองของตน
พระยาศรีธรรมปิฎก มีพระราชกุมารกับนางประทุมเทวีสององค์ คือ เจ้าไกรสรราช และเจ้าชาติสาคร เจ้ากุมารทั้งสองมีอานุภาพ รูปงาม และมีใจเป็นกุศล
พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกรู้ในพระทัยว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตทางตะวันตก ตะวันออก แล้วเสด็จไปฉันจังหันใต้ต้นสมอ จึงควรไปสร้างเมืองไว้ในสถานที่นั้น จึงตรัสสั่งให้ จ่านกร้อง จ่าการบูรณ์ ให้ทำเป็นพ่อค้าเกวียน นำเกวียนไปคนละ ๕๐๐ เล่ม จากเมืองเชียงแสนมาถึงเมืองน่าน เมืองลิหล่ม พักพลไหว้พระบาทธาตุพระพุทธเจ้าจึงข้าม แม่น้ำตรอมตนิม ข้าม แม่น้ำแควน้อยแล้วจึงถึงบ้านพราหมณ์ที่พระพุทธเจ้าไปบิณฑบาตบ้านพราหมณ์ข้างตะวันออก ๑๕๐ เรือน ข้างตะวันตก ๑๐๐ เรือนมีเศษ
เรื่องสร้างเมืองพิษณุโลก
จ่านกร้องกับจ่าการบูรณ์คิดอ่านกันเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวราบคาบทั้งสองฟาก มีบ้านพราหมณ์อยู่ทั้งสองฟากควรสร้างเมืองถวายแก่เจ้าของเรา ดังนั้นจึงให้พ่อค้าเกวียน ๕๐๐ เล่ม ข้ามไปข้างตะวันตก ตั้งทับประกับเกวียนไว้แล้ว ต่างทำสารบาญชีชะพ่อพราหมณ์ และไพร่พลของตน รวมกันเป็นคนฝ่ายละ ๑๐๐๐ คนทำอิฐ ให้พราหมณ์ชักรอบทิศตั้งเมือง แล้วจึงเป็นหน้าที่ยาว ๕๐ เส้น สะกัดสิบเส้นสิบวา ปันหน้าที่ไว้แก่พราหมณ์ จะได้เท่าใด ไทยจะได้เท่าใด ลาวจะได้เท่าใด พอได้ ณ วันพฤหัสบดีเดือนสามขึ้นค่ำหนึ่ง ปีฉลู นพศก เวลาเช้า ต้องกับเวลาเมื่อพระพุทธเจ้าฉันจังหันใต้ต้นสมอ แต่ก่อนเรียก พนมสมอ บัดนี้เรียก เขาสมอแครง จ่านกร้องสร้างข้างตะวันตก จากการบูรณ์สร้างข้างตะวันออก แข่งกันสร้าง ทำอยู่ปีเจ็ดเดือนจึงแล้วรอบบ้าน พราหมณ์ทั้งหลายฟังดูก็รอบ เมื่อทำเมืองแล้วทั้งสองฟาก จึงสั่งชีพ่อพรามหมณ์ให้รักษาเมือง แล้วนำเกวียน และคน ๕๐๐ เล่ม ขึ้นไปเมืองเชียงแสนใช้เวลาเดินทางสองเดือน แล้วถวายรายงานให้พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงทราบ
พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมีความยินดียิ่งนัก จึงตรัสสั่งให้ชุมนุมท้าวพระยาทั้งหลาย ยกกำลังไปยังเมืองที่สร้างใหม่ดังกล่าว แล้วตรัสถามชะพ่อพราหมณ์ว่าจะให้ชื่อเมืองอันใดดี ก็ได้รับคำตอบว่า พระองค์เจ้ามาถึงวันนี้ใน ยามพิศณุ จึงได้ชื่อว่า เมืองพิศณุโลก ถ้าจะว่าตามพระพุทธเจ้ามาบิณฑบาตก็ชื่อว่า โอฆบุรีตะวันออก ทางด้านตะวันตกชื่อ จันทบูร พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงตรัสสั่งท้าวพระยาทั้งหลาย ชวนกันสร้างพระธาตุ และพระวิหารใหญ่ ตั้งพระวิหารทั้งสี่ทิศ
เรื่องสร้างพระชินสีห์ พระชินราช
พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกให้หาช่างได้บาพิศณุ บาพรหม บาธรรม บาราชกุศล และได้ช่างมาแต่เมืองสัชนาไลยห้าคน จากเมืองหริภุญไชยคนหนึ่ง ให้ไพร่พลทั้งหลาย ขนดิน และแกลบให้แก่ช่าง ช่างประสมดินปั้นเป็นรูปพระพุทธเจ้าสามรูปให้เหมือนพิมพ์เดียว และใหญ่น้อยเท่ากัน ครั้นปั้นเบ้าคุมพิมพ์แล้วก็หล่อพระพุทธรูปเป็นอันมาก วันหล่อนั้นเป็นวันพฤหัสบดีเพ็ญเดือนสี่ ปีจอ ชุมนุมสงฆ์ทั้งหลายมีพระอุบาลีฬี และพระศิริมานนท์เป็นประธาน หล่อให้พร้อมกันทั้งสามรูป รูป พระศรีศาสดา กับ พระชินสีห์ นั้นทองแล่นเสมอกันบริบูรณ์ ยังแต่พระชินราชนั้นมิได้เป็นองค์เป็นรูป ช่างทำการหล่อถึงสามครั้งก็มิได้เป็นองค์ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก พร้อมทั้งเจ้าปทุมเทวีจึงได้ตั้งสัจอธิษฐาน ร้อนถึงพระอินทร ฯ จึงนฤมิตเป็นตาปะขาวมาช่วยทำรูปพระคุมพิมพ์ปั้นเบ้า แล้วทำตรีศูลย์ไว้ในพระพักตร์เป็นสำคัญ ครั้นถึงเดือนหนึ่งพิมพ์พระพุทธรูปแห้งแล้ว จึงให้ช่างตั้งเตาจะหล่อพระชินราช แต่ ณ วันพฤหัสบดี เดือนหก ขึ้นแปดค่ำ ปีเถาะ ตรีศก เวลาเช้า พ.ศ.๑๕๐๐ ทองก็แล่นรอบคอบบริบูรณ์ทุกประการหาที่ติมิได้ พระองค์จึงให้ช่างช่วยกันขุดเกศาพระพุทธรูปนั้น ก็เป็นรูปอันงามบริบูรณ์แล้วทั้งสามพระองค์ ให้เอาไปตั้งไว้ในสถานสามแห่งไว้เป็นที่เสี่ยงทาย ไว้ท่ามกลางเมืองพิษณุโลก แล้วจึงให้ตั้งพระราชวังฝ่ายตะวันตกเสร็จแล้วจึงให้เอาสุลเทวี ลูกพระยาสัชนาไลย ให้ราชาภิเษกด้วยเจ้าไกรสรราช ณ เมืองละโว้ แล้วพระองค์กับท้าวพระยาทั้งหลายช่วยกันฉลองวัดวาอาราม และพระพุทธรูปเจ็ดวัน แล้วให้ตั้งบ้านส่วยสัดพระพุทธรูปทั้งสามองค์ ตั้งจ่านกร้อง และจ่าการบูรณ์ให้เป็นมหาเสนาซ้ายขวา เสร็จแล้วจึงยกกำลังกลับ เสด็จไปได้เดือนหนึ่งจึงถึงนครบุรีรมย์
