พระเจ้าปายาสิตรัสตอบว่า “ ไม่มีใครต้องการทำเช่นนั้นอีก ”

พระเถระอธิบายต่อไปว่า “ พวกที่เกิดในสวรรค์ก็เหมือนกันย่อมเพลิดเพลินด้วยความสุขในสวรรค์ เสวยกามคุณทั้ง ๕ อันเป็นทิพย์อยู่ โลกมนุษย์จึงปรากฏแก่เทวดาดุจหลุมคูณ ที่ไหนเขาจะกลับมาทูลให้พระองค์ทรงทราบได้ อนึ่งเล่า วันเวลาในสวรรค์ก็นานกว่าวันเวลาในโลกมนุษย์ เช่น ร้อยปีในโลกมนุษย์ เท่ากับวันหนึ่งกับคืนหนึ่งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พันปีทิพย์เป็นประมาณอายุของเทพชั้นดาวดึงส์ ท่านผู้ทำความดีเหล่านั้นไปเกิดในที่นั้นแล้ว คิดว่าอีก ๒ - ๓ วันจะมาทูลให้พระองค์ทรงทราบ จะมาทูลได้หรือไม่ ”

พระเจ้าปายาสิตรัสว่า “ ไม่ได้ เพราะข้าพเจ้าก้คงตายไปเสียแล้ว ”

พระเจ้าปายาสิตรัสท้วงว่า “ ใครนะช่างรู้ว่าวันเวลาในสวรรค์กับมนุษย์ต่างกัน และสามารถรู้ว่า เทพชั้นดาวดึงส์มีอายุยืนขนาดนั้น ข้าพเจ้าไม่เชื่อเลย ”

พระเถระทูลว่า “ เปรียบเหมือนคนตาบอดแต่กำเนิด มองอะไรไม่เห็นเลย จึงกล่าวว่า สีดำ สีขาว และสีเหลือง เป็นต้นไม่มี คนที่เห็นสีเช่นนั้นก็ไม่มี ดวงดาว พระจันทร์ และ พระอาทิตย์ไม่มี ผู้เห็นดวงดาว เป็นต้น นั้นก็ไม่มี เพราะข้าพเจ้าไม่รู้ไม่เห็น สิ่งนั้นจึงไม่มี ผู้นั้นจะชื่อว่ากล่าวชอบหรือไม่ ”

ตรัสตอบว่า “ กล่าวไม่ชอบ ”

พระเถระจึงทูลว่า “ พระองค์ปฏิเสธเรื่องนั้นเทพชั้นดาวดึงส์ก็เช่นกัน เพราะสมณพราหมณ์ พวกที่อยู่ในป่าอันเงียบสงัดประมาท ทำความเพียรฝึกจิตของตนอยู่จนได้ทิพยจักษุสามารถมองเห็นโลกอื่น และเห็นสัตว์จำพวกโอปปาติกะ ( คือสัตว์จำพวกที่เกิดผุดขึ้นเป็นตัวตนทีเดียว เช่น เทวดา และสัตว์นรกเป็นต้น ) ด้วยจักษุอันเป็นทิพย์ เหนือจักษุของมนุษย์ก็มีอยู่ เรื่องของโลกหน้าพึงเห็นได้ด้วยวิธีอย่างนี้ จึงไม่ควรเข้าใจว่าพึงเห็น ได้ด้วยตาเนื้อนี้เลย ”

พระเจ้าปายาสิทรงแย้งว่า “ ถ้าอย่างนั้น ทำไม พวกสมณพราหมณ์ผู้มีศีล ผู้ประพฤติธรรมยังไม่อยากตาย อยากมีชีวิตอยู่ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าเมื่อตายไปแล้วก็จะบังเกิดในสวรรค์ มีความสุขดีกว่าอยู่ในชาตินี้ ซึ่งควรจะฆ่าตัวตายเสีย แต่เพราะไม่รู้ว่าตายแล้วจะดีกว่าชาตินี้ แต่กลับรักตัวกลัวตายกันทุกคน ไม่เห็นใครอยากตาย ข้อนี้เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าโลกหน้ามีจริง สัตว์จำพวกโอปปาติกะมีผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมี ”

