กรรมที่ให้ผลตามลำดับ ประการ

นิมิตทั้ง ๓ ประการ ที่เป็นอารมณ์ ปรากฏ ในมรณาสันนวิถีนี้ ย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจกรรม ๔ ประการที่ให้ผลตามลำดับ คือ

. ครุกรรม กรรมหนัก กรรมอื่นไม่อาจจะห้ามหรือขัดขวางผลของกรรมประเภทนี้ และครุกรรมนี้ มีทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล

ครุกรรมฝ่ายกุศล ได้แก่ มหัคคตกุศลจิต ๙ ดวง คือ รูปาวจรกุศล ๕ อรูปาวจรกุศล ๔ ที่จะนำไปเกิดเป็นรูปพรหมหรืออรูปพรหม

ส่วนครุกรรมฝ่ายอกุศล ได้แก่อนันตริยกรรม ๕ คือ ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำโลหิตพระพุทะเจ้าให้ห้อ และทำสังฆเภท คือทำสงฆ์ให้แตกกัน

. อาสันนกรรม กรรมที่ได้กระทำหรือระลึกได้เมื่อใกล้จะตาย คือก่อนที่มรณาสันนวิถีเกิด มีได้ทั้งกุศลอาสันนกรรมหรืออกุศลอาสันนกรรม ถ้าไม่มีครุกรรมแล้ว อาสันนกรรมย่อมให้ผล คือย่อมกระทำนิมิตที่เป็นกรรม กรรมนิมิต หรือคตินิมิตให้ปรากฏในมรณาสันนวิถีได้

ถ้าเป็นกุศลอาสันนกรรม ก็นำไปเกิดในสุคติภูมิ แต่ถ้าเป็นอกุศลอาสันนกรรม ก็นำไปเกิดในทุคติภูมิ

. อาจิณณกรรม กรรมที่ทำจนเคยชิน หรือ ทำเป็นประจำมีทั้งกุศล

อาจิณณกรรมและอกุศลอาจิณณกรรม อาจิณณกรรมนี้ถ้าไม่มีครุกรรม และอาสันนกรรมแล้ว ก็ย่อมจะให้ผล โดยทำให้เป็นอารมณ์แก่มรณาสันนวิถี ถ้าเป็นกุศลอาจิณณกรรม ก็นำไปสู่สุคติแต่ถ้าเป็นอกุศลอาจิณณกรรม ก็นำไปสู่ทุคติ

อาจิณณกรรม คือ กุศลกรรม หรืออกุศลกรรมที่ได้ทำมาเป็นประจำหรือระลึกถึงบ่อย ๆ เช่น ทำบุญตักบาตรทุกวัน ฆ่าสัตว์ทุกวัน หรือคิดถึงกรรมดี หรือกรรมชั่วที่ตนเองกระทำอยู่เสมอ ถ้าไม่มีครุกรรมหรืออาสันนกรรมแล้ว อาจิณณกรรมก็ย่อมปรากฏผล

โดยทำอารมณ์แก่มรณาสันนวิถี ถ้าเป็นกุศลอาจิณณกรรม ก็นำไปสู่สุคติ แต่ถ้าเป็นอกุศล

อาจิณณกรรม ก็นำไปสู่ทุคติ

. กตัตตากรรม คือ กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ได้กระทำไปโดยไม่ตั้งใจไว้ก่อน หรือกุศล อกุศลกรรมที่ทำด้วยเจตนาอันอ่อน กรรมนี้จัดเป็นกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ในคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินิท่านกล่าวว่า “ กรรมที่นอกไปจากกรรม ๓ อย่างข้างต้น คือ ครุกรรม อาสันนกรรม และอาจิณณกรรม เป็นกรรมสักว่าทำเท่านั้น ชื่อ ๑ กตัตตากรรม ”

ถ้าไม่มีครกรรม อาสันนกรรม และอาจิณณกรรมแล้ว ก้เป็นหน้าที่ของกตัตตากรรม ถ้าเป็นกุศลกตัตตากรรม ก็นำไปสู่สุคติ แต่ถ้าเป็นอกุศลกตัตตากรรม ก็นำไปสู่ทุคติ