สร้างเมืองเสนาราชนคร
พระเจ้าไกรสรราช สั่งให้อำมาตย์เสนาในให้สร้างเมืองหนึ่งใกล้เมืองละโว้ ทาง ๕๐๐ เส้น แต่งพระราชวังคูหอรบ เสาใต้เชิงเรียงเสร็จแล้วจึงให้อำมาตย์รับเอาดวงเกรียงกฤษณราชกับพระราชเทวีไปราชาภิเษกร่วม เมืองนั้น ชื่อว่าเสนาราชนครแต่นั้นมา แต่ พ.ศ.๑๕๐๐ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกให้แต่งเจ้าชาติสาครไปกินเมืองเชียงราย พระองค์มีพระชนม์ได้ ๑๕๐ ทิวงคต เมื่อ พ.ศ.๑๕๐๐ แต่นั้นมาเมืองใคร ๆ อยู่มิได้ไปมาหากัน เจ้าชาติสาครเสวยราชสมบัติแทนสมเด็จพระราชบิดาเมืองพิไชยเชียงแสนมาได้เจ็ดชั่วกษัตริย์
เรื่องพระยากาฬวรรณดิสสร้างเมืองต่าง ๆ
ปี พ.ศ.๑๐๐๒ พระยากาฬวรรณดิสได้เสวยราชสมบัติเมืองตักกะสิสามหานคร จึงให้พราหมณ์ทั้งหลายยกพลไปสร้างเมืองละโว้ ได้ ๑๙ ปี เมื่อ พ.ศ.๑๐๑๑ แล้วให้พระยาทั้งหลายไปตั้งเมืองอยู่ทุกแห่ง ขุนนางขึ้นไปถึงเมืองทวารบุรี เมืองสันตนาหะ เมืองอเส และเมืองโกสัมพี แล้วมานมัสการที่พระพุทธเจ้าตั้งบาตรตำบลบ้านแม่ซ้องแม้ว แล้วลงมา เมืองสวางคบุรี ที่บรรจุพระรากขวัญของพระพุทธเจ้าไว้แต่ก่อนนั้น แล้วจึงอาราธนาพระรากขวัญกับพระบรมธาตุมาว่าจะบรรจุไว้เมืองละโว้ พระบรมธาตุทำอริยปาฏิหาริย์ลอยกลับขึ้นไปเหนือน้ำถึงเมืองสวางคบุรีเป็นเช่นนั้นอยู่เจ็ดครั้ง พระรากขวัญกับพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าจึงไม่อยู่ได้ในเมืองละโว้ จน พ.ศ.๑๐๑๕ พระยากาฬวรรณดิสขึ้นไปทำนุบำรุง เมืองนาเคนทรแล้วกลับมาเมืองสวางคบุรี จึงอาราธนาพระรากขวัญกับพระบรมธาตุกับข้อพระกรของพระพุทธเจ้าที่บรรจุไว้ในเจดีย์ แต่ครั้งพระอานนท์ และพระอนิรุทธเถรเจ้า กับพระยาศรีธรรมโสกราช ท่านชุมนุมกันบรรจุไว้แต่ครั้งก่อนนั้นลงมาบรรจุไว้ในพระเจดีย์เมืองละโว้สองปี พระองค์สวรรคต เมื่อ พ.ศ.๑๐๔๓
เรื่องที่กัลปนา
(เว้น)
ทำเนียบคณะสงฆ์
(เว้น)
เรื่องพระร่วงเมืองศุโขทัย