พระเถระทูลเปรียบเทียบถวายว่า “ เปรียบเหมือนพราหมณ์คนหนึ่งมีภริยา ๒ คน คนหนึ่งมีบุตรชาย อายุ ๑๐ หรือ ๑๒ ปี อีกคนหนึ่งมีครรภ์จวนคลอด พราหมณ์นั้นได้ถึงแก่กรรมลง มาณพผู้เป็นบุตรจึงพูดกับมารดาเลี้ยงว่า “ ทรัพย์สมบัติทั้งปวงตกเป็นของข้าพเจ้าหมด ของท่านไม่มีเลย ” นางพราหมณ์ผู้เป็นมารดาเลี้ยงก็ตอบว่า “ จงรอก่อนจนกว่าฉันจะคลอด ถ้าคลอดเป็นชายก็จะได้ส่วนแบ่งส่วนหนึ่ง ถ้าเป็นหญิง แม้น้องหญิงนั้นก็จะตกเป็นสมบัติของเจ้า ” ( วัฒนธรรมเกี่ยวกับการจัดมรดกของพวกพราหมณ์นั้น หญิงไม่มีสิทธิ์อะไรในทรัพย์ของบิดาเลย สุดแต่ชายผู้เป็นพี่จะจัด เพราะตัวเองก็ตกอยู่ในฐานะที่พี่ชายจะใช้สอย หรือเอาเป็นภริยาได้ ถ้าเป็นน้องต่างมารดา ) แต่มานพนั้นก็เซ้าซี้อยู่อย่างเดิม จนนางพราหมณ์นั้นถือเอามีดเข้าไปในห้อง ผ่าท้องเพื่อจะดูว่าเด็กในท้องเป็นชายหรือหญิง จึงเป็นการทำลายชีวิตของตนเอง ทำลายเด็กในครรภ์ และทำลายทรัพย์สมบัติ เพราะเป็นผู้โง่เขลา แสวงหาทรัพย์สมบัติโดยไม่ใช้ปัญญาจึงถึงความพินาศ แต่สมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีธรรมอันดี ย่อมไม่เป็นเช่นนั้น คือ ย่อมไม่ชิงสุกก่อนห่าม ย่อมรอจนกว่าจะสุก สมณพราหมณ์เหล่านี้มีชีวิตอยู่นานเพียงใด ผู้อื่นก็ได้ประสบบุญมากเพียงนั้น และท่านก็ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เหมือนหญิงผู้ฉลาดรักษาครรภ์ของตนให้ครบ ๑๐ เดือนฉะนั้น ”

พระเจ้าปายาสิก็ยังไม่ทรงเชื่อ แล้วพระองค์ก็ได้นำข้อมูลที่พระองค์ได้ทรงทำการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้มาค้านว่า “ พระองค์เคยตรัสสั่งให้ลงโทษโจรที่จับได้ โดยให้ใส่ลงไปในหม้อทั้งเป็นปิดฝาแล้วเอาหนังสดรัดเอาดินเหนียวที่เปียกยาให้แน่น แล้วเอาตั้งบนเตาไฟ เมื่อรู้ว่าตายแล้วก็ให้ยกหม้อลงมา กะเทาะดินที่ยาออก เปิดฝา ค่อย ๆ มองดูเพื่อจะดูวิญญาณของโจรนั้นออกไปก็ไม่เห็นเลย จึงไม่เชื่อว่าวิญญาณมีจริง ไม่เชื่อว่าคนเราตายแล้วเกิดจริง ” พระเถระทูลถามว่า “ พระองค์ทรงระลึกได้หรือไม่ว่าเคยบรรทมหลับกลางวันแล้วทรงฝันเห็นสวน ป่า ภูมิสถาน และสระอันน่ารื่นรมย์

ตรัสว่า “ ระลึกได้ ”

