คณะสงฆ์อนัมนิกาย (พระญวน)

คณะสงฆ์อนัมนิกาย (พระญวน)

 


ความเป็นมาของชาวญวนในไทย
คนญวนที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ ยังไม่มีหลักฐานปรากฏ จากพงศาวดารของพวกญวน ที่อยู่ในกรุงเทพ ฯ มีอยู่ว่า
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๑๖ ได้เกิดกบฏขึ้นที่ เมืองเว้ อันเป็นเมืองหลวง ของประเทศญวน พวกราชวงศ์ญวน ได้พากันหนีพวกกบฏ ลงมาทางเมืองไซ่ง่อนหลายองค์องเชียงชุนราชบุตรองค์ที่ 4 ของเจ้าเมืองเว้ ได้หนีมาอาศัยอยู่ที่เมืองฮาเตียน ต่อแดนมณฑลบันทายมาศของเขมร เมื่อพวกกบฏยกกำลังติดตามมา เจ้าเมืองฮาเตียนก็อพยพครอบครัว พาองเชียงชุนเข้ามากรุงธนบุรี เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๑๙ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รับไว้ และพระราชทานที่ให้พวกญวน ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกฝั่งพระนคร ทางฝั่งตะวันออก บริเวณถนนพาหุรัดในปัจจุบัน

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ องเชียงสือ ราชนัดดาของเจ้าเมืองเว้ ได้หนีกบฏไปอยู่เมืองไซ่ง่อน แต่ต่อมาเมื่อสู้กบฏไม่ได้ จึงได้หนีมาอยู่ที่เกาะกระบือในเขมร ต่อมาได้เข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ที่กรุงเทพ ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๖ และได้รับพระราชทานที่ให้ญวนพวกองเชียงสือ ตั้งบ้านเรือนบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ตำบลคอกกระบือ พวกญวนที่นับถือองเชียงสือได้พากันอพยพครอบครัวมาอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก องเชียงสือได้คุมพวกญวนไปตามเสด็จในการทำสงครามกับพม่าหลายครั้ง และได้รับพระราชทานกองทัพไปตีเมืองไซ่ง่อนครั้งหนึ่ง ต่อมาองเชียงสือได้ลอบหนีกลับไปเมืองญวน เพื่อคิดอ่านตีเอาเมืองไซ่ง่อนคืน พฤติกรรมครั้งนี้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงขัดเคืองมาก จึงโปรดให้ญวนพวกองเชียงสือย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บางโพ และได้สืบเชื้อสายมาถึงปัจจุบัน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๗ พระเจ้าแผ่นดินญวนพระนามมินมาง ประกาศห้ามประกาศมิให้ญวนถือศาสนาคริสตัง และจับพวกญวนที่เข้ารีดทำโทษด้วยประการต่าง ๆ จึงมีพวกญวนเข้ารีดอพยพหนีภัยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในไทย โดยมาอยู่ที่เมืองจันทบุรีเป็นส่วนใหญ่ มีบางส่วนอพยพเข้ามาอยู่ในกรุงเทพ ฯ และได้รับพระราชทานที่อยู่ให้ที่สามเสน
ในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ เจ้าพระยาบดินทร์เดชาได้ยกทัพไปตีเมืองญวน และได้ครัวญวนส่งเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๓๗๗ ครัวญวนที่เข้ามาครั้งนี้แบ่งเป็น ๒ พวก คือ พวกที่ถือพุทธศาสนาพวกหนึ่ง และพวกที่ถือคริสตศาสนาอีกพวกหนึ่ง พวกญวนที่ถือพุทธศาสนานั้นโปรดเกล้า ฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี สำหรับรักษาป้อมเมืองใหม่ที่ทรงสร้างขึ้นที่ปากแพรก ส่วนพวกญวนที่ถือศาสนาคริสตตังให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สามเสน ซึ่งมีญวนที่ถือคริสตังตั้งอยู่มาแล้วแต่เดิมและโปรดเกล้า ฯ ให้ขึ้นอยู่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เพื่อทรงฝึกหัดเป็นทหารปืนใหญ่
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ญวนที่อยู่เมืองกาญจนบุรี มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม แล้วจัดให้เป็นทหารปืนใหญ่ฝ่ายวังหลวงสืบมา