บุตรพระยาร้อยเอ็ดเป็นนายส่วยน้ำถึงแก่พิราลัย ขณะนั้น นายคงเคราเป็น ส่วยน้ำเสวย เมืองละโว้ ไปส่งเมืองกัมพูชาธิบดี สามปีส่งทีหนึ่ง นายคงเคราคุมไพร่ ๓๐๐ คนรักษาน้ำเสวยอยู่ในทุ่งทะเลชุบศร มีเรือเล็กร้อยหนึ่ง นายคงเครามีบุตรคนหนึ่งอายุได้ ๑๑ ขวบ ชื่อ นายร่วง ครั้งอยู่มาน้ำมากเอาเรือพายเล่นในท้องพรหมมาศจนเหนื่อย จึงว่าน้ำลงเชียวนักให้ไหลกลับไปถึงเรือนเราเถิด พอตกคำลงน้ำก็ไหลกลับมาส่งถึงบ้าน นายร่วงเห็นดังนั้นก็นิ่งอยู่ต่อมานายคงเคราตาย ไพร่ทั้งปวงจึงยกนายร่วงเป็นนายกองบังคับไพร่ต่อมา
ครั้นอยู่มาครบคำรบ นักคุ้มคุมเกวียน ๕๐ เล่ม กับไพร่พันหนึ่งมาบรรทุกน้ำเสวยพระเจ้าพันธุมสุริยวงศ์ ลุ้งน้ำเล่มละ ๒๕ ใบ ครั้นมาถึงสระน้ำนั้นจึงให้นายกองเปิดประตูจะตักน้ำ นายร่วงก็มาพูดจากับนักคุ้มว่าลุ้งน้ำเอามาหนักเสียเปล่า ให้ไขว่ชะลอมใส่ไปเถิด นักคุ้มจึงเกณฑ์สานชะลอมเล่มละ ๒๕ ใบ ครั้นกำหนดจะกลับสั่งเปิดประตูเอาชะลอมลงจุ้มน้ำยกขึ้นใส่เกวียน แล้วนักคุ้มก็เดินทางรอนแรมมาถึงแดนด่าน คนคุมน้ำมาสงสัยว่าชะลอมจะขังน้ำได้หรือ บันดาลให้น้ำในเล่มเกวียนนั้นไหลลงเห็นทั่วกันจึงสรรเสริญ จึงจารึกลงไว้ ที่นั้นจึงเรียกว่า ด่านพระจารึก จากนั้นยกไปทางตักโช ครั้นถึงเมืองแล้วผู้คนก็เล่าลือกันว่าเอาชะลอมบรรทุกมาไม่มีน้ำ พระเจ้ากัมพูชาจึงเอานักคุ้มไปถาม นักคุ้มก็ทูลเรื่องให้ทราบทุกประการ แล้วยกชะลอมน้ำเทลงในเพนียงจนไม่มีที่ใส่ พระเจ้ากรุงกัมพูชาตกพระทัยว่ามีผู้มีบุญมาเกิดแล้ว คิดจะจับตัวฆ่าเสีย บรรดาเสนาพระยา พระเขมรก็เห็นด้วย จึงเกณฑ์ทัพเมืองขอมไปตามจับ นายร่วงรู้ข่าวจึงหนีไปถึงแดน เมืองพิจิตร อาศัยอยู่ริมวัดขอข้าวชาวบ้านกิน ชาวบ้านเอาข้าวกับปลาหมอตับหนึ่งมาให้ นายร่วงหยิบปลาข้างละแถบแล้วโยนลงไปในสระให้ปลาเป็นว่ายไป จากนั้นนายร่วงก็หนีไปอาศัยอยู่วัด เมืองศุโขทัย แล้วอุปสมบทเป็นภิกษุจึงเรียก พระร่วง ฝ่ายขอมดำดินมาถึงเมืองละโว้ ถามนายร่วงจากชาวบ้าน ๆ บอกว่า นายร่วงขึ้นไปเมืองเหนือ ขอมขึ้นไปถึง เมืองสวรรคโลก ถามชาวบ้าน ๆ ก็บอกว่าไปอยู่เมืองศุโขทัย และบวชเป็นภิกษุอยู่ ขอมก็ตามไปเมืองศุโขทัยผุดขึ้นกลางวัด พอพระร่วงกวาดวัดอยู่ขอมจึงถามหาพระร่วง ๆ จึงบอกว่าอยู่ที่นี่เถิดจะบอกให้ ขอมก็อยู่ที่บ้านเป็นหินอยู่จนบัดนี้
พ.ศ.๑๕๐๒ เจ้าเมืองศุโขทัยทิวงคต เสนาบดีประชุมกันว่าวงศานุวงศ์ไม่มีแล้วไม่เห็นมีผู้ใด เห็นแต่พระร่วงบวชอยู่ที่วัด จึงพร้อมใจกันอัญเชิญพระร่วงลาผนวช แล้วมาครองเมืองศุโขทัย พระร่วงอยู่ได้ ๑๐๒ ปี ก็สวรรคต
