พระสุตตันตปิฎก

9. โปฏฐปาทสูตร
เรื่องปริชาชกโปฏฐปาทะ

 

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เขตนครสาวัตถี
สมัยนั้น โปฏฐปาทปริพาชก พร้อมปริพาชกหมู่ใหญ่ ประมาณ 3,000 คน อาศัยอยู่ในมัลลิการาม อันเป็นสถานที่โต้ลัทธิ ครั้นนั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคได้เสด็จไปหาโปฏฐปาทปริพาชก
ติรัจฉานกถา

สมัยนั้น โปฏฐปาทปริพาชก กับบรรดาปริพาชกหมู่ใหญ่ กำลังสนทนาติรัจฉานกถา ด้วยเสียงอันดัง คือ พูดเรื่อง พระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องนคร เรื่องชนบท เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องคนกล้าหาญ เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม
พอเห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล จึงห้ามพวกของตน ให้เบาเสียงลง เพราะพระองค์โปรดเสียงเบา บางทีอาจจะเสด็จเข้ามาก็ได้ ดังนั้นพวกปริพาชกจึงพากันนิ่ง
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง เธอได้กราบทูลเชิญให้ประทับนั่งที่อาสนะ พระองค์ได้รับสั่งถามว่า พวกท่านสนทนาเรื่องอะไรกันอยู่
ว่าด้วยอภิสัญญานิโรธ

โปฎฐปาทปริพาชก กราบทูลว่า ข้อนั้นของดไว้ก่อน แต่ว่าเมื่อวันก่อน พวกสมณพราหมณ์ ผู้มีลัทธิแตกต่างกัน ได้ประชุมกันที่โกตุหลศาลา ได้สนทนากันในอภิสัญญานิโรธว่า สัญญาของบุรุษไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เกิดขึ้นเอง ดับไปเอง อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า สัญญาเป็นอัตตาของบุรุษ และอัตตานั้นเข้ามาก็มี ไปปราศก็มี อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า สมณพราหมณ์ที่มีฤทธิ์มากมีอยู่ จะบันดาลให้มีก็ได้ ให้พรากก็ได้ ซึ่งสัญญาของบุรุษนี้ อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า เทวดาที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากมีอยู่ จะบันดาลให้มีก็ได้ ให้พรากก็ได้ ซึ่งสัญญาของบุรุษนี้ ขอพระองค์ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ด้วยว่า อภิสัญญานิโรธนั้นเป็นไฉน

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ในสมณพราหมณ์เหล่านั้น พวกที่กล่าวว่าสัญญาของบุรุษ ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เกิดขึ้นเอง ดับไปเองนั้น เป็นความเห็นที่ผิดแต่ต้น เพราะสัญญาของบุรุษ มีเหตุมีปัจจัย เกิดขึ้นก็มี ดับไปก็มี สัญญาอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นเพราะการศึกษาก็มี ดับไปเพราะการศึกษาก็มี ข้อที่พึ่งศึกษาเป็นไฉน แล้วทรงแสดงพุทธคุณ (รายละเอียดดูในสามัญผลสูตร) เมื่อผู้ที่ได้ฟังเกิดศรัทธา จึงบวชเป็นบรรพชิต ถึงพร้อมด้วย จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล (รายละเอียดดูในพรหมชาลสูตร) และอินทรีย์สังวร สติสัมปชัญญะ และสันโดษ (รายละเอียดดูในสามัญผลสูตร ในหัวข้อเดียวกัน)

ทรงตรัสว่า ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ และสันโดษ อันเป็นอริย เช่นนี้แล้ว ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด นั่งคู้บัลลังก์ ฯลฯ ชำระจิตให้บริสุทธิ์ จากนิวรณ์ 5 คือ จากความเพ่งเล็งในโลก คือ จากความพยาบาท จากถีนมิทธะ คือความง่วงเหงาซึมเซา จากอุทธัจจกุกกุจจะ คือไม่ฟุ้งซ่าน และจากวิจิกิจฉา คือความคลางแคลงสงสัยในกุศลธรรมทั้งหลาย
เปรียบนิวรณ์ (รายละเอียดดูจากสามัญผลสูตร)

