พระวินัยปิฎก

ตติยปาราชิกสิกขาบท
นิทานปฐมบัญญัติ เรื่องภิกษุหลายรูป

พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฎาคารศาลา ป่ามหาวัน เวสาลี พระองค์ได้แสดงอสุภกถา พรรณาคุณแห่งอสุภกรรมฐาน และคุณอสุภสมาบัติเนือง ๆ แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วสั่งว่า เราปราถนาจะหลีกเร้นอยู่ตลอดกึ่งเดือน ผู้ใดอย่าเข้าไปหาเรา นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปให้รูปเดียว ภิกษุเหล่านั้นสนทนากันว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอสุภกถา ฯลฯ แล้วพากันประกอบความเพียร ในการเจริญอสุภกรรมฐานหลายอย่าง ภิกษุเหล่านั้นอึดอัดระอาเกลียดชังร่างกายตน จึงปลงชีวิตตนเองบ้าง วานกันและกันให้ปลงชีวิตบ้าง บ้างก็ไปหามิคลัณฑิกสมณกุตตก์ แล้วขอให้ช่วยปลงชีวิตให้ โดยมีบาตรและจีวรเป็นของแลกเปลี่ยน ครั้งนั้น มิคสัณฑิกสมณกุตตก์ ได้ปลงชีวิตภิกษุเป็นอันมาก แล้วถือดาบเปื้อนเลือด ไปล้างที่แม่น้ำวัคคุมุนา ขณะที่ล้างอยู่เกิดมีความเดือดร้อนว่า ตนได้ทำชั่วได้สร้างบาปไว้มาก เพราะได้ปลงชีวิตภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม
ขณะนั้นมีเทวดาตนหนึ่ง นับอยู่ในหมู่มารได้กล่าวกับเขาว่า ดีแล้ว ท่านสัตบุรุษ ท่านได้สร้างบุญไว้มาก เพราะได้ช่วยส่งคนที่ยังข้ามไม่พ้นให้ข้ามพ้นได้ เมื่อเขาได้ยินดังนั้น จึงถือดาบเข้าไปสู่วิหาร สู่บริเวณ แล้วกล่าวว่า ใครยังข้ามไม่พ้น เราจะช่วยส่งให้ข้ามพ้น บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่าใดยังไม่ปราศจากราคะ ความกลัว ความหวาดเสียว ความสยอง ย่อมเกิดมีแก่ภิกษุเหล่านั้น ส่วนภิกษุเหล่าใดปราศจากราคะแล้ว ความกลัว ความหวาดเสียว ความสยอง ย่อมไม่มีแก่ภิกษุเหล่านั้น ครั้งนั้น มิคลัณฑิกสมณกุตตก์ได้ปลงชีวิตภิกษุเสียวันละ 1 รูปบ้าง 10, 20, 30, 40, 50, 60 รูปบ้าง
รับสั่งให้ผะเดียงสงฆ์

ครั้นล่วงกึ่งเดือน พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น ได้ถามพระอานนท์ว่า เหตุใดภิกษุสงฆ์จึงดูเหลือน้อยลงไป พระอานนท์กราบทูลว่า เป็นเพราะพระองค์ได้แสดงอสุภกถา ฯลฯ ภิกษุทั้งหลายจึงพากันประกอบความเพียร ในการเจริญอสุกรรมฐานเกิดการอึดอัด ระอา เกลียดชังร่างกายตน ฯลฯ จึงปลงชีวิตตนเองบ้าง ฯลฯ ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระวโรกาส ภิกษุสงฆ์นี้จะพึงดำรงอยู่ใน พระอรหัตตผลด้วยปริยายใด ขอพระผู้มีพระภาคจงตรัสบอกปริยายอื่นนั้นเถิด พระผู้มีพระภาคจึงสั่งให้พระอานนท์ ผะเดียงภิกษุที่อาศัยนครเวสาลี อยู่ทั้งหมด มาประชุมกันที่อุปัฏฐานศาลา