เรื่องพระยาแกรก
พระมหาพุทธสาครเป็นเชื้อมา ได้เสวยราชสมบัติอยู่ริม เกาะหนองโสน ที่วัดเดิมกันมีพระมหาเถรไสยลายองค์หนึ่งเป็นเชื้อมาแต่พระรามเทพได้พระบรมธาตุ ๖๕๐ พระองค์ กับพระศรีมหาโพธิสองต้น จากเมืองลังกาได้พาพระมหาสาครไปเมืองสาวัตถี ถ่ายเอาอย่างวัดเชตวนาราม มาสร้างไว้ต่อเมืองรอ แขวงบางทานนอก เมืองกำแพงเพ็ชร ชื่อวัดสังฆคณาวาศ แล้วเอาพระศรีมหาโพธิใส่อ่างทองคำมาปลูกไว้ริมหนองนากะเล นอกวัดเสมาปากน้ำแล้วเชิญพระบรมธาตุบรรจุไว้ด้วย ๓๖ พระองค์ จึงให้ชื่อว่าวัดพระศรีมหาโพธิลังกา แล้วจึงบรรจุไว้ในพระเจดีย์ข้างในพระพุทธรูปใหญ่บ้าง ในพระปรางค์บ้าง บรรจุไว้ในพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมก ในพระป่าเลไลยนอกเมืองพันธุมบุรี ในพระปรางค์วัดเดิมกัน เมืองหนองโสน ที่พระพุทธบาท ในถ้ำนครสวรรค์ ในถ้ำขุดคะสรรค์ ในเขาหินตั้งเมืองศุโขทัยในเขาคุ้มแก้ว ในเมืองชองแก้ว ในพระเจดีย์วัดเสนาศน์ แห่งละ ๓๖ ปีพระองค์ ในพระเจดีย์วัดคณาทาราม ในพระมหาธาตุแห่งละ ๓๐ พระองค์ พระองค์อยู่ได้ ๙๗ ก็สวรรคต พระยาโคดมครองราชสมบัติอยู่ ณ วัดเดิม ๓๐ ปี ก็สวรรคต มีพระราชโอรสองค์หนึ่งชื่อ พระยาโคตรตะบอง ทรงอานุภาพยิ่งนัก
อยู่มาโหรทำฎีกาถวายทำนายว่า ผู้มีบุญจะมาเกิดในเมืองนี้ พระยาโคตรตะบองจึงสั่งให้จับหญิงมีครรภ์มาฆ่าเสีย ต่อมาโหรกราบทูลว่าผู้มีบุญเกิดแล้ว พระยาโคตรตะบองจึงสั่งให้เอาทารกมาคลอกเสียให้สิ้น แต่ทารกผู้นั้น ไฟคลอกไม่พอง ครั้งเวลาเช้าสมณะไปบิณฑบาต พบทารกจึงเอามาเลี้ยงไว้
อยู่ต่อมาราษฎรป่าวร้องกันว่า โหรทูลว่าผู้มีบุญจะมาก็ตื่นเต้นพากันไปดูผู้มีบุญ พระยาโคตรตะบองจึงตรัสแก่เสนาบดีว่าถ้าเดินมาจะสู้ ถ้าเหาะมาจะหนี ทารกนั้นอยู่ที่วัดโพธิผี อายุได้ ๑๗ ปี ก็ถัดไปดูผู้มีบุญ พระอินทร์แปลงตัวเป็นคนชรา จูงม้ามาที่ทารกนั้นฝากม้าไว้ แล้วอนุญาตให้กินข้าวในแฟ้มได้ ทารกกินแล้วก็มีกำลังขึ้น เห็นน้ำมันในขวดก็เอาทาตัว แขนขาที่ไฟคลอกงออยู่นั้นก็เหยียดออกได้ หมอบาดแผลก็หายไปสิ้นแล้วแลเห็นเครื่องกกุธภัณฑ์ คิดในใจว่าตนคงเป็นผู้มีบุญ จึงเอาเครื่องกกุธภัณฑ์ใส่แล้วขึ้นหลังม้าขี่เหาะมาถึงที่พระตำหนัก พระยาโคตรตะบองเห็นเข้าก็หวาดหวั่นตกใจ จึงหยิบตะบองขว้างไปแต่ไม่ถูก ตะบองไปตกที่เมืองล้านช้าง พระยาโคตรตะบองเห็นดังนั้นก็หนีไป พระยาแกรกได้ขึ้นครองราชสมบัติ ได้รับถวายพระนามว่า พระเจ้าสินธพอำมรินทร์ ราษฎรอยู่เป็นสุขยิ่งนัก
ฝ่ายพระยาโคตรตะบองตามตะบองไป เมืองล้านช้าง เจ้าเมืองสัจจะนาหะ กลัวบุญญาธิการพระยาโคตรบอง จึงยกพระราชบุตรีให้เป็นอัครมเหสี แล้วคิดในใจว่าต่อไปคงจะเป็นขบถต่อตนจึงคิดจะฆ่าเสีย จึงไปหารือกับลูกสาว ๆ ให้ความร่วมมือ โดยไปอ้อนวอนถามพระราชสามีว่าทำอย่างไรจึงจะตาย พระยาโคตรตะบองทนอ้อนวอนไม่ได้ จึงบอกว่าถ้าเอาไม้เสียบทวารหนักจึงจะตาย นางเอาความมาบอกพระราชบิดา ๆ จึงให้เสนาบดีทำกลไกไว้ที่พระบังคน พระยาโคตรตะบองต้องกลไกดังกล่าว ก็สำนึกได้ว่าเสียรู้ด้วยสตรี จึงหนีกลับไปแดนเกิด พอเข้าแดนพระนครแล้วก็สิ้นพระชนม์ พระเจ้าสินธพมอำรินทร์ ทรงทราบจึงให้ทำการศพพระราชทานเพลิง แล้วสถาปนาที่นั้นให้เป็นพระอาราม ชื่อ วัดศพสวรรค์ มาจนถึงทุกวันนี้
พ.ศ.๑๘๕๐ พระเจ้าสินธพอำมรินทร์ เสวยราชสมบัติได้สามปี ได้ให้ประชุมเจ้าพระยาและพระยา พระหลวงขุนหมื่นข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อยมารับพระราชทานน้ำพระพิพัฒนสัจจา ตามเมืองใกล้ไกล
ยังมีพระไทรเถรองค์หนึ่งเป็นเชื้อมาแต่พระนาคเสน เอาเลข กหํ ปายา มาถวาย จึง ลบ พ.ศ.๑๘๕๗ เป็น จ.ศ.๓๐๖ ปีมะโรง ฉศก เป็นจุลศักราชใหม่สำหรับอาณาจักรจะได้ใช้สืบไป แล้วสร้างวัดวิหารแกลบไว้ เป็นหลักพระพุทธศาสนา พระองค์เสวยราชสมบัติได้ ๕๙ ปี ก็สวรรคต
(ข้อความที่กล่าวถึงบุพกรรมแห่งพระยาสุทัศน์ - เว้น)
(ข้อความอันเป็นประวัติของพระยาแกรกอีกสองเรื่อง - เว้น)
เรื่องพระนเรศวรหงษา
จ.ศ.๒๑๕ พระเจ้าจันทโชติกับเจ้าฟ้าปฏิมาสุดาดวงจันทร์ขึ้นไปครอง เมืองละโว้ พร้อมทั้งเจ้าฟ้าแก้วประพาฬผู้เป็นพระพี่นางได้ขึ้นไปด้วย พระยาจันทโชติเสวยราชสมบัติได้ ๕ ปี สร้างวัดกุฎีทองถวายพระอาจารย์ ส่วนพระอัครมเหสีสร้างวัดคงคาวิหาร