ที่มาของวัดญวนในไทย

พวกญวนที่มาอยู่ในประเทศไทย มีทั้งที่นับถือพระพุทธศาสนา และที่นับถือคริสตศาสนา พวกที่นับถือพระพุทธศาสนา เมื่อมาตั้งภูมิลำเนาอยู่แห่งใดก็จะนิมนต์พระญวนมาสร้างวัด เป็นที่บำเพ็ญการกุศลของพวกตนที่อยู่ ณ ที่แห่งนั้น ประเทศญวนรับเอาพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน จากประเทศจีน ดังนั้น เมื่อพวกญวนมาสร้างวัด และมีพระญวนขึ้นในประเทศไทย ชั้นเดิมก็มีผู้นับถือและอุดหนุนแต่เฉพาะพวกญวน แต่เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีวัดจีนในประเทศไทย พวกจีนก็มักไปทำบุญที่วัดญวนด้วย เพราะอยู่ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานด้วยกัน มีพิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนา เช่น พิธีกงเต๊ก เป็นต้น อย่างเดียวกัน ส่วนไทยแม้ไม่สู้นับถือแต่ก็ไม่รังเกียจเพราะเห็นว่า นับถือพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน
วัดญวนที่สร้างขึ้นในประเทศไทย ก็เป็นไปตามที่พวกญวนเข้ามาอยู่ในประเทศไทยกล่าวคือ ญวนพวกที่มากับองเชียงชุนครั้งกรุงธนบุรี ได้มาสร้างวัดขึ้นที่บ้านหม้อ ๒ วัด คือ
วัดกามโล่ตื่อ (วัดทิพยวารีวิหาร) อยู่ที่หลังตลาดบ้านหม้อในกรุงเทพ ฯ แต่ได้เปลี่ยนมาเป็นวัดพระจีนปกครอง
วัดโหย่คั้นตื่อ (วัดมงคลสมาคม) เดิมอยู่ที่บ้านญวนข้างหลังวังบูรพาภิรมย์ ครั้นเมื่อจะตัดถนนพาหุรัด วัดนั้นอยู่ในแนวถนน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ทำผาติกรรมอย่างวัดไทย คือพระราชทานที่ดินและให้สร้างวัดขึ้นใหม่ แลกกับวัดเดิมโดยย้ายไปตั้งที่ริมถนน แปลงนามในอำเภอสัมพันธวงศ์
ญวนพวกที่มากับองเชียงสือ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้สร้างวัดญวนขึ้น ๒ วัดคือ
วัดคั้นเยิงตื่อ (วัดอุภัยราชบำรุง) อยู่ที่หลังตลาดน้อย (ริมถนนเจริญกรุง) ในอำเภอสัมพันธวงศ์
วัดกว๋างเพื๊อกตื่อ (วัดอนัมนิกายาราม) ที่บางโพ เรียกกันเป็นสามัญว่าวัดบางโพ
ญวนพวกที่เข้ามาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สร้างวัดญวนขึ้น ๓ วัด คือ
วัดคั้นถ่อตื่อ (วัดถาวรวราราม) อยู่ที่เมืองกาญจนบุรี เมื่อญวนพวกนั้นย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพ ฯ ก็ได้สร้างวัดญวนขึ้นอีกวัดหนึ่งคือ
วัดเกี๋ยงเพื๊อกตื่อ (วัดสมณานับบริหาร) เรียกกันสามัญว่าวัดญวนสะพานขาว อยู่ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ในอำเภอดุสิต
วัดเพื๊อกเดี้ยนตื่อ (วัดเขตร์นาบุญญาราม) อยู่ที่เมืองจันทบุรี
ต่อมาภายหลังได้มีวัดญวนที่พวกญวนและพวกจีนช่วยกันสร้างอีก ๔ วัด คือ
วัดโผเพื๊อกตื่อ (วัดกุศลสมาคร) อยู่ในอำเภอสัมพันธวงศ์ ใกล้ถนนราชวงศ์
วัดตี๊หง่านตื่อ (วัดชัยภูมิการาม) อยู่ในอำเภอสัมพันธวงศ์ ที่ตรอกเจ๊ฮัวเนียม
วัดหยิบเพื๊อกตื่อ (วัดบำเพ็ญจีบพรต) อยู่ในอำเภอสัมพันธวงศ์ ใกล้ถนนเยาวราช ต่อมาเป็นวัดพระจีนปกครอง
วัดตื้อเต้ตื่อ (วัดโลกานุเคราะห์) อยู่ในอำเภอสัมพันธวงศ์ ซอยผลิตผล ถนนราชวงค์
วัดคั้นถ่อตื่อ ( วัดถาวรวราราม) อยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สร้างใหม่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑
รวมวัดญวนที่มีอยู่ในกรุงเทพ ฯ ๗ วัด อยู่ที่ต่างจังหวัด ๓ วัด รวมเป็น ๑๐ วัด
ที่มาของพระญวนในประเทศไทย