ทรงแสดงอานาปานสติสมาธิกถา
พระผู้มีพระภาค รับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า แม้สมาธิในอานาปานสตินี้ อันภิกษุอบรมทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นคุณ สงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข ยังบาป อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ให้อันตรธานสงบไปโดยพลัน ดุจละอองและฝุ่นที่ฟุ้งในท้ายฤดูร้อน ฝนใหญ่ที่ตกนอกฤดูกาล ย่อมยังละอองและฝุ่นนั้น ๆ ให้อันตรธานสงบไปได้โดยพลัน ฉะนั้น ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ตาม อยู่ ณ โคนไม้ก็ตาม ในที่สงัดก็ตาม นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติ บ่ายหน้าสู่กรรมฐาน ภิกษุนั้นย่อมมีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้สึกว่าหายใจเข้ายาว หรือเมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้สึกว่าหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น หรือหายใจออกสั้น ก็รู้ว่าหายใจเข้าสั้น และหายใจออกสั้น ย่อมสำเหนียกว่าเราจักรู้แจ้ง ซึ่งกองลมทั้งปวงหายใจเข้า หายใจออก เราจักรู้ระงับกายสังขารหายใจเข้า หายใจออก เราจักรู้แจ้งซึ่งปิติ ฯลฯ เราจักรู้แจ้งซึ่งสุข ฯลฯ เราจักรู้แจ้งซึ่งจิตสังขาร ฯลฯ เราจักระงับจิตสังขาร ฯลฯ เราจักรู้แจ้งซึ่งจิต ฯลฯ เราจักยังจิตให้บรรเทิง ฯลฯ เราจักตั้งจิตไว้มั่น ฯลฯ เราจักปล่อยจิต ฯลฯ เราจักพิจารณาเห็นธรรมอันไม่เที่ยง ฯลฯ เราจักพิจารณาเห็นวิราคะ ฯลฯ เราจักพิจารณาเห็นนิโรธ ฯลฯ เราจักพิจารณาเห็นปฏินิสสัคคะ ฯลฯ

ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ฯลฯ ดังนี้ จริงหรือ ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่าจริง พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การกระทำของภิกษุเหล่านั้น ฯลฯ แล้วทรงแสดงธรรมมีกกถาที่สมควร ที่เหมาะสมกับเรื่องนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า เพราะเหตุนี้เราจักบัญญัติสิกขาบท แก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ ฯลฯ

 

พระปฐมบัญญัติ

อนึ่ง ภิกษุใด จงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัตรา
อันจะปลิดชีวิต ให้แก่กายมนุษย์นั้น แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้

 

เรื่องพระฉัพพัคคีย์

อุบาสกคนหนึ่งเป็นไข้ ภริยาเขาเป็นคนสวย พวกพระฉัพพัคคีย์มีจิตปฏิพัทธ์ในหญิงนั้น จึงดำริว่าถ้าอุบาสกสามียังมีชีวิตอยู่ พวกเราจักไม่ได้นาง ฉะนั้น พวกเราจักพรรณาคุณแห่งความตายแก่อุบาสกนั้น ครั้นดำริดังกล่าวแล้ว จึงเข้าไปกาอุบาสกนั้น แล้วกล่าวว่า ท่านเป็นผู้ทำความดีไว้แล้ว ทำกุศลไว้แล้ว ไม่ได้ทำบาป ไม่ได้ทำชั่ว ท่านจักเข้าถึงสุคติโสกสวรรค์ จักได้รับบำเรอเพียบพร้อมอิ่มเอม

ด้วยเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์นั้น อุบาสกนั้นเห็นจริงดังนั้น เขาจึงรับประทานอาหารที่แสลง เกิดป่วยและถึงแก่กรรม ภริยาเขาจึงเพ่งโทษว่า พระสมณะเหล่านี้ ฯลฯ ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนเพ่งโทษ ต่างก็เพ่งโทษติเตียน แล้วกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค
ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติอนุบัญญัติ

พระผู้มีพระภาค รับสั่งให้ประชุมสงฆ์ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น เหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามพระฉัพคัคคีย์ ๆ ยอมรับว่าจริง พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนว่า ฯลฯ ทรงแสดงธรรมมีกถาที่สมควร และที่เหมาะสมกับเรื่องนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า เพราะเหตุนั้น เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ 10 ประการ ฯลฯ พวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้

อนุบัญญัติ

อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต

หรือ แสวงหาศัตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น
หรือพรรณาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่ออันตาย ด้วยถ้อยคำว่า
แนะท่านผู้เป็นชายจะประโยชน์อะไรแก่ท่าน ด้วยชีวิตอันแสนลำบากยากแค้นนี้
ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ เธอมีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ มีความหมายหลายอย่างนี้
พรรณาคุณความตายก็ดี ชักชวนเพื่ออันตายก็ดี โดยหลายนัย แม้ภิกษุนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้