จ.ศ.๒๒๐ พระเจ้าอโนรธามังฉ่อเจ้าเมืองสเทิม ปรึกษาเสนาบดีว่าจะยกไปตีเมืองละโว้ ในเดือนสิบสอง ให้เกณฑ์ช้างสามพัน ม้าห้าพัน พลแสนหนึ่ง ให้พระยาเริงจิตรตองเป็นทัพหน้า ช้างเครื่องร้อยหนึ่งม้าร้อยห้าสิบ พลหมื่นหนึ่ง นันทะกะยอซูเป็นปีกขวา นันทะกะยอทางปีกซ้าย มีช้างร้อยหนึ่ง ม้าร้อยห้าสิบ พลหมื่นหนึ่งในแต่ละปีก โปวิจารำ ช้างเจ็ดร้อย พลสองหมื่น ครั้งได้พิชัยฤกษ์ก็ยกทัพหลวงออกจากพระนครใช้เวลา ๓๙ วัน ถึงเมืองละโว้ ให้ล้อมเมืองโว้ทั้งสี่ด้านถึงเจ็ดวัน ไม่มีผู้ใดออกมารับทัพ พระเจ้าจันทโชติจึงปรึกษาเสนาบดี แต่ไม่มีผู้ใดให้ความเห็น หมื่นจะสูจึงกราบทูลว่าศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ควรคิดเป็นไมตรีด้วยทหารของเรายังไม่ชำนาญศึก พระองค์ก็เห็นด้วย จึงตรัสสั่งให้เสนาบดีแต่งวอกับนางกำนัลร้อยหนึ่ง แล้วเชิญ เจ้าฟ้าแก้วประพาฬ กับข้าสาวออกไปกับพระราชสาส์น ถวายพระพี่นางเป็นทางพระราชไมตรี พระเจ้าอโนรธามังฉ่อดีพระทัย และมีความปฏิพัทธในนางยิ่งนัก จึงให้จัดทองสิบชั่ง ช้างร้อย ม้าร้อย ให้เสนาบดีนำไปถวายพระเจ้าจันทโชติ แต่นั้นมาเมืองละโว้กับเมืองสเทิม ก็เป็นสุวรรณปฐพีเดียวกัน มีพระราชสาส์นไปมาหากัน
เมื่อกลับไปถึงพระนคร ก็แต่งการพิธีอภิเษกเจ้าแก้วประพาฬเป็นพระอัครมเหสีเอก ต่อมาเจ้าแก้วประพาฬประสูติพระราชกุมาร เมื่อจำเริญวัยขึ้น พระราชบิดาให้ช่างมาทำลูกขลุบให้พระราชกุมารเล่นเป็นนิจจนใหญ่ห้ากำ พระราชบิดาถวายพระนามพระราชกุมารชื่อ พระนเรศวร ทุกประเทศธานีเกรงบุญสมภารยิ่งนัก
ฝ่ายเจ้าฟ้าปฏิมาสุดาดวงจันทร์ มีพระราชกุมารองค์หนึ่ง ครั้งพระชนม์ได้สิบสี่ปีได้ลาพระราชบิดาไปเยี่ยมพระเจ้าป้า ณ เมืองสเทิม พระเจ้าอโนรธามังฉ่อก็รับพระราชนัดดาด้วยความชื่นชมโสมนัส พระกุมารทั้งสองรักใคร่กัน
อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้าอโนรธามังฉ่อเห็นพระราชนัดดาเป็นสี่กร จึงคิดในพระทัยว่ากุมารคนนี้จะเอามอญเป็นข้า ครั้นอยู่มาพี่น้องทั้งสองวิวาทกันด้วยขี่ม้าตีคลี พระนเรศวรแพ้ แพ้พระราชกุมาร หลายครั้งจึงคิดแค้นใคร่จะฆ่าพระราชกุมารนั้นเสีย พระราชกุมารรู้จึงคิดกับพี่เลี้ยงจะหนีไป แล้วให้เกลี้ยกล่อมมอญจะพามาด้วย พอได้ที่ก็ยกหนี พระนเรศวรของอาสาไปจับ ยกตามมาแดนไทยทัน เมื่อ จ.