พระสุตตันตปิฎก

5. กูฏทันตสูตร

 

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในมคธชนบท พร้อมภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงพราหมณ์คามของชาวมคธชื่อขานุมัตต์ ประทับอยู่ในสวนอัมพลัฏฐิกา สมัยนั้น พราหมณ์กูฏทันตะอยู่ครองบ้านขานุมัตต์
มหายัญของกูฏทันตพราหมณ์
พราหมณ์กูฏทันตะได้เตรียมมหายัญ โคผู้ ลูกโคผู้ ลูกโคเมีย แพะ และแกะ อย่างละ 700 เพื่อบูชายัญ ชาวบ้านขานุมัตต์ได้สดับว่า พระสมณโคดมเสด็จถึงบ้านขานุมัตต์ เกียรติศัพย์อันงามของพระองค์ได้ขจรไปแล้วว่า
ว่าด้วยพุทธคุณ
พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ..... เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ..... เป็นผู้จำแนกพระธรรม ..... ทรงสอนธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงฯ ชาวบ้านขานุมัตต์ พากันไปยังสวนอัมพลัฏฐิกา ฯ
พราหมณ์กูฏทันตะได้คิดว่า พระสมณโคดม ทรงทราบยัญสมบัติ 3 ประการ ซึ่งมีบริวาร 16 แต่เราไม่ทราบ เราควรไปทูลถาม

บรรดาพวกพราหมณ์ในบ้านขานุมัตต์ทราบเรื่อง จึงห้ามพราหมณ์กูฏทันตะว่าไม่ควรไป เพราะจะเสียเกียรติด้วยเหตุผลหลายประการ เป็นต้นว่า เป็น อุภโตชาติ มีศีล เป็นอาจารย์และปาจารย์ของชนหมู่มาก ฯลฯ แต่กูฏทันตพราหมณ์ไม่เห็นด้วย ด้วย เหตุผลหลายประการเช่นกัน เป็นต้นว่าพระสมณโคดม เป็นอุภโตชาติ เสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิต มีศีลประเสริฐ เป็นอาจารย์และปาจารย์ของคนหมู่มาก สิ้นกามราคะแล้ว เป็นกรรมวาที และกิริยาวาที ไม่ทรงมุ่งร้ายแก่พวกพราหมณ์ ฯลฯ และเกียรติศัพย์อันงามของพระองค์ได้ขจรไปว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ..... (รายละเอียดว่าด้วยพุทธคุณ) และเพิ่มเติมอีกเป็นต้นว่า เป็นคณาจารย์ เป็นยอดของเจ้าลัทธิเป็นอันมาก พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศล พราหมณ์โปกขรสาติ พากันสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ฯลฯ ดังนั้น เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงบ้านของเรา จัดว่าเป็นแขกที่ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา
พราหมณ์กูฏทันตะพร้อมคณะพราหมณ์หมู่ใหญ่ ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้กราบทูลว่า ได้สดับมาว่า ทรงทราบยัญสมบัติ 3 ประการ ซึ่งมีบริวาร 16 ขอให้พระองค์โปรดแสดงด้วย
ว่าด้วยยัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้าวิชิตราชคิดว่าจะพึงบูชามหายัญ ที่จะเป็นประโยชน์และความสุขของตนชั่วกาลนาน เมื่อทรงถามพราหมณ์ปุโรหิต ก็ได้รับคำชี้แจงว่า การปราบปรามเสี้ยนหนามคือโจร ด้วยการยกภาษีอากร ด้วยการประหาร ด้วยการจองจำ ด้วยการปรับไหม ด้วยการตำหนิโทษหรือเนรเทศ ไม่ชื่อว่าเป็นการปราบปรามโดยชอบ การปราบปรามโดยชอบอาศัยวิธีการดังต่อไปนี้
1. พลเมืองเหล่าใด ขะมักเขม้นในกสิกรรม และโครักขกรรม จงเพิ่มข้าวปลูกและข้าวกินให้
2. พลเมืองเหล่าใด ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรม จงเพิ่มทุนให้
3. พลเมืองเหล่าใดขยัน จงให้เบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนในโอกาสอันควร
พลเมืองเหล่านั้น จักเป็นผู้ขวนขวายในการงานของตน ไม่เบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ บ้านเมืองจะมั่งคั่ง และอยู่ในความสุข ไม่มีการเบียดเบียนกัน

