พระราชพิธีสิบสองเดือน

พระราชพิธีสิบสองเดือน

พระราชพิธีสำหรับ พระนครที่เคยมีมาแต่ก่อนอาศัยที่มาเป็นสองทางคือ จากตำราไสยศาสตร์ จากศาสนาพราหมณ์ทางหนึ่ง และจากพระพุทธศาสนาทางหนึ่ง แต่มีบางพิธีมาจากต้นเหตุทั้งสองนี้ แล้วได้คละระคนกันขึ้นก็มีอยู่บ้าง แต่เดิมพระเจ้าแผ่นดิน และชาวพระนครนับถือศาสนาพราหมณ์ การพิธีใดในศาสนาพราหมณ์ การพิธีใดที่เป็นศรีสวัสดิมงคลก็ยึดถือปฏิบัติกันมา ครั้นต่อมาเมื่อชาวไทยหันมานับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งมิได้มีฤกษ์และพิธีใด ๆ เข้ามาปะปน ก็นำเอาพิธีต่าง ๆ ในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งไม่ขัดต่อคติทางพระพุทธศาสนามาใช้ปฏิบัติแทรกไว้ด้วย ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในทางใจ ดังที่เคยเชื่อถือมาก่อนแล้วนั่นเอง
พระราชพิธีที่มีมาในพระราชกำหนดกฎมณเฑียรบาล ซึ่งได้ใช้มาแต่แรกสร้างกรุงศรีอยุธยาก็คือ พระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงกระทำและถือว่าเป็นการมงคล สำหรับพระนครคือ


เดือนห้า พระราชพิธีเผด็จศก ลดแจตร หรือ รดเจตร ออกสนาม
เดือนหก พิธีไพศาขย์ จรดพระราชนังคัล
เดือนเจ็ด ทูลน้ำล้างพระบาท
เดือนแปด เข้าพรรษา
เดือนเก้า ตุลาภาร
เดือนสิบ ภัทรมหพิธีสารท
เดือนสิบเอ็ด อาศยุชยแข่งเรือ
เดือนสิบสอง พิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม
เดือนอ้าย ไล่เรือเถลิงพิธีตรียัมพวาย
เดือนยี่ การพิธีมุศยาภิเศก เฉวียนพระโคกินเลี้ยง
เดือนสาม การพิธีธานยเทาะห์
เดือนสี่ การพิธีสัมพัจฉรฉินท์

 