สิกขาบทวิภังค์

บทว่า อนึ่ง ..... ใด ฯลฯ บทว่าภิกษุ ความว่าที่ชื่อว่าภิกษุ ฯลฯ บทว่าจงใจ ความว่าภิกษุใดรู้อยู่
รู้ดีอยู่ พรากกายมนุษย์จากชีวิต การกระทำของภิกษุนั้น เป็นความตั้งใจพยายามละเมิด ที่ชื่อว่ากายมนุษย์ ได้แก่จิตแรกที่เกิดขึ้น คือปฐมวิญญาณที่ปรากฏขึ้น ในท้องมารดาตราบเท่าถึงกาลที่ตายอัตภาพ ในระหว่างนี้ชื่อว่ากายมนุษย์ บทว่าพรากจากชีวิต ความว่า ตัดทอน บั่นทอนซึ่งอินทรีย์คือชีวิต ทำความสืบต่อให้กำเริบ บทว่า แสวงหาศัตรา ฯลฯ ได้แก่ ดาบ หอก ฉมวก หลาว ฆ้อน หิน มีด ยาพิษ หรือ เชือก ฯ
บทภาชนีย์

มาติกา

ทำเอง ยืนอยู่ใกล้ สั่งทูต สั่งทูตต่อ ทูตไม่สามารถ ทูตไปแล้วกลับมา ที่ไม่ลับสำคัญว่าลับ ที่ลับสำคัญว่าไม่ลับ ที่ไม่ลับสำคัญว่าไม่ลับ ที่ลับสำคัญว่าลับ พรรณนาด้วยกาย พรรณนาด้วยวาจา พรรณนาด้วยกาย และวาจาพรรณนาด้วยทูต พรรณนาด้วยหนังสือ หลุมพราง วัตถุที่พิง การลอบวาง การนำรูปเข้าไป การนำเสียงเข้าไป การนำกลิ่นเข้าไป การนำรสเข้าไป การนำโผฏฐัพพะเข้าไป การนำธรรมารมณ์เข้าไป กริยาที่บอก การแนะนำ การนัดหมาย การทำนิมิต

มาติกาวิภังค์
สาหัตถิกประโยค ทำเอง

คำว่า ทำเอง คือฆ่าเอาด้วยกาย ด้วยเครื่องประหาร ที่เนื่องด้วยกาย หรือที่ซัดไป ยืนอยู่ใกล้คือยืนอยู่ ณ ที่ใกล้ว่า จงยิงอย่างนี้ จงประหารอย่างนี้ จงฆ่าอย่างนี้

อาณัตติประโยคสั่งทูต

ภิกษุสั่งภิกษุ ว่าจงปลงชีวิตบุคคลชื่อนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุผู้รับคำสั่งเข้าใจว่าบุคคลนั้นแน่ จึงปลงชีวิต ต้องอาบัติปาราชิกทั้ง 2 รูป ถ้าปลงชีวิตบุคคลอื่น ผู้สั่งไม่อาบัติ ผู้ฆ่าอาบัติปาราชิก ผู้รับคำสั่งเข้าใจว่าบุคคลอื่น แต่ปลงชีวิตบุคคลนั้น อาบัติปาราชิกทั้ง 2 รูป ผู้รับคำสั่งเข้าใจว่าคนอื่น และปลงชีวิตคนอื่นนั้น ผู้สั่งไม่อาบัติ ผู้ฆ่าอาบัติปาราชิก

สั่งทูตต่อ

ภิกษุสั่งภิกษุว่า จงบอกแก่ภิกษุชื่อนี้ว่า จงไปบอกภิกษุชื่อนี้ว่า ภิกษุชื่อนี้จะปลงชีวิตคนชื่อนี้ดังนี้ ต้องอาบัติทุกกฏ ผู้รับคำสั่งอาบัติทุกกฏ ผู้รับฆ่ารับคำสั่งผู้สั่งเดิม อาบัติกุลลัจจัย ผู้ฆ่าทำไม่สำเร็จ อาบัติปาราชิกทุกรูป ถ้าผู้รับคำสั่งผู้อื่นต่ออาบัติทุกกฏผู้ฆ่ารับคำ อาบัติทุกกฏ ผู้ฆ่าทำสำเร็จ ผู้สั่งเดิมไม่อาบัติ ผู้รับคำสั่งและผู้ฆ่าอาบัติปาราชิก