พระเจ้าวิชิตราช ทำตามคำของพราหมณ์ปุโรหิต ก็ได้ผลตามที่กล่าวไว้ทุกประการ
ต่อมาพระเจ้าวิชิตราช ได้หารือกับพราหมณ์ปุโรหิตว่า ปรารถนาจะบูชามหายัญ ก็ได้รับคำแนะนำว่า อนุยนต์กษัตริย์ อำมาตย์ราชบริพาร พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีผู้มั่งคั่ง เหล่าใด ขอให้เรียกมาปรึกษาว่า เราจะบูชามหายัญ ขอท่านจงร่วมมือกับเรา เพื่อประโยชน์สุขแก่เราชั่วกาลนาน บรรดาชนเหล่านั้น กราบทูลว่า ให้บูชายัญเถิด บรรดาชนผู้เห็นชอบทั้ง 4 เหล่านี้ จัดเป็นบริวารของยัญนั้น

พระเจ้ามหาวิชิตราช ทรงประกอบด้วยองค์ 8 ประการ คือ ทรงเป็นอุภโตชาติ ทรงเป็นบัณฑิต มีพระรูปงาม ทรงมั่งคั่ง ทรงมีกำลัง ทรงพระราชศรัทธา ทรงศึกษา ทรงสดับมาก ทรงทราบอรรถแห่งภาษิต และทรงเป็นบัณฑิต องค์ 8 ประการนี้ จัดเป็นบริวารแห่งยัญโดยแท้
พราหมณ์ปุโรหิต ประกอบด้วยองค์ 4 ประการ คือ เป็นอุภโตชาติ เป็นผู้เล่าเรียน เป็นผู้มีศีล และเป็นบัณฑิต องค์ 4 ประการนี้ จัดเป็นบริวารแห่งยัญโดยแท้
ยัญญสัมปทา 3 มีบริวาร 16

พราหมณ์ปุโรหิตได้แสดงยัญวิธี 3 ประการ ถวายพระเจ้าวิชิตราชก่อนทรงบูชายัญว่า เมื่อพระองค์บูชายัญอยู่ ความวิปฏิสารบางอย่างพึงมีว่า กองโภคสมบัติของเราจักหมดเปลือง กำลังหมดเปลืองอยู่ และได้หมดเปลืองไปแล้ว พระองค์ไม่ควรทำความวิปฏิสารเช่นนั้น
พราหมณ์ปุโรหิตได้กำจัดวิปฏิสาร ของพระเจ้าวิชิตราช เพราะพวกปฏิคาหก โดยอาการ 10 ประการ ก่อนบูชายัญ คือ ขอพระองค์ทรงปรารภเฉพาะพวกที่