พระราชพิธีเดือนห้า

พระราชพิธีเดือนห้านี้ ได้ต่อมาจากพิธีสัมพัจฉรฉินท์ในเดือนสี่เรียงตามลำดับดังนี้
การสังเวยเทวดา สมโภชเครื่องและเลี้ยงโต๊ะปีใหม่
พระราชพิธีสมโภชเครื่องเป็นของเดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริเปลี่ยนแปลงใหม่ ทรงจัดให้มีการเลี้ยงโต๊ะ เพื่อเป็นการรื่นเริงขึ้นปีใหม่อย่างฝรั่งด้วย พิธีนี้ทำในวันขึ้นหนึ่งค่ำเดือนห้า ตอนเช้ามีพระราชกุศลสดับปกรณ์พระบรมอัฐิในพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย ตอนค่ำเชิญพระสยามเทวาธิราช เจว็ดมุขและเทวรูปมาตั้งที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จัดตั้งเครื่องสังเวยโต๊ะจีน ตรงลานหน้ามุขเด็จมีละครเล่น และคราวเดียวกัน โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งโต๊ะเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทูตานุทูตต่างประเทศคณะมิชชันนารี และพ่อค้า ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เลิกการเลี้ยงโต๊ะเช่นนี้ ได้เปลี่ยนมาเลี้ยงเฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น การสังเวยเทวดาก็เปลี่ยนเอามาทำในเวลาเช้า
พระราชพิธีศรีสัจจปานุกาล (ถือน้ำพิพัฒน์สัจจา)
เป็นพระราชพิธีใหญ่สำหรับแผ่นดิน มีสืบมาแต่โบราณไม่เว้นว่าง มีคำสั่งอ้างถึงว่าเป็นพิธีระงับยุคเข็ญของบ้านเมือง กำหนดมีปีละสองครั้ง คือในวันขึ้น ๓ ค่ำเดือน ๕ ครั้งหนึ่ง วันแรม ๑๓ ค่ำเดือน ๑๐ อีกครั้งหนึ่ง
การถือน้ำที่มีอยู่ในกรุงเทพ ฯ มี ๕ อย่าง คือน้ำแรก พระเจ้าแผ่นดินได้รับราชสมบัติอย่างหนึ่ง ถือน้ำปกติ ผู้ที่ได้รับราชการอยู่แล้วต้องถือน้ำปีละสองครั้งอย่างหนึ่ง ผู้ซึ่งมาแต่เมืองปัจจามิตรเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารอย่างหนึ่ง ทั้งสามนี้ถือเป็นถือน้ำอย่างเก่า การถือน้ำอย่างที่สี่คือทหารซึ่งเป็นผู้ถืออาวุธอยู่เสมอ ผู้ซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชการต้องถือน้ำพิเศษในเวลาแรกเข้ารับตำแหน่งอีกพวกหนึ่ง ทั้งสองพวกนี้เป็นการถือน้ำเกิดขึ้นใหม่ การถือน้ำทั้งสามอย่างคือ อย่างที่ ๑ อย่างที่ ๓ และอย่างที่ ๕ นั้นนับว่าเป็นการจร ส่วนการถือน้ำอย่างที่ ๒ และอย่างที่ ๔ นับเป็นการประจำปี
พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน
เป็นพิธีของพราหมณ์พฤติบาศทอดเชือก ดามเชือกเป็นกระบวนเรื่องคชกรรมการของหมอช้าง ทำเพื่อให้เจริญสิริมงคลแก่ช้าง ซึ่งเป็นพระราชพาหนะและเป็นกำลังแผ่นดิน และบำบัดเสนียดจัญไรในผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในการช้างทั้งปวง แต่การพิธีนี้เฉพาะเหมาะกับคราวที่ควรจะประกอบการอื่นหลาย ๆ อย่าง เช่นเดียวกับช้างและม้า เป็นต้น พิธีนี้ทำปีละสองครั้ง คือทำเดือนห้าครั้งหนึ่งกับเดือนสิบอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรตรวจตราชมเชยราชพาหนะทั้งปวงปีละสองครั้ง และเป็นการตระเตรียมเครื่องสรรพศาสตราวุธ และพลทหารให้พร้อมมูลอยู่เสมอ
พิธีสงกรานต์
วันสงกรานต์เริ่มเมื่อวันขึ้น หนึ่งค่ำเดือนห้า ซึ่งเป็นกำหนดขึ้นปีใหม่ นับเป็นวันนักขัตฤกษ์สำคัญ สำหรับชาวไทยมาแต่โบราณ สำหรับการภายในมีพระราชพิธีพระราชกุศลนักขัตฤกษ์ ในวันนี้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา แลพระราชทานเบี้ยหวัดผ้าปีแก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายใน นอกจากนี้มีพระราชกุศลก่อพระทราย และถวายข้าวบิณฑ์ ในวันสงกรานต์ พิธีสงกรานต์แบ่งออกเป็นสามตอนสามวัน วันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศก ตามลำดับ
พระราชกุศลเริ่มตั้งแต่วันจ่าย คือวันก่อนหน้าสงกรานต์หนึ่งวัน และมีการสวดมนต์สามวันโดยมิได้เสด็จออก ในวันมหาสงกรานต์เวลาค่ำมีสวดมนต์สรงน้ำพระในพระบรมมหาราชวัง และมีการสรงน้ำ (เฉพาะพระสงฆ์ที่เคารพ) หากพระสงฆ์นั้นอาพาธมาไม่ได้ ต้องให้ฐานานุกรมมาแทน และต้องเพิ่มน้ำหอมขึ้นอีกขวดหนึ่ง เพื่อจะได้ไปถวายแก่ผู้ที่ได้รดน้ำนั้น เมื่อได้รับไตรแล้วจึงออกไปสรงน้ำ เว้นไว้แต่ผู้ที่มาแทนไม่ได้สรงน้ำด้วย บรรดาพระสงฆ์ที่สรงน้ำเสร็จแล้วจึงไปห่มไตรแพร ซึ่งได้รับพระราชทานใหม่ นอกจากนี้ไม่มีของไทยธรรมใดอีก
ในเวลาบ่ายของวันเนา เป็นเรื่องการฉลองพระทรายเตียงยก คือพระทรายที่ก่อบนม้า ๑๐ องค์ และเวลาค่ำพระราชาคณะ สวดมนต์ ๓๐ รูป
รุ่งขึ้นเป็นวันเถลิงศก เวลาเช้าเปลี่ยนพระพุทธรูป เชิญพระพุทธรูปพระชนม์พรรษากลับ แล้วเชิญพระชนมพรรษาวันของพระบรมอัฐิ และพระอัฐิออกตั้งที่โต๊ะหมู่หรือบนธรรมาสน์ และนิมนต์พระสงฆ์ตามจำนวนพระอัฐิที่สดับปกรณ์ ฉันทั้งเช้าและเพล แต่ไม่มีการสรงน้ำ แล้วเสด็จขึ้นหอพระ ทรงฉลองพระหัตถ์ลงยา สรงพระบรมธาตุ และทรงสุหร่ายประพรมพระพุทธรูปในหอพระ แล้วจึงเสด็จหอพระบรมอัฐิ ทรงน้ำหอมสรงพระบรมอัฐิ และพระอัฐิอยู่ในหอพระ และไม่ได้อยู่ในหอพระเสร็จ จากนั้นจึงเสด็จออกทรงประเคนพระสงฆ์รับพระราชทานฉันเช้า และในวันเถลิงศก เป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณนั้น พระเจ้าแผ่นดินจะสรงมรุธาภิเษกตามฤกษ์มิได้ขาด แต่เดิมในการสงกรานต์พระเจ้าแผ่นดินต้องสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ ครั้นมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกสรงน้ำพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเพิ่มขึ้น ส่วนการเวียนเทียนในวันตรุษมีทั้ง ๓ วันสงกรานต์แต่เดิมมาแล้ว ในเวลานักขัตฤกษ์สงกรานต์ถือกันว่าเป็นฤดูหรือเวลาที่สมควรจะเล่นเบี้ย และได้มียกหัวเบี้ยพระราชทานในเวลาสงกรานต์ ๓ วันด้วยกัน
พระราชกุศลก่อพระทราย
กระทำในวันสงกรานต์ เป็นการชักชวนให้ประชาชนขนทรายเข้าวัด เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการซ่อมแซมพระอาราม และถนนหนทางในพระอาราม
การพระราชกุศลตีข้าวบิณฑ์
ข้าวบิณฑ์นี้ได้เนื่องมาจากการที่อยากตักบาตรพระพุทธเจ้าเป็นต้น ซึ่งมีวิธีถวายข้าวพระต่าง ๆ ซึ่งประพฤติอยู่ด้วยกันโดยมาก