เมื่อละนิวรณ์ 5 ได้แล้ว ย่อมเกิดปราโมทย์ เกิดปิติ กายย่อมสงบ ย่อมได้เสวยสุข จิตย่อมตั้งมั่นไปตามลำดับ เมื่อสงัดจากกาม จากอกุศลธรรม ก็จะบรรลุ ปฐมฌาน สัญญาเกี่ยวด้วยกามที่มีอยู่ก่อนย่อมดับ เกิดสัจจสัญญาอันละเอียด มีปีติ และสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ สมัยนั้นสัญญาอย่างหนึ่งย่อมเกิดขึ้น เพราะการศึกษา สัญญาอย่างหนึ่งย่อมดับไปเพราะการศึกษา
รูปารูปฌานนังคสุขสุขุมสัจจสัญญา

ภิกษุบรรลุ ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ไปตามลำดับ และสรุปผลทำนองเดียวกัน กับเมื่อบรรลุปฐมฌาน คือสัญญาหนึ่งเกิดขึ้น และสัญญาหนึ่งดับไป เพราะการศึกษา
ภิกษุบรรลุ อากาสานัญจายตนฌาน มีอารมณ์ว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจในสัญญาต่าง ๆ
ภิกษุบรรลุ วิญญานัญจายตนฌาน มีอารมณ์ว่าวิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด
ภิกษุบรรลุ อากิญจัญญายตนฌาน มีอารมณ์ว่าไม่มีอะไร
เมื่อบรรลุแต่ละฌาน ก็สรุปผลทำนองเดียวกัน คือ สัญญาหนึ่งเกิดขึ้น สัญญาหนึ่งดับไป เพราะการศึกษา
อนุปุพพาภิสัญญานิโรธสัมปชานสมาบัติ

ภิกษุ เป็นผู้มีสกสัญญา เธอพ้นจากปฐมฌาน จากทุติยฌาน ฯลฯ ย่อมได้บรรลุอากิญจัญญายตนฌานโดยลำดับ เมื่อเธอตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนแล้ว ย่อมมีความปริวิตกว่า เมื่อเราคิดอยู่ก็ยังชั่ว เมื่อเราไม่คิดอยู่จึงจะดี แต่ถ้าเรายังขืนคิดขืนคำนึง สัญญาของเราเหล่านี้พึงดับ สัญญาอย่างอย่างหยาบเหล่าอื่นพึงบังเกิดขึ้น เธอจึงไม่คิดไม่คำนึง สัญญาเหล่านั้นก็ดับไป สัญญาหยาบเหล่าอื่นก็ไม่เกิดขึ้น เธอก็ได้บรรลุนิโรธ การเข้าอภิสัญญานิโรธ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

โปฏฐปาทะยอมรับว่า ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน แล้วได้กราบทูลถามว่า อากิญจัญญายตนะนั้น ทรงบัญญัติไว้อย่างเดียวหรือหลายอย่าง ทรงตอบว่าอย่างเดียวก็มี หลายอย่างก็มี เพราะพระโยคีย่อมนิโรธด้วยประการใด ๆ พระองค์ก็บัญญัติด้วยประการนั้น ๆ

