๑๐บุญข้าวสาก(สลากภัตร)หรือบุญเดือนสิบ
คำว่า "สาก" ในที่นี้มาจากคำว่า "ฉลาก" ในภาษาไทย ข้าวสากหรือฉลากภัตรนี้แต่ละท้องถิ่นทำไม่เหมือนกัน เช่นในบางท้องถิ่นอาจจะจัดของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน ยาตำราหลวง มาทำเป็นห่อๆ นำไปถวายพระ ก่อนจะทำพิธีถวายก็จะมีการจับฉลากก่อน ทีนี้พอตนเองจับฉลากได้เป็นชื่อของพระเณรรูปใด ก็นำไปถวายตามนั้น ลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นการเสี่ยงสมภาร (บารมี) ว่าในปีนี้ดวงชะตาหรือชีวิตของตนจะเป็นเช่นไร มีการทำนายไปตามลักษณะของพระหรือเณรที่ตนเองจับฉลากได้ เช่น บางคนอาจจะจับได้พระที่เป็นผู้ที่อายุพรรษามากถือว่าเป็นผู้มีชีวิตมั่นคง หรือจับฉลากถูกพระเปรียญหรือเณรมหาก็ถือว่าเป็นผู้ที่สติปัญญามาก เป็นต้น
บางท้องถิ่นจะมีการทำข้าวสากหรือฉลากภัตรนี้เป็นลักษณะห่อด้วยใบตองกล้วย เอาไม้กลัดหัวกลัดท้ายมีรูปลักษณ์คล้ายๆ กลีบข้าวต้ม แต่ไม่พับสันตองเหมือนการห่อข้าวต้ม แล้วเย็บติดกันเป็นชุดๆ ภายในห่อนั้น บางห่อบรรจุหมาก พลู บุหรี่ ข้าวต้ม ข้าวสาร ปลา เนื้อ เป็นต้น ซึ่งแต่ละห่อนั้นไม่ซ้ำกัน แล้วนำไปแขวนห้อยไว้ตามต้นไม้ หรือรั้วบริเวณวัด ในตอนเช้าดึกของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เสร็จแล้วจะมีการตีโปง กลอง ฆ้อง ระฆัง เป็นสัญญาณป่าวร้องให้เปรตมารับเอา พิธีการเช่นนี้เรียกว่าแจกข้าวสาก
หลังจากนั้นเป็นเรื่องของชาวบ้านที่จะเก็บคืนมา ในบางที่มีการแย่งกันเป็นที่สนุกสนาน ซึ่งตอนนี้เรียกว่า "ชิงเปรต" หรือ แย่งข้าวสาก โดยมีความเชื่อท้องถิ่นที่ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าให้ฟังว่า ผู้ใดแย่งข้าวสากกากเดนเปรตมากิน จะเป็นคนที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ ปราศจากโรคหรือพยาธิต่างๆ ใบตองที่ห่อข้าวสาก ก็นำเอามาเก็บไว้ตามไร่นาตากล้า (สถานที่เพาะข้าวกล้าก่อนปักดำ) เชื่อว่าจะทำให้ข้าวกล้าในนาอุดมสมบูรณ์ดี
บุญข้าวสากเป็นช่วงที่กำลังอุดมสมบูรณ์ บริบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร สังเกตุได้จากบทพญา ที่นักปราชญ์อีสานได้กล่าวไว้ว่า...
มีแต่สดใสชื่นคืนวันอันแสนม่วน
ต่างก็ชวนพี่น้องโฮมเต้าแต่งทาน
ขวงเขตย่านบ้านป่านาหวาย
กลายมาถึงเดือนสิบ สิก่นมันมาต้ม
พ่องกะงมกอข้าวเอาเทากำลังอ่อน
พ่องกะคอนต่าน้อยลงห้วยห่อมนา
เดือนนี้บ่ได้ช้าพากันแต่งทานถง
ข้าวสากลงไปวัดถวายหมู่สังโฆเจ้า
มีลาบเทาพร้อมกับหมกดักแด้ของดีขั่วกุดจี่
มีทั้งหมกหมากมี้กะมาพร้อมพร่ำกัน
ในการทำบุญข้าวสากนี้ เป็นเรื่องที่คนอีสานใส่ใจมากกว่าบุญข้าวประดับดิน เพราะว่าเป็นเรื่องของความเชื่อที่ว่า ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เป็นวันที่พระยายมภิบาล เปิดขุมนรกให้สัตว์นรกได้มารับส่วนบุญส่วนกุศลจากญาติพี่น้องที่อยู่ในมนุษย์โลก ตั้งแต่เที่ยงคืนถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ไปจนถึงเที่ยงคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ทีนี้ในเมื่อพวกเปรตหรือสัตว์นรกเหล่านั้นมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่อยู่ในมนุษย์โลก พวกที่ได้รับบุญกุศลที่เกิดจากการทำบุญข้าวสากนี้ ก็จะอวยพรให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยสิ่งที่ต้องการและปรารถนา ในทางตรงข้าม ถ้าหากว่ามาแล้วเกิดไม่ได้ส่วนบุญอะไรเลย ก็จะน้อยเนื้อต่ำใจว่า ลูกหลานไม่ใส่ใจ ถึงแม้ว่าผู้อื่นไม่ใช่ญาติสายโลหิตจะอุทิศแผ่ส่วนบุญไปให้ ก็ได้แต่เลียใบตองห่อข้าวสากเท่านั้น ซึ่งไม่ถึงกับอี่มท้องอะไรเลย ก็ได้สาปลูก แช่งหลานที่ไม่เอาใจใส่ มัวแต่แย่งทรัพย์สมบัติมรดก ที่เขาหามาในขณะยังมีชีวิตอยู่ จนกระทั้งลืมผู้มีพระคุณ ในเรื่องนี้ออกจะทำให้น่ากลัวเกรงโทษ ในการทอดทิ้งผู้มีพระคุณโดยเฉพาะพ่อแม่ ญาติสายโลหิต ควรได้รับการเอาใจใส่จากลูกหลาน ทั้งในขณะยังมีชีวิตอยู่ และหลังจากที่ตายไปแล้ว
ในประเพณีบุญเดือนสิบนี้ บางท้องถิ่นจะจัดให้มีการถวายทาน รักษาศีล เพื่อเป็นอุทิศส่วนกุศลไปให้ปวงญาติที่ตายไปแล้ว นอกจากนี้ยังจัดให้มีการฟังเทศน์ตลอดทั้งวันอีกด้วย โดยเรื่องที่นำมาเทศน์ส่วนมากเป็นเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่น และมีอิทธิพลต่อความเชื่อของท้องถิ่น ในลักษณะของการขัดเกลาจิตใจ และเร่งเร้าให้ทำคุณงามความดีในรูปแบบต่างๆ เช่น เรื่องมโหสถ เรื่องพระเจ้าสิบชาติ เรื่องท้าวกำกาดำเป็นต้น บุญเดือนสิบถือได้ว่าเป็นประเพณีอันดีงามของคนอีสาน ที่ควรเอาใจใส่ประพฤติปฏิบัติกัน.
|