 

พระราชพิธีเดือนหก

พระราชพิธีพืชมงคล และจรดพระนังคัล
การพระราชพิธีนี้กล่าวเป็น ๒ ชื่อ แต่ความจริงนับเนื่องเป็นพิธีเดียวกันพระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีสงฆ์ทำที่ท้องสนามหลวงในพระนคร แต่พระราชพิธีจรดพระนังคัลเป็นพิธีพราหมณ์ทำที่ทุ่งส้มป่อยนอกพระนคร พิธีทั้งสองทำพร้อมกันในคืนวันเดียวกัน
พระราชพิธีพืชมงคล มีขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พระราชพิธีจรดพระนังคัลมีมานานแล้ว ฤกษ์การพระราชพิธีนี้ต้องหาฤกษ์วิเศษกว่าฤกษ์อื่น ๆ กำหนดไว้ ๔ อย่าง คือฤกษ์นั้นอย่าให้ต้องรับผีเพลียอย่างหนึ่ง ให้ได้ศุภดิถีอย่างหนึ่ง ให้ได้บูรณฤกษ์อย่างหนึ่ง ให้ได้วันสมภเคราะห์อย่างหนึ่ง เมื่อได้ฤกษ์แล้วก็มีการแรกนา การแรกนาต้องเป็นหน้าที่ของผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมมีมาในโบราณ พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงลงไถนาเองเป็นองค์แรก พระมเหษีเลี้ยงตัวไหม เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจ หมั่นในทางที่จะทำนาเพื่อความเจริญไพบูลย์แห่งพระนคร
การวิสาขะบูชา
วันวิสาขะบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และเสด็จปรินิพพานในวันเพ็ญพระจันทร์เสวยวิสาขฤกษ์ นับเป็นวันนักขัตฤกษ์แห่งพระพุทธศาสนิกชนได้ทำการบูชาพระรัตนตรัย เป็นการระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คล้ายกับทำเฉลิมพระชนมพรรษาปีละครั้งแต่โบราณมา ตรงกับวันเพ็ญเดือนหก พระเจ้าแผ่นดินและราชตระกูลทรงศีลบำเพ็ญการพระราชกุศลต่าง ๆ ในวันนี้เป็นอันมาก