ทูตไม่สามารถ

ภิกษุผู้รับคำสั่งแล้วมาบอกว่าตนไม่สามารถฆ่าได้ ผู้สั่งสั่งใหม่ว่าถ้าสามารถ เมื่อใดให้ฆ่าเขาเมื่อนั้น อาบัติทุกกฏผู้รับคำสั่งฆ่าคนนั้นสำเร็จ อาบัติปาราชิกทั้ง 2 รูป

ทูตไปแล้วกลับมา

เมื่อผู้สั่งสั่งแล้วร้อนใจ แต่พูดไม่ให้ได้ยินว่า อย่าฆ่า ผู้รับคำสั่งฆ่าคนนั้นสำเร็จ อาบัติปาราชิกทั้ง 2 รูป ถ้าสั่งแล้วร้อนใจ พูดให้ได้ยินว่าอย่าฆ่าเลย ผู้รับคำสั่งพูดว่าได้สั่งให้อย่าฆ่าเลย ผู้รับคำสั่งรับคำว่าดีแล้ว งดเสีย ไม่อาบัติทั้ง 2 รูป

ที่ไม่ลับสำคัญว่าลับ

ที่ไม่ลับ ภิกษุสำคัญว่าที่ลับพูดว่า ทำอย่างไรคนชื่อนี้พึงถูกฆ่า อาบัติทุกกฏ ที่ลับ สำคัญว่าไม่ลับ ที่ลับภิกษุสำคัญว่าไม่ลับ พูดว่า ฯลฯ อาบัติทุกกฏ ที่ไม่ลับสำคัญว่าไม่ลับ พูดว่า ฯลฯ อาบัติทุกกฏ ที่ลับภิกษุสำคัญว่าที่ลับ พูดว่า ฯลฯ อาบัติทุกกฏ

พรรณนาด้วยกาย

ภิกษุทำกายวิกาลว่า ผู้ใดตายอย่างนี้ จะได้ทรัพย์ ยศ หรือไปสวรรค์ อาบัติทุกกฏ ผู้ใดคิดว่าเราจักตาย แล้วยังทุกขเวทนาให้เกิด ผู้พรรณาอาบัติถุลลัจจัย ถ้าเขาตาย ผู้พรรณนาอาบัติปาราชิก ภิกษุกล่าวด้วยวาจาว่า ฯลฯ อาบัติทุกกฏ ฯลฯ อาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ อาบัติปาราชิก ภิกษุทำวิการด้วยกายหรือด้วยวาจา ฯลฯ อาบัติกุกกฏ ฯลฯ อาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ อาบัติปาราชิก

พรรณนาด้วยทูต

ภิกษุสั่งทูตว่า ผู้ใดตายอย่างนี้ ฯลฯ อาบัติทุกกฏ ผู้ใดทราบคำบอกของฑูตไปใช้ได้ชั่วคราว แล้วคิดว่าเราจักตาย แล้วยังทุกขเวทนาให้เกิด ผู้พรรณนา อาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ ถ้าเขาตายผู้พรรณนาอาบัติปาราชิก ภิกษุเขียนหนังสือไว้ว่าผู้ใดตาย ฯลฯ อาบัติทุกกฏ ฯลฯ อาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ อาบัติปาราชิก

หลุมพราง

ภิกษุขุดหลุมพลางเจาะจงมนุษย์ไว้ว่าเขาจักตกตาย อาบัติทุกกฏ ผู้ใดตกแล้วได้รับ ทุกขเวทนาผู้ขุดอาบัติถุลลัจจัย ถ้าเขาตายผู้ขุดอาบัติปาราชิก ถ้าผู้ขุดไม่ได้เจาะจงว่าผู้ใดจะตกตายอาบัติทุกกฏ คนตกไปในหลุมพลางนั้น ผู้ขุดอาบัติทุกกฏ เขาตกไปแล้วได้รับทุกขเวทนา ผู้ขุดอาบัติถุลลัจจัย ถ้าเขาตาย ผู้ขุดอาบัติปาราชิก ยักษ์ เปรต สัตว์ดิรัจฉาน แปลงเพศ เป็นมนุษย์ตกลงไปในหลุมพรางนั้น ผู้ขุดอาบัติทุกกฏ มันตกไปแล้วได้รับทุกขเวทนา ผู้ขุดอาบัติทุกกฏ ถ้ามันตายผู้ขุดอาบัติถุลลัจจัย สัตว์ดิรัจฉานตกลงในหลุมพราง ตกไปแล้วได้รับทุกขเวทนา ผู้ขุดอาบัติทุกกฏทั้ง 2 กรณีถ้ามันตาย ผู้ขุดอาบัติปาจิตตีย์

