พระสุตตันตปิฎก
10. สุภสูตร
เรื่อง สุภมานพ
เมื่อพระผู้มีพระภาค เสด็จปรินิพพานแล้วไม่นาน พระอานนท์อยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เขตนครสาวัตถี
สมัยนั้น สุภมานพโตเทยยบุตร ได้ขอให้พระอานนท์ไปยังนิเวศน์ของตน แล้วถามว่า ท่านพระโคดมตรัสสรรเสริญคุณแห่งธรรมเหล่าไหน และทรงยังชุมชนให้สมาทาน ตั้งอยู่ ดำรงอยู่ ในธรรมเหล่าไหน ฯ
อริยขันธ์ 3
พระอานนท์ตอบว่า ได้ตรัสสรรเสริญขันธ์สาม และทรงยังชุมชนให้สมาทาน ตั้งอยู่ ดำรงอยู่ในขันธ์สามนี้ คือ ศีลขันธ์ อันเป็นอริย สมาธิขันธ์อันเป็นอริย ปัญญาขันธ์อันเป็นอริย ศีลขันธ์เป็นไฉน
อริยศีลขันธ์
พระอานนท์ได้แสดงพุทธคุณ (รายละเอียดในสามัญญผลสูตร)
แสดง จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล (รายละเอียดในพรหมชาลสูตร)
แล้วสรุปว่า เมื่อภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหน ๆ เพราะศีลสังวรนั้น เปรียบเหมือนกษัตริย์ ผู้ได้มุรธาภิเษก กำจัดราชศัตรูได้แล้ว ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหน ๆ ภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์เช่นนี้แล้ว ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน
อนึ่งในพระธรรมวินัยนี้ ยังมีกรณียกิจที่ยิ่งขึ้นไปอยู่อีก ฯ
สุภมานพกล่าวว่า น่าอัศจรรย์นัก ไม่เคยมีมาก่อน ข้าพเจ้าไม่เคยได้เห็นศีลขันธ์ อันเป็นอริยที่บริบูรณ์อย่างนี้ในสมณพราหมณ์อื่น ภายนอกพระศาสนานี้เลย สมณพราหมณ์เหล่าอื่น พึงเห็นศีลขันธ์อันเป็นอริย ที่บริบูรณ์แล้วอย่างนี้ในตน เขาเหล่านั้นจะพึงพอใจ เพราะเหตุเพียงเท่านั้น สำคัญตนว่าได้บรรลุ ถึงประโยชน์แห่งสามัญคุณ แล้วโดยลำดับ ไม่มีกรณียกิจอะไร ที่จะยิ่งขึ้นไปอีก แต่พระอานนท์ยังกล่าวว่า ในพระธรรมวินัยนี้ ยังมีกรณียกิจ ที่ยิ่งขึ้นไปอยู่อีก
อริยสมาธิขันธ์-อินทรีสังวร
พระอานนท์ได้แสดงอินทรียสังวร (รายละเอียดมีในสามัญญผลสูตร) แล้วสรุปว่า เมื่อภิกษุประกอบด้วย
อินทรียสังวรอันเป็นอริยเช่นนี้ย่อมได้เสวยสุข อันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน
จากนั้นได้แสดงสติสัมปชัญญะ สันโดษ จิตปราศจากนิวรณ์ เปรียบนิวรณ์ รูปฌาน 4 (รายละเอียดมีใน
สามัญญผลสูตร) แล้วสรุปว่า นี้เป็นสมาธิขันธ์อันเป็นอริยะ อนึ่งในพระธรรมวินัยนี้ ยังมีกรณียกิจที่ยิ่งขึ้นไปอยู่อีก
สุภมานพก็ได้กล่าวคำสรรเสริญ ทำนองเดียวกันกับที่กล่าวในหัวข้ออริยศีลขันธ์
อริยปัญญาขันธ์
พระอานนท์ได้แสดง วิชชา 8 อันประกอบด้วย วิปัสสนาญาณ มโนมยิทธิญาณ อิทธิวิชญาณ ทิพยโสตญาณ เจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จุตูปชาตญาณ อาสวักขยญาณ แล้วสรุปว่า
ดูกร มาณพ ปัญญาขันธ์อันเป็นอริยนี้ ที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสรรเสริญ และทรงยังประชุมชนนี้ให้
สมาทาน ให้ตั้งอยู่ ให้ดำรงอยู่ และในพระธรรมวินัยนี้ มิได้มีกรณียกิจที่ยิ่งขึ้นไปอีก
สุภมานพแสดงตนเป็นอุบาสก
ข้าแต่พระอานนท์ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ข้าพเจ้านี้ขอถึงท่านพระโคดม พระธรรมและ
พระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอท่านพระอานนท์จงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
จบ สุภสูตรที่ 10
11. เกวัฏฏะสูตร
เรื่อง นายเกวัฏฏะ (ชาวประมง)
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของ ปาวาริกเศรษฐี เขตเมืองนาลันทา
ครั้งนั้น เกวัฏฏะ คฤหบดีบุตร ได้เข้าไปเฝ้าได้กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาค ทรงชี้ภิกษุสักรูปหนึ่ง ที่จักกระทำอิทธิปาฏิหารย์ อันเป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวเมืองนาลันทา จักเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างยิ่ง