ศ.๔๓๑ พระนเรศวรทรงช้างต้น พลายตุ่น จะเข้าชนพลายทองแดงของราชกุมาร พลายทองแดงเล็กกว่าทานไม่ได้ถอยมา พระนเรศวรได้ทียกลูกขลุบเงื้อขึ้น จะทิ้งเอาพระราชกุมาร ๆ ร้องว่าเจ้าพี่เล่นเป็นทารกหาควรไม่ พระนเรศวรได้ยินก็ละอายพระทัยวางลูกขลุบลงเสีย พอพลายทองแดงได้ต้นพุดซาที่มั่นยันถนัด หันรับช้างพระนเรศวรแปรไป พระราชกุมารบ่ายของ้าวจ้วงฟันเห็นเป็นสี่กร
พระราชกุมารพาพวกพลมาพระนคร ถวายให้พระราชบิดาแล้วกราบทูลกิจจานุกิจทุกประการ พระราชบิดาจึงให้แต่งการสมโภชพระราชกุมารขนานนาม พระนารายณ์ แต่นั้นมา เมืองสเทิมกับเมืองละโว้ขาดทางพระราชไมตรี มอญซึ่งได้มานั้นอยู่ที่เมืองบ้าง อยู่บางขามโพชายบ้าง จนถึงบัดนี้
จ.ศ.๒๔๒ มหาอำมาตย์ครองราชสมบัติได้ ๑๒ ปี ก็สวรรคต พระนารายณ์สร้างวัดปีหนึ่ง จ.ศ.๒๔๙ พระนเรศวรยกพลสี่สิบแสนมาล้อมกรุง ตั้งค่ายอยู่ตำบลนนตรี ทราบว่าพระนารายณ์ได้ราชสมบัติ ก็เกรงพระเดชานุภาพเป็นอันมาก จึงให้แต่งหนังสือว่าจะใคร่สร้างวัดพนันคนละวัด ถ้าตนแพ้จะยกทัพกลับ ถ้าฝ่ายพระนารายณ์แพ้ตนจะครองเมือง พระนารายณ์จึงตรัสว่าพระเจ้าพี่สร้างทางทิศพายัพ พระองค์จะอยู่ข้างทิศหรดี ฝ่ายพระนเรศวรได้สั่งนายทัพนายกองจัดการทำอิฐเป็นอันมาก ก่อพระเจดีย์กว้างสี่เส้น สูงเก้าเส้นสิบวา พระนารายณ์ก่อพระเจดีย์กว้างสามเส้น สูงเจ็ดเส้นสี่วาสองศอก พระนเรศวรก่อพระเจดีย์สิบห้าวันถึงบัวกลุ่ม ให้นาม วัดภูเขาทอง พระนารายณ์จะแพ้จึงคิดกลอุบาย ทำโครงผ้าขาวคาด พระนเรศวรเห็นดังนั้นก็คิดกลัว จึงเลิกทัพกลับไป พระนารายณ์ให้ก่อจนแล้วให้นาม วัดใหญ่ชัยมงคล
แล้วพระนารายณ์ไปสร้างพระปรางค์เมืองละโว้ ขนานนามเมืองใหม่ชื่อว่า เมืองลพบุรี เป็นเมืองลูกหลวง เมื่อพระนารายณ์สวรรคต อำมาตย์เก้าคนแย่งชิงราชสมบัติกัน ทำศึกกันอยู่สองปี จ.ศ.๓๑๑ พระเจ้าหลวงได้ราชสมบัติได้เก้าปี จึงกำหนดพิกัดอากรขนอนตลาดไว้ทุกตำบล สั่งให้ยกวังเป็นวัด เรียกว่า วัดเดิม แต่นั้นมา จ.ศ.๓๖๐ สร้างเมืองใหม่ สร้างตำหนักวังอยู่ท้ายเมือง สร้างวัดโปรดสัตว์ยังไม่เสร็จก็สวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๓๗๓ พราหมณ์ปุโรหิตจึงคิดเสี่ยงเรือสุพรรณหงษ์กับเครื่องกกุธภัณฑ์ไป
|