พระญวนในประเทศไทย ชั้นแรกก็คงบวชมาจากเมืองญวน คือในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ต่อมาเมื่อญวนกับไทยเป็นอริกัน พระญวนในประเทศไทย ก็มีแต่ที่บวชอยู่ในประเทศไทย พระญวนที่อยู่ในประเทศไทยได้แก่ไขคติ หันมาตามอย่างพระสงฆ์ไทยหลายอย่างเป็นต้นว่า ถือสิกขาบทไม่ฉันอาหารเวลาวิกาลคือเวลาเย็น ครองผ้าสีเหลืองแต่เพียงสีเดียว ไม่ใส่รองเท้าและถุงเท้า เหมือนพระในประเทศจีนและประเทศญวน สำหรับข้อวัตรปฎิบัติอื่น ๆ ตลอดจนกิจพิธี คงทำตามแบบในเมืองญวนตลอดมา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระญวนมีสมณศักดิ์ และได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระญวนมาทำพิธีกงเต๊ก เป็นพิธีหลวงบ่อย ๆ จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกิจพิธีคล้ายกับพระสงฆ์ไทยมากยิ่งขึ้นอีกหลายประการ
มูลเหตุที่พระญวนได้รับความยกย่องในราชการนั้น มีเรื่องเล่ากันมาว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังคงทรงผนวชอยู่ ใคร่จะทราบลัทธิของพระญวน จึงทรงสอบถามองฮึง (ซึ่งต่อมาได้เป็นที่พระครูคณานัม สมณาจารย์องค์แรก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) จึงได้ทรงคุ้นเคยชอบพระราชอัธยาศัยมาแต่ครั้งนั้น เมื่อพระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว พระญวนก็ได้มีโอกาสเฝ้าแหนได้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดังจะเห็นได้ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระญวนยังเข้าไปถวายธูปเทียน และกิมฮวยอั้งติ้วอยู่ทุกปี ส่วนพิธีกงเต๊กที่ได้ทำเป็นงานหลวงนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ทำเป็นครั้งแรก เมื่องานพระศพสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ต่อมาเมือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๘ ก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีพิธีกงเต๊กในพระบรมราชวังอีกครั้งหนึ่ง การพิธีกงเต๊ก จึงได้เข้าในระเบียบงานพระศพซึ่งเป็นการใหญ่ เป็นประเพณีสืบต่อมา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า พวกญวนทั้งพระและคฤหัสถ์ ซึ่งมีอยู่ในพระราชอาณาเขตเวลานั้น ตกมาถึงชั้นนั้น เป็นญวนที่เกิดในพระราชอาณาเขต เป็นแต่เชื้อสายญวนที่เข้ามาแต่เมืองญวน เช่นเดียวกับพวกมอญ พระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งพระสงฆ์มอญให้มีสมณศักดิ์เหมือนอย่างพระสงฆ์ไทย จึงสมควรจะทรงตั้งพระสงฆ์ญวนให้มีสมณศักดิ์ขึ้นบ้าง แต่พระสงฆ์ญวนคือฝ่ายมหายาน จะเข้าทำกิจพิธีร่วมกับพระสงฆ์ไทย ไม่ได้เหมือนอย่างพระสงฆ์มอญ จึงทรงมีพระราชดำริให้มีทำเนียบสมณศักดิ์สำหรับพระญวนขึ้นต่างหาก และได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีสมณศักดิ์ สำหรับพระจีนด้วยในคราวเดียวกัน ทรงเลือกพระญวนที่เป็นคณาจารย์ ตั้งเป็นตำแหน่งพระครู พระปลัด รองปลัด (เทียบด้วยสมุห์) ผู้ช่วย (เทียบด้วยใบฎีกา) ส่วนพระจีนนั้นหัวหน้าเป็นตำแหน่งพระอาจารย์ (เทียบด้วยพระครู วิปัสสนา) และมีฐานานุกรม เป็นปลัด และรองปลัด เช่นเดียวกันกับพระญวน พระราชทานสัญญาบัตร มีราชทินนามกับพัดยศซึ่งจำลองแบบพัดยศของคณะสงฆ์ไทย แต่ทำเป็นขนาดย่อลงมา