พระสุตตันตปิฎก

6. มหาลิสูตร

 

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี สมัยนั้น พราหมณ์ทูตชาวโกศลรัฐ และพราหมณ์ทูตชาวมคธรัฐมากด้วยกัน พักอยู่ในเมืองเวสาลี ได้สดับข่าวว่า ..... (รายละเอียดว่าด้วยพุทธคุณ) แล้วได้เข้าไปยังกูฏาคารศาลา
เรื่องของพระนาคิตเถระ พุทธอุปัฏฐาก

สมัยนั้น พระนาคิตเถระ เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค เมื่อพวกพราหมณ์ และพวกเจ้าลิจฉวี จะขอเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่พระนาคิตเถระตอบว่า พระผู้มีพระภาคทรงประทับหลีกเร้นอยู่ เขาเหล่านั้นจึงนั่งคอยเข้าเฝ้าอยู่ ต่อมาสามเณรนามว่าสีหะ ได้ขอร้องพระนาคิตะ ขอให้อนุญาตให้ผู้มารอเข้าเฝ้าดังกล่าวได้เข้าเฝ้า พระนาคิตะจึงให้สามเณรสีหะไปกราบทูล สามเณรสีหะจึงเข้าไปกราบทูล พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสสั่งให้สามเณรสีหะ จัดอาสนะในร่มหลังวิหาร ให้เป็นที่เข้าเฝ้า
เจ้าโอษฐัทธลิจฉวี พร้อมบริษัทหมู่ใหญ่ ได้เข้าเฝ้าแล้ว จึงได้กราบทูลถาม ถึงการได้เห็นรูปทิพย์อันน่ารักประกอบด้วยกาม แต่ไม่ได้ยินเสียงทิพย์ ดังนั้นเสียงทิพย์มีอยู่หรือไม่ ทรงตรัสตอบว่ามี
สมาธิที่บำเพ็ญเฉพาะส่วน

ทรงตรัสว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญสมาธิเฉพาะส่วน เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก แต่มิได้เจริญ เพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ และเจริญเพื่อได้ยินเสียงทิพย์อันไพเราะ แต่มิได้เจริญเพื่อได้เห็นรูปทิพย์อันน่ารัก
การเห็นรูปทิพย์ การฟังเสียงทิพย์
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญสมาธิโดยส่วนสอง เพื่อเห็นรูปทิพย์อันน่ารัก และเพื่อฟังเสียงทิพย์อันไพเราะ
เหตุแห่งการทำให้แจ้งสมาธิภาวนา
เจ้าลิจฉวีกราบทูลถามว่า ภิกษุทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อเหตุจะทำให้แจ้งซึ่งสมาธิภาวนาเหล่านั้น เพียงเท่านั้นหรือ

ตรัสตอบว่ามิใช่ ยังมีธรรมอื่น เพื่อเหตุจะทำให้แจ้ง อันดีกว่า ประณีตกว่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นโสดาบัน มีความเป็นผู้ไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง มีอันจะตรัสรู้ เป็นเบื้องหน้า เพราะสัญโยชน์ 3 หมดสิ้นไป
ยังมีข้ออื่นอีก ภิกษุเป็นสกทาคามี มาสู่โลกนี้ เพียงอีกครั้งเดียว จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะสัญโยชน์ 3 หมดสิ้นไป และเพราะ ราคะ โทสะ โมหะ หมดไป
ยังมีข้ออื่นอีก ภิกษุไปเกิดในภพสูง ปรินิพพานในภพนั้น ไม่ต้องเวียนกลับมาจากโลกนั้น เพราะสัญโยชน์ ส่วนเบื้องต่ำ 5 ประการ หมดสิ้นไป
อริยมรรคมีองค์ 8
ยังมีข้ออื่นอีก ภิกษุทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง บรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะสิ้นอาสวะอยู่ในปัจจุบัน

มรรคมีองค์ 8 อันประเสริฐ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ ความเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ มรรคนี้ปฏิปทานี้ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมเหล่านั้น
เรื่องของมัณฑิยปริพาชกและชาลิยปริพาชก