พระเถระทูลถามว่า “ ก็ในสมัยนั้นพวกคนที่คอยเฝ้าพระองค์มีอยู่หรือไม่ ” ตรัสตอบว่า “ มี ”

พระเถระจึงทูลว่า “ คนมีชีวิตอยู่ไม่อาจเห็นวิญญาณของพระองค์ผู้ทรงพระชนม์ชีพอยู่ ไฉนพระองค์จะเห็นวิญญาณของคนตายเข้าออกได้ ”

พระเจ้าปายาสิตรัสแย้งว่า “ พระองค์เคยรับสั่งให้ลงโทษโจรที่จับได้ให้ชั่งน้ำหนักดูเมื่อเป็น แล้วเอาเชือกรัดคอให้ตายแล้วชั่งดูอีกที ก็ปรากฏว่าในขณะที่ยังเป็นอยู่ มีน้ำหนักเบากว่าอ่อนกว่า ใช้งานได้ดีกว่าเมื่อตายแล้ว ก็เมื่อวิญญาณออกจากร่างไปแล้ว เหตุไฉนจึงกลับหนักกว่าเมื่อวิญญาณยังอยู่ เหตุนี้จึงไม่เชื่อว่าเรื่องตายแล้วเกิดใหม่

พระเถระทูลเปรียบเทียบให้ฟังว่า “ เหมือนท่อนเหล็กที่เผาไฟแล้ว ความร้อนยังระอุอยู่ ย่อมมีน้ำหนักเบากว่า อ่อนกว่า ใช้การงานได้ดีกว่าท่อนเหล็กท่อนเดียวกันนั้นที่ยังเย็นอยู่ ฉันใดคนตายเมื่อร่างกายายใน พร้อมทั้งวิญญาณ พรากจากกันแล้วก็ย่อมมีน้ำหนักมากกว่าเมื่อมีชีวิตอยู่ ฉันนั้น ”

พระเจ้าปายาสิก็ไม่ทรงเชื่อ ตรัสต่อไปอีกว่า “ ข้อนี้ขอยกไว้ก่อน , พระองค์เคยรับสั่งให้จับโจรฆ่าให้ตาย โดยไม่ทำร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งให้บอบช้ำ และเมื่อโจรนั้นจวนจะตายแน่แล้ว ก็สั่งจับให้นอนหงายเพื่อจะดูวิญญาณออกจากร่าง ก็ไม่เห็นวิญญาณออกไป และสั่งให้พลิกโจรนั้นไปในอิริยาบถต่าง ๆ เช่น ให้เอาศีรษะลง เป็นต้น อีก ก็ไม่เห็นวิญญาณออกมาเลย จึงไม่เชื่อว่าวิญญาณมี ”

ในข้อนี้ พระเถระทูลเปรียบเทียบถวายว่า “ เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์ เดินทางไปชนบทชายแดนแห่งหนึ่ง เป่าสังข์ขึ้น ๓ ครั้ง แล้ววางสังข์ไว้บนดิน ชาวบ้านได้ยินเสียงสังข์ก็ชอบใจ แล้วพากันมารุมล้อมถามว่าเสียงอะไร เขาตอบว่าเสียงสังข์ ชาวบ้านจับสังข์หงายขึ้น พร้อมกับพูดว่า “ สังข์เอ๋ย จงเปล่งเสียง ” แต่สังข์ก็ไม่เปล่งเสียง จึงจับคว่ำ จับตะแคง ยกขึ้น เอาหัวลง เอาฝ่ามือ , ก้อนดิน , ท่อนไม้และศัสตราเคาะ ดึงเข้ามา ผลักออกไป จับพลิกไปมา เพื่อจะให้สังข์นั้นเปล่งเสียง สังข์นั้นก็ไม่เปล่งเสียงคนเป่าสังข์ เห็นว่าคนเหล่านั้นเป็นคนบ้านนอกเป็นคนเขลา หาเสียงสังข์โดยวิธีไม่แยบคาย จึงหยิบสังข์ขึ้นมาเป่าให้ดู ๓ ครั้งแล้วหลีกไป คนเหล่านั้นจึงรู้ว่าสังข์ต้องประกอบด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ คน ๑ ความพยายาม ๑ ลม ๑ จึงมีเสียงได้ ถ้าไม่ประกอบด้วยสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็มีเสียงไม่ได้ กายก็เช่นเดียวกันต้องประกอบด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ อายุ ๑ ไออุ่น ๑ วิญญาณ ๑ จึงสามารถยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้นได้ และสามารถรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ถ้าไม่ประกอดด้วยสิ่งเหล่านี้ก็ทำอะไร ไม่ได้คนที่ค้นหา