วัตถุที่พิง

ภิกษุวางศัตราไว้ในที่สำหรับพิง ทายาพิษไว้ ทำให้ชำรุด วางไว้ริมบ่อ เหว หรือที่ชัน ด้วยหมายใจว่าคนจักตายด้วยวิธีนี้ อาบัติทุกกฏ ถ้าเขาได้รับทุกขเวทนาเพราะการกระทำนั้น ผู้ทำอาบัติถุลลัจจัย ถ้าเขาตาย อาบัติปาราชิก

การลอบวาง

ภิกษุ วางศัตราไวัใกล้ ๆ ด้วยตั้งใจว่า บุคคลจักตายด้วยของสิ่งนี้ อาบัติทุกกฏ เขาคิดว่าจักตายด้วยของสิ่งนั้น แล้วยังทุกขเวทนาให้เกิด อาบัติถุลลัจจัย ถ้าเขาตายอาบัติปาราชิก

เภสัช

ภิกษุให้เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อย ด้วยตั้งใจว่า เขาลิ้มเภสัชนี้แล้วจักตาย ฯลฯ อาบัติทุกกฏ ฯลฯ อาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ อาบัติปาราชิก

การนำรูปเข้าไป

ภิกษุนำรูปซึ่งไม่เป็นที่ชอบใจ น่ากลัว น่าหวาดเสียว เข้าไปด้วยตั้งใจว่า เขาเห็นรูปนี้แล้วจักตกใจตาย อาบัติทุกกฏ เขาเห็นรูปแล้วตกใจ อาบัติถุลลัจจัย เขาตาย อาบัติปาราชิก ภิกษุนำรูปซึ่งเป็นที่ชอบใจ น่ารัก น่าจับเข้าไป ด้วยตั้งใจว่า เขาเห็นรูปนี้แล้วจักซูบผอมตายเพราะหาไม่ได้ ต้องอาบัติทุกกฏ เขาเห็นแล้วซูบผอมเพราะหาไม่ได้ อาบัติถุลลัจจัย เขาตาย อาบัติปาราชิก ภิกษุนำเรื่องซึ่งไม่เป็นที่ชอบใจ ฯลฯ อาบัติทุกกฏ ฯลฯ อาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ อาบัติปาราชิก ภิกษุนำเสียงซึ่งเป็นที่ชอบใจ ภิกษุนำกลิ่นซึ่งไม่เป็นที่ชอบใจ ภิกษุนำกลิ่นซึ่งเป็นที่ชูใจ ภิกษุนำรสซึ่งไม่เป็นที่ชอบใจ ภิกษุนำรสซึ่งเป็นที่ชอบใจ ภิกษุนำโผฏฐัพพะซึ่งไม่เป็นที่ชอบใจ ภิกษุนำโผฐฐัพพะซึ่งเป็นที่ชอบใจ ฯลฯ อาบัติทุกกฏ ฯลฯ อาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ อาบัติปาราชิก

ภิกษุแสดงเรื่องนรกแก่คนผู้ควรเกิดในนรก ด้วยตั้งใจว่า เขาฟังเรื่องนรกแล้ว จักตกใจตาย อาบัติทุกกฏ ฟังแล้วตกใจ อาบัติถุลลัจจัย ตายอาบัติปาราชิก

ภิกษุแสดงเรื่องสวรรค์แก่ผู้ทำความดีด้วยตั้งใจว่า เขาฟังเรื่องสวรรค์แล้วจักน้อมใจตาย อาบัติทุกกฏ เขาฟังแล้วคิดว่าจักน้อมใจตาย แล้วยังทุกขเวทนาให้เกิดอาบัติถุลลัจจัย เขาตาย อาบัติปาราชิก

