พระสุตตันตปิฎก

4. โสณทัณฑสูตร

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในอังคชนบท เสด็จถึงนครจัมปา ประทับอยู่ใกล้ขอบสระโบกขรณีคัคครา
พราหมณ์โสณทัณฑะ ครองนครจัมปา ชาวนครจัมปาได้สดับข่าวพระสมณโคดม จึงพากันไปเฝ้า ว่าด้วยคุณของโสณทัณฑพราหมณ์

โสณทัณฑพราหมณ์เห็นดังนั้น ก็จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคด้วย แต่มีพวกพราหมณ์ต่างเมืองพวกหนึ่ง คัดค้านว่าไม่ควรไป จะเสียเกียรติยศ พระสมณโคดมควรมาหา เพราะโสณทัณฑพราหมณ์เป็น อุภโตสุชาติ ทั้งฝ่ายบิดาและมารดาตลอด 7 ชั่วบรรพบุรุษ เป็นคนมั่งคั่ง เป็นผู้เล่าเรียน มีศีล มีวาจาไพเราะ เป็นคนแก่เฒ่า เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้พระเจ้าพิมพิสารทรงสักการะ
ว่าด้วยพุทธคุณ

โสณทัณฑพราหมณ์กล่าวว่า ตนควรไปเฝ้าพระสมณโคดม เพราะพระสมณโคดมเป็นอุภโตสุชาติ ตลอดชั่ว 7 บรรพบุรุษ ทรงละพระญาติหมู่ใหญ่ออกผนวช มีศีล มีวาจาไพเราะ เป็นอาจารย์และปาจารย์ของคนหมู่มาก สิ้นกามราคะแล้ว เป็นกรรมวาที ทรงผนวชจากสกุลสูงคือกษัตริย์ เทวดาทั้งหลายถึงพระองค์เป็นสรณะ พระเกียรติศัพท์ของพระองค์ขจรไปแล้วว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระองค์ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ บริษัท 4 สักการะเคารพ เทวดาและมนุษย์เลื่อมใสในพระองค์ยิ่งนัก ได้รับยกย่องว่า เป็นยอดของเจ้าลัทธิเป็นอันมาก รุ่งเรืองพระยศด้วยวิชชาและจรณสมบัติอันยอดเยี่ยม พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศล พร้อมทั้งโอรส มเหสี ราชบริษัท และอำมาตย์ ทรงมอบชีวิตถึงพระองค์เป็นสรณะ เป็นผู้อันพราหมณ์โปกขรสาติ สักการะเคารพนับถือบูชา พระองค์ท่านมีพระคุณหาประมาณมิได้ ฯ

พราหมณ์โสณทัณฑะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฝ่ายพราหมณ์ และคฤหบดีชาวนครจัมปา บางพวกก็ถวายอภิวาท บางพวกก็ปราศรัย บางพวกก็ประนมอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค บางพวกก็ประกาศชื่อและโคตร บางพวกก็นิ่งอยู่

โสณทัณฑพราหมณ์ครุ่นคิดถึงเรื่องที่จะทูลถามพระผู้มีพระภาค และคิดปราถนาจะให้พระผู้มีพระภาค
ตรัสถามในเรื่องไตรวิชา ซึ่งตนจะสามารถแก้ให้ถูกพระทัยของพระองค์ได้

พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดในใจของพราหมณ์ ฯ จึงได้ตรัสถามว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยองค์เท่าไร พวกพราหมณ์จึงบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์
พราหมณ์บัญญัติ
โสณทัณฑพราหมณ์กราบทูลว่า บุคคลประกอบด้วยองค์ 5 ประการ พวกพราหมณ์จึงบัญญัติว่าเป็นพราหมณ์
1. เป็นอุภโตสุชาติ ทั้งฝ่ายมารดา และบิดา ตลอด 7 ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มีใครติเตียนได้ด้วยอ้างถึงชาติ
2. เป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุ คัมภีร์เกตุกะ พร้อมทั้งประเภท อักษรมีคัมภีร์ อิติหาสเป็นที่ 5 เป็นผู้เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ และมหาปุริสลักษณะ
3. เป็นผู้มีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีพรรณคล้ายพรหม มีรูปร่างคล้ายพรหม
4. เป็นผู้ศีลยั่งยืน
5. เป็นบัณฑิต มีปัญญาเป็นที่ 1 หรือที่ 2 ของพวกปฏิคาหกผู้รับบูชาด้วยกัน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บรรดาองค์ 5 นี้ ถ้าตัดออก 1 องค์คือ องค์ที่ 1 2 องค์คือ องค์ที่ 1 และที่ 2
3 องค์คือ องค์ที่ 1 ถึงองค์ที่ 3 พราหมณ์โสณทัณฑะก็ยังยอมรับว่า ผู้นั้นยังคงเป็นพราหมณ์อยู่ แต่จะขาดองค์ที่ 4 และองค์ที่ 5 ไม่ได้
ว่าด้วยคุณของมานพอังคกะ

มาณพอังคกะเป็นหลานของพราหมณ์โสณทัณฑะ โสณทัณฑพราหมณ์ได้กล่าวถึงคุณสมบัติ ของอังคกมาณพว่า มีคุณสมบัติตามองค์ที่ 1, 2 และ 3 ถึงอังคกมาณพจะฆ่าสัตว์บ้าง ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ให้บ้าง คบหาภริยาของบุคคลอื่นบ้าง กล่าวเท็จบ้าง ดื่มน้ำเมาบ้าง ในฐานะเช่นนี้ วรรณ มนต์ ชาติ จักทำอะไรได้ ด้วยเหตุว่า ผู้เป็นพราหมณ์เป็นผู้มีศีลยั่งยืน และเป็นบัณฑิตมีปัญญา เป็นที่ 1 หรือที่ 2 ของปฎิคาหก ผู้รับบูชาด้วยกัน บุคคลประกอบด้วยองค์ 2 เหล่านี้ พวกพราหมณ์จะบัญญัติ ว่าเป็นพราหมณ์ก็ได้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ในองค์ 2 นี้ ยกเสียองค์หนึ่งแล้ว บุคคลประกอบด้วยองค์เพียง 1 อาจจะบัญญัติให้เป็นพราหมณ์ได้หรือไม่ พราหมณ์โสณทัณฑะทูลว่า ข้อนี้ไม่ได้ เพราะว่าปัญญาอันศีลชำระให้บริสุทธิ์ และศีลอันปัญญาชำระให้บริสุทธิ์ ศีลมีในบุคคลใด

ปัญญาก็มีในบุคคลนั้น ปัญญามีในบุคคลใด ศีลก็มีในบุคคลนั้น นักปราชญ์ย่อมกล่าวศีลกับปัญญา ว่าเป็นยอดในโลก พระผู้มีพระภาคตรัสรับรองว่า ข้อนี้เป็นอย่างนั้น แล้วตรัสถามว่า ศีล กับปัญญานั้นเป็นอย่างไร โสณทัณฑพราหมณ์ทูลตอบว่า ตนมีความรู้เพียงเท่านี้เอง ขอให้พระองค์ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ด้วย

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสพุทธพจน์แก่พราหมณ์โสณทัณฑะว่า
พระคถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ฯลฯ เป็นผู้จำแนกพระธรรม พระคถาคตพระองค์นั้น ฯลฯ ทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ฯลฯ ผู้ที่ได้ฟังธรรมนั้น ได้ศรัทธาในพระคถาคต ฯลฯ ออกบวชเป็นบรรพชิต สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร ฯลฯ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ ฯ
จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล (รายละเอียดเช่นเดียวกับในพรมชาลสูตร ในหัวข้อเดียวกัน)
วิชชา 8 - วิปัสสนาญาณ (รายละเอียดเช่นเดียวกับในสามัญญผลสูตร ในหัวข้อเดียวกัน)
โสณทัณฑพราหมณ์

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว โสทัณฑพราหมณ์ได้กราบทูลว่า
ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก............ข้าพระองค์ขอถึงพระองค์ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง และจงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

จบ โสณทัณณฑสูตร ที่ 4