 

สามเณรสนทนากับเปรต

“ ท่านทั้งสองมือถือค้อน เดินร้องไห้มีน้ำตานองหน้ามีตัวเป็นแผลแตกพัง เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ท่านทำบาปอะไรไว้ ท่านทั้งสองดื่มโลหิตของกันและกัน เพราะท่านได้ทำกรรมอะไรไว้ ”

นี้คือคำถามตอนหนึ่ง ซึ่งสามเณรผู้เป็นศิษย์ของพระสังกิจจเถระผู้ได้เห็นเปรตสองตน ซึ่งมีอาการแปลกประหลาด แล้วได้ถามขึ้นด้วยความอยากรู้

 


เรื่องนี้ ส่วนใหญ่ผู้เขียนถอดใจความจากเรื่องนาคเปรต เปตวัตถุ คัมภีร์ ขุททกนิกาย และจากอรรถกถาเปตวัตถุ คัมภีร์ปรมัตถทีปนี

 

เล่ากันว่า สังกิจจสามเณร ผู้มีอายุ ๗ ขวบ ผู้เป็นศิษย์พระสารีบุตรเถระ ได้สำเร็จพระอรหันต์ในเวลาที่ปลงผม ต่อมาสามเณรได้ไปอยู่ป่าแห่งหนึ่งกับภิกษุ ๓๐ รูป และได้ใช้อำนาจฌานสมบัติของตนป้องกันพระเถระ ๓๐ รูป ไม่ให้ถูกพวกโจรฆ่าซ้ำยังสั่งสอนพวกโจรเหล่านั้นให้เลื่อมใส ให้บวชเป็นสามเณรทั้งหมด แล้วนำไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมให้สามเณรที่บวชใหม่ทั้งหมดนั้นสำเร็จพระอรหันต์ และให้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ต่อมา เมื่อสังกิจจสามเณรได้อุปสมบทแล้ว ก็ได้ไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พร้อมด้วยภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ผู้เป็นศิษย์ของท่าน

ในกรุงพาราณสีนั้นนั้น มีบุตรของพราหมณ์คนหนึ่ง ได้ฟังธรรมของพระสังกิจจเถระแล้วเกิดความสลดใจ ได้ออกบวชเป็นสามเณร แล้วได้ไปฉันที่เรือนลุงของตนเป็นนิตย์ แต่มารดาต้องการให้สามเณรสึกออกมาครองเรือน จึงได้พูดประโลมให้สามเณรนั้นพอใจกับหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งเป็นธิดาพี่ชายของตนสามเณรนั้นก็อยากสึก จึงไปหาพระ

สังกิจจเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์เพื่อขอสึก พระอุปัชฌาย์ยังไม่ต้องการให้สึก เพราะเห็นว่าสามเณรมีอุปนิสัยที่จะบวชในพระพุทธสาสนาได้ผลอยู่ จึงพูดว่า “ สามเณร จงรอสักเดือนหนึ่งก่อน ” สามเณรก็เชื่อฟัง แต่เมื่อครบหนึ่งเดือนแล้ว จึงไปขอลาสึกอีก พระเ๔ระให้รอไปอีกกึ่งเดือน เมื่อเลยกึ่งเดือนไปแล้ว ก็ให้รอไปอีก ๗ วัน ในภายใน ๗ วันนั้น ได้เกิดพายุพัดใหญ่ขึ้นในเมืองพาราณสี ทำให้เรือนลุงของสามเณรล้มพังลง ลุงกับป้าพร้อมบุตรชาย ๒ คน และบุตรหญิง ๑ คน ถุกเรือนทับตาย ลุงกับป้าได้ไปเกิดเป็นเปรต บุตรกับธิดา ได้ไปเกิดเป็นรุกขเทวดา อยู่มนุษย์โลกนี้เอง บุตรคนโตมีช้างเป็นพาหนะ บุตรคนเล็กมีรถม้าเป็นพาหนะ ธิดามีวอทองเป็นพาหนะ ส่วนลุงกับป้า คือพราหมณ์กับพราหมณ์ ได้ถือเอาค้อนเหล็กใหญ่ทุบตีกัน ร่างกายที่ถูกทุบตีด้วยค้อนเหล็กใหญ่นั้นก็บวมขึ้นแล้วแตกในทันที เปรตทั้งสองนั้น ก็ได้ดื่มกินน้ำเหลืองและโลหิตของกันและกันเป็นอาหาร