 

พระราชพิธีเดือนเจ็ด

พระราชพิธีเคณฑะคือทิ้งข่าง
เป็นพิธีการของพราหมณ์ที่ทิ้งข่างเสี่ยงทายตามตำรับไตรเพท เป็นพิธีให้อุ่นใจเหมือนอย่างแทงพระบทลองดู หรือเป็นพิธีทำอุบายห้ามการประทุษร้าย ไม่ให้เกิดขึ้นในเมืองโดยเสี่ยงทายเห็นว่า พระบารมีพระเจ้าแผ่นดินยังมากอยู่
พระราชพิธีทูลน้ำล้างพระบาท
ตามกฎมณเฑียรบาลกล่าวไว้เป็นความรวม ๆ ไม่ชัดเจนเหมือนอย่างพระราชพิธีอื่น ๆ คือ ที่รัตนสิงหาศน์เบ็ญจาเก้าชั้น ฉัตรทอง ฉัตรนาค ฉัตรเงิน และฉัตรเบญจรงค์ ส่วนในจดหมายของขุนหลวงหาวัดใจความว่า เสด็จสรงสนานในมณฑปกลางสระ ปุโรหิตถวายมุรธาภิเษกแล้วจึงถอดฉลองพระองค์ เปลื้องพระภูษาแก่พราหมณ์ แต่ภายหลังว่าเป็นพิธีล้างพระบาท จึงเอาความอะไรแน่ไม่ได้ พิธีนี้ก็ได้สูญหายไป
การพระราชกุศลสลากภัตร
จากหนังสือนพมาศกล่าวว่าทำในวันวิสาขบูชา แต่เพราะการพระราชพิธีสำหรับเดือนเจ็ดได้ยกเลิก ว่างเว้นไปตลอดเดือนด้วยเป็นฤดูฝน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้มีสลากภัตรเป็นการกุศลขึ้นแทน การพิธีนี้ให้พระสงฆ์จับสลากตามแต่ผู้ใดจะได้สลากภัตร นับเป็นภัตรอันหนึ่งในเจ็ดอย่างไม่ได้กำหนดเวลาทำพิธีไว้แน่นอน
พระราชกุศลหล่อเทียนพรรษา
การพระราชกุศลนี้กระทำเป็นการประจำปีไม่ขาด คือในบรรดาวัดหลวงที่มีนิตยภัตรสองสลึงแล้วจะมีเทียนพรรษาอีกอย่างหนึ่ง เวลาที่จะหล่อเทียนก็บอกบุญไปยังพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า ฝ่ายใน และเจ้าภาษีนายอากร มีการประชุมใหญ่ในวันขึ้น ๘ ค่ำเดือนเจ็ดทุกปีมิได้ขาด สำหรับปีอธิกมาส รอการหล่อเทียนไว้ในวันขึ้น ๘ ค่ำเดือนแปด บุรพสาธ รูปสัณฐานของเทียนพรรษานั้น วังหลวงกับวังหน้าไม่เหมือนกัน วังหลวงใช้รูปบัวปลายเสาวังหลวง วังหน้าใช้รูปบัวปลายเสาวังหน้า
การพระราชกุศลวันที่ ๓๑ พฤษภาคม
เป็นการทำบุญพระอัฐิหมู่ใหญ่ ไม่เป็นการพระราชกุศลประจำแผ่นดิน นับเป็นการในส่วนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินตามกาลสมัยเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชปรารภไว้ว่าหากต่อไปภายหน้าการพระราชกุศลเฝือนักก็ควรจะเลิกเสียไม่ต้องทำก็ได้