วิญญานด้วยวิธีอันไม่ถูกต้อง ก็เป็นเหมือนคนป่า ขอร้องให้สังข์เปล่งเสียงฉะนั้น ”

พระเจ้าปายาสิตรัสว่า “ พระองค์สั่งให้ลงโทษโจรที่จับได้ โดยให้ตัดอวัยวะต่าง ๆ ออก เพื่อค้นหาวิญญาณก็ไม่พบจึงไม่เชื่อว่า คนเราตายแล้วเกิดจริง ”

พระเถระทูลเปรียบเทียบถวายว่า “ เหมือนเด็กน้อยคนหนึ่ง อยู่กับฤาษีผู้เป็นอาจารย์ในป่า ฤาษีต้องการให้เด็กนั้นเฝ้าอาศรมแต่ผู้เดียว ส่วนตนเองเดินทางไปในชนบท แต่ก่อนไปได้สั่งเด็กน้อยนั้นว่า เจ้าอย่าประมาทในการบูชาไฟ คือ คอยเอาฟืนใส่ในกองไฟอย่าให้ๆฟดับได้ ถ้าไฟดับ นี่มืด นี่ไม้สีไฟ เจ้าจงเอาสิ่งเหล่านี้ทำไฟให้ติดขึ้น จงบูชาต่อไป เมื่อฤาษีจากไปแล้วเด็กมัวเล่นเพลินไปไฟก็ดับ เด็กคิดถึงคำสั่งขึ้นมาได้ จึงเอามีดมาถากไม้สีไฟ ด้วยหวังจะให้ไฟเกิดขึ้นก็ไม่ได้ จึงผ่าไม้สีไฟออกเป็น ๒ ซีก ๓ ซีก จนถึง ๒๐ ซีก ก็ยังไม่ได้ไฟจึงทำออกเป็นชิ้น ๆ ใส่ครอกตำ แล้วมาโรยที่ลม ด้วยหวังจะได้ไฟ แต่ก็ไม่ได้ ฤาษีกลับมาเห็นเช่นนั้น ถามทราบความแล้ว จึงคิดว่าเด็กนี้ยังอ่อน ไม่ฉลาด หาไฟอยู่โดยวิธีไม่ถูกต้อง จะได้ไฟอย่างไรจึงเอาไม้มาสีไฟให้เด็กดูถึงวิธีทำไฟให้เกิดขึ้น พระองค์ก็เช่นเดียวกันปรารถนาจะค้นหา วิญญาณ แต่หาโดยวิธีไม่ถูกต้อง จึงไม่สามารถพบหลักความจริงข้อนี้ได้ ”

ในที่สุด พระเจ้าปายาสิต้องยอมจำนนต่อเหตุผล และความจริงที่พระเถระนำมาแสดง และพระองค์ได้เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงสละความเห็นผิดเสียได้

จากเนื้อความในพระสูตรนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า คนในครั้งก่อนมีการค้นคิดเรื่องตายแล้วเกิดใหม่กันมากเพียงไร ทั้งเป็นเครื่องแสดงถึงความสามารถของพระกุมารกัสสปเถระผู้เป็นมหาสาวกองค์หนึ่งของพระบรมศาสดา ในการโต้ตอบปัญหาเกี่ยวกับการเกิดใหม่ตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งเราในฐานะที่นับถือพุทธศาสนา ควรทราบเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง

 
 

 

1 I 2 I 3 I 4 I 5 I 6 I 7 I 8 I 9 I 10 I 11