1. งดเว้นจากปาณาติบาต
2. งดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้
3. งดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
4. งดเว้นจากการกล่าวคำเท็จ
5. งดเว้นจากการกล่าวคำส่อเสียด
6. งดเว้นจากการกล่าวคำหยาบ
7. งดเว้นจากการกล่าวคำเพ้อเจ้อ
8. ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น
9. มีจิตไม่พยาบาท
10. เป็นสัมมาทิฐิ
แล้วทรงบูชา ทรงบริจาค ทรงอนุโมทนา และทรงทำพระหฤทัยให้ผ่องใสในภายใน
จากนั้นพราหมณ์ปุโรหิตได้ยังพระหฤทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราช ให้ทรงเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง โดยอาการ 16 ประการ ซึ่งใคร ๆ จะพึงตำหนิไม่ได้
ในยัญนั้น ไม่ต้องฆ่าโค แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์นานาชนิด ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำเป็นหลักยัญ ไม่ต้องเกี่ยวหญ้าคามา เพื่อเบียดเบียนสัตว์อื่น ฯ
แม้ชนเหล่าใด ที่เป็นทาส เป็นคนใช้ เป็นกรรมกร ของพระเจ้ามหาวิชิตราช ชนเหล่านั้นก็มิได้ถูกอาชญาคุกคาม มิได้ถูกภัยคุกคาม ไม่ต้องโศกเศร้า ปรารถนาจะกระทำจึงทำ ไม่ปรารถนาก็ไม่ต้องทำ ยัญนั้นได้สำเร็จแล้วด้วยลำพัง เนยใส น้ำมัน เนยข้น เปรียง น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เท่านั้น ฯ
ลำดับนั้น พวกอนุยนต์กษัตริย์ พวกอำมาตย์ พวกพราหมณ์มหาศาล พวกคฤหบดีผู้มั่งคั่ง ซึ่งเป็นชาวนิคมและชนบท ต่างพากันนำทรัพย์มากมายมาถวาย แต่พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงปฏิเสธ ชนดังกล่าวจึงชวนกันบูชายัญตามเสด็จ
ชนผู้เห็นชอบตามพระราชดำริ 4 จำพวก พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงประกอบด้วยองค์ 8 พราหมณ์ปุโรหิต ประกอบด้วยองค์ 4 รวมเป็น 3 อย่าง ทั้ง 3 ประการ รวมเรียกยัญสัมปทา 3 อย่าง มีบริวาร 16
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว บรรดาพราหมณ์เหล่านั้น ต่างส่งเสียง แสดงความชื่นชม ยินดี กูฏทันตพราหมณ์ได้ทูลถามถึงคติของผู้บูชายัญครั้งนั้น พระองค์ตรัสตอบว่า เขาเหล่านั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ และในครั้งนั้น พระองค์ได้เป็นพราหมณ์ปุโรหิต ผู้อำนวยการบูชายัญ
ว่าด้วยพุทธยัญ นิจจทาน
กูฏทันตพราหมณ์กราบทูลถามว่า ยัญอย่างอื่นซึ่งใช้ทรัพย์น้อยกว่า มีการตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า ยัญดังกล่าวมีอยู่หรือ
ตรัสตอบว่ามีอยู่ คือ นิยตทาน อันเป็นอนุกูลยัญ ที่บุคคลถวายเจาะจงพวกบรรพชิตผู้มีศีล เพราะพระอรหันต์ก็ดี ท่านผู้ที่บรรลุอรหัตมัคก็ดี ย่อมไม่เข้าไปสู่ยัญเช่นนั้น เพราะในยัญปรากฎว่ามีการประหารด้วยอาการต่าง ๆ ส่วนนิตยทาน ไม่มีการประหาร
การสร้างวิหารแด่พระสงฆ์ผู้มาแต่ทิศทั้ง 4
ยังมียัญอย่างอื่นที่ใช้ทรัพย์น้อยกว่า ตระเตรียมน้อยกว่า และมีผลมากกว่านิตยทาน คือยัญของบุคคลที่สร้างวิหาร อุทิศพระสงฆ์ผู้มาแต่ทิศทั้ง 4
สรณาคมณ์
ยังมียัญที่ให้ผลมากกว่า วิหารทาน คือ ยัญของผู้ที่มีจิตเลื่อมใสถึง พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ
การสมาทานศีลห้า
ยังมียัญที่ให้ผลมากกว่า สรณาคมณ์ คือ การที่บุคคลเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส สมาทานสิกขาบททั้งหลาย คืองดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท จากการดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นฐานแห่งความประมาท

ยังมียัญอย่างอื่นที่ให้ผลมากกว่า สิกขาบท ดังกล่าวคือ
พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ ..... (รายละเอียดในพุทธคุณ) ..... ผู้ที่ได้ฟังธรรมแล้ว ได้ศรัทธาในพระตถาคต ได้ออกบวชเป็นบรรพชิต สำรวมระวังในพระปาติโมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยมรรยาท และโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม ที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ
จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล

รายละเอียดเช่นเดียวกับในพรหมชาลสูตร ในหัวข้อเดียวกัน
รูปฌาน 4 วิชชาแปด - วิปัสสนาญาณ
รายละเอียดเช่นเดียวกับในสามัญญผลสูตร ในหัวข้อเดียวกัน
กูฏทันตพราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก

เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสพระธรรมเทศนาอย่างนี้แล้ว กูฏทันตพราหมณ์ได้กราบทูลว่า
ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ..... พระองค์ทรงประกาศพระธรรมโดยเอนกปริยาย ข้าพเจ้าขอถึงพระโคดมผู้เจริญ ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ จงทรงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ข้าพเจ้าได้ปล่อยโคผู้ 700 ลูกโคผู้ 700 ลูกโคเมีย 700 แพะ 700 แกะ ได้ให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น
กูฏทันตพราหมณ์บรรลุโสดาปัตติผล

พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสอนุปุพพิกถา แก่พราหมณ์กูฏทันตะ คือทรงประกาศทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษของกามที่ต่ำช้า เศร้าหมอง และอานิสงส์ในการออกจากกาม เมื่อทรงทราบว่า พราหมณ์กูฏทันตะ มีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ ร่าเริง ใส แล้วจึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พราหมณ์กูฏทันตะ ได้ดวงตาเห็นธรรม อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา พราหมณ์กูฏทันตะ เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแล้ว หยั่งทราบถึงธรรมทั่วถึงแล้ว ข้ามพ้นความสงสัย ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในสัตถุศาสนา

จบ กูฏทันตสูตร ที่ 5