ทรงตรัสว่า เรามิได้แสดงธรรมแก่ภิกษุว่า ให้เธอทั้งหลาย จงกระทำอิทธิปาฏิหารย์ อันเป็นธรรมยิ่งยวดของมนุษย์ แก่คฤหัสถ์ แต่เกวัฏฏะได้พยายามกราบทูลเช่นนั้น ถึงสามครั้ง
ปาฏิหารย์ 3 ประการ
ตรัสว่า ปาฏิหารย์ 3 อย่างนี้ เราทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเองแล้ว จึงได้ประกาศให้รู้ ปาฏิหารย์ 3 อย่าง คือ อิทธิปาฏิหารย์ อาเทสนาปาฏิหารย์ อนุสาสนีปาฏิหารย์
อิทธิปาฏิหารย์
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขา ไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่าง ผุดขึ้น ดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์ ด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจด้วยกาย ไปตลอดพรหมโลกก็ได้ ผู้ที่ศรัทธาเลื่อมใส จะบอกแก่ผู้ที่ไม่ศรัทธา ผู้ที่ไม่ศรัทธาจะพึงกล่าวว่า ท่านมีวิชาอยู่อย่างหนึ่ง ชื่อว่า คันธารี ภิกษุรูปนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ได้ด้วยวิชาที่ชื่อว่า คันธารี นั้น ดูกร เกวัฏฏะ เราเล็งเห็นโทษในอิทธิปาฏิหารย์อย่างนี้ จึงอึดอัด ระอา เกลียดอิทธิปาฏิหารย์
อาเทสนาปาฏิหารย์
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความนึกคิด ทายความตรองของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ว่า ใจท่านเป็นอย่างนี้ ใจท่านเป็นไปโดยอาการนี้ จิตท่านเป็นดังนี้ เพราะเหตุดังนี้ บุคคลผู้ที่ศรัทธาเลื่อมใส จะบอกแก่ผู้ที่ไม่ศรัทธาเลื่อมใส ผู้ที่ไม่ศรัทธา เลื่อมใส จะพึงกล่าวว่า ท่านมีวิชาอย่างหนึ่งชื่อว่า มณิกา ภิกษุรูปนั้นทายใจ ฯลฯ ด้วยวิชาชื่อว่า มณิกา นั้น ดูกร เกวัฏฏะ เราเล็งเห็นโทษ ในอาเทสนาปาฏิหารย์อย่างนี้ จึงอึดอัด ระอา เกลียดอาเทสนาปาฏิหารย์
อนุสาสนีปาฏิหารย์
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพร่ำสอนอย่างนี้ว่า ท่านจงตรึกอย่างนี้ อย่าตรึกอย่างนั้น จงทำในใจอย่างนี้
อย่าทำในใจอย่างนั้น จงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่เถิด นี้เรียกอนุสาสนีปาฏิหารย์
จากนั้นทรงแสดงพุทธคุณ (รายละเอียดมีในสามัญญผลสูตร)
ทรงแสดง จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล (รายละเอียดมีในพรหมชาลสูตร) แล้วทรงสรุปว่า
ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้ ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหน ๆ ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษ ณ ภายใน ด้วยประการดังกล่าวนี้ ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอนุศาสนีปาฏิหารย์
จากนั้นทรงแสดง อินทรียสังวร จิตปราศจากนิวรณ์ เปรียบนิวรณ์ รูปฌาน 4 วิชชา 8 อันประกอบด้วย วิปัสสนาญาณ มโนมยิทธิญาณ อิทธิวิชญาณ ทิพยโสตญาณ เจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ (รายละเอียดมีในสามัญญผลสูตร) โดยแสดงให้เห็นว่า ในแต่ละเรื่องนั้นเป็น อนุสาสนียปาฏิหารย์
ทรงสรุปว่า ปาฏิหารย์ 3 เหล่านี้ เราได้ทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว จึงประกาศให้รู้
เรื่องภิกษุแสวงหามหาภูติ