โปฏฐปาทะกราบทูลถามต่อไปว่า สัญญาเกิดก่อนหรือว่าญาณเกิดก่อน ตรัสตอบว่า สัญญาเกิดก่อน ญาณเกิดทีหลัง เพราะสัญญาเกิดญาณจึงเกิด
ว่าด้วยสัญญาและอัตตา
ป. สัญญาเป็นอัตตาของบุรุษ หรือสัญญาอย่างหนึ่ง อัตตาอย่างหนึ่ง
พ. เธอต้องการสัญญา เช่นไร
ป. ข้าพระองค์ต้องการอัตตาหยาบ ๆ ที่มีรูป ประกอบด้วยมหาภูตรูป 4 บริโภคกวริงการาหาร
พ. เมื่อเป็นเช่นนั้น สัญญาของเธอจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาจักเป็นอย่างหนึ่ง
ป. ข้าพระองค์ต้องการอัตตา ที่สำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง
พ. เธอจักมีสัญญาอย่างหนึ่ง มีอัตตาอย่างหนึ่ง
ป. ข้าพระองค์ต้องการอัตตาที่ไม่มีรูป สำเร็จด้วยสัญญา
พ. สัญญาของเธอจักเป็นอย่างหนึ่ง อัตตาจักเป็นอย่างหนึ่ง
ป. ข้าพระองค์อาจทราบข้อนี้ได้หรือว่า สัญญาเป็นอัตตาของบุรุษ หรือว่าสัญญาอย่างหนึ่ง อัตตาอย่างหนึ่ง
พ. เธอมีความเห็น มีความพอใจ มีความชอบใจ มีความพยายาม ไปทางหนึ่ง มีลัทธิอาจารย์อย่างหนึ่ง ยากจะรู้ข้อความนั้นได้ว่า สัญญาเป็นอัตตาของบุรุษ หรือว่าสัญญาอย่างหนึ่ง อัตตาอย่างหนึ่ง
ป. ข้าพระองค์มีความเห็น ฯลฯ ก็คำว่าโลกเที่ยงนี้เท่านั้นเป็นความจริง สิ่งอื่นเปล่ากระนั้นหรือ
พ. เรื่องนี้เราไม่พยากรณ์
ป. ก็คำว่าโลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นเป็นความจริง สิ่งอื่นเปล่าเท่านั้นหรือ
พ. เรื่องนี้เราไม่พยากรณ์
ป. ข้าแต่พระองค์ คำว่าโลกมีที่สุด ..... โลกไม่มีที่สุด ..... ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ..... ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ..... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ..... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ ..... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี ..... สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ นี้เท่านั้นเป็นความจริง สิ่งอื่นเปล่ากระนั้นหรือ

พ. แม้ข้อนี้เราไม่พยากรณ์ เพราะข้อนั้นไม่ประกอบด้วยอรรถ ด้วยธรรม ไม่เป็นเบื้องต้น แห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปด้วยความหน่าย คลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่พยากรณ์ ฯ
อัพยากตาพยากตปัญหา

พ. เราพยากรณ์ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เพราะข้อนั้นประกอบด้วยอรรถ ด้วยธรรม เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความหน่าย คลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน เพราะเหตุนั้น เราจึงพยากรณ์
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้ว พวกปริพาชก พากันต่อว่าโปฏฐปาทะปริพาชกว่า พระสมณโคดมตรัสคำใด ท่านพลอยอนุโมทนาคำนั้น ฝ่ายพวกเรามิได้เข้าใจอรรถ ที่พระสมณโคดมแสดงแล้วโดยส่วนเดียว

โปฏฐปาทปริพาชก ก็ยอมรับว่า แม้ตนเองก็มิได้เข้าใจธรรม ที่พระสมณโคดมทรงแสดงแล้วโดยส่วนเดียว แต่ว่าพระสมณโคดม บัญญัติปฏิปทาที่จริงแท้แน่นอน เป็นธรรมฐิติ ธรรมนิยาม ไฉนเล่าวิญญูชนเช่นเรา จะไม่อนุโมทนาสุภาษิตพระสมณโคดม โดยเป็นสุภาษิต
ปริพาชกจิตตหัตถิสารีบุตร และปริพาชกโปฏฐปาทะ

ปริพาชกทั้งสองคน ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลว่า ในคราวนั้น พวกปริพาชกได้พากันต่อว่าข้าพระองค์ แล้วกราบทูลรายละเอียดให้ทรงทราบ

ทรงมีพระดำรัสว่า ปริพาชกเหล่านี้ทั้งหมด ล้วนเป็นคนบอด หาจักษุมิได้ เธอคนเดียวเท่านั้น เป็นคนมีจักษุ ธรรมที่เป็นไปโดยส่วนเดียว เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วก็มี ที่ไม่เป็นไปโดยส่วนเดียว เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วก็มี ธรรมที่ไม่เป็นไปโดยส่วนเดียว เราแสดงแล้วได้แก่ โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง ฯลฯ เพราะธรรมเหล่านั้นไม่ประกอบด้วยอรรถ ไม่ประกอบด้วยธรรม ฯลฯ
เอกิจสิธรรม