 

พระราชพิธีเดือนแปด

ตามกฎมณเฑียรบาลรายย่อจดหมายไว้ว่า เดือนแปดเข้าพระวัสสา ในหนังสือนพมาศกล่าวไว้ว่า เป็นการในพระพุทธศาสนา น่าจะเรียกว่าเป็นการพระราชกุศลมากกว่า จะเรียกว่าการพระราชพิธี เป็นประเพณีเมื่อถึงฤดูฝนพระสงฆ์หยุดอยู่ ณ เมืองใดเมืองหนึ่ง เป็นการจำพรรษาในที่สงัดแห่งใดแห่งหนึ่ง เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติ เมื่อเข้าพรรษาแล้วไม่ให้ท่องเที่ยวไป ต้องอยู่จำพรรษาในวัดแห่งเดียวให้ครบ ๓ เดือน
การพระราชกุศลฉลองเทียนพรรษา
เทียนพรรษาที่ต้องลงทุนรอนมากก็เป็นที่ชื่นชมในพระราชกุศล เทียนพรรษานี้เมื่อประดับประดาเครื่องพิมพ์สีผึ้งเรียบร้อยแล้ว ก็ส่งไปตามหัวเมืองให้ทันจุด เหลือนอกนั้นให้เป็นของกรุงเทพ ฯ ให้ยกมาตั้งที่เฉลียงท้องพระโรง มีสายสิญจ์วงรอบ พระสงฆ์ราชาคณะ ๒๐ รูป เริ่มสวดตั้งแต่เริ่มขึ้น ๑๓ ค่ำ พระพุทธรูปให้พระปางห้ามสมุทรเป็นประธาน ในพิธีขึ้น ๑๔ ค่ำ เลี้ยงพระ ๑๔ ค่ำ กลางคืนล่าง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เช้าจึงเสด็จพระราชดำเนิน ออกเลี้ยงพระสงฆ์ราชาคณะ ๓๐ รูป
เทียนพรรษาที่จุดนั้น ต้องใช้ไฟฟ้าส่องด้วยพระแว่นลงยาราชาวดี เพราะต้นตำราบอกว่ามาจากดวงอาทิตย์ เป็นไฟบริสุทธิถือว่าเป็นมงคล
การเสด็จพระราชดำเนินถวายพุ่ม

เมื่อพระราชทานเทียนให้ไปจุดตามวัดต่าง ๆ เสร็จก็เสด็จขึ้น เป็นสิ้นพระราชพิธีในเวลาเช้า บ่ายวันแรม ๑ ค่ำเวลาเช้า เสด็จพระราชดำเนินสดับปกรณ์กาลานุกาล เหมือนอย่างเดือนอื่น ๆ ทุกคราว จะแปลกแต่มีเครื่องสักการะสำหรับเข้าพรรษา ทรงประเคนองค์ละตะลุ่ม เมื่อพระสงฆ์กลับเสด็จพระราชดำเนินออก เปลื้องเครื่องทรงพระมหามณีรัตนปฏิมากร
อนึ่ง ในวันนักขัตฤกษ์เข้าพรรษา ๓ วันนี้ มีการสวดมนต์มหาชาติคำหลวงในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
การเปลื้องเครื่องทรงพระมหามณีรัตนปฏิมากร กำหนดในเวลาเปลี่ยนตามฤดูกาลปีละ ๓ ครั้ง คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือนแปดเข้าวสันตฤดูไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบสอง ทรงเครื่องอย่างห่มดองตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือนสิบสอง ใปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสี่ เป็นเหมันตฤดู เปลี่ยนเป็นผ้าทรงคลุม ทำด้วยทองคำเป็นหลอดลงยาราชาวดีร้อยลวดคลุมทั้งสองพระพาหา ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือนสี่ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด เป็นคิมหันตฤดู ทรงเครื่องต้นเป็นเครื่องทองคำลงยาราชาวดี ประดับเพชรพลอยต่าง ๆ