กริยาที่บอก

ภิกษุถูกเขาถามแล้วบอกว่า จงตายอย่างนี้ ผู้ใดตายอย่างนี้ ผู้นั้นจะได้ทรัพย์ ยศ หรือไปสวรรค์ อาบัติทุกกฏ เขาคิดว่าเราจักตาย แล้วยังทุกขเวทนาให้เกิด อาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ เขาตาย อาบัติปาราชิก ภิกษุอันเขาไม่ถาม แต่แนะนำว่าจงตายอย่างนี้ ฯลฯ อาบัติทุกกฏ ฯลฯ อาบัติถุลลัจจัย ฯลฯ อาบัติปาราชิก

การนัดหมาย

ภิกษุนัดหมายว่า จงฆ่าเขาเสียตามคำนัดหมายนั้น ในเวลาเช้าหรือเวลาเย็น ในเวลากลางคืนหรือกลางวัน อาบัติทุกกฏ เพราะการนัดหมายนั้น ผู้รับคำสั่งฆ่าเขาสำเร็จ อาบัติปาราชิกทั้ง 2 รูป ฆ่าเขาได้ก่อนหรือหลังคำนัดหมายนั้น ผู้สั่งเดิมไม่อาบัติ ผู้ฆ่าอาบัติทุกกฏ ภิกษุทำนิมิตว่า เมื่อขยิบตา ยักคิ้ว ผงกศรีษะ ให้ท่านฆ่าเขาตามนิมิตนั้น อาบัติทุกกฏ ผู้รับสั่งฆ่าเขาสำเร็จตามนิมิตนั้น อาบัติปาราชิกทั้ง 2 รูป ฆ่าเขาก่อนหรือหลังนิมิตนั้น ผู้สั่งเดิมไม่อาบัติ ผู้ฆ่าอาบัติ

อนาปัตติวาร

ภิกษุไม่จงใจ ไม่รู้ ไม่ประสงค์จะให้ตาย วิกลจริต มีจิตฟุ้งซ่าน กระสับกระส่ายเพราะเวทนา อาทิกัมมิกะ เหล่านี้ไม่ต้องอาบัติ

วินีตวัตถุ
อุทานคาถา
รวม 99 เรื่อง

เรื่อง พรรณนา

ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ภิกษุทั้งหลายได้พรรณนาคุณแห่งความตายแก่ภิกษุนั้น ด้วยความกรุณา ภิกษุนั้นมรณภาพแล้ว ฯลฯ พวกเธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว

เรื่อง นั่ง

สมัยนั้นภิกษุรูปหนึ่ง นั่งทับเด็กที่เขาเอาผ้าคลุมไว้บนตั่งตาย ฯลฯ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก อนึ่งพวกเธอไม่พิจารณาก่อนแล้ว อย่านั่งบนอาสนะ รูปใดนั่งต้องอาบัติทุกกฏ

เรื่อง สาก

ภิกษุรูปหนึ่ง ได้หยิบสากอันหนึ่งในสากที่เขารวมกันไว้
สากอันที่สองได้ล้มฟาดลงที่ศีรษะเด็กคนหนึ่งตาย ฯลฯ
พ. เธอคิดอย่างไร ภิ. ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้จงใจ
พ. ภิกษุไม่จงใจไม่ต้องอาบัติ

เรื่อง ครก

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งได้เหยียบขอนไม้ที่เขานำมาทำครก เซไปทับเด็กคนหนึ่งตาย ฯลฯ ภิกษุไม่จงใจไม่ต้องอาบัติ

เรื่อง พระผู้เฒ่า

1. บิดาและบุตรบวชอยู่ในสำนักภิกษุ เมื่อเขาบอกภัตตากาลแล้วภิกษุผู้บุตร กล่าวกับผู้เป็นบิดาว่า พระสงฆ์กำลังคอยท่านอยู่แล้วดุนหลังผลักไป ผู้บิดาได้ล้มลงถึงมรณภาพ ฯลฯ ภิกษุไม่มีความประสงค์จะให้ถึงมรณภาพ ไม่ต้องอาบัติ
2. บิดาและบุตรบวชอยู่ในสำนักภิกษุ ฯลฯ ภิกษุผู้บุตรมีความประสงค์จะให้ถึงมรณภาพ ฯลฯ เธอต้องอาบัติปาราชิก
3. บิดาและบุตรบวชอยู่ในสำนักภิกษุ ฯลฯ ภิกษุผู้บุตรมีความประสงค์จะให้ถึงมรณภาพ ฯลฯ แต่ไม่ถึงมรณภาพ ฯลฯ ต้องอาบัติถุลลัจจัย