ก็ธรรมที่เป็นไปโดยส่วนเดียว เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว ได้แก่ นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย ฯลฯ เพราะว่าธรรมเหล่านี้ประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรม ฯลฯ เราจึงแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว ฯ
ดูกร โปฏฐปาทะ มีสมณพราหมณ์ผู้มีวาทะว่า เบื้องหน้าแต่ตายไป อัตตามีสุขแต่ส่วนเดียว หาโรคมิได้มีอยู่ เราไปหาเขาพวกนั้น แล้วถามว่าพวกท่านมีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้จริงหรือ
ถ้าพวกเขาเหล่านั้นปฎิญญาว่าจริง เราจะถามเขาว่า ท่านยังรู้เห็นโลกมีสุขโดยส่วนเดียวบ้างหรือ เขาจะตอบว่าหามิได้ เราจะถามต่อไปว่า ท่านรู้ว่าอัตตามีสุขโดยส่วนเดียว ยังรู้ว่านี้มรรคา นี้ข้อปฏิบัติ เพื่อทำให้แจ้งซึ่งโลกมีสุขโดยส่วนเดียว ยังได้ยินพวกเทวดาที่เข้าถึงโลกมีความสุขโดยส่วนเดียว เมื่อถูกถามอย่างนี้แล้ว เขาจะตอบว่าหามิได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงความเป็นภาษิตไม่มีปาฏิหารย์ มิใช่หรือโปฏฐปาทะปริพาชก รับว่าเป็นเช่นนั้น
ว่าด้วยทิฐิของสมณพราหมณ์

พระผู้มีพระภาคได้ทรงยกตัวอย่างว่า บุรุษที่ปรารถนารักใคร่ นางชนปทกัลยาณี แล้วถูกถามว่า รู้จักนางแล้วหรือ ในเรื่องวรรณ ชื่อ โคตร รูปร่าง ผิวพรรณ ที่อยู่ บุรุษนั้นก็ตอบว่าหามิได้ ถ้อยคำของบุรุษผู้นั้นย่อมเป็นคำไม่มีปาฏิหารย์

ตัวอย่างว่าบุรุษทำพะองที่หนทางสี่แพร่ง เพื่อขึ้นปราสาท เมื่อถูกถามว่ารู้จักปราสาทนั้นหรือ ว่าอยู่ทิศใด ขนาดของปราสาท เขาก็ตอบว่าไม่รู้ ถ้อยคำของบุรุษนั้นย่อมไม่มีปาฏิหารย์ และทรงสรุปว่า ภาษิตของสมณพราหมณ์เหล่านี้ ถึงความเป็นภาษิตไม่มีปาฏิหารย์
การได้อัตตา 3 ประการ

ดูกร โปฏฐปาทะ ความได้อัตตา 3 คือ ได้อัตตาที่หยาบ อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ และอัตตาที่หารูปมิได้
อัตตาหยาบ คืออัตตาที่มีรูป ประกอบด้วย มหาภูตรูป 4 บริโภคกวริงการาหาร
อัตตาที่สำเร็จด้วยใจ คือ อัตตาที่มีรูปสำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง
อัตตาที่หารูปมิได้ คือ อัตตาอันหารูปมิได้ สำเร็จด้วยสัญญา
ดูกร โปฎฐปาทะ เราจะแสดงธรรม เพื่อละอัตตาทั้งสาม ว่าพวกเธอปฎิบัติอย่างไร จึงจักละสังกิเลสธรรมได้ โวทานิยธรรมจักเจริญยิ่งขึ้น จักทำความบริบูรณ์ และความไพบูลย์แห่งปัญญาให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ฯ

บางคราวเธอจักพึงมีความเห็นว่า สังกิเลสธรรมเราจักละได้ ฯลฯ แต่ความอยู่ไม่สบาย แต่เธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ที่แท้สังกิเลสธรรมพวกเธอละได้ ฯลฯ ความปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สติสัมปชัญญะ และความอยู่สบายจักมีได้

หากคนเหล่าอื่น จะพึงถามเราว่า ความได้อัตตาทั้งสาม ซึ่งท่านแสดงธรรมเพื่อละเสียนั้น พวกท่านปฏิบัติอย่างไร จึงจะละสังกิเลสธรรมเสียได้ ฯลฯ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง เข้าถึงอยู่ เป็นไฉน เราจะพึงพยากรณ์แก่เขาว่า นี้แหละความได้อัตตา ซึ่งเราแสดงธรรมเพื่อให้ละเสียนั้นว่า พวกท่านปฏิบัติอย่างไร จึงละสังกิเลสธรรมได้ ฯลฯ ด้วยปัญญอันยิ่งด้วยตนเอง เข้าถึงอยู่ ฯ

เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษิตย่อมถึงความเป็นภาษิตมีปาฎิหารย์
ดูกร โปฎฐปาทะ เหมือนบุรุษทำพระองค์เพื่อขึ้นปราสาทที่ภายใต้ปราสาทนั้น ชนทั้งหลายถามว่า ท่านรู้จักปราสาทนั้นว่าอยู่ทิศใด ขนาดเท่าไร เขาตอบว่า นี้แหละปราสาทที่ข้าพเจ้ากำลังทำพะอง เพื่อจะขึ้นอยู่ภายใต้ปราสาทนั้นเอง ถ้อยคำของบุรุษนั้น ย่อมถึงความเป็นถ้อยคำที่มีปาฏิหารย์ฯ ฉันใด
ฉันนั้นก็เหมือนกัน หากคนอื่นพึงถามเราถึงเรื่องอัตตา ซึ่งเราแสดงธรรมเพื่อละเสียนั้น
ภาษิตย่อมถึงความเป็นภาษิตมีปาฎิหารย์
จิตตหัสถิสารีบุตร ได้กราบทูลว่า สมัยใดที่ได้อัตตาอย่างใดอย่างหนึ่ง อัตตาที่เหลืออีกสองอย่างเป็นโมฆะ อัตตาที่ได้นั้นเที่ยงแท้
ตรัสว่า สมัยใดได้อัตตาอย่างใดอย่างหนึ่ง จะไม่นับอัตตาที่เหลืออีกสองอย่าง นับว่าได้อัตตานั้นอย่างเดียว
ดูกร จิตตะ ถ้าถูกถามว่า เธอได้มีในอดีตกาล เธอจักมีในอนาคตกาล เธอมีอยู่ในบัดนี้เช่นนั้นหรือ เธอจะพึงพยากรณ์ว่าอย่างไร
จ. ข้าพระองค์พึงพยากรณ์ว่า ข้าพเจ้าได้มีแล้วในอดีตกาล ข้าพเจ้าจักมีในอนาคต ข้าพเจ้ามีอยู่ในบัดนี้
พ. ถ้าเขาถามเธอว่า เธอได้อัตภาพที่เป็นอดีตแล้ว การที่เธอได้อัตภาพเช่นนั้น เป็นของเที่ยงแท้ การได้อัตภาพเป็นอนาคตเป็นปัจจุบัน เป็นโมฆะ และเมื่อได้อัตภาพปัจจุบัน หรืออัตภาพในอนาคต อัตภาพทั้งสองที่เหลือ เป็นโมฆะอย่างนั้นหรือ เธอจะฟังพยากรณ์ว่าอย่างไร
จ. ข้าพระองค์พึงพยากรณ์ว่า ข้าพเจ้าได้อัตภาพอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว การได้อัตภาพนั้นเท่านั้น เป็นของเที่ยงแท้ในสมัยนั้น อัตภาพอย่างอื่นเป็นโมฆะ
พ. เป็นอย่างนั้น เหมือนอย่างนมสดจากแม่โค นมส้มจากนมสด เนยข้นจากนมส้ม เนยใสจากเนยข้น หัวเนยใสจากเนยใส สมัยใดเป็นนมสด สมัยนั้นไม่นับว่าเป็นอย่างอื่น นับว่าเป็นนมสดอย่างเดียวและอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ฉันใด ฉันนั้นก็เหมือนกัน
สมัยใดมีการได้อัตตาอย่างหนึ่ง อัตตาอื่นก็ไม่นำมานับ คงนับแต่อัตตาที่ได้เท่านั้น
เหล่านี้แล เป็นชื่อตามโลก เป็นภาษาของโลก เป็นโวหารของโลก เป็นบัญญัติของโลก ที่ตถาคตกล่าวอยู่ มิได้ยึดถือ ฯ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว โปฎฐปาทปริพาชก ได้กราบทูลว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็น่ต้นไป
ปริพาชุกจิตตหัตถีสารีบุตรบรรลุอรหัตถผล
ฝ่ายจิตตหัตถีสารีบุตร ก็ได้กราบทูลว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบท ในสำนักของพระผู้มีพระภาค
เมื่อท่านอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกไปอยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้ว ก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดพรหมจรรย์ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้มีความต้องการ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ท่านได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ฯ

จบ โปฎฐบาทสูตร ที่ 9