ครั้งนั้น สามเณรนั้นก็ได้เข้าไปลาพระอุปัชฌาย์อีก โดยกราบเรียนว่า “ พ้นวันที่กำหนดไว้แล้ว ผมจะกลับบ้าน ขออนุญาตให้ผมกลับบ้านเถิดครับ ” พระสังกิจจเถระซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ ผู้สามารถรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าด้วยอำนาจอภิญญาจิต จึงได้พูดกับสามเณรว่า “ เธอไปได้ แต่จงกลับมาในเวลาสิ้นแสงตะวันของวันสิ้นแสงตะวันของวันสิ้นเดือน แล้วจงไปยืนอยู่ที่ข้างวิหารแห่งหนึ่ง ”

สามเณรก็ได้ทำตามที่พระอุปัชฌาย์สั่ง ครั้งนั้น รุกขเทวดา ๒ องค์ พร้อมกับน้องสาวได้ผ่านไปทางนั้น เพื่อจะไปที่สมาคมของเหล่าเทพยดา ส่วนมารดากับบิดาของรุกขเทวดานั้นซึ่งตายไปเกิดเป็นเปรต ในวันนั้นก็ได้เดินผ่านไปทางนั้น เปรตสองตนได้ถือค้อนเหล็กอันใหญ่ต่างได้กล่าวคำหยาบช้าต่อกันแล้วก้ทุบตีกันงเอง เมื่อสามเณรเดินผ่านไปทางนั้น พอดีเป็นเวลาสิ้นแสงพระอาทิตย์ พระสังกิจจเถระผู้เป็นพระอรหันต์ก็บันดาลให้สามเณรได้เห็นรุกขเทวดาและเปรตทั้งสอง ด้วยอำนาจฤทธิ์ของท่าน ด้วยต้องการ จะให้สามเณรเกิดความสลดใจ แล้วจึงถามสามเณรว่า “ เจ้าเห็นพวกที่ผ่านไปทางนี้หรือไม่ ” สามเณรตอบว่า “ ผมเห็นครับ ” “ ถ้าอย่างนั้น เธอลองถามกรรมของเขาดูว่า พวกเขาได้ทำกรรมอะไรไว้ ” พระเถระกล่าวแนะนำขึ้น

เมื่อได้รับคำแนะนำจากอุปัชฌาย์เช่นนั้น สามเณรจึงถามว่า “ คนหนึ่งขี่ช้างเผือกไปข้างหน้า คนหนึ่งขี่รถเทียมด้วยม้าอัสดรไปท่ามกลาง สาวน้อยขึ้นวอไปข้างหลัง เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทิศ ส่วนท่านทั้งสองมือถือค้อน เดินร้องไห้มีน้ำตานองหน้า มีตัวเป็นแผลแตกพัง ท่านเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบาปอะไรไว้ ท่านทั้งสองดื่มกินโลหิตของกันและกัน เพราะทำกรรมอะไรไว้ ”