ดูกร เกวัฏฏะ เรื่องเคยมีมาแล้ว ภิกษุรูปหนึ่ง เกิดปริวิตกว่า มหาภูติรูปทั้ง 4 คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ย่อมดับไม่มีเหลือ ในที่ไหนหนอ ลำดับนั้น เธอได้เข้าสมาธิ ชนิดที่จิตตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่เทวโลก ปรากฎได้ เธอได้เข้าไปหาเทวดาชั้นจตุมหาราช แล้วถามปัญหาดังกล่าว เทวดาเหล่านั้นตอบว่า แม้พวกตนก็ไม่ทราบ แต่ยังมีเทวดาซึ่งดีกว่า ประณีตกว่าพวกตน ท่านเหล่านั้นคงจะทราบ ภิกษุนั้นก็ได้ไปหา เทวดาดังกล่าวตามลำดับ คือ ท้าวมหาราชทั้ง 4 เทวดาชั้นดาวดึงส์ ท้าวสักกะ เทวดาชั้นยามา ท้าวสุยาม เทวดาชั้นดุสิต ท้าวสันดุสิต เทวดาชั้นนิมมานรดี ท้าวสุนิมมิต เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวดี ท้าวปรนิมมิตวสวดี ท่านเหล่านั้นทั้งหมดต่างไม่ทราบ และองค์ท้ายสุด แนะนำให้ไปถามหมู่พรหม ภิกษุนั้นจึงได้เข้าสมาธิ ชนิดที่จิตตั้งมั่นแล้ว ทางไปสู่พรหมโลกปรากฏได้
ภิกษุรูปนั้นได้ไปถามเทวดา ผู้นับเนื่องในหมู่พรหม ท่านเหล่านั้นก็ไม่ทราบ และแนะนำให้ไปถามท้าว
มหาพรหม เนื่องจากเป็นใหญ่ ไม่มีใครยิ่งกว่า รู้เห็นเหตุการณ์ถ่องแท้ ผู้ใช้อำนาจเป็นอิศวร เป็นผู้สร้าง เป็นผู้นิรมิต เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้บงการ เป็นผู้ทรงอำนาจ เป็นบิดาของหมู่สัตว์ ผู้เกิดแล้วและยังจะเกิดต่อไป พวกตนไม่รู้ที่อยู่ของพรหม แต่นิมิตทั้งหลายย่อมเห็นได้ แสงสว่างย่อมเกิดเอง โอภาสย่อมเกิดเมื่อใด พรหมจักปรากฎองค์เมื่อนั้น
ภิกษุนั้นเข้าไปหามหาพรหม แล้วถามปัญหานั้น ท้าวมหาพรหมตอบว่า ข้าพเจ้าเป็นพรหม เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ ไม่มีใครยิ่งกว่า ฯลฯ แม้ครั้งที่ 2 ท้าวมหาพรหมก็ตอบอย่างนั้น แม้ครั้งที่ 3 ภิกษุได้กล่าวกับท้าวมหาพรหมว่า ข้าพเจ้ามิได้ถามท่านเช่นนั้น
ลำดับนั้น ท้าวมหาพรหมได้กล่าวว่า พวกเทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม เข้าใจเราว่า อะไร ๆ ที่พรหมไม่รู้ ไม่เห็น ไม่แจ่มแจ้ง ไม่ประจักษ์ ไม่มี เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าตอบต่อหน้าเทวดาเหล่านั้นไม่ได้ว่า แม้ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบ ที่ดับไม่มีเหลือของมหาภูติรูปทั้ง 4 เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การที่ท่านละพระผู้มีพระภาคเสีย แล้วมาเสาะหา การพยากรณ์ปัญหานี้ภายนอกนั้น ท่านทำผิดพลาดแล้ว ท่านจงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลถามปัญหานี้ พระองค์ทรงพยากรณ์แก่ท่านฉันใด ท่านฟังทรงจำข้อนั้นไว้
อุปมาด้วยนกดูฝั่ง
ภิกษุนั้น ได้หายไปที่พรหมโลก มาปรากฎข้างหน้าเรา ได้ถามเราถึงปัญหานั้น เราได้ตอบว่า เรื่องเคยมีมาแล้ว พวกพ่อค้าเดินเรือทะเล ย่อมจับนกตีรทัสสี (นกดูฝั่ง) ลงเรือไปด้วย เมื่อไม่เห็นฝั่ง เขาย่อมปล่อยนกนั้น มันบินไปยังทิศต่าง ๆ ถ้ามันแลเห็นฝั่งโดยรอบ มันก็บินเลยไป ถ้ามันแลไม่เห็นฝั่งโดยรอบ มันก็จะกลับมายังเรือนั้นอีก ดูกร ภิกษุ เธอก็ฉันนั้น เที่ยวแสวงหาถึงพรหมโลก ก็ไม่ได้รับพยากรณ์ปัญหานี้ ในที่สุด ก็ต้องกลับมาหายังสำนักเรานั่นเอง ปัญหาข้อนี้ เธอมิควรถามอย่างนั้น แต่ควรถามอย่างนี้
แถลงปัญหามหาภูติ
ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน อุปาทายรูปที่ยาวและสั้น ละเอียดและหยาบ ที่งามและไม่งาม ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในที่ไหน นามและรูปย่อมดับไม่มีเหลือในที่ไหน
ในปัญหานั้น มีพยากรณ์ดังต่อไปนี้
ธรรมชาติที่รู้แจ้ง ไม่มีใครชี้ได้ ไม่มีที่สุด แจ่มใส โดยประการทั้งปวง ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ในธรรมชาตินี้
นามและรูปย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้
เพราะวิญญาณดับ นามและรูปนั้นย่อมดับไม่มีเหลือในธรรมชาตินี้
พระผู้มีพระภาคตรัสพุทธพจน์นี้แล้ว เกวัฏฏคฤหบดีบุตร มีใจชื่นชม เพลิดเพลินภาษิตของ
พระผู้มีพระภาค
จบ เกวัฎฎสูตรที่ 11
|