ดูกร มหาลี สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ดังนั้น บรรพชิต 2 รูป คือ มัณฑิยปริพาชก และชาลิยะ เข้าไปหาเรา แล้วถามว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง เราตอบว่า ท่านจงฟัง แล้วแสดงพุทธคุณ จากนั้น แสดง จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล รูปญาณ 4 วิชชา 8 วิปัสสนาญาณ จบแล้วทรงสรุปว่า ภิกษุใดรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นควรจะกล่าวอย่างที่ทั้งสองรูปถามหรือไม่ ทั้งสองรูปก็ยอมรับว่า จะไม่ถามเช่นนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสพุทธพจน์นี้แล้ว เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวียินดี ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค

จบ มหาลิสูตร ที่ 6

7. ชาลิยสูตร

เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องจากมหาลิสูตร ในตอนท้ายที่ว่าด้วยเรื่องมัณฑิยปริพาชก และชาลิยปริพาชก ที่พากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ที่โฆสิตาราม แล้วถามปัญหาเดียวกัน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพุทธคุณ จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล รูปฌาณ 4 วิชชา 8 และวิสัปสสนาญาณ จบแล้ว ทรงสรุปทำนองเดียวกัน
บรรพชิตทั้ง 2 รูป ก็ยินดีชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค

จบ ชาลิยสูตร ที่ 7

8. มหาสีหนาทสูตร

 

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กัณณกถลมิคทายวัน เขตอุชุญญานคร ครั้งนั้น อเจลกชื่อว่า กัสสป เข้าไปเฝ้าแล้วกราบทูลถามว่า ตนได้สดับมาว่า พระสมณโคดมทรงติ ตบะทุกอย่าง ทรงคัดค้านกล่าวโทษบุคคลผู้ประพฤติตบะทั้วปวง ผู้มีอาชีพเศร้าหมองโดยส่วนเดียว

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่เรา ด้วยคำไม่มีจริง ไม่เป็นจริง เราเห็นผู้ที่ประพฤติตบะ มีอาชีพเศร้าหมอง บางคนในโลกนี้ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุมนุษย์ก็มี เห็นผู้ประพฤติดังกล่าว เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ก็มี เราเห็นผู้ประพฤติตบะบางคน อยู่เป็นทุกข์เพราะบุญน้อย เข้าถึง อบาย ..... นรก ก็มี เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ก็มี เรารู้การมา การไป จุติและอุปบัติ ของผู้ประพฤติตบะเหล่านี้ ตามความเป็นจริงเช่นนี้ เหตุไร เราจักติตบะทุกอย่าง จักคัดค้านกล่าวโทษ ผู้ประพฤติตบะทั้งปวง โดยส่วนเดียวเล่า
ดูกร กัสสป มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เป็นบัณฑิต มีปัญญาละเอียด ทำการโต้เถียงผู้อื่น พวกนั้น ย่อมลงกับเราในฐานะบางอย่าง ไม่ลงกับเราในฐานะบางอย่าง บางอย่างเขากล่าวว่าดี แม้เราก็กล่าวว่าดี บางอย่างเขากล่าวว่าไม่ดี แม้เราก็กล่าวว่าไม่ดี บางอย่างเขากล่าวว่าดี เรากล่าวว่าไม่ดี บางอย่างเขากล่าวว่าไม่ดี เรากล่าวว่าดี เราเข้าไปหาสมณพราหมณ์พวกนั้น แล้วกล่าวว่า ฐานะที่เราไม่ลงกัน จงงดไว้ ในฐานะที่ลงกัน วิญญูชนจงซักไซ้ไล่เลียงสอบสวน เปรียบเทียบครูด้วยครู เปรียบเทียบหมู่ด้วยหมู่ ว่าธรรมของท่านพวกนี้ เหล่าใดเป็น อกุศล มีโทษ ไม่ควรเสพ ไม่เป็นธรรมอันประเสริฐ เป็นฝ่ายดำ ใครละธรรมเหล่านี้ได้ไม่มีเหลือประพฤติอยู่ พระสมณโคดมหรือคณาจารย์เหล่าอื่น ๆ
กถาว่าด้วยการละอกุศล

ดูกร กัสสป ฐานะที่จะมีได้ คือ วิญญูชน เมื่อไล่เลียงสอบสวน ทั้งกล่าวว่า ธรรมของท่านเหล่าใดเป็นอกุศล ..... เป็นฝ่ายดำ พระสมณโคดมละธรรมเหล่านี้ได้ไม่มีเหลือ หรือว่าคณาจารย์เหล่าอื่น ดูกร กัสสป วิญญูชนโดยมาก พึงสรรเสริญพวกเราพวกเดียวในข้อนั้น ๆ
กถาว่าด้วยการสมาทานกุศล

ดูกร กัสสป อีกข้อหนึ่ง วิญญูชนจงไล่เลียงสอบสวนพวกเรา ว่าธรรมของท่านพวกนี้ เหล่าใดเป็นกุศล ไม่มีโทษ ควรเสพ เป็นธรรมประเสริฐ เป็นฝ่ายขาว ใครสมาทานเหล่านี้ไม่มีเหลือ ประพฤติอยู่ พระสมณโคดม หรือคณาจารย์เหล่าอื่น ก็ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือวิญญูชน เมื่อไล่เลียงสอบสวน โดยมากพึงสรรเสริญพวกเราพวกเดียวในข้อนั้น

จากนั้นพระองค์ได้ทรงเปรียบเทียบทำนองเดียวกัน ระหว่างสาวกของพระองค์ และสาวกของคณาจารย์เหล่าอื่น แล้วทรงตรัสว่า

มรรคามีอยู่ ปฏิปทามีอยู่ ผู้ปฏิบัติตามแล้ว จักรู้เองเห็นเองว่า พระสมณโคดมกล่าวตามกาล กล่าวจริง กล่าวอรรถ กล่าวธรรม กล่าววินัย มรรคาประกอบด้วยองค์ 8 อันประเสริฐ คือ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ
กถาว่าด้วยการหลีกบาปด้วย ตบะ

อเจลกกัสสป กราบทูลว่า การบำเพ็ญตบะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ นับว่าเป็นการงานของสมณพราหมณ์ มีอยู่คือ เป็นคนเปลือย ทอดทิ้งมรรยาท ..... ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุราเมรัย ..... เป็นผู้ขวนขวายในการบริโภคภัต ที่เวียนมาตั้งถึงเดือนเช่นนี้บ้าง มีผักดองเป็นภิกษาบ้าง ..... บริโภคผลไม้หล่นเยียวยาอัตภาพ ฯ

ทรงผ้าป่านบ้าง ผ้าแกมกันบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง ผ้าบังสุกุลบ้าง ..... ผ้าทำด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง เป็นผู้ถอนผมและหนวด ..... เป็นผู้นอนบนหนาม ..... เป็นผู้บริโภคคูต เป็นผู้ห้ามน้ำเย็น ฯลฯ

ตรัสว่า สีลสัมปทา จิตตสัมปทา หรือปัญญาสัมปทานี้ ก็ยังไม่ชื่อว่า อบรมแล้ว กระทำให้แจ้งแล้ว ที่แท้เขายังห่างจากสามัญคุณ และพรหมัญคุณ เมื่อภิกษุเจริญเมตตาจิตอันไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ภิกษุนี้เราเรียกว่า สมณบ้าง พราหมณ์บ้าง
ว่าด้วยการบริโภคปริยายภัต

อเจลกกัสสป กราบทูลว่า สามัญคุณทำได้ยาก พรหมัญคุณทำได้ยาก ฯ
ตรัสว่า ข้อนี้เป็นปกติในโลกที่เป็นเช่นนั้น หากว่าเป็นอเจลกผู้ทอดทิ้งมรรยาท ..... ฯลฯ สามัญคุณหรือพรหมัญคุณ จักชื่อว่าเป็นกิจที่กระทำได้ยาก ด้วยการปฏิบัติมีประมาณน้อยนี้ และด้วยการบำเพ็ญตบะนี้แล้ว ไม่น่าจักต้องกล่าวว่า สามัญคุณทำยาก พรหมคุณทำยาก
เมตตาจิตภาวนา

อเจลกกัสสป กราบทูลว่า สมณยากที่ใคร ๆ จะรู้ได้ พราหมณ์ยากที่ใครๆ จะรู้ได้ ฯ
ตรัสว่า ข้อนี้เป็นปกติในโลก แล้วทรงกล่าวถึงพฤติกรรมของอเจลกะ ผู้ทอดทิ้งมรรยาท ฯลฯ เช่นที่กล่าวมาแล้ว
ศีลสมาธิปัญญาสัมปทา

อเจลกกัสสป กราบทูลว่า ศีลสัมปทา จิตตสัมปทา ปัญญาสัมปทา เป็นไฉน
ตรัสตอบว่า พระตถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้ ..... ทรงแสดงพุทธคุณจนจบ แล้วแสดงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ซึ่งเป็นสีลสัมปทา อินทรีย์สังวรและ (รายละเอียดมีในพรหมชาลสูตร ในหัวข้อเดียวกัน)
ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรีย์สังวร สติสัมปชัญญะ และสันโดษอันเป็นอริยะเช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด นั้งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ละความเพ่งเล็งในโลก ละความประทุษร้าย ละถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกุจจะ ละวิจิกิจฉา ไม่มีความคลางแคลงใจในกุศลธรรม
เปรียบเหมือนผู้ที่กู้หนี้ไปประกอบการงาน แล้วหมดหนี้ มีกำไรเหลือ
เปรียบเหมือนผู้อาพาธ แล้วหายจากอาพาธ และมีกำลังกาย
เปรียบเหมือนผู้ที่ถูกจองจำ แล้วพ้นจากการจองจำ โดยไม่มีภัย ไม่เสียทรัพย์
เปรียบเหมือนผู้ที่เป็นทาษ แล้วพ้นจากความเป็นทาษ พึ่งตัวเองได้
เปรียบเหมือนผู้ที่มีทรัพย์เดินทางไกล มีภัยเฉพาะหน้า ได้บรรลุจุดหมายโดยปลอดภัย
ภิกษุเห็นนิวรณ์ 5 ประการ ที่ยังละไม่ได้ เหมือนหนี้ เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาษ เหมือนทางไกลกันดาร เมื่อละได้แล้ว ก็เหมือนพ้นจากภาระอันไม่พึงประสงค์ ในแต่ละประการดังกล่าวแล้ว
เมื่อละนิวรณ์ได้แล้ว ย่อมเกิดปราโมทย์ แล้วเกิดปิติ กายย่อมสงบ ย่อมได้เสวยสุข
เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปิติ และสุข อันเกิดแต่วิเวกอยู่ นี้เป็นจิตตสัมปทา ฯ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติ และสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ นี้เป็นจิตตสัมปทา ฯ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไปบรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุขนี้เป็นจิตตสัมปทา ฯ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ ดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขา เป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้เป็นจิตตสัมปทา ฯ
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ย่อมรู้ชัดว่า กายเรานี้มีรูป ประกอบด้วยมหาภูตรูป 4 เกิดแต่บิดามารดา เติบโตขึ้นด้วยอาหาร ไม่เที่ยง มีอันทำลาย และกระจัดกระจายเป็นธรรมดา วิญญาณของเรานี้ อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้ นี้เป็นปัญญาสัมปทา ฯ
เมื่อจิตเป็นสมาธิ ฯลฯ ย่อมน้อมจิตไป เพื่อนิรมิตรูป อันเกิดแต่ใจ ฯลฯ นี้เป็นปัญญาสัมปทา ฯ
เมื่อจิตเป็นสมาธิ ฯลฯ ย่อมน้อมจิตไป เพื่ออิทธิวิธี ฯลฯ นี้เป็นปัญญาสัมปทา ฯ
เมื่อจิตเป็นสมาธิ ฯลฯ ย่อมน้อมจิตไป เพื่อทิพยโสตธาตุ ฯลฯ นี้เป็นปัญญาสัมปทา ฯ
เมื่อจิตเป็นสมาธิ ฯลฯ ย่อมน้อมจิตไป เพื่อเจโตปริยญาณ ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ฯลฯ นี้เป็นปัญญาสัมปทา ฯ
เมื่อจิตเป็นสมาธิ ฯลฯ ย่อมน้อมจิตไป เพื่อบุพเพนิวาสานุสสติญาณ ย่อมระลึกชาติก่อนได้ เป็นอันมาก ฯลฯ นี้เป็นปัญญาสัมปทา ฯ
เมื่อจิตเป็นสมาธิ ฯลฯ ย่อมน้อมจิตไป เพื่อจุตูปปาตญาณ ย่อมรู้จุติ และอุปปัติของสัตว์ทั้งหลาย .... ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ นี้เป็นปัญญาสัมปทา ฯ
เมื่อจิตเป็นสมาธิ ฯลฯ ย่อมน้อมจิตไป เพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกข์นิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวะสมุทัย นี้อาสวะนิโรธ นี้อาสวะนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี นี้เป็นปัญญาสัมปทา ฯ

ดูกร กัสสป สีลสัมปทา จิตตสัมปทา ปัญญาสัมปทา ข้ออื่นที่ยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า สีลสัมปทา จิตตสัมปทา ปัญญาสัมปทา นี้ไม่มีเลย
ดูกร กัสสป มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เป็นผู้กล่าวศีล สรรเสริญคุณแห่งศีล ศีลอันประเสริฐอย่างยอด มีประมาณเท่าไร เรายังไม่เห็นผู้ทัดเทียมเรา ในศีลอันประเสริฐนั้น เราผู้เดียวเป็นผู้ยิ่ง ในศีลอันประเสริฐอย่างยอดนั้น คือ อธิศีล
ดูกร กัสสป มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เป็นผู้กล่าว ตบะอันกีดกันกิเลส สรรเสริญคุณแห่งตบะอันกีดกันกิเลส อันประเสริฐอย่างยอด มีประมาณเท่าไร เราไม่เห็นผู้ทัดเทียมเราในตบะ อันกีดกันกิเลสอันประเสริฐอย่างยอดนั้น เราผู้เดียวเป็นผู้ยิ่งในตบะอันกีดกันกิเลสอันประเสริฐอย่างยอดนั้น คือ อธิจิต

ดูกร กัสสป มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เป็นผู้กล่าวปัญญา สรรเสริญคุณแห่งปัญญา ปัญญาอันประเสริฐอย่างยอด มีประมาณเท่าไร เราไม่เห็นผู้ทัดเทียมเรา ในปัญญาอันประเสริฐอย่างยอดนั้น เราผู้เดียวเป็นผู้ยิ่งในปัญญาอันประเสริฐอย่างยอดนั้น คือ อธิปัญญา

ดูกร กัสสป มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เป็นผู้กล่าววิมุตติ สรรเสริญคุณแห่งวิมุตติ วิมุตติอันประเสริฐอย่างยอด มีประมาณเท่าไร เราไม่เห็นผู้ทัดเทียมเรา ในวิมุตติอันประเสริฐอย่างยอดนั้น เราผู้เดียวเป็นผู้ยิ่ง ในวิมุตติอันประเสริฐอย่างยอดนั้น คือ อธิวิมุตติ
สีหนาท
ดูกร กัสสป ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ คือ พวกปริพาชก อัญญเดียรถีย์ จะพึงกล่าวว่า พระสมณโคดม บันลือสีหนาท แต่บันลือในเรือนว่าง ไม่ใช่ในบริษัท ท่านพึงบอกปริพาชกพวกนั้นว่า พระสมณโคดม บันลือสีหนาท และบันลือในบริษัท มิใช่บันลือในเรือนว่าง

ดูกร กัสสป ท่านพึงบอกพวกเขาว่า พระสมณโคดม บันลือสีหนาท และบันลือในบริษัท ทั้งบันลืออย่างองอาจ เทวดา และมนุษย์ ย่อมถามปัญหาพระองค์ พระองค์ย่อมพยากรณ์แก่เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นได้ ยังจิตของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ให้ยินดีด้วยการพยากรณ์ปัญหา เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ย่อมสำคัญปัญหาพยากรณ์ว่า อันตน ๆ ควรฟัง ครั้นฟังแล้วย่อมเลื่อมใส ย่อมทำอาการของผู้เลื่อมใส ย่อมปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ครั้นปฏิบัติแล้วย่อมชื่นชม

ดูกร กัสสป ครั้งหนึ่งเราอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ เพื่อนพรหมจรรย์ของท่านคนหนึ่ง ชื่อนิโครธปริพาชก ได้ถามปัญหา ตบะอันกีดกันกิเลสอย่างยิ่ง เราได้พยากรณ์แก่เขา เขาปลื้มใจเหลือเกิน
อเจลกกัสสป กราบทูลว่า ใครเล่าฟังธรรมของพระองค์แล้ว จะไม่ปลื้มใจอย่างเหลือเกิน ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ..... ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระองค์
ติตถิยปริวาส

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ใดเคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังบรรพชา อุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาสสี่เดือน ภิกษุทั้งหลายเต็มใจแล้ว จึงให้บรรพชา อุปสมบท เพื่อความเป็นภิกษุ ก็แต่ว่าเรารู้ความต่างแห่งบุคคลในข้อนี้

อเจลกกัสสปกราบทูลว่า ข้าพระองค์จักอยู่ปริวาสสี่ปี อเจลกกัสสปได้บรรพชาอุปสมบท ในสำนักพระผู้มีพระภาคแล้วไม่นาน เป็นผู้ ๆ เดียวหลีกออกแล้ว ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้ว ไม่นานนัก ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี ท่านกัสสปได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง

จบ มหาสีหนาทสูตร ที่ 8