เปรตทั้งสองฟังสามเณรถามแล้ว จึงตอบว่า “ ผู้ที่ขี่ช้างเผือกชาติกุยชรไปข้างหน้า เป็นบุตรหัวปีของข้าพเจ้าทั้งสอง เมื่อเป็นมนุษย์เขา ได้ถวายทานแก่พระสงฆ์ จึงได้รับความสุขบันเทิงใจ ผู้ที่ขี่รถเทียมด้วยม้าอัสดร ๔ ตัว แล่นเรียบไปในท่ามกลางเป็นบุตรคนกลางของข้าพเจ้าทั้งสอง เมื่อเขาเป็นมนุษย์ เป็นคนไม่ตระหนี่เป็นทานบดี ( เป็นใหญ่ในการให้ทราบ รุ่งโรจน์อยู่ ส่วนนารีที่มีสติปัญญา ซึ่งมีดวงเนตรกลมงามแวววาว ดุจตาเนื้อทรายขึ้นวอทองไปข้างหลังนั้น นางเป็นธิดาสุดท้องของข้าพเจ้าทั้งสอง นางมีความสุขเบิกบานใจเพราะผลแห่งทาน เมื่อก่อนเขาทั้งสามมีใจเลื่อมใส ได้ถวายทานแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย เขาทั้งสามถวายทานแล้ว จึงเอิบอิ่มอยู่ในกามคุณอันเป็นทิพย์ ส่วนข้าพเจ้าทั้งสองเป็นคนตระหนี่ ได้ด่าสมณพราหมณ์ทั้งหลาย จึงมีร่างกายซูบซีด ดุจไม้อ้อที่ถูกไฟไหม้ ”

สามเณรถามว่า “ อะไรเป็นอาหารขงอท่าน อะไรเป็นที่นอนของท่าน และท่านผู้มีบาปมากยิ่งนักเลี้ยงอัตภาพให้เป็นอยู่ได้อย่างไร เมื่อโภคะเป็นอันมากมีอยู่แต่ท่านไม่ได้รับความสุข เสวยแต่ความทุกข์อยู่ในวันนี้ ”

เปรตทั้งสองตอบว่า “ ข้าพเจ้าทั้งสองตีซึ่งกันและกัน แล้วกินเลือดและหนองของกันและกัน ได้ดื่มเลือดและหนองเป็นอันมาก็ยังไม่หายอยากมีความหิวอยู่เป็นนิตย์ ชนทั้งหลายผู้ไม่ให้ทานเมื่อตายไปแล้วก็เกิดในยมโลก ร่ำไห้อยู่ เหมือนข้าพเจ้าทั้งสอง ใครก็ตามได้โภคทรัพย์ต่าง ๆ แล้วตนเองก็ไม่ใช้ ทั้งไม่ยอมทำบุญ ผู้นั้นจะต้องหิวกระหายไปในปรโลก ภายหลัง ถูกความหิวแผดเผาไหม้อยู่สิ้นกาลนาน เมื่อได้ทำกรรมชั่วที่มีผลเผ็ดร้อน มีทุกข์เป็นผล ย่อมประสบความทุกข์ ทรัพย์สมบัติจัดว่าเป็นของ เล็กน้อย ผู้มีปัญญา รู้อย่างนี้แล้วควรทำที่พึ่งให้แก่ตน บุคคลเหล่าใดเข้าใจทางธรรม เพราะได้ฟังธรรมของพระอรหันต์ทั้งหลายบุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่ประมาทในการให้ทาน ข้าพเจ้าทั้งสองนี้ ไม่ใช่คนอื่น แต่เป็นลุงและป้าของสามเณรเอง ”

เมื่อสามเณรได้ฟังอย่างนี้แล้ว ก็เกิดความสลดใจ จึงระงับความอยากสึกไว้ได้ แล้วเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ หมอบกราบลงแล้วเรียนท่านว่า “ ท่านได้ทำประโยชน์แก่กระผมโดยแท้ ได้ปลดเปลื้องกระผมออกจากความทุกข์ได้แล้ว บัดนี้ กระผมไม่ต้องการที่จะเป็นฆราวาสแล้ว กระผมยินดีต่อการประพฤติพรหมจรรย์ ”

ลำดับนั้น พระสังกิจจเถระ ได้บอกพระกรรมฐานที่เหมาะสมกับอุปนิสัยของสามเณร เมื่อสามเณรนั้นเจริญกรรมฐาน ก็ได้สำเร็จอรหันต์ พระสังกิจจเถระได้นำเรื่องนี้ไปกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ พระพุทธองค์ก็ทรงถือเอาเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ แล้วตรัสเทสนาให้เป็นประโยชน์แก่มหาชน .

 

 

 

 
  1 I 2 I 3 I 4 I 5 I 6 I 7 I 8 I